กรมอนามัยห่วงคนสูงอายุกว่า 2.2 ล้านคนของไทยที่เป็นกลุ่มเปราะบางเสี่ยงติดเชื้อ ยังไม่ได้ รับการฉีดวัคซีน หวั่นติดเชื้อจะมีอาการรุนแรงและเสียชีวิตง่าย แนะลูกหลานให้ระมัดระวังอย่าพาไปในที่แออัด ขณะที่เชื้อโอมิครอนครองพื้นที่ป่วยทุกจังหวัด ขณะเดียวกันพบการกลายพันธุ์ในต่างประเทศแล้ว สปสช.เผยหลักเกณฑ์และอัตราจ่ายชดเชยโควิดใหม่ที่จะมีผล 1 มี.ค. หลายจังหวัดภาคอีสานยังติดเชื้อเป็นกลุ่มก้อนอีกมาก

ผลสำรวจพบคนสูงอายุกว่า 2.2 ล้านคน ยัง ไม่ได้รับการฉีดวัคซีนถือเป็นความเสี่ยงในการติดเชื้อ และเสียชีวิตอย่างมาก ขณะที่เชื้อไวรัสโควิด-19 มีการ กลายพันธุ์อีกครั้ง แต่ส่วนใหญ่พบในต่างประเทศ

โอมิครอนครองทุกจังหวัด

ที่กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ เมื่อตอนสายวันที่ 15 ก.พ. นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์ การแพทย์ แถลงถึงสายพันธุ์โควิด-19 ในประเทศไทยว่า จากการสุ่มตรวจ 2,000 ราย พบเป็นโอมิครอน ร้อยละ 97.2 ที่เหลืออีก 2.8 เป็นเดลตาและพบในทุกจังหวัด โดย 10 จังหวัดที่พบโอมิครอนมาก ที่สุด คือ กทม. ภูเก็ต ชลบุรี ร้อยเอ็ด สมุทรปราการ หนองคาย สุราษฎร์ธานี มหาสารคาม กาฬสินธุ์ ขอนแก่น ผู้เดินทางมาจากต่างประเทศพบเป็นโอมิครอน ร้อยละ 99.4 ส่วนในประเทศไทย สูงขึ้นเรื่อยๆ ร้อยละ 96.4 อีกไม่นานคงเข้าใกล้ร้อย

...

บาง ปท.มี BA.2 มาแทน

นพ.ศุภกิจกล่าวด้วยว่า ตามธรรมชาติเมื่อมีการติดเชื้อซ้ำก็มีโอกาสกลายพันธุ์ จากเดิมเป็น B.1.1.529 หรือ BA.1 เป็นสายพันธุ์หลักเดิม ขณะนี้ ข้อมูลส่งยืนยันผลสายพันธุ์โอมิครอนเข้าฐานข้อมูลกลางโควิดโลก หรือ GISIAD เป็น BA.1 ประมาณ 6 แสนกว่าราย BA.2 ประมาณ 5 หมื่นกว่าราย หรือ ร้อยละ 8-9 ส่วน BA.3 พบน้อยมากเพียง 297 ราย โดยเดนมาร์กพบ BA.2 ค่อนข้างมาก ทั้งนี้ BA.2 เริ่มตรวจพบปลายเดือน ธ.ค.64 ประเทศไทยพบต้นเดือน ม.ค.ทั้ง BA.1 และ BA.2 มีส่วนที่กลายพันธุ์ เหมือนกัน 32 ตำแหน่ง ส่วนที่กลายพันธุ์ต่างกัน 28 ตำแหน่ง จุดต่างของ 2 สายพันธุ์ ถ้าเป็น BA.1 จะมีส่วนที่หายไปของตำแหน่งในเดลตา 69-70 แต่ใน BA.2 ตำแหน่งดังกล่าวพบกลับมา ข้อมูลใน GISIAD ประเทศที่พบ BA.2 กำลังจะแทน BA.1 คือ อินเดีย เดนมาร์ก สวีเดน เป็นประเทศที่ต้องเฝ้าจับตา

