หลังลาวเปิดเส้นทางรถไฟลาว-จีน กลายเป็นทอล์กออฟเดอะทาวน์ในโลกโซเชียล โดยเฉพาะการวิตกกังวลว่า กองทัพพืชผักผลไม้จากจีนจะทะลักเข้าไทย ทำเกษตรกรบ้านเราเดือดร้อน...ประเด็นนี้จะไม่ขอพูดถึง เพราะมีขั้นตอนกระบวนการบริหารจัดการได้ไม่ยากนัก
แต่เรื่องที่น่าสนใจคือ เราจะได้ประโยชน์อะไรกับเรื่องนี้ เฟซบุ๊กของ นายอลงกรณ์ พลบุตร ที่ปรึกษารัฐมนตรีเกษตรฯ ให้ข้อมูลไว้ว่า...ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา เรากำลังขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ เชื่อมไทย เชื่อมลาว เชื่อมโลก และวางหมุดหมายใหม่เรียกว่า “อีสาน เกตเวย์” และ “ระเบียงเศรษฐกิจอีสาน” โดยกระทรวงเกษตรฯ และกระทรวงพาณิชย์
ยุทธศาสตร์นี้เป็นคานงัดที่จะเปลี่ยนอนาคตของอีสานและประเทศของเรา หลังรถไฟลาว-จีนเปิดบริการได้อย่างสมบูรณ์ภายในครึ่งแรกของปีหน้า เมื่อนั้น จ.หนองคาย จะกลายเป็นเกตเวย์ที่มีศักยภาพใหม่อีกแห่งของประเทศ เชื่อมไทยเชื่อมลาวเชื่อมจีนเชื่อมเอเชียกลางเชื่อมยุโรป
เพราะในความเป็นจริงลาวกำลังพัฒนาระบบโลจิสติกส์ และเขตเศรษฐกิจพิเศษหลายโครงการ ตั้งแต่เหนือสุดถึงใต้สุด โดยทุกโครงการร่วมลงทุนกับต่างประเทศ เช่น จีน ไทย เวียดนาม อินโดนีเซีย ญี่ปุ่น มาเลเซียและเกาหลี เป็นต้น
เนื่องจากลาวต้องการเปลี่ยนข้อจำกัดเดิม จากประเทศไม่มีทางออกทะเลอยู่ในมุมอับ (Land Locked) สู่ประเทศแห่งความเชื่อมโยง (Land of Connectivity)
โครงการท่าเรือน้ำลึกหวุงอ๋าง เป็นอีกโครงการที่สำคัญมากสำหรับอนาคตลาว รวมถึงอนาคตของไทย โดยลาวเร่งพัฒนาเส้นทางเชื่อมเวียงจันทน์ แขวงบอลิคำไซ กับแขวงคำม่วน (ตรงข้ามจังหวัดนครพนม) ไปยังจังหวัดฮาติงห์ของเวียดนาม
โครงการนี้สำคัญมากๆ เพราะจะเป็นช่องทางสู่โลกกว้างแห่งโอกาสที่สั้นที่สุด เหนืออื่นใดคือเป็นท่าเรือน้ำลึกในแผ่นดินเวียดนามที่เสมือนลาวเป็นเจ้าของ เนื่องจากบริษัทรัฐวิสาหกิจพัฒนาท่าเรือหวุงอ๋าง ลาว-เวียดนาม มีลาวถือหุ้น 60% เวียดนาม 40%.
...
สะ–เล–เต