วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเป็นจุดเริ่มต้นสำคัญหนึ่งในการพัฒนาศักยภาพทางด้านอุตสาหกรรม ซึ่งส่งผลต่อขีดความสามารถในการแข่งขันทางเศรษฐกิจของประเทศด้วยอย่างมาก เหตุนี้ บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) หรือ ปตท.สผ. จึงได้จัดตั้ง “ศูนย์วิจัยพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม ปตท.สผ.” หรือ “PTIC” (PTTEP Technology and Innovation Center) ขึ้นด้วยจุดมุ่งหมายเดียวกันนี้ พร้อมกับปูทางสู่อนาคตด้วยนวัตกรรมที่ผ่านการค้นคว้า วิจัย และพัฒนาอย่างต่อเนื่อง “ศูนย์วิจัยพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม ปตท.สผ.” เป็นอีกบทพิสูจน์หนึ่งว่า วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี จะเข้ามาเสริมการเติบโตของภาคอุตสาหกรรมและเศรษฐกิจของประเทศได้อย่างมีนัยสำคัญ

พัฒนาและต่อยอดงานวิจัยอย่างมีทิศทาง

ศูนย์วิจัยพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม ปตท.สผ. หรือ PTIC (PTTEP Technology and Innovation Center) ตั้งอยู่บนพื้นที่กว่า 44 ไร่ ในเขตนวัตกรรมระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก หรือ Eastern Economic Corridor of Innovation - EECi ณ วังจันทร์วัลเลย์ จังหวัดระยอง โดยการริเริ่มของ บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) หรือ ปตท.สผ. เพื่อให้เป็นสถานที่สำหรับการพัฒนางานวิจัยและเทคโนโลยีสู่การนำไปใช้งานจริงในอุตสาหกรรมต่างๆ ปัจจุบันอยู่ในระหว่างการก่อสร้าง และพัฒนาในระยะที่ 2 จากทั้งหมด 3 ระยะ โดยอยู่ในขั้นตอนการสร้างสนามทดสอบ และโครงสร้างพื้นฐาน เพื่อรองรับการขยายผลงานวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีจากระดับห้องปฏิบัติการ ไปสู่การสร้างและทดสอบต้นแบบ ให้สามารถนำไปใช้ในสภาพแวดล้อมจริงได้อย่างมีประสิทธิภาพ

PTIC แห่งนี้ได้ถูกวางเป้าหมายเอาไว้ให้เป็นพื้นที่ให้นักวิจัยสามารถประเมินประสิทธิภาพผลงาน ปรับปรุงแก้ไข โดยขยายผลจากระดับห้องปฏิบัติการ ไปสู่การสร้างและทดสอบต้นแบบ ก่อนจะนำไปใช้งานจริงในด้านต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งผลงานที่มีความสัมพันธ์กับภาคอุตสาหกรรมในอนาคต พร้อมผลักดันงานวิจัยและเทคโนโลยีที่ ปตท.สผ. พัฒนาร่วมกับพันธมิตร ทั้งที่เป็นเทคโนโลยีเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการสำรวจ พัฒนา และผลิตปิโตรเลียม ไปจนถึงเทคโนโลยีอื่นๆ ที่มีประโยชน์ต่อภาคอุตสาหกรรม อาทิ เทคโนโลยีในการดักจับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์และนำไปใช้ประโยชน์ (Carbon Capture and Utilization - CCU) อย่างการนำก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ไปพัฒนาเป็นท่อนาโนคาร์บอน (Carbon Nanotubes) สำหรับใช้เป็นส่วนประกอบของแบตเตอรี่ เซนเซอร์ หรืออุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ต่าง ๆ เป็นต้น

แบบจำลองท่อนาโนคาร์บอนแบบผนังหลายชั้น (Multi-Walled Carbon Nanotube)
แบบจำลองท่อนาโนคาร์บอนแบบผนังหลายชั้น (Multi-Walled Carbon Nanotube)