ของไทยส่วนใหญ่เป็น BA.1

นพ.ศุภกิจกล่าวต่ออีกว่า สำหรับไทยส่วนใหญ่ ยังเป็น BA.1 ความรุนแรงกับการหลบวัคซีนคงต้องดูตำแหน่งที่กลายพันธุ์ ขณะนี้ยังไม่มีข้อแตกต่างที่เป็นนัยสำคัญเมื่อเทียบ BA.1 ยังต้องติดตามคนไข้ในสนามจริง ว่ารุนแรงมากน้อยแค่ไหน วิธีการตรวจเบื้องต้นของไทยยังตรวจจับได้ หากพบการหายไปของตำแหน่ง 69-70 จะเป็น BA.1 หากไม่หายไป แสดงว่าเป็น BA.2

ติดตามอาการผู้ป่วย

นพ.ศุภกิจยังกล่าวด้วยว่า จากการตรวจบางพื้นที่ สัปดาห์ที่ผ่านมาในการตรวจสายพันธุ์ย่อยโอมิครอน ใน 500 กว่าราย พบ BA.2 จำนวนร้อยละ 18.5 ส่วน BA.1 จำนวนร้อยละ 81.5 ขณะที่ในภาพรวมที่เป็น การถอดรหัสพันธุกรรมทั้งตัวพบเป็น BA.2 ประมาณร้อยละ 2 ที่เหลือเป็น BA.1 และ BA.1.1 แสดงว่า BA.2 เริ่มเพิ่มขึ้น มีข้อมูลเบื้องต้นว่า BA.2 แพร่เร็วกว่า BA.1 แต่ความรุนแรงยังมีข้อมูลไม่เพียงพอ กรมวิทย์ฯจะประสานกรมการแพทย์ติดตามอาการทางคลินิกของผู้ติดเชื้อ BA.2 ต่อไป ข้อมูลเท่าที่มียังบ่งชี้ว่าการฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นยังช่วยป้องกันสายพันธุ์ BA.2 ลดอาการป่วยหนักและเสียชีวิตได้ ส่วนการพบเดลตาครอนในอังกฤษนั้น คงต้องรอข้อมูล ยืนยันจาก GISIAD อีกครั้ง

ป่วยยังหลักหมื่น-ตาย 27

ขณะที่ ศบค.รายงานสถานการณ์โควิด-19 ในไทยว่า พบผู้ติดเชื้อใหม่ 14,373 ราย เสียชีวิตเพิ่ม 27 ราย เป็นชาย 16 ราย หญิง 11 ราย อายุ 60 ปี ขึ้นไป 23 ราย มีโรคเรื้อรัง 3 ราย ยอดผู้ติดเชื้อสะสม 2,622,600 ราย หายป่วยสะสม 2,467,383 ราย ผู้เสียชีวิตสะสม 22,489 ราย ฉีดวัคซีนสะสม 120,217,187 โดส สถานการณ์โลกมีผู้ติดเชื้อสะสม 413,899,433 ราย เสียชีวิตสะสม 5,844,419 ราย ส่วน 10 จังหวัดที่มีผู้ติดเชื้อมากที่สุดได้แก่ กทม. 3,180 ราย สมุทร ปราการ 887 ราย ชลบุรี 548 ราย นนทบุรี 512 ราย ภูเก็ต 469 ราย นครศรีธรรมราช 429 ราย นครราชสีมา 354 ราย นครปฐม 345 ราย สมุทรสาคร 337 ราย เชียงใหม่ 317 ราย

ปรับอัตราชดเชยโควิด

วันเดียวกัน นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ มีมติเห็นชอบการปรับหลักเกณฑ์ แนวทางอัตราจ่าย และกำหนดวันบังคับใช้การจ่ายชดเชยบริการโรคโควิด-19 ตามแนวทางของกระทรวงสาธารณสุข ที่มีนโยบายการดูแลผู้ติดเชื้อโควิดกลุ่มไม่มีอาการหรือมีอาการไม่มากด้วยระบบการดูแลที่บ้าน (HI) หรือในชุมชน (CI) รวมถึงการตรวจคัดกรองโควิดด้วยชุดตรวจ ATK ลดภาระค่าใช้จ่ายของรัฐและลดภาระงบประมาณ ภาระงานด้านสาธารณสุขของประเทศ รวมถึงการประชุมหารือร่วมระหว่าง 4 กองทุนภาครัฐ ที่เห็นชอบในหลักการจ่ายชดเชยค่าบริการสำหรับผู้ป่วยโควิด-19 (กลุ่มอาการสีเขียว) ที่รักษาในโรงพยาบาล, HI/CI, Hotel Isolation, รพ.สนาม Hospitel ทั้งในหน่วยบริการในระบบ การเข้ารับบริการระบบเจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤติโรคโควิด (UCEP COVID) เป็นการจ่ายแบบเหมาจ่ายอัตราเดียวกัน

...

