ปรากฏการณ์ “ราคาหมูแพง ยังทรงตัวต่อเนื่อง” กลายเป็นปัญหาหนักอกกระทบต่อ “คนไทยทั้งแผ่นดิน” แบกรับค่าครองชีพสูงขึ้นอย่างเลี่ยงไม่ได้ สร้างความเดือดร้อนแสนสาหัสที่สุดในรอบหลายสิบปี

สาเหตุทำให้ “เนื้อหมูแพง” ก็เพราะโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร (ASF) ลือกันว่าเกิดโรคระบาดมาตั้งแต่ 1-2 ปีที่แล้วด้วยซ้ำจนทำให้ “หมูติดเชื้อป่วยล้มตายสะสม” กระทบมาถึงปี 2565 ปริมาณสุกรเหลืออยู่ 10-12.5 ล้านตัว จากที่เคยมีกำลังผลิต 22 ล้านตัวต่อปี ส่วนความต้องการบริโภคในประเทศอยู่ที่ 17 ล้านตัวต่อปี

เหตุการณ์นี้ทำให้ “ประเทศไทย” ต้องใช้เวลา 2 ปี ในการผลิตสุกรเข้าระบบกลับสู่ภาวะปกติตามที่ “คณะเศรษฐศาสตร์และคณะสัตวแพทยศาสตร์ ม.เกษตรศาสตร์” ศึกษาวิจัยแบบจำลองสถานการณ์ราคาหมูปัจจุบัน

สรุปผ่านเวทีเสวนา “ทางเลือกทางรอด หมูแพง...ผู้เลี้ยงอยู่รอด ผู้บริโภคอยู่ได้” นำเสนอ “ภาครัฐนำเข้าจากต่างประเทศระยะสั้น” ชดเชยเนื้อสุกรที่หายไปจากโรค ASF เพื่อคนในประเทศจะได้บริโภคหมูราคาถูกลงนี้ ผศ.ดร.เออวดี เปรมัษเฐียร อาจารย์ประจำภาควิชาเศรษฐศาสตร์เกษตรและทรัพยากร คณะเศรษฐศาสตร์ ม.เกษตรศาสตร์ บอกว่า

...

โชคดีในปี 2562 ทีมวิจัยเคยมีการศึกษาประเมินผลกระทบ “กรณีนโยบายของการนำเข้า และการไม่ให้นำเข้าเนื้อสุกรที่ไม่ปลอดสารเร่งเนื้อแดง” ด้วยแบบจำลองการตลาดสุกรในเชิงเศรษฐศาสตร์

เมื่อเกิดปรากฏการณ์ “หมูแพง” ก็ได้พัฒนาต่อยอดแนวทางการแก้ปัญหานี้ด้วยข้อมูลสุกรไทยปัจจุบัน ตั้งแต่ราคาในตลาด ปริมาณสุกร ความต้องการ ราคานำเข้า การส่งออกนำเข้า และสถานการณ์โรคระบาดแล้วนำเข้ากระบวนการประเมินด้วยแบบจำลองการตลาดสุกรฯ ทำให้ได้ผลสรุปออกมา 3 แนวทางคือ

แนวทางแรก...“ปล่อยให้เป็นไปตามกลไกตลาด” โดยภาครัฐดูแลผู้ผลิตให้กลับมาเลี้ยงหมูดังเดิม เพื่อเพิ่มสุกรเข้าระบบเท่าที่ทำได้ แนวทางที่สอง...“ภาครัฐใช้นโยบายตรึงราคาและอุดหนุนให้ถูกลง” ในการแทรกแซงดูแลอุปทานที่มีจำกัด และจัดการปัญหาฝ่ายอุปสงค์ของผู้บริโภคโดยใช้เงินอุดหนุนกำหนดราคาเพดาน

แนวทางที่สาม...ภาครัฐเปิดนำเข้าเนื้อสุกรจากต่างประเทศ เพื่อชดเชยส่วนขาดไปตามกรอบการนำเข้าไม่เกินปริมาณที่จะส่งผลกระทบก่อความเสียหายต่อเกษตรกรผู้เลี้ยงสุกรมากนักตามมา

ปัญหามีว่า “ถ้ารัฐบาลไม่ดำเนินมาตรการใดๆ” แน่นอนสิ่งคาดการณ์คือ “เนื้อสุกรต้องแพงขึ้นเรื่อยๆเป็นระยะเวลา 8 เดือนข้างหน้า” เพราะซัพพลายที่มีอยู่อย่างจำกัดจะไม่สามารถเพิ่มได้ทันตามความต้องการบริโภค อันเกิดจากการสูญเสียกำลังการผลิตที่เกิดจากโรคระบาด จนกว่าการผลิตจะฟื้นฟูกลับคืนมาสู่ปกติ