นอกจากนี้แล้วยังมีโครงการที่น่าสนใจ อย่างโครงการวิจัยพัฒนาของเสียให้กลายเป็นวัสดุที่มีค่า เช่น การนำเศษดินและหินเหลือทิ้งจากกระบวนการสำรวจและผลิตปิโตรเลียม มาพัฒนาเป็นวัสดุสำหรับปูพื้นถนนและทางเดิน โดยปัจจุบันได้นำไปใช้งานจริงแล้วในพื้นที่ของ ปตท.สผ. เพื่อเป็นส่วนหนึ่งของการช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และลดของเสียเหลือทิ้งโดยเปลี่ยนให้เป็นวัสดุที่สร้างมูลค่า และมีประโยชน์ในการใช้งานอีกด้วย

การนำเศษดินและหินเหลือทิ้งจากกระบวนการสำรวจและผลิตปิโตรเลียมมาพัฒนาเป็นวัสดุสำหรับปูพื้นถนนและทางเดิน
การนำเศษดินและหินเหลือทิ้งจากกระบวนการสำรวจและผลิตปิโตรเลียมมาพัฒนาเป็นวัสดุสำหรับปูพื้นถนนและทางเดิน

อนาคตใหม่กำลังจะเริ่มต้นขึ้นที่ PTIC

หุ่นยนต์สุนัขสำหรับสำรวจและตรวจสอบ
หุ่นยนต์สุนัขสำหรับสำรวจและตรวจสอบ

สำหรับ ปตท.สผ. แล้ว ที่ผ่านมาไม่เพียงแต่สนับสนุนการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องกับกิจกรรมการสำรวจและผลิตปิโตรเลียม แต่ยังได้มุ่งเน้นการพัฒนาเทคโนโลยีที่จะเข้ามาช่วยเพิ่มประสิทธิภาพและความปลอดภัยในการดำเนินงานของธุรกิจอื่นๆ อีกด้วย ไม่ว่าจะเป็นเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์และหุ่นยนต์ ที่มี บริษัท เอไอ แอนด์ โรโบติกส์ เวนเจอร์ส จำกัด (เออาร์วี) ซึ่งเป็นบริษัทในเครือ เป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาและสร้างผลงานที่สามารถนำมาใช้งานได้จริง ทั้งหุ่นยนต์สำหรับการตรวจสอบและซ่อมแซมอุปกรณ์และสิ่งติดตั้งใต้ทะเล โดรนและแอปพลิเคชันสำหรับตรวจสอบอุปกรณ์ในที่สูง และโดรนเกษตรอัจฉริยะ รวมไปจนถึงเทคโนโลยีด้านการแพทย์ เป็นต้น ด้วยเหตุนี้การเกิดขึ้นของ PTIC จึงจะกลายเป็นส่วนหนึ่งของการผสานความร่วมมือครั้งสำคัญ

หุ่นยนต์ปฏิบัติการบนแท่นขุดเจาะปิโตรเลียมนอกชายฝั่ง
หุ่นยนต์ปฏิบัติการบนแท่นขุดเจาะปิโตรเลียมนอกชายฝั่ง

โดยภายในพื้นที่ 44 ไร่ นอกจากจะจัดสรรเป็นอาคารทดสอบต้นแบบ (Pilot Area Building) สนามทดสอบอากาศยานไร้คนขับ (UAV Test Field) ลานจอดเฮลิคอปเตอร์ ศูนย์วิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีการสำรวจและผลิตปิโตรเลียม (Exploration and Production Research Facility) แล้ว ยังมีศูนย์ฝึกอบรม พื้นที่จัดแสดงนิทรรศการ ศูนย์วิจัยเทคโนโลยีอุปกรณ์และเมืองอัจฉริยะ (Smart Facility/City Technology Research Facility) ศูนย์วิจัยเทคโนโลยีทางการแพทย์ (Medical Technology Research Facility) ศูนย์วิจัยเทคโนโลยีพลังงานทางเลือก (