แนวทางจ่ายใหม่ 5 ส่วน

นพ.จเด็จกล่าวว่า หลักเกณฑ์และแนวทางอัตราจ่ายใหม่มีทั้งหมด 5 ส่วนได้แก่ 1.ค่าบริการดูแลรักษาผู้ป่วยอาการสีเขียว จ่ายชดเชยเช่นเดียวกับบริการ HI/CI แบบเหมาจ่ายต่อการให้บริการผู้ป่วย 1 ราย รวมค่าอาหาร อยู่ที่ 12,000 บาท สำหรับการรักษา 7 วันขึ้นไป 6,000 บาท สำหรับการรักษาตั้งแต่ 1-6 วัน กรณีไม่รวมค่าอาหารจะเหมาจ่ายที่ 8,000 บาทและ 4,000 บาท 2.การตรวจ ATK แบบ Chromatography จ่าย 250 บาทจากเดิม 300 บาท แบบ FIA จ่าย 350 บาทจากเดิม 400 บาท ตรวจ RT-PCR ประเภท 2 ยีน จ่าย 900 บาท จากเดิม 1,300 บาท ประเภท 3 ยีนจ่าย 1,100 บาท จากเดิม 1,500 บาท 3. อัตราจ่ายค่าห้องใน รพ.แบ่งระดับเตียงใหม่ตามความรุนแรงของโรค 5 ระดับ ปรับลดอัตราจ่ายอุปกรณ์ป้องกันส่วนบุคคล (PPE) จากเดิมชุดละ 600 บาทเหลือ 550 บาท 4.การสนับสนุนชุดตรวจ ATK-self test สปสช.จะประสานผู้จำหน่ายให้ได้ราคาที่เหมาะสม หน่วยบริการที่เข้าร่วมจะได้รับค่าใช้จ่ายอัตรา 55 บาทต่อชุดตรวจ 5.อัตราจ่ายค่าพาหนะรับ-ส่งต่อ กรณีใช้รถโดยสารประเภทอื่น แท็กซี่เสริม-แทนรถพยาบาล เหมาจ่ายอัตรา 1,900 บาทต่อวัน รายการที่ 1-2-3 มีผลตั้งแต่วันที่ 1 มี.ค.65 ส่วนรายการ 4-5 มีผลทันที

เผยผลสำรวจอนามัยโพล

วันเดียวกัน นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัย เปิดเผยผลสำรวจอนามัยโพลถึงพฤติกรรมการสวมหน้ากากอนามัยของประชาชนในวัดและศาสนสถาน ตั้งแต่ ต.ค.64-ก.พ.65 จากประชาชน 29,835 คน ร้อยละ 87 สวมถูกต้อง เมื่อถามถึงมาตรการที่อยากให้สถานที่จัดงานคุมเข้มเพิ่ม ร้อยละ 67 ระบุคัดกรองผู้ร่วมงานและต้องได้รับวัคซีนแล้วอย่างน้อย 2 เข็ม ร้อยละ 60 ระบุงดกิจกรรมร่วมกลุ่มคนหนาแน่นหรือกิจกรรมต้องเปิดหน้ากาก ร้อยละ 59 ระบุจัดบริการตรวจ ATK หน้างาน ส่วนการดำเนินการตามมาตรการของวัดและศาสนสถาน ผลสำรวจวันที่ 1-10 ก.พ.จาก 5,059 คน พบมาตรการที่ปฏิบัติได้ดี คือการควบคุมการเข้าออกและมีจุดคัดกรอง รองลงมาคือ มีจุดบริการล้างมือหรือเจลแอลกอฮอล์เพียงพอ มาตรการที่ยังปฏิบัติไม่ได้ ร้อยละ 26 การดูแลทำความสะอาดจุดสัมผัสร่วมและห้องสุขา ส่วนศาสนสถานประเมินตนเองตามมาตรการ 2,997 แห่ง ผ่านเกณฑ์ 2,797 แห่ง สาเหตุที่ไม่ผ่านเกณฑ์ ส่วนใหญ่เป็นเรื่องการดูแลทำความสะอาดจุดสัมผัสร่วมและห้องสุขา ผู้นำ ผู้ประกอบพิธีกรรมไม่ได้รับวัคซีนครบ 2 เข็ม ตรวจหาเชื้อด้วย ATK ใน 72 ชม. การทำบุญผ่านแอปหรือ e-Donation ลดการสัมผัส

...

