กระทรวง อว. ขับเคลื่อนเศรษฐกิจ BCG โชว์งานวิจัย วว. ฟื้นฟูเศรษฐกิจภายหลังโควิด-19 วางเป้าหมาย ก้าวพ้นกับดักรายได้ปานกลาง สู่ประเทศที่พัฒนาแล้วอย่างยั่งยืนภายใน 7 ปี

ศ.(พิเศษ) ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) กล่าวว่า อว. เป็นองค์กรหลักในการขับเคลื่อนประเทศเชิงบูรณาการในทุกมิติ มุ่งใช้ความได้เปรียบเชิงทรัพยากรและวัฒนธรรมโดยการขับเคลื่อนนโยบาย BCG เป็นฐานในการพัฒนา ที่มีเป้าหมายร่วมคือ "ก้าวพ้นกับดักรายได้ปานกลาง สู่ประเทศที่พัฒนาแล้วอย่างยั่งยืนภายใน 7 ปี"

และจากสถานการณ์แพร่ระบาดของโควิด-19 อว. ได้ดำเนินงานเชิงรุกในการนำองค์ความรู้วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม (วทน.) เข้าไปช่วยตอบโจทย์ แก้ปัญหาอย่างเป็นรูปธรรม โดยมีกลไกขับเคลื่อน อาทิ การสร้างเศรษฐกิจจากฐานจุลินทรีย์ให้มีมูลค่าอย่างน้อย 3,000 ล้านบาทต่อปี โดยการสร้างผู้ประกอบการ ธุรกิจฐานนวัตกรรม เพิ่มสมรรถนะการวิจัยและบุคลากร พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและปัจจัยเอื้อ (Microbial bank การอนุรักษ์และใช้ประโยชน์) ส่งเสริมการลงทุนและมาตรการทางการเงิน รวมทั้งมุ่งเน้นสนับสนุนให้มีการทำเกษตรปลอดภัยและเกษตรอินทรีย์เพิ่มขึ้น สามารถแข่งขันได้ทั้งในและต่างประเทศ รวมทั้งร่วมรักษาสิ่งแวดล้อมโดยรวม

ด้าน ศ.ดร.นพ.สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล ปลัดกระทรวง อว. กล่าวว่า อว. มุ่งเป็นองค์กรเพื่อขับเคลื่อนการอุดมศึกษาไทย วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ไปสู่มาตรฐานในระดับสากล และเพิ่มอันดับความสามารถการแข่งขันในระดับนานาชาติอย่างยั่งยืน ภายในปี 2580 ผลกระทบจากโควิด-19 ที่เกิดขึ้น ถือเป็นโอกาสของ อว. ที่จะนำผลงานการวิจัยและการสร้างสรรค์นวัตกรรมเพื่อพัฒนาชุมชน สังคม และประเทศ ให้สามารถปรับตัวให้อยู่กับสถานการณ์ที่กำลังเกิดขึ้นให้ได้อย่างมีคุณภาพ ด้วยวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม 

...



ศ. (วิจัย) ดร.ชุติมา เอี่ยมโชติชวลิต ผู้ว่าการ วว. กล่าวถึงการดำเนินงานภายใต้โครงการใช้เงินกู้ตามพระราชกำหนดว่า ผลการดำเนินงานในปี 2564 สามารถสร้างผลกระทบทางเศรษฐกิจและสังคมจำนวน 860 ล้านบาท โดยได้รับการอนุมัติจำนวน 2 โครงการ คือ  โครงการที่ 1 ศูนย์นวัตกรรมผลิตหัวเชื้อจุลินทรีย์เพื่ออุตสาหกรรมอาหาร (ICPIM) เป็นคลังหัวเชื้อจุลินทรีย์กว่า 10,000 ชนิด มีภารกิจวิจัยพัฒนา ผลิต บริการ ด้านอาหารและผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพจากโพรไบโอติก/พรีไบโอติก ที่มีคุณสมบัติเหมาะสมกับคนไทย ผลสำเร็จการดำเนินงานสามารถสร้างความเข้มแข็งให้ผู้ประกอบการและเศรษฐกิจของประเทศ สามารถสร้างผู้ประกอบการได้ 41 ราย ชดเชยการนำเข้าหัวเชื้อจุลินทรีย์ได้ 30% ส่งผลกระทบทางเศรษฐกิจ 380 ล้านบาท และผลกระทบทางสังคม 110 ล้านบาท