ทั้งกระทบต่อ “ประชาชนบริโภคเนื้อหมูน้อยลง” หันไปรับประทานโปรตีนทดแทน เช่น เนื้อวัว ไก่ อาหารทะเล ผลตามมาผู้บริโภคสูญเสียสวัสดิการสังคมเฉลี่ยเดือนละ 1,200 ล้านบาท ยังไม่นับรวมความสูญเสียฝั่งผู้ผลิตมูลค่าความเสียหายจากการระบาดราว 1.5 แสนล้านบาท เป็นเงินหมุนเวียนในระบบเลี้ยงสุกรไทยจนถึงเขียงหมู

แต่หากว่า “ปล่อยให้เป็นไปตามกลไกตลาด” สถานการณ์ราคาเนื้อหมู จะพุ่งสูงถึง 300 บาท/กก. ในช่วงกลางปี 2565 แม้แต่ราคาหมูหน้าฟาร์มก็จะเพิ่มขึ้น 150-160 บาท/กก. ทำให้คนไทยเจอสภาวะกินเนื้อหมูแพง

ยิ่งกว่านั้นถ้า “รัฐบาล” พยายามควบคุมจำกัดปริมาณซัพพลายในประเทศ หรือควบคุมการผลิตโดยไม่มีการเพิ่มปริมาณการผลิตเปิดการนำเข้าหมูจากต่างประเทศแล้ว “ใช้วิธีแทรกแซงตรึงราคาเนื้อหมูถูกลง” เพื่อบรรเทาปัญหาความเดือดร้อนได้จริง แต่ว่า “ภาครัฐ” ต้องใช้เงินจำนวนมากกว่า 1,500 ล้านบาท/เดือน

...

นับเป็นการใช้เงินงบประมาณค่อนข้างสูงมาก แต่กลับเป็นเพียงมาตรการระยะสั้นเท่านั้น เพราะดุลยภาพอุปสงค์อุปทานราคาหมูมักปรับตัวตามธรรมชาติ ฉะนั้นเมื่ออุปทานไม่เพียงพอต่ออุปสงค์แล้วย่อมทำให้เกิดภาวะขาดแคลนจนนำมาซึ่งการกักตุนสินค้า และนำออกขายกันเกินราคาที่กำหนดไว้ในตลาดมืดนั่นเอง

ดังนั้นข้อดี “การแทรกแซงตรึงราคาหมูหน้าฟาร์มให้อยู่ระดับปัจจุบัน 110 บาท/กก.” ด้วยเงินเดือนละ 1,500 ล้านบาท สามารถชะลอการปรับราคา เนื้อหมูแพงได้แน่ แต่ “ภาครัฐ” ต้องสูญเสียเงินในการใช้นโยบายนี้ไปมหาศาล สุดท้ายเนื้อหมูยังคงปรับราคาสูงในช่วงกลางปี 2565 เพราะเป็นตามฤดูกาลตลาดสุกรนี้

ราคาขายปลีกเพิ่มอยู่ที่ 280 บาท/กก. ส่วนราคาหน้าฟาร์มอยู่ที่ประมาณเกือบ 150 บาท

แล้วหากเปิดให้นำเข้าเนื้อหมูจากต่างประเทศนี้ ผศ.ดร.ณัฐพล พจนาประเสริฐ ภาควิชาเศรษฐศาสตร์เกษตรและทรัพยากร คณะเศรษฐศาสตร์ อธิบายเสริมว่า ดั่งที่ทราบกันอยู่ว่า “ราคาหมูแพง” เกิดจากอุปทานหมูในประเทศขาด ที่มีความจำเป็นต้องหาอุปทานจากต่างประเทศเข้ามาเพิ่มช่วยในส่วนที่ขาดหายไป

...

ฉะนั้น “การนำเข้าเนื้อสุกร” ถือเป็นอีกทางเลือกช่วยบรรเทาปัญหานี้แต่ต้องคำนวณปริมาณนำเข้าอย่างเหมาะสม เพราะนำเข้ามากไปก็กระทบผู้เลี้ยง หากนำเข้าน้อยผู้บริโภคก็ต้องรับภาระซื้อหมูราคาแพงอีกเช่นเดิม

ว่าไปแล้วเรื่องนี้มีข้อดีคือ...สามารถแก้ปัญหาราคาสุกรในประเทศไม่ให้สูงเกินไป และช่วยชดเชยอุปสงค์ส่วนเกินที่ผู้บริโภคต้องการได้ ในข้อเสียระยะยาว...ถ้าปล่อยนำเข้าแล้วเกษตรกรรายย่อยไม่ปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิต หรือการตลาดก็จะส่งผลให้การผลิตลดลง เมื่อสถานการณ์ปกติไม่อาจกลับเข้ามาสู่การแข่งขันได้อีก

และมีคำถามว่า “แล้วจะนำเข้าจากประเทศใด” ในตลาดสุกรประเทศผู้ส่งออกรายใหญ่ของโลกมีอยู่ เช่น สหรัฐอเมริกา บราซิล แคนาดา และยุโรป แต่ด้วยกฎหมายการค้าระหว่างประเทศไทย “ไม่อนุญาตใช้สารเร่งเนื้อแดง” ฉะนั้นในจำนวนประเทศส่งออกนี้ “ยุโรปไม่ใช้สารเร่งเนื้อแดง” จึงเป็นทางเลือกการนำเข้าเนื้อหมูได้

...