ผู้สูงอายุเสียชีวิตเพิ่ม

นพ.สุวรรณชัยยังกล่าวด้วยว่า ตั้งแต่ เม.ย.64-ก.พ.65 ผู้สูงอายุติดเชื้อสะสม 237,759 คน เมื่อพิจารณาสัดส่วนระหว่างวันที่ 1 ม.ค.-14 ก.พ.65 มีผู้สูงอายุติดเชื้อทั้งหมด 34,918 คน เสียชีวิต 569 คน แต่เฉพาะวันที่ 1-14 ก.พ.65 ผู้สูงอายุเสียชีวิตไปแล้ว 237 คน อัตราการป่วยของผู้สูงอายุเท่าๆเดิม แต่การเสียชีวิตสูงขึ้นจาก ร้อยละ 69 เป็นร้อยละ 76 ของผู้เสียชีวิตจากโควิดทั้งหมด จังหวัดที่ผู้สูงอายุติดเชื้อส่วนใหญ่เป็นเขตเมือง เช่น กทม.สมุทรปราการ นนทบุรี ชลบุรี พบสาเหตุการติดเชื้อส่วนใหญ่มาจากการสัมผัสใกล้ชิดผู้ป่วยยืนยันมากกว่าร้อยละ 50 ส่วนน้อยที่ไม่สามารถระบุสาเหตุหรือติดเชื้อจากการไปสถานที่ชุมชนแออัด

คนแก่กว่า 2.2 ล้านไม่ฉีดวัคซีน

นพ.สุวรรณชัยกล่าวอีกว่า พบผู้สูงอายุได้รับวัคซีนครบ 2 เข็มแล้ว 9.8 ล้านคน เข็ม 3 อีก 3.3 ล้านคน ยังไม่ครอบคลุมผู้สูงอายุทั้งประเทศที่มีมากกว่า 12 ล้านคน ยังมีผู้สูงอายุอีกกว่า 2.2 ล้านคนที่ยังไม่ได้รับวัคซีน ช่วงนี้จะพบผู้สูงอายุและผู้ดูแลติดเชื้อเพิ่ม ขอเน้นย้ำมาตรการ VUCA ทั้งการรับวัคซีน การป้องกันตนเองสูงสุด โควิดฟรีเซ็ตติ้ง การตรวจ ATK ผู้สูงอายุเป็นกลุ่มเปราะบางเสี่ยงติดเชื้อ ที่สำคัญเมื่อติดเชื้อจะมีอาการรุนแรงและเสียชีวิตเพราะมีโรคประจำตัว ขอความร่วมมือลูกหลาน ผู้ดูแลป้องกันตัวเองสูงสุด ผู้สูงอายุที่ยังร่วมกิจกรรมทางสังคมได้ ขอให้งดการไปร่วมในพื้นที่เสี่ยงที่มีความแออัด

...

