เรื่องดีๆที่ไม่ดัง แต่มีข้อคิดมาเตือนผู้ประกอบการร้านขายยาว่า อย่าทำ?!

สดๆร้อนๆ กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองบริโภค (บก.ปคบ.) นำโดย พล.ต.ต.อนันต์ นานาสมบัติ ผบก.ปคบ. และ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) นำโดย นพ.ไพศาล ดั่นคุ้ม เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา แถลงข่าวใหญ่

หลังจับมือสุ่มตรวจร้านขายยาทั่วประเทศ ตั้งแต่หลังปีใหม่เป็นต้นมา เนื่องจากปี 2565 ครบกำหนดการผ่อนผันตามกฎกระทรวง เรื่องการขออนุญาตและการออกใบอนุญาตขายยาแผนปัจจุบัน 2556 ให้ร้านขายยาทุกประเภทต้องปฏิบัติตามหลักวิธีปฏิบัติทางเภสัชกรรมชุมชน หรือจีพีพี (Good Pharmacy Practice : GPP) เกณฑ์มาตรฐานเพื่อยกระดับคุณภาพของร้านขายยาให้มี “ระบบคุณภาพ” ตามแนวทางสากล

ผลเป็นที่น่าตกใจ เพราะพบร้านขายยาเถื่อนที่ไม่ได้ขออนุญาต 17 แห่ง และร้านขายยาที่ไม่มีเภสัชกรประจำร้านตามกฎหมายอีก 117 แห่ง

ของกลาง 359 รายการ แบ่งเป็นยาแผนปัจจุบัน 57 รายการ ยาอันตราย 271 รายการ ยาไม่ขึ้นทะเบียน 30 รายการ แถมยังเจอยาออกฤทธิ์ต่อจิตประสาทอีก 1 รายการ!

งานนี้ตั้งไข่มาจากประชาชนทั่วประเทศ ร้องเรียนเข้ามาที่ตำรวจ ปคบ. และ อย. เรื่องการขายยาผิดกฎหมาย ทั้งยานอนหลับ ยาชุด ยาแก้แพ้แก้ไอ ยาเขียว-เหลือง ยาอันตราย และยาควบคุมพิเศษ ไปจนถึงไม่มีเภสัชกร

เลยนัดกันลุยตรวจแบบเตะรวบ เจอความผิดอะไรจับหมด เพราะร้านขายยาผิดกฎหมายคงไม่จ้างเภสัชกรมาทำงานขายยาต้องห้ามยาอันตรายสุ่มสี่สุ่มห้า เภสัชกรจริงคงไม่เอาด้วยเพราะจะซวยถูกยึดใบอนุญาตซะเปล่าๆ?!

เท่าที่สอบสวนเบื้องต้น คนขายที่ทำหน้าที่แทนเภสัชกร มีความรู้ตั้งแต่ระดับประถมไปจนถึงปริญญาตรี ทำให้ตัดสินใจง่ายที่จะขายยาผิดกฎหมาย?

...

สรุปงานนี้ดีต่อประชาชน โดยเฉพาะพี่น้องประชาชนที่มีรายได้น้อย ไม่มีกำลังทรัพย์เข้าโรงพยาบาล

ถ้าทุกร้านมีเภสัชกร อย่างน้อยมันปลอดภัยกับประชาชนตาดำๆนะครับ?

สหบาท