ปี 2564 เป็นอีกปีที่ กระทรวงการต่างประเทศ ปฏิบัติภารกิจการให้บริการประชาชนอย่างเข้มข้นและต่อเนื่อง ในความท้าทายที่ต้องรับมือกับการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 โดยมี กรมการกงสุล ขับเคลื่อนภารกิจตามนโยบายของ นายดอน ปรมัตถ์วินัย รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.การต่างประเทศ
นายธานี ทองภักดี ปลัดกระทรวงการต่างประเทศ พ่อบ้านของกระทรวง รวมทั้ง นายฉัตรชัย วิริยเวชกุล อธิบดีกรมการกงสุล พร้อมด้วย 2 รองอธิบดี นายณรงค์ บุญเสถียรวงศ์ และ นายจาตุรนต์ ไชยะคำ ได้พัฒนานวัตกรรมการบริการ และปรับแนวทางให้สอดรับกับชีวิตวิถีใหม่ เพื่อให้ตามนโยบาย “การทูตเพื่อประชาชน”
“การทูตเพื่อประชาชน ทุกแห่งหนเราดูแล”
ในรอบปี 2564 ที่ผ่านมา กรมการกงสุล สถานเอกอัครราชทูต และ สถานกงสุลใหญ่ไทย จำนวน 95 แห่งทั่วโลกในฐานะหน่วยงานหลัก มีภารกิจในการดูแลและคุ้มครองคนไทยในต่างประเทศ ให้ความช่วยเหลือดูแลคนไทยในต่างประเทศที่มีอยู่กว่า 1 ล้านคนทั่วโลก
...
ช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 ระลอกใหม่ ตั้งแต่วันที่ 4 เม.ย. 2563 กรมการกงสุล และ สถานเอกอัครราชทูต สถานกงสุลใหญ่ ร่วมกับเครือข่ายกงสุลอาสาทั่วโลก ได้ให้ความช่วยเหลือคนไทยกว่า 300,000 คน เดินทางกลับประเทศ (ข้อมูลถึงวันที่ 6 ธ.ค.2564)
นอกจากนี้ ในบางช่วงยังได้ส่งมอบถุงยังชีพ อุปกรณ์ป้องกันโรคไวรัสโควิด เช่น หน้ากาก เจลแอลกอฮอล์ และสมุนไพรฟ้าทะลายโจร ให้กับคนไทยที่ได้รับความเดือดร้อนในพื้นที่ต่างๆด้วย
กรมการกงสุล นำนวัตกรรมบริการอิเล็กทรอนิกส์มาพัฒนาบริการ จากที่ต้องออกหนังสือรับรองการเดินทางเข้าราชอาณาจักร (Certificate of Entry : COE) ในรูปแบบกระดาษช่วงแรกๆ พัฒนาเป็นระบบ COE ออนไลน์ ไม่ต้องเดินทางมารับเอกสาร ทั้งคนไทยและชาวต่างชาติ
ด้วยภารกิจช่วยเหลือและบริการช่วงวิกฤติไวรัสโควิด-19 ทั้งในและ ต่างประเทศ บุคลากรและบุคคลในครอบครัวของสถานเอกอัครราชทูตและสถานกงสุลใหญ่ ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 กว่า 200 ราย และเสียชีวิต 6 ราย
งานกงสุลกับนวัตกรรมการบริการ
การนำนวัตกรรมมาใช้ในการบริการถือว่าสอดคล้องกับวิถีการใช้ชีวิตและการทำงานในรูปแบบใหม่ในช่วงสถานการณ์โควิด-19 ที่เน้นการรักษาระยะห่างทางสังคมและกายภาพเพื่อป้องกันโรค
กระทรวงการต่างประเทศ ให้ความสำคัญต่อการนำนวัตกรรมมาพัฒนาบริการงานด้านกงสุลมานานมากกว่า 15 ปี เมื่อ กรมการกงสุล เปิดบริการ หนังสือเดินทางอิเล็กทรอนิกส์ (อี-พาสปอร์ต) ในปี 2548 ประเทศไทย ถือเป็นประเทศแรกๆของโลก ที่ใช้ อี-พาสปอร์ต ที่มีเทคโนโลยีขั้นสูงในเรื่องรูปเล่มและกระบวนการผลิต สะดวกรวดเร็วที่ใช้เพียงบัตรประชาชนเพียงใบเดียว ขยายการให้บริการไปทั่วโลก
...
ในสถานการณ์โควิดที่เข้มข้น กระทรวงการต่างประเทศ นำนวัตกรรมสารสนเทศมาใช้ในการออกหนังสือรับรองการเดินทางเข้าราชอาณาจักรเป็นแบบออนไลน์ (COE Online) จนได้รับรางวัลเลิศรัฐประจำปี 2564 สาขาบริการภาครัฐ ระดับดีเด่น
เมื่อรัฐบาลปรับนโยบายเปิดประเทศจากการควบคุมเข้มข้น มาเป็นอำนวยความสะดวกให้คนเข้าประเทศได้มากขึ้น
กรมการกงสุล ได้ร่วมกับ สำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (สพร.) พัฒนาระบบ “Thailand Pass” แทนการออกเอกสาร COE Online ตั้งแต่วันที่ 1 พ.ย.2564 เป็นต้นมา โดยผู้ที่จะเดินทางมาประเทศไทยสามารถลงทะเบียนในขั้นตอนผ่านเว็บไซต์ https://tp.consular.go.th ข้อมูลของผู้เดินทางจะถูกจัดเก็บในรูปแบบดิจิทัล (QR code) สำหรับการตรวจคัดกรองที่ด่านเข้าเมือง ในช่วงเวลาสั้นๆ มีผู้ลงทะเบียนแล้วกว่า 500,000 คน
พร้อมกันนี้ยังมุ่งมั่นนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมมาพัฒนาบริการด้านอื่นๆ เพื่อให้ประชาชนได้รับความสะดวกรวดเร็วและบริการที่เป็นเลิศ ภายใต้นโยบาย “การทูตเพื่อประชาชน ทุกแห่งหนเราดูแล” อาทิ
...