มาฆบูชานำดอกไม้ธูปเทียนไปเอง

ด้านนายเกรียงศักดิ์ บุญประสิทธิ์ อธิบดีกรมการศาสนา กระทรวงวัฒนธรรม กล่าวว่า การจัดกิจกรรมในวันมาฆบูชา ได้เน้นย้ำให้วัดศาสน สถานต่างๆปฏิบัติมาตรการสาธารณสุขอย่างเคร่งครัด โดยเฉพาะการจัดกิจกรรมออนไซต์ต้องจำกัดจำนวนผู้เข้าร่วม มีการลงทะเบียนตรวจหาเชื้อด้วย ATK มีจุดล้างมือ กำหนดทางเข้าออก เว้นระยะห่าง ทำความสะอาดจุดสัมผัสร่วม มีระบบถ่ายเทอากาศ ขณะที่ผู้นำศาสนา ผู้ประกอบพิธีกรรมทางศาสนา เจ้าหน้าที่ ต้องฉีดวัคซีนอย่างน้อย 2-3 เข็ม ตรวจ ATK งดเว้นรับประทานอาหารระหว่างปฏิบัติพิธี ขอความร่วมมือวัดต่างๆจัดกิจกรรมสร้างความมั่นใจให้กับประชาชนที่มาร่วมประชาสัมพันธ์ให้ทราบมาตรการเพื่อไม่ให้เกิดปัญหาจนเกิดเป็นคลัสเตอร์ใหญ่ ผู้สูงอายุ เด็ก แนะให้ร่วมกิจกรรมผ่านออนไลน์ ดอกไม้ธูปเทียนแนะนำให้เตรียมไปเองดีกว่า บางวัดที่ใช้ของหมุนเวียนเป็นสิ่งไม่ควร หรือผู้รับก็ให้ฉีดแอลกอฮอล์ให้เกิดความมั่นใจ

นายกฯสั่งปราบ ATK ปลอม

นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงผลการประชุมคณะรัฐมนตรี ว่า พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯและ รมว.กลาโหม กำชับให้หน่วยงานชี้แจงทำความเข้าใจกับประชาชน อย่าประมาท ต้องคอยเตือนการป้องกันตนเอง แม้โอมิครอนจะมีอันตรายน้อย อัตราการเสียชีวิตไม่สูง แต่ติดเชื้อง่าย ขอให้กระทรวงสาธารณสุข รณรงค์ให้เร่งฉีดวัคซีนให้ครบทั้งเข็ม 2-3 รวมถึงให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องสุ่มตรวจ ATK ให้มีมาตรฐาน เร่งดำเนินการกับผู้จำหน่าย ATK ปลอม และดูแลราคาให้เหมาะสม ส่วนที่มีผู้ถามถึงสถานการณ์เตียงมีเพียงพอหรือไม่ และนายกฯให้นโยบายไปทางสาธารณสุขและมหาดไทยอย่างไร นายกฯได้ชี้แจงว่า จากข้อมูลของสาธารณสุข เตียงมีเพียงพอทุกประเภท

ชวนเวียนเทียนออนไลน์

นายธนกรกล่าวว่า นายกฯยังเชิญชวนพุทธ ศาสนิกชนเข้าร่วมเวียนเทียนออนไลน์ วันมาฆบูชารูปแบบวิถีใหม่ ที่ www.เวียนเทียนออนไลน์.com ระหว่างวันที่ 14-17 ก.พ. ตั้งแต่เวลา 11.09 น. เป็นต้นไป ส่วนผู้ที่ต้องการไปทำบุญเวียนเทียนที่วัด ในส่วนกลาง กรมการศาสนาจัดขึ้นที่วัดสระเกศ ภูมิภาคให้จัดตามแต่ละพื้นที่ นายกฯยังกำชับให้ทุกวัดปฏิบัติตามมาตรการสาธารณสุข จัดเวียนเทียนเป็นรอบ หรือกำหนดจุดยืนประกอบพิธีเพื่อไม่ให้ระบาดเป็นคลัสเตอร์ใหม่

เติมงบเยียวยาคนกลางคืน

น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ที่ประชุม ครม.มีมติอนุมัติโครงการจัดหาครุภัณฑ์ ที่มุ่งเน้นการรองรับผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรง (ผู้ป่วยสีเหลือง สีแดง) ที่เข้ารับการรักษาในสถานพยาบาลจำนวน 17 โครงการ กรอบวงเงิน 5,731 ล้านบาท จากเงิน พ.ร.ก.เงินกู้ภายใต้แผนงานหรือโครงการกลุ่มที่ 1 พร้อมกันนี้ ครม.ยังได้อนุมัติตามมติคณะกรรมการกลั่นกรองการใช้จ่ายเงินกู้ให้สำนักงานประกันสังคมเปลี่ยนแปลงโครงการเยียวยาผู้ประกันตน ในกิจการสถานบันเทิง และผู้ประกอบอาชีพอิสระ ที่ทำงานเกี่ยวข้องกับสถานบันเทิง ประกอบด้วย การปรับเพิ่มกลุ่มเป้าหมายผู้ประกันตนมาตรา 39 และ 40 จากเดิม 110,669 คน เป็น 138,669 คน และปรับเพิ่มกรอบวงเงินของโครงการจากเดิม 607 ล้านบาท เป็น 747 ล้านบาท