โครงการที่ 2 โครงการยกระดับเศรษฐกิจในพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจภาคกลางตะวันตกด้วย BCG โมเดล มีผลสำเร็จการดำเนินงาน ดังนี้ ผลิต “สารชีวภัณฑ์ 5 สายพันธุ์” ร่วมสนับสนุนการทำงานของหน่วยงานพื้นที่ “กลุ่มอารักขาพืช สำนักงานเกษตรจังหวัด” รวมจำนวน 1.3 ล้านลิตร เพื่อป้องกันกำจัดศัตรูพืชทดแทนสารเคมีทางการเกษตร ลดสารพิษตกค้าง เพิ่มความปลอดภัย ยกระดับคุณภาพชีวิตให้แก่เกษตรกร

การพัฒนากระบวนการขยายชีวภัณฑ์ทั้งในระดับห้องปฏิบัติการเพื่อขยายสู่การผลิตเชิงพาณิชย์และระดับชุมชน รวมถึง จัดตั้งศูนย์นวัตกรรมผลิตเชื้อจุลินทรีย์ทางการเกษตร (Innovative Center for Production of Microorganisms Used in Agro- Processing Industry, ICAP) มีกำลังการผลิต 115,000 ลิตรต่อปี ส่งผลกระทบเชิงเศรษฐกิจและสังคมในวงกว้าง 

ผู้ว่าการ วว. กล่าวต่อว่า สำหรับการดำเนินงานภายใต้โครงการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจและสังคมจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 เพิ่มเติมจาก พ.ศ. 2564 วว. จะขยายผลการดำเนินงานทั้งสองโครงการ คือ ศูนย์นวัตกรรมผลิตหัวเชื้อจุลินทรีย์เพื่ออุตสาหกรรมอาหาร (ICPIM) อาทิ ถ่ายทอดเทคโนโลยีและสร้างผู้ประกอบการ 100 ราย พัฒนาสูตรผลิตภัณฑ์โพรไบโอติกเพื่อลดภาวะเมทาบอลิกซินโดรม (Metabolic Syndrome) ที่ผ่านการทดสอบระดับคลินิกในมนุษย์ ส่งเสริมผู้ประกอบการขนาดใหญ่ให้เกิดการลงทุนด้านเทคโนโลยี สร้างทักษะบุคลากรด้าน วทน. 150 ราย เพื่อรองรับการขยายตัวทางด้านเศรษฐกิจฐานชีวภาพของประเทศ

และโครงการยกระดับเศรษฐกิจในพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจภาคกลางตะวันตกด้วย BCG โมเดล ระยะที่ 2 ขยายผลใน 3 ภูมิภาค 15 จังหวัดเป้าหมาย ใน 4 กลุ่มพืชเศรษฐกิจ ขยายผลเทคโนโลยีชีวภัณฑ์ร่วมกับระบบ Smart farm เพื่อยกระดับการผลิตพืชมุ่งเน้นเกษตรกรใน 2 ระดับ คือ กลุ่มเกษตรกรที่ผ่านการรับรองระบบการผลิตพืชอินทรีย์และกลุ่มการผลิตพืชปลอดภัย และกลุ่มเกษตรกรที่อยู่ในระยะการปรับเปลี่ยนเพื่อเข้าสู่ระบบการผลิตพืชอินทรีย์และการผลิตพืชปลอดภัย และเพิ่มมูลค่าผลผลิตทางการเกษตรโดยแปรรูปเป็นสารสกัดมาตรฐานและต้นแบบผลิตภัณฑ์ functional food/เวชสำอาง รวมถึงขยายผลถ่ายทอดเทคโนโลยีบรรจุภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เพื่อเพิ่มมูลค่าวัสดุเหลือทิ้งทางการเกษตร

นอกจากนี้จะดำเนินโครงการใหม่อีก 1 โครงการ คือ การยกระดับเศรษฐกิจฐานรากระดับจังหวัดด้วยวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม เพื่อส่งเสริมเศรษฐกิจระดับชุมชนท้องถิ่นให้สามารถมีความเข้มแข็ง เพิ่มศักยภาพในการแข่งขันและพึ่งพาตนเองได้ มุ่งสร้างความมั่นคงทางอาหาร (Food Security) ผลิตอาหารที่มีคุณภาพ ได้รับการรับรองมาตรฐานการผลิตที่ดีตลอดห่วงโซ่คุณค่า และสร้างความยั่งยืนทางการผลิต การแปรรูปและการท่องเที่ยวเชิงนวัตกรรมอัตลักษณ์ในชุมชน โดยผลผลิตที่จะเกิดขึ้นเป็นรูปธรรม.

...