กรณีการเอาประกันจาก โรคไวรัสโควิด-19 มีปัญหา ทำให้เกิดความสั่นคลอนในวงการประกัน คปภ. หรือ สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย ที่มี สุทธิพล ทวีชัยการ เป็นเลขาธิการฯ ต้องรับศึกหนักมีเรื่องฟ้องร้อง อีนุงตุงนัง บริษัทประกันภัย มีปัญหาถึงขั้นต้องปิดกิจการหรือเลี่ยงที่จะไม่จ่ายเงินประกันโควิด-19 เอาดื้อๆ กองทุนประกันภัย ที่มีเหลือยู่ไม่กี่หมื่นล้านไม่เพียงพอต่อการจ่ายค่าชดเชยให้กับลูกค้าได้ บางรายทำประกันโควิดไว้มีมูลค่านับล้านบาท ลูกค้าที่ทำประกันโควิดเอาไว้ มีจำนวนมาก โดยเฉพาะในช่วงที่โควิดระบาดหนัก คนแห่ไปทำประกันเอาไว้เท่าไหร่ ถ้าคิดเอาจากจำนวนผู้ติดเชื้อโควิด-19 ในประเทศไทย ที่มีกว่า 2 ล้านคน ยังไม่รวมผู้เสียชีวิตที่ประกันจะต้องจ่ายเยอะกว่าอีกเป็นหมื่นราย ถ้าคิดคร่าวๆแค่ 1 ล้านคน คนละ 1 แสนบาท แค่นี้บริษัทประกันก็อยู่ไม่ได้แล้ว
ปัญหาที่ตามมาก็คือ คปภ. จะจัดการกับปัญหานี้อย่างไร รัฐบาลจะเข้าไปเยียวยาอย่างไร ในที่สุดปัญหาก็จะถึงทางตัน ไม่ต่างจากปัญหาแชร์ลูกโซ่ คงไม่มีใครคาดคิดว่า ปัญหาการระบาดของโควิด-19 จะระบาดหนักขนาดนี้ เพราะ ระบบสาธารณสุข เราเริ่มต้นมาอย่างดี ยกเว้นจะพิสูจน์ได้ว่าการจัดการปัญหาโควิดล้มเหลวเป็นเพราะความผิดของ กระทรวงสาธารณสุข และหน่วยงานภาครัฐ ทีนี้บานตะไทแน่นอน
เจอ จ่าย แต่ไม่จบ
กฎหมายเกี่ยวกับสาธารณสุขโดยเฉพาะการบริหารราชการภาวะฉุกเฉินในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 น่าจะมีการสังคายนากันให้สะเด็ดน้ำ ไม่อย่างนั้นจะเป็นช่องว่างในการเอาตัวรอดของบุคคลและหน่วยงานที่รับผิดชอบ กลายเป็นว่าในที่สุดแม้จะพิสูจน์ได้ว่าเกิดความผิดพลาด แต่ไม่สามารถเอาผิดใครได้เลย
ในต่างประเทศมี ประชาชนออกมาเดินขบวนต่อต้านมาตรการของรัฐ เกี่ยวกับการป้องกันโควิด-19 เช่น ข้อบังคับให้ต้องมีการฉีดวัคซีน บังคับการรับเข้าทำงาน การนั่งรับประทานอาหารในร้าน การล็อกดาวน์ เป็นต้น เพราะบางกิจกรรมถือเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน สิทธิและเสรีภาพส่วนตัว
...
บ้านเรายังไม่ถึงขนาดนั้น แค่แย่งกันฉีดวัคซีนแบบอนาถา ในบางช่วงบางตอน และในที่สุดแล้วก็คงมีการทบทวนมาตรการต่างๆ ที่บังคับใช้ในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ไปแบบเฉพาะหน้าชักเข้าชักออก
นายกฯอังกฤษ บอริส จอห์นสัน มีความต้องการที่จะ ยกเลิกกฎหมายในสถานการณ์ฉุกเฉินอย่างถาวร แม้จะมีคนป่วยโควิดอยู่ในระดับหลัก 8-9 หมื่นรายต่อวัน แต่เมื่อเทียบกับจำนวนผู้ป่วยโควิดถือว่ามีจำนวนลดลง มั่นใจว่าจะกระทบกับชีวิตประจำวันของประชาชนน้อยลง
อังกฤษไม่มีการกักตัวคนที่เดินทางเข้าประเทศ ตรวจ ATK ผ่านก็เข้าประเทศได้เลย ที่ฝรั่งเศสลดมาตรการความปลอดภัยลง สหรัฐฯก็เช่นกัน ที่เข้มข้นน่าจะมีแค่จีน เมื่อสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิดเริ่มจะเปลี่ยนไป รัฐบาลก็ควรจะทบทวนมาตรการต่างๆให้สอดคล้องกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิดที่เป็นไปอย่างรวดเร็ว แต่การช่วยเหลือเยียวยาที่เป็นไปด้วยความล่าช้าจะเป็นสารตกค้างที่เป็นอันตรายต่อการดำรงชีวิตของประชาชน.
หมัดเหล็ก
mudlek@thairath.co.th