โคราชป่วยยังพุ่งสูง

ที่ จ.นครราชสีมา พบผู้ป่วยโควิด-19 ใหม่ สูงถึง 415 ราย มีผู้ป่วยเสียชีวิต 2 ราย เป็นชายอายุ 84 ปี และหญิงอายุ 66 ปี การติดเชื้อแบ่งเป็นในจังหวัด 401 ราย นอกจังหวัด 14 ราย อ.เมืองนครราชสีมาพบติดเชื้อสูงสุด 87 ราย รองลงมา อ.โนนไทย 73 ราย อ.บัวใหญ่ 59 ราย อ.ด่านขุนทด 37 ราย อ.พิมาย 32 ราย ส่วนคลัสเตอร์ต่างๆ ยังคงเฝ้าจับตาทั้ง 16 คลัสเตอร์ทั้งเก่าและใหม่ เร่งค้นหาเชิงรุกและตรวจ ATK การเฝ้าระวัง การค้นหาตรวจผู้สัมผัสเสี่ยงสูง อาทิ โดยเฉพาะคลัสเตอร์ตลาดประปา ตลาดเพ็ชรสีมา เทศบาลนครนครราชสีมา รวมทั้งคลัสเตอร์สำคัญ อาทิ สนามชนไก่ อ.พิมาย กับ อ.โนนสูง คลัสเตอร์บ้านหนองไทร ต.หนองไทร อ.ด่านขุนทด คลัสเตอร์บริษัท โทโยนากา (ไทยแลนด์) ต.ลาดบัวขาว อ.สีคิ้ว คลัสเตอร์งานหมอลำ จ.มหาสารคาม และ จ.บุรีรัมย์ อ.ห้วยแถลง คลัสเตอร์ตลาดสดเทศบาลปากช่อง อ.ปากช่อง มีการปิดพื้นที่เข้า-ออกล็อกขายสินค้า คลัสเตอร์ตลาดไนท์บาร์ซ่า อ.พิมาย เป็นต้น

กาฬสินธุ์คลัสเตอร์ไม่ลง

ที่ จ.กาฬสินธุ์ มีผู้ติดเชื้อใหม่ 215 ราย แยกเป็นคลัสเตอร์ที่มีการระบาดต่อเนื่อง 78 ราย ประกอบด้วยการติดเชื้อในชุมชนบ้านสร้างมิ่ง หมู่ 2 อ.ยางตลาด 1 ราย การติดเชื้อเชื่อมโยงหมอลำใจเกินร้อยมหาสารคาม อ.ยางตลาด 2 ราย อ.หนองกุงศรี 1 ราย การติดเชื้อในชุมชน หมู่ 5 ต.หัวงัว อ.ยางตลาด 1 ราย การติดเชื้อเชื่อมโยงหมอลำ ต.ดอนจาน อ.ดอนจาน 33 ราย อ.เมืองกาฬสินธุ์ 9 ราย อ.คำม่วง 5 ราย อ.สมเด็จ 4 ราย อ.กมลาไสย 2 ราย อ.หนองกุงศรี 2 ราย การติดเชื้อในชุมชนบ้านโนนค้อ ต.นาทัน อ.คำม่วง 4 ราย การติดเชื้อในชุมชน หมู่ 13 ต.บัวขาว อ.กุฉินารายณ์ 10 ราย การติดเชื้อในครอบครัวที่หมู่ 5 ต.อุ่มเม่า อ.ยางตลาด 3 ราย การติดเชื้อเชื่อมโยงหมอลำ ต.ดอนจาน อ.ดอนจาน เป็นเหตุการณ์ใหม่ อ.ยางตลาด 1 ราย การติดเชื้อในเรือนจำโครงสร้างเบาโคกคำม่วง 15 ราย

