สถานการณ์โรคระบาดอหิวาต์แอฟริกาในสุกร (ASF) ส่งผลผู้เลี้ยงหมูรายย่อยจำนวนกว่าครึ่งชะลอการเลี้ยงเพื่อรอดูสถานการณ์ ทำให้เนื้อหมูหายไปจากระบบเป็นจำนวนมาก

เมื่อสถานการณ์คลี่คลาย คนที่หยุดการเลี้ยงจะมีแนวทางในการเตรียมความพร้อมอย่างไร เวทีสัมมนาสัญจร ภายใต้หัวข้อ “หลังเว้นวรรค...จะกลับมาอย่างไรให้ปลอดภัย?” มีคำตอบ

นายสิทธิพันธ์ ธนาเกียรติภิญโญ นายกสมาคมผู้เลี้ยงสุกรภาคตะวันออกเฉียงเหนือ บอกถึงมาตรการที่เกษตรกรจำเป็นต้องทำลำดับแรก...ต้องเริ่มตั้งแต่การพิจารณาข้อมูลการติดเชื้อ ASF ระดับจังหวัดของฟาร์มตัวเองก่อน

โดยโซนนิ่งพื้นที่เสี่ยงแล้วแบ่งออกเป็น 3 พื้นที่...พื้นที่เสี่ยงสูง หรือเขตโรคระบาด, พื้นที่เฝ้าระวัง หรือติดกับเขตโรคระบาด และพื้นที่เสี่ยงต่ำ หรือพื้นที่นอกเขตเฝ้าระวัง

จากนั้นเจาะลึกลงไปในพื้นที่เสี่ยงสูง แล้วแบ่งออกเป็น 3 ส่วนอีกครั้ง คือส่วนพื้นที่วิกฤติ ส่วนพื้นที่ควบ คุมสูงสุด และส่วนพื้นที่เฝ้าระวังสูงสุด วัดตามระยะห่างจากจุดเกิดโรค 1 กม., 5 กม. และมากกว่า 5 กม. ตามลำดับ

...

ทั้งนี้ ในพื้นที่เฝ้าระวัง หรือมีความเสี่ยงต่ำ คงไม่น่าห่วงนัก เพราะแสดงให้เห็นถึงการดูแลบริหารจัดการที่ค่อนข้างดีอยู่แล้ว แต่พื้นที่ควบคุมสูงสุด หรือระยะห่างจากฟาร์มอื่นที่เกิดโรคในรัศมี 1-5 กม. จำเป็นต้องแยกวิธีป้องกันโดยแบ่งโซน แยกคน แยกรถ งดกิจกรรม และตรวจติดตามควบคู่การลงรายละเอียดถึง 15 ข้อ อาทิ แยกเขตที่พักอาศัยกับเขตเลี้ยงสัตว์ให้ชัดเจน อาบน้ำเปลี่ยนชุดก่อนเข้าเขตเลี้ยงสัตว์ เปลี่ยนรองเท้าบูต-จุ่มฆ่าเชื้อ แยกรองเท้าใส่ภายนอก เจ้าของฟาร์มต้องซื้ออาหารจากแหล่งปลอดโรคที่มีมาตรฐาน ห้ามรถภายนอกเข้าฟาร์ม ให้รถส่งอาหารสัตว์มาเพียงเดือนละ 1 ครั้ง และพักอาหาร 24 ชม.

พ่นยาฆ่าเชื้อรถทุกคันก่อนเข้าฟาร์ม ป้องกันสัตว์พาหะทุกชนิด ใช้น้ำบาดาลในการเลี้ยงสุกร พ่นยาฆ่าเชื้อรอบประตูโรงเรือน โรยปูนขาวบนถนนและพื้น บ่อทิ้งซากใช้งานได้จริง ไม่นำซากสุกรออกนอกฟาร์ม ติดตั้ง CCTV หน้าฟาร์ม หน้าห้องอาบน้ำและในโรงเรือน โดยทั้งเจ้าของฟาร์มและคนงานต้องใส่ใจปฏิบัติอย่างเคร่งครัด ห้ามมิให้หละหลวมตกหล่นแม้แต่ข้อเดียว

อย่างไรก็ตาม หากเกษตรกรสามารถนำฟาร์มเข้าสู่มาตรฐานฟาร์มสุกรในระบบไบโอซีเคียวริตีจะเป็นหนทางดีที่สุด เพราะเป็นทางเดียวในขณะนี้ที่จะป้องกัน ASF ได้อย่างมีประสิทธิภาพที่สุด เนื่องจากยังไม่มียาหรือวัคซีนสำหรับโรคนี้ และถือว่าเป็นพื้นฐานของระบบการป้องกันเชื้อโรคเข้าสู่ฟาร์มที่ได้รับการยอมรับในระดับสากล สามารถป้องกันโรคจากภายนอกได้แทบทุกชนิด

การเลี้ยงสุกรในโรงเรือนระบบปิด สามารถป้องกันสัตว์พาหะทั้งหนู นก แมลงต่างๆ ขณะที่วัตถุดิบต่างๆที่นำมาใช้ในฟาร์ม ไม่ว่าอาหาร น้ำ หรืออื่นๆ จะมีการตรวจสอบย้อนกลับไปถึงแหล่งที่มา ซึ่งทุกฟาร์มจะรับจากแหล่งที่ปลอดภัยเท่านั้น ทั้งยังต้องควบคุมรถขนส่งเข้า-ออกฟาร์มอย่างเข้มงวด รถทุกคัน-พนักงานทุกคนต้องผ่านระบบฆ่าเชื้อ เพื่อให้มั่นใจได้ว่าคนหรือพาหนะนั้นๆจะไม่เป็นพาหะนำเชื้อโรคเข้าสู่ฟาร์ม รวมถึงการกำหนดจุดส่งมอบสุกรที่แยกจากฟาร์ม ทั้งหมดนี้ทำให้ยืนยันได้ในความปลอดภัยของกระบวนการผลิตสุกร เพื่อส่งมอบอาหารที่ปลอดภัยสู่ผู้บริโภค ซึ่งทั้งกระบวนการเสมือนปิดตายช่องทางเข้ามาของเชื้อโรคจากภายนอก.

...

กรวัฒน์ วีนิล