คนขายมาลัยย่านอารีย์ สนามเป้า “งงเต้ก” กับข่าวคนดังที่เป็นรัฐมนตรีช่วยไม่นานถูกปลด ล่าสุด...มีอันต้องย้ายค่ายแบบมีค่ายใหม่รับทันควัน...พ่วงด้วยกระแสข่าว “เพาเวอร์ฟูล” ขอเก้าอี้เสนาบดี 2 ตัว ว่ากันว่าถ้าไม่ได้...ตัวเดียวก็ได้ แต่ต้อง “พลังงาน” หรือ “มหาดไทย”?

พ่อค้าแม่ขายย่านเดียวกัน...เกิดทัวร์ลงกับข่าวนี้ที่กลบข่าวหมู ไก่ เนื้อ แล้วก็จระเข้ กับสินค้าเรียงแถวขึ้นราคา...แพงทั้งแผ่นดินปลุกบรรยากาศ นักการเมือง “หิวตำแหน่ง” ขณะคนไทย “หิวข้าว” ไม่มีกิน

ประมาณว่า...“ไม่ตายหนนี้ แล้วจะตายหนไหน?” เสียงแม่ค้า ส้มตำบ่นพึมพำ

มิหนำซ้ำ...สภาล่มคนเงินเดือนแสนทั้งฝ่ายค้าน-รัฐบาล...สะท้อนวีรกรรมยิ่งกว่าเด็กหนีโรงเรียน พอหันมาฟังโฆษกทำเนียบบ้าง...บอกรัฐบาลไม่ได้งอมืองอเท้าเรื่อง “ปากท้องชาวบ้าน” สำหรับ “เก้าอี้รัฐมนตรี” ยัน “นายกรัฐมนตรีไม่ปรับ ไม่ยุบ และไม่ลาออก”...

...

หยิบโครงการ “คนละครึ่งเฟส 4” มาแจกเงินไล่ความจนให้แล้ว ถึงเมษายน 1,200 บาท...นะจ๊ะ

หากย้อนไปเมื่อกลางเดือนมกราคม...นายกรัฐมนตรีก็เดินหน้าประกาศให้ปีนี้เป็น “ปีท่องเที่ยวไทย” เร็วแบบวัยรุ่น ตามข้อเสนอบิ๊กท่องเที่ยวที่เพิ่งผ่านมรสุมหน้าแตกพลาดงานใหญ่ช่วงปีใหม่ ที่คุยไว้ ว่าจะดึงซุปตาร์โลกมาภูเก็ต...แต่ถูกปฏิเสธ...พอมาครั้งนี้ก็เอื้อนเอ่ยถ้อยแถลง “ปีท่องเที่ยวไทย”

กลางเดือนกุมภาพันธ์จะโปรโมต “อะเมซิ่ง ไทยแลนด์ นิวแชปเตอร์” โดยฟุ้งจะเสนอจุดขายใหม่ คาดต่างชาติที่ชอบและไม่ชอบอาบน้ำมาไทย 5-15 ล้านคน โกยรายได้ 1.3-1.8 ล้านล้านบาท...

อู้ฮูววว! โอมายก๊อด “โอมิครอน”...ได้ฟังแล้วมีความหวัง หัวใจพองโต

นายกรัฐมนตรียังเห็นชอบไอเดียเก็บภาษี “ค่าย่ำ...เหยียบแผ่นดิน” ก๊อปบ้านพี่เมืองน้อง สปป.ลาว โดยเก็บต่างชาติหัวละ 300 บาท ที่ “คัม ทู ไทยแลนด์” ดีเดย์ 1 เมษายนนี้...อ้างนำไปพัฒนาแหล่งท่องเที่ยว และประกันชีวิตทัวริสต์ที่สูญเสียองคาพยพจากการทัวร์เมืองไทย

ความคิดริเริ่ม “ปีท่องเที่ยวไทย” พ.ศ.นี้ เป็นโครงการปรู๊ดปร๊าดประกาศปุ๊บทำปั๊บ...สงสัยจะเร่งให้ได้ 1.3-1.8 ล้านล้านบาทกระมัง? และแว่วมาแบบดังๆอีกว่า...หลังนายกรัฐมนตรีสั่งเดินหน้าไม่ทันไร ผู้รับผิดชอบโครงการถึงจะเรียกประชุมเตรียมการ เมื่อต้นปีที่ผ่านมานี่เอง