อุบลฯยอดติดเชื้อยังเพียบ

ศูนย์ EOC COVID- 19 จังหวัดอุบลราชธานีรายงานพบผู้ติดเชื้อโควิด-19 รายใหม่กลับมาสูงขึ้นอีกครั้งถึง 411 ราย เป็นผู้ติดเชื้อในจังหวัด 378 ราย จากต่างจังหวัด 33 ราย เสียชีวิตเพิ่ม 1 ราย เป็นชายอายุ 74 ปี สำหรับผู้ติดเชื้อรายใหม่เป็นคลัสเตอร์ 7 กลุ่ม เป็นคลัสเตอร์ใหม่ 4 กลุ่ม มี 1.วงพนันไฮโล ต.ศรีวิเชียร อ.น้ำยืน ติดเชื้อรวม 24 ราย 2.คลัสเตอร์โรงเรียนแปดอุ้ม ต.โดมประดิษฐ์ อ.น้ำยืน ติดเชื้อรวม 30 ราย 3.คลัสเตอร์โรงเรียนเขมราฐพิทยาคม อ.เขมราฐ ติดเชื้อรวม 13 ราย 4.คลัสเตอร์บ้านเซ หมู่ 12 ต.โพธิ์ไทร อ.โพธิ์ไทร พบติดเชื้อ 17 ราย ส่วนคลัสเตอร์เก่ามี 1.ตลาดสด อ.เดชอุดม ป่วยเพิ่ม 1 ราย 2.ตลาดวารินเจริญศรี อ.วารินชำราบ ป่วยเพิ่ม 19 ราย 3. ตลาดวารินชำราบ อ.วารินชำราบ ป่วยเพิ่ม 12 ราย ส่วนผู้ติดเชื้อใหม่ในกลุ่มครู นักเรียน นักศึกษาและศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ที่ผ่านมา วันละ 25-40 ราย วันที่ 13 ก.พ. มีผู้ป่วยในกลุ่มนี้ 72 ราย วันที่ 14 ก.พ. 103 ราย

กระบี่ทำนิวไฮ

ส่วนสถานการณ์โควิด-19 ในพื้นที่ จ.กระบี่ เริ่มระบาดหนักขึ้นอีก หลังพบผู้ติดเชื้อรายวันอย่างน้อย 500 ราย ติดต่อกันเป็นเวลาเกือบ 1 สัปดาห์ที่ผ่านมา ล่าสุดสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดกระบี่ แถลงตัวเลขผู้ติดเชื้อทะลุ 600 รายต่อวัน เป็นครั้งแรกนับตั้งแต่เชื้อโควิดแพร่ระบาดมา 2 ปี ตัวเลขล่าสุดพบมีผู้ติดเชื้อของวันที่ 14 ก.พ. ถึง 612 ราย ส่งผลให้ รพ.สนามไม่มีสถานที่เพียงพอรับผู้ป่วยเพิ่ม คณะกรรมการโรคติดต่อ จ.กระบี่ สั่งให้แต่ละอำเภอจัดเตรียมพื้นที่สำหรับตั้ง รพ.สนามชั่วคราว ขณะที่ผู้ติดเชื้อในกลุ่มสีเขียว ให้กักตัวรักษาตามอาการที่บ้าน

สุพรรณบุรีมีระบาดกลุ่มก้อน

ศูนย์ปฏิบัติการโควิด-19 สุพรรณบุรี รายงานว่า พบผู้ป่วยใหม่เพิ่มอีก 247 ราย เป็นผู้ป่วย จ.สุพรรณบุรี 221 ราย ผู้ป่วยต่างจังหวัด 26 ราย การระบาดกลุ่มก้อน โรงเรียนระดับมัธยมศึกษา ต.ไผ่ขวาง อ.เมือง 2 ราย โรงเรียนระดับประถมศึกษา ต.เขาพระ อ.เดิมบางฯ 6 ราย แพปลา ต.รั้วใหญ่ อ.เมือง 6 ราย

มะปราง-อลิสาติดโควิด

ทางด้านสถานการณ์คนบันเทิงติดโควิด-19 เมื่อวันที่ 15 ก.พ. “มะปราง-อลิสา ขุนแขวง” นางเอกสาวช่องวัน 31 โพสต์ผ่านอินสตาแกรมว่าติดเชื้อโควิด-19 และแจ้งทุกคนที่ทำงานใกล้ชิดสังเกตอาการ เจ้าตัวระบุว่า วันที่ 13 ก.พ. มีอาการเป็นไข้ เจ็บคอ ปวดหัว อ่อนเพลีย ตรวจ ATK ขึ้นว่าผลเป็นบวก ไปตรวจ RT-PCR ต่อทันที ผลออกมายืนยันพบเชื้อ ขณะนี้ได้เข้ารับการรักษาตัวที่โรงพยาบาลเรียบร้อยแล้ว

