หลังจากที่กรมทางหลวง (ทล.) ได้นำระบบเก็บค่าผ่านทางแบบอัตโนมัติ หรือ “ระบบเก็บเงินค่าผ่านทางแบบไม่มีไม้กั้น M-FLOW” อธิบายง่ายคือเป็นระบบ “วิ่งก่อน จ่ายทีหลัง” มาติดตั้ง ที่ทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง (มอเตอร์เวย์) หมายเลข 9 บริเวณ ด่านทับช้าง 1, 2 และด่านธัญบุรี 1, 2 และเปิดใช้งานอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 15 ก.พ.ที่ผ่านมา โดยหวังว่าจะช่วยลดปัญหาการจราจรติดขัดบริเวณหน้าด่านเก็บค่าผ่านทางและลดการสัมผัสเงินเพื่อให้สอดรับกับสังคมไร้เงินสด

แต่ผลกลับกลายเป็นถูกวิพากษ์วิจารณ์ในวงกว้าง โดยเฉพาะในโลกโซเชียล กลายเป็นทอล์ก ออฟ เดอะ ทาวน์ เมื่อด่านไม่มีตู้เก็บเงิน คนสัญจรผ่านไปมาไม่รู้วิธีจ่าย ประกอบกับหน่วยงานอ่อนประชาสัมพันธ์ ทำให้ผู้ที่ใช้ทางและผ่านด่านจำนวนหนึ่ง ซึ่งบางคนเป็นดารา คนดัง โดนค่าปรับจุกๆ 10 เท่าแบบไม่ทันตั้งตัว เพราะไม่ได้จ่ายค่าผ่านทางตามระยะเวลาที่กฎหมายกำหนด

เมื่อสังคมเกิดความสับสน ทั้งเรื่องของค่าปรับ แถมไม่รู้จักว่าระบบ M-FLOW คืออะไร และเพื่อลดกระแสความร้อนแรง กระทรวงคมนาคม โดยนายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม และ กรมทางหลวง จึงได้ปรับกลยุทธ์ยอมปล่อยผี “ยกเว้นค่าปรับ” ให้ผู้ใช้ทางผ่านระบบ M-FLOW ที่มาใช้บริการและยังไม่เสียค่าผ่านทางตั้งแต่วันที่ 15 ก.พ.จนถึงวันที่ 31 มี.ค.65 โดยจะยกเว้น “เฉพาะ” ค่าปรับให้จนถึงวันที่ 31 มี.ค.65 หลังจากนั้นหากชำระค่าบริการล่าช้าเกินกำหนด ก็จะต้องจ่ายค่าปรับตามเดิม

นอกจากนั้น กรมทางหลวงยังขยายระยะเวลาชำระค่าผ่านทางจากเดิม กฎหมายกำหนดต้องมาจ่ายภายใน 2 วันหลังใช้บริการผ่านทาง ขยายเป็น 7 วัน หากไม่ชำระภายใน 7 วันจะต้องเสียค่าปรับ โดยการขยายระยะเวลาจ่ายค่าบริการเป็นภายใน 7 วัน จะเริ่มบังคับใช้ ตั้งแต่วันที่ 1 เม.ย. เวลา 00.01 น. เป็นต้นไป ซึ่งหากไม่จ่ายเงินค่าผ่านทางภายใน 7 วัน ก็จะต้องจ่ายค่าปรับ 10 เท่าเหมือนเดิม

...

สำหรับประชาชนที่จ่ายค่าปรับไปก่อนหน้ากว่า 20,000 ราย กรมทางหลวงจะคืนเงินค่าปรับให้อัตโนมัติตามช่องทางที่ชำระเข้ามาภายในวันที่ 1-7 มี.ค.65 โดยผู้ที่จ่ายผ่าน QR Code จะโอนกลับเข้าบัญชีเดิมที่โอนมา ส่วนผู้ที่จ่ายผ่านบัตรเครดิตหรือบัตรเดบิตจะคืนวงเงินเข้าบัตรเดิม หากผู้ใช้ทางยังไม่ได้รับคืนค่าปรับภายใน เวลาที่กำหนด สามารถแจ้งข้อมูลขอคืนค่าปรับได้ 2 ช่องทางคือ www.mflowthai.com หรือดำเนินการผ่าน Application mflowthai