กูรูท่องเที่ยวตลาดต่างประเทศ สะท้อนมุมมองบอกเล่าถึงกำเนิด... “ปีท่องเที่ยวไทย” หรือ “วิสิต ไทยแลนด์ เยียร์” ให้ฟังเป็นเกร็ดความรู้เติมเต็มสมองว่า...เกิดครั้งแรกเมื่อปี 2523

คราวฉลองกรุงรัตนโกสินทร์ครบ 200 ปี ปีนั้นมีต่างชาติมาเที่ยว 2 ล้านคน เพิ่มขึ้น 16.8% จากปีก่อนหน้า สร้างรายได้สูงสุดทำลายสถิติปีที่ผ่านๆมาขณะนั้น

“ปี 2530 จัดปีท่องเที่ยวไทยอีกครั้ง คราวนี้เป็นวาระแห่งชาติได้หน่วยงานทุกกระทรวงบูรณาการล่วงหน้า 1 ปี เพื่อกำหนดกลยุทธ์ และแนวปฏิบัติ เช่น ในประเทศหาแหล่งท่องเที่ยวใหม่ๆ พร้อมขาย ประสานสายการบิน รถและเรือนำเที่ยวให้บริการจูงใจ บริษัทนำเที่ยว...

โรงแรมทั่วประเทศสนับสนุนราคาขายลด หรือเพิ่มวอชเชอร์พิเศษ... และให้เวลานักท่องเที่ยวซีกโลกตะวันตกได้หายใจหายคอ วางแผนเดินทางล่วงหน้าครึ่งปีหรือปีตามพฤติกรรมคนตลาดนี้”

...

ปีนั้นคนไทยคึกคักเป็นพิเศษ เพราะได้นักท่องเที่ยวเต็มบ้านเต็มเมือง แล้วก็เที่ยวเมืองไทยกันเองยังแหล่งท่องเที่ยวใหม่ๆกับกิจกรรมที่มีตลอดปีทั่วทุกภูมิภาค...

ปีนั้นปรากฏว่า เราได้ต่างชาติมาย่ำเหยียบเพื่อเยือนเพิ่มขึ้นถึง 23.59% หรือ 3 ล้านคน

ดีอกดีใจกันใหญ่...ที่ท่องเที่ยวไทยไปได้สวย จนหลายประเทศเอาไปเป็นแบบอย่างในการจัดกิจกรรมตลาดต่างประเทศภายใต้แคมเปญ “วิสิต...เยียร์”...วันเวลาผ่านไปจากวันนั้นมาจนถึงวันนี้ ปี 2565 ประเทศไทยเป่ามนตร์เสก “ปีท่องเที่ยวไทย” อีกครั้ง...แต่ดูเวลาแล้วประเมินว่าเป็น “คุณนายตื่นสาย” ชัวร์?

ส่วน “ค่าเหยียบแผ่นดิน” กูรูคนเดิมมองว่า...ไม่แปลกเพราะหลายประเทศเขาทำกัน น่าจะมากกว่า 300 บาทด้วยซ้ำ...แต่อยากให้ทบทวนให้ดีๆ เมื่อปี 2526 เราเคยเก็บค่าธรรมเนียมคนไทยไปนอกใกล้ไกลแค่ไหน 2 พัน ผลคือ...คนไทยไปเอเชียและอาเซียนหดตัวลง

...

แค้นต้องชำระ...ประเทศคู่ค้าที่กระทบ เช่น มาเลเซีย สิงคโปร์ อินโดนีเซีย พม่า ตอบโต้เก็บคนของตัวมาไทย 2 พันบ้าง...ปฏิบัติการตาต่อตาฟันต่อฟันนี้ทำ “นักท่องเที่ยว” มาไทยหดตัวยวบจนต้องเลิก

กูรูย้ำว่า...300 บาท นั้นจิ๊บจ๊อยเหลือเกินสำหรับต่างชาติ แต่ไม่ขี้ประติ๋วตรงเมษายนนี้จะหาคนที่ไหน? มา “ย่ำแผ่นดินไทย”...อย่าลืมส่วนใหญ่เลือกเก็บตัวอยู่กับบ้าน หรือเที่ยวประเทศอื่นที่มั่นใจว่าปลอดภัย ขณะที่บ้านเรามีแต่ข่าวระบาดและตายทุกวัน...ใครไหนเลยจะมาเที่ยว