เฟย์หวานใจบอย-ปกรณ์รอด

ขณะเดียวกัน หลังพระเอกหนุ่มชื่อดังช่อง 3 “บอย-ปกรณ์ ฉัตรบริรักษ์” โพสต์แจ้งว่าติดเชื้อโควิด-19 เมื่อช่วงค่ำวันที่ 14 ก.พ. ต่อมานักแสดงสาว “เฟย์-พรปวีณ์ นีระสิงห์” หรือเฟย์ FFK หวานใจของหนุ่มบอย-ปกรณ์ ได้โพสต์ไอจีสตอรีแสดงผลตรวจโควิด-19 ผลเป็นลบ พร้อมเขียนข้อความว่า “วันนี้เฟย์ตรวจแล้ว ผลตรวจยังเป็นลบนะคะ แต่จะกักตัวดูอาการต่อไปค่ะ ขอบคุณทุกคนที่เป็นห่วงนะคะ”

กทม.สั่งเปิดศูนย์พักคอยเพิ่ม

ที่ศาลาว่าการ กทม. พล.ต.ท.โสภณ พิสุทธิวงษ์ รองผู้ว่าฯ กทม.เป็นประธานการประชุมเรื่องสถานการณ์ โควิด-19 และสำนักอนามัยและสำนักการแพทย์ กทม. รายงานถึงสถานการณ์ผู้ป่วย การเตรียมพร้อมสถานพยาบาลเพื่อผู้ป่วยในพื้นที่ กทม. เพราะมีแนวโน้มผู้ป่วยจำนวนมากขึ้น ที่ประชุมจึงมอบหมายให้ 50 เขตพิจารณาเปิดศูนย์พักคอยเพื่อส่งต่อเพิ่มเติม ในกรณีที่ศูนย์พักคอยฯเปิดดำเนินการอยู่แล้ว มีจำนวนผู้ป่วยครองเตียงมากกว่าร้อยละ 80 ให้เร่งประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนทราบช่องทางการติดต่อ หากพบว่าติดเชื้อ โทร.แจ้งได้ที่สายด่วน สปสช.1330 กด 14 และศูนย์ EOC ของ 50 สำนักงานเขต ได้ตลอด 24 ชั่วโมง

เดลตาครอนไม่น่าห่วง

สื่อท้องถิ่นอังกฤษรายงานความคืบหน้ากรณีหน่วยงานสาธารณสุขอังกฤษประกาศการจับตาเชื้อโควิด-19 ตัวกลายพันธุ์ลูกผสมระหว่างเดลตากับโอมิครอน หรือ “เดลตาครอน” โดยระบุว่าแม้มีผู้ติดเชื้อแล้ว แต่ยังไม่แน่ชัดว่ามีจำนวนมากน้อยเพียงใด ทั้งไม่ชัดเจนว่าเป็นเชื้อนำเข้ามาจากต่างประเทศ หรือถือกำเนิดในอังกฤษกันแน่ แต่นายพอล ฮันเตอร์ นักวิชาการจากมหาวิทยาลัยอีสต์ แองเกลีย มองว่าความเสี่ยงยังอยู่ในระดับต่ำ เนื่องจากอังกฤษมีการฉีดวัคซีนในระดับที่สร้างภูมิคุ้มกันได้เพียงพอสำหรับรับมือกับเชื้อเดลตาและโอมิครอน ขณะที่เกาหลีใต้ ศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคแห่งชาติ (KCDC) ตรวจพบยอดผู้ติดเชื้อในวันเดียวทำสถิติ 57,177 คน ถือเป็นอัตราการติดเชื้อเพิ่มขึ้น 12 เท่า เมื่อเทียบกับช่วงกลางเดือน ม.ค. เสียชีวิตในวันเดียว 61 คน ส่วนองค์การอนามัยโลก (WHO) เผยว่าเชื้อโอมิครอนเพิ่มขึ้นเท่าตัวในภูมิภาคยุโรปตะวันออก ทั้งในรัสเซีย ยูเครน เบลารุส อาร์เมเนีย