-ระบบการจองคิวออนไลน์ บริการ “ทำหนังสือ เดินทาง” ที่กรมการกงสุล และ สนง.หนังสือเดินทางชั่วคราวอื่นๆ ในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด รวม 25 แห่ง และบริการจองคิวออนไลน์ “รับรองเอกสาร” ที่กรมการกงสุล, สนง.สัญชาติและนิติกรณ์ MRT คลองเตย และ สนง.หนังสือเดินทางฯ เชียงใหม่ เพื่อลดการสัมผัส ลดความแออัด และสะดวกรวดเร็วยิ่งขึ้น
-การตรวจลงตราแบบไร้แผ่นปะ (Stickerless e-Visa) พลิกโฉมการตรวจลงตราของไทยโดยไม่ต้องเดินทางไปที่สถานเอกอัครราชทูต/ สถานกงสุลใหญ่ไทย ไม่ต้องติดแผ่นปะวีซ่าในเล่มหนังสือเดินทาง ให้บริการแล้ว 29 แห่งทั่วโลก และมีแผนขยายการให้บริการในปี 2565 และ 2566 ครอบคลุมทั่วโลก
-แอปพลิเคชัน ThaiConsular สำหรับคนไทยที่พำนักในต่างประเทศและที่กำลังจะเดินทางไปต่างประเทศให้ได้รับความสะดวกรวดเร็วในการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารงานกงสุลที่เป็นประโยชน์ และการติดต่อต่างๆ
“ของขวัญปีใหม่ 2565 จากใจกรมการกงสุล”
ในโอกาสขึ้นปีใหม่ 2565 กระทรวงการต่างประเทศ โดย กรมการกงสุล ได้มอบ “ของขวัญปีใหม่” ให้บริการกับประชาชนคนไทย ได้แก่
1.ให้บริการหนังสือเดินทางในวันหยุดเสาร์อาทิตย์ ตลอดเดือนมกราคม 2565 (เริ่มวันเสาร์ที่ 8 มกราคม 2565) ระหว่างเวลา 10.00-18.00 น. ที่ สนง.หนังสือเดินทางชั่วคราว ปทุมวัน (ศูนย์การค้า MBK) และ บางใหญ่ (ศูนย์การค้าเซ็นทรัลพลาซา เวสต์เกต)
...
โดยให้บริการด้วยบูธปกติ และด้วยเครื่องรับคำร้องหนังสือเดินทางด้วยตัวเอง (kiosk) ซึ่งเป็นเทคโนโลยีใหม่ของประเทศไทย โดยไทยเป็นหนึ่งในไม่กี่ประเทศในเอเชียที่ให้บริการในรูปแบบนี้ ปัจจุบันบริการ 20 เครื่อง
2.ให้บริการทำหนังสือเดินทางด่วนในวันเดียว (ทำเช้า-รับบ่าย) โดยไม่คิดค่าธรรมเนียม (ยกเว้นค่าธรรมเนียมด่วน 2,000 บาท) จำนวน 1,000 ราย (100 ราย/วัน) ตั้งแต่วันที่ 1-15 ม.ค.2565 (ยกเว้นวันหยุดราชการ)
3.การให้บริการหนังสือเดินทางเคลื่อนที่ในพื้นที่ต่างจังหวัดทั่วประเทศ เดือนละ 2 ครั้ง ตลอดปี 2565 รวม 24 ครั้ง เพื่อบริการประชาชนในพื้นที่จังหวัดที่ไม่มีสาขาสำนักงานหนังสือเดินทางตั้งอยู่
4.บริการแปลเอกสารทะเบียนราษฎร 19 ประเภท โดยไม่คิดค่าบริการ ตลอดเดือนมกราคม 2565 ทุกวันจันทร์-ศุกร์ ณ กรมการกงสุล ถนนแจ้งวัฒนะ และ สนง.สัญชาติและนิติกรณ์ MRT คลองเตย โดยเจ้าของเอกสารต้องนำเอกสารมายื่นขอรับบริการด้วยตนเอง และจำกัดการให้บริการฟรีคนละ 1 เอกสาร
กระทรวงการต่างประเทศ โดย กรมการกงสุล ยังคงมุ่งมั่นพัฒนา เพื่อให้ไปสู่เป้าหมายบริการคนไทยทั่วโลกได้รับความสะดวกมากยิ่งขึ้น ตามนโยบาย “การทูตเพื่อประชาชน ทุกแห่งหนเราดูแล”.
ทีมข่าวภูมิภาค