ด้าน ม.ล.สุรวุฒิ ทองแถม อดีตรองประธานฝ่ายขาย เครือโรงแรมใหญ่ทั่วประเทศ เสริมว่า ผมขอให้ข้อคิด “ปีท่องเที่ยวไทย” ฉบับฟาสต์ฟู้ดนี้ว่า นักการตลาดมืออาชีพไม่นิยมเอาสินค้ามาเปิดท้ายขายของยามตกอับเช่นนี้หรอก...ยกเว้นประเทศสังคมนิยมที่รัฐบาลสั่งซ้ายหันขวาหันได้

“เราได้วางวิชันไว้ก่อนหรือยัง?” ม.ล.สุรวุฒิ ว่า “เพื่อกำหนดกลยุทธ์และยุทธศาสตร์ขับเคลื่อน จะขายโปรดักส์ท่องเที่ยวใหม่ๆ ตัวไหน ขายให้ใคร และขายอย่างไรถึงโป๊ะเชะตลาดนั้นๆ และควรประมาณ ราคาขายให้ไปรเวตเซ็กเตอร์ใช้เป็นข้อมูลวางแผนการขายได้ตลอดปี”

...

นอกจากนี้ เจ้าของโครงการจะได้นำไปจัดทำแผนงบประมาณดำเนินงาน และสำนักงานสาขาทั่วโลกมีวิธีการดึงคนมาเที่ยวบ้านเราเข้มข้นขนาดไหน ลำพังเฉพาะสถานการณ์ปกติก็ยากอยู่แล้ว ต้องขายแข่ง กับวิกฤติโลกมันจึงยากกว่าหลายเท่า... “นี่คือตรรกะที่ต้องคิดกันให้มาก”

ม.ล.สุรวุฒิ ประเมินว่า สถานการณ์ภายนอกประเทศยากมากที่เราจะปั้นนักท่องเที่ยวให้ได้ตามเป้าที่ตั้ง ต้องยอมรับตลาดใหญ่อย่างจีน ที่ปีหนึ่งเคยมาเที่ยว 11 ล้านคน ปัจจุบันมีค่าเท่ากับ “ศูนย์” เพราะ รัฐบาลห้ามออกท่องเที่ยวต่างประเทศ ญี่ปุ่นซึ่งเป็นตลาดหลักปีละกว่าล้านก็เช่นกันยังไม่ปล่อยผู้คนออกมา

แม้กระทั่ง...รัสเซีย อินเดีย และอื่นๆ ยังลูกผีลูกคนยากจะตัดสินใจมาบ้านเรา

หวังตลาดเพื่อนบ้านอาเซียนก็บักโกรกไม่แพ้ไทย อินโดจีน...ที่นิยม มาเช็กกิ้งอัปก็ขยาดเชื้อโควิดกลายพันธุ์ “เดลตา” พอๆกับ “โอมิครอน” คิดวิเคราะห์แยกแยะกันแบบมืออาชีพแบบรวบรัดตัดตอน...สรุปได้ว่า

ไม่เห็นด้วยที่ตีฆ้องเป็น “ปีท่องเที่ยวไทย” กลางวิกฤติเช่นนี้ เพราะเวลาไม่เหมาะสม

ทำไม?เราไม่ส่งเสริมตลาดเที่ยวในประเทศอย่างจริงจัง เพราะคนไทยถึงไม่ประกาศก็รักที่จะเที่ยวอยู่แล้ว ยิ่งไปต่างประเทศมีปัญหาเที่ยวบ้านเราก็ได้...เป้าปีนี้ 160 ล้านคนต่อครั้งนั้นได้อยู่แล้ว

ส่วนค่า “เหยียบแผ่นดิน” ถ้าเกิดประโยชน์ก็เห็นด้วย...แต่ลืมแล้วฤาไทยมีภาษีสนามบิน 500 บาท ในตั๋วเครื่องบิน เพิ่มอีก 300 เพื่อมาย่ำ “ปีท่องเที่ยวไทย”...ทั้งหมดทั้งมวลเหล่านี้อาจเป็นไปได้ว่า “กว่าจะคั่วถั่วให้สุกงาก็ไหม้” เสียแล้ว.