ส่วนค่าปรับที่มีมูลค่าสูงถึง 10 เท่า เป็น อำนาจตามกฎหมาย 2 ฉบับ คือ “พ.ร.บ.กำหนดค่าธรรมเนียมการใช้ยานยนต์บนทางหลวงและสะพาน 2497” กับ “พ.ร.บ.ทางหลวง 2535” ที่ได้กำหนดไว้ หากไม่ชำระค่าผ่านทางตามกำหนด โดยนอกจากจะต้องเสียค่าปรับ 10 เท่าแล้ว ผู้ใช้ที่ไม่ได้เป็นสมาชิก M-FLOW ยังต้องจ่ายเบี้ยปรับเพิ่มอีก 5,000 บาทด้วย แต่หากผู้ใช้ชำระค่าบริการตามกำหนด ก็จะไม่มีปัญหา ไม่ต้องเผชิญหน้ากับเบี้ยปรับมหาโหดแน่นอน

แรกเริ่มเดิมที โครงการนี้ริเริ่มตั้งแต่นายศักดิ์สยามเข้ามารับตำแหน่ง หมายมั่น ปั้นมือประกาศเป็นนโยบายเร่งด่วนที่จะนำระบบเก็บเงินค่าผ่านทางแบบไม่มีไม้กั้น M-FLOW มาใช้ทั้งที่ด่านของการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) และด่านมอเตอร์เวย์ ของกรมทางหลวง ซึ่งได้นำร่องก่อน 4 ด่านของมอเตอร์เวย์ หลังจากนั้นตามแผนจะทยอยใช้ระบบ M-FLOW ให้ครบทุกด่าน 100% ภายในปี 66

เนื่องจากมั่นใจว่า M-FLOW จะช่วยลดปัญหาจราจรติดขัด หน้าด่าน อ้างอิงจากผลการศึกษาและดูงานมาจากหลายประเทศทั้งเกาหลีใต้ ญี่ปุ่น ไต้หวัน พบว่าหากนำระบบนี้มาใช้จะช่วยระบายรถหน้าด่านได้ดีขึ้นถึง 5 เท่า หรือระบายรถได้ถึง 2,000-2,500 คัน/ชั่วโมง/ช่องทาง เนื่องจากรถที่วิ่งมาสามารถวิ่งผ่านด่านได้ด้วยความเร็วที่กฎหมายกำหนดถึง 120 กม./ชั่วโมง จากเดิมที่ระบบจ่ายเงินสดจะระบายรถได้เพียง 500 คัน/ชั่วโมง/ช่องทางเท่านั้น

แม้เป็นเรื่องใหม่ แต่ระบบค่าผ่านแห่งทางอนาคตเช่น M-FLOW จะถูกติดตั้งและนำไปใช้ในที่สุด เพราะภายในปี 66 ทุกด่านทางด่วน และมอเตอร์เวย์จะใช้ระบบ M-FLOW แบบ 100% และในอนาคต ทางด่วนและมอเตอร์เวย์ทุกสายที่จะสร้างใหม่ทุกเส้น ก็จะใช้ระบบ M-FLOW เช่นกัน

ส่วนคนที่คิดจะลักไก่ใช้บริการระบบวิ่งก่อน จ่ายที่หลังแล้วชักดาบหนีหาย เพราะไม่มีไม้กั้น ไม่มีคนมาคุม บอกเลยว่าไม่ง่าย เพราะระบบ AI (ปัญญาประดิษฐ์) จะอ่านค่าจากหมายเลขทะเบียนรถ เนื่องจากระบบได้มีการลิงก์ข้อมูลกับกรมการขนส่งทางบกไว้แล้ว หากคิดจะเบี้ยวงานนี้มีบิลตามเก็บถึงบ้าน และเพื่อดัดหลังคนไม่ซื่อสัตย์ จึงมีการกำหนดค่าปรับในระดับสูง

สำหรับผู้ใช้บริการผ่านทาง คงต้องสมัครเป็นสมาชิกแบบยากที่จะหลีกเลี่ยง ผ่านขั้นตอนง่ายๆ ทาง www.mflowthai.com หรือ Mobile Application : mflowthai เท่านั้น และหลัง วันที่ 31 มี.ค.2565 ซึ่งเป็นจุดสิ้นสุดการผ่อนผัน อย่าลืมชำระค่าบริการภายใน 7 วัน ไม่เช่นนั้นจะโดนค่าปรับอาน.

สุรางค์ อยู่แย้ม