ส่วนโครงสร้างราคาเนื้อสุกรยุโรปอยู่ที่ 70 บาท/กก. หรือคิดเป็น 30-40% ของราคาขายปลีก และบวกค่าขนส่งเข้าโรงงานในไทย 25 บาท หรือคิดเป็น 12.5% ภาษีนำเข้า 30-40% ค่าธรรมเนียมปศุสัตว์ 7 บาท/กก. ต้นทุนการตลาดค่าตกแต่งเนื้อในประเทศ 20% และค่าส่วนต่าง 10-20% นำเข้ากองทุนพัฒนาอุตสาหกรรมเกษตรกร

สรุปว่า “การนำเข้าเนื้อสุกรจากยุโรป” มีราคาตกอยู่ที่ประมาณ 170-200 บาท/กก. ...

ประเด็น “ข้อดีข้อเสียเมื่อนำเข้าเนื้อหมูแล้ว” การคาดการณ์แบ่งเป็น 3 ฉากทัศน์ คือ ฉากทัศน์แรก...“นำเข้าทันทีที่ราคาหน้าฟาร์ม 110 บาท/กก.” คำนวณนำเข้าอย่างเหมาะสมไม่กระทบเกษตรกรอยู่ที่ 2 หมื่นตัน/เดือน หรือ 75% ของอุปสงค์ส่วนเกิน ทำให้ราคาหน้าฟาร์มลดลง 6-8% หรือ 100-103 บาท จากราคา 110 บาท/กก.

ราคาขายปลีกจาก 205 บาท/กก. ลดลง 7-10% ผู้บริโภคซื้อเนื้อหมูที่ 184-190 บาท/กก. แต่มีข้อเสียตรงที่ราคาหน้าฟาร์มลดลงเหลือ 100 บาท ด้วยต้นทุนการผลิตสุกรอยู่ที่ 90 บาท จึงไม่เป็นที่จูงใจต่อเกษตรกรนัก

ฉากทัศน์ที่สอง...“นำเข้าเมื่อราคาระดับฟาร์มมากกว่า 120 บาท/กก.” สิ่งนี้ทำให้ราคาขายปลีกพุ่งถึง 240 กว่าบาท/กก. ถ้ามีการนำเข้าราคาหน้าฟาร์มจะลดลง 110 บาท/กก. ราคาขายปลีก 198-205 บาท/กก. จากราคาปกติ 225 บาท หรือคิดเป็น 9-12%

ฉากทัศน์ที่สาม...“คำนวณปริมาณการนำเข้าสูงสุดที่ไม่กระทบต้นทุน หมูในประเทศ” ตามข้อมูลปริมาณนำเข้าสูงสุดที่เป็นไปได้ 25,000 ตัน/เดือน จะส่งผลทำให้ราคาหน้าฟาร์มลดลงเหลือ 93-97 บาท/กก.ใกล้เคียงต้นทุนการผลิตมาก ดังนั้นราคาขายปลีกลดลง 170-174 บาท/กก. หรือคิดเป็น 13-15%

ถ้าดูสรตะแล้ว “ในแง่มุมผู้บริโภคและผู้ผลิต” ทำให้มองว่า “ฉากทัศน์ที่สองการนำเข้าเมื่อราคาระดับฟาร์มมากกว่า 120 บาท/กก.” น่าจะมีความเหมาะสมเป็นไปได้มากที่สุด

ย้ำว่าทั้งหมดนี้เป็นผลการศึกษาตามแบบจำลองการตลาดสุกรในทางเศรษฐศาสตร์ นำมาเสนอเป็นทางเลือกแก้หมูแพงระยะสั้น “ไม่ได้ทำเพื่อฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง” แต่ยึดตามดีมานด์ซัพพลายในประเทศ ด้วยการจำกัดปริมาณนำเข้าเนื้อหมูภายใต้ข้อกำหนดไม่มาจากพื้นที่ระบาดของโรค ASF และไม่มาจากแหล่งใช้สารเร่งเนื้อแดง

เพราะด้วย “ประเทศไทย” มีงบประมาณอย่างจำกัดควรใช้ระบบกำกับดูแลราคาที่เป็นไปได้แล้ว “ยอมรับกันได้ทุกฝ่าย” ที่มีจุดมุ่งหมายเพื่อเป็นทางเลือกให้ผู้เลี้ยงอยู่รอด...ผู้บริโภคก็ต้องอยู่ได้

จากนี้คงเป็นหน้าที่ “รัฐบาล” ต้องพิจารณาตัดสินใจ เพื่อความอยู่รอดด้วยกันทุกฝ่ายต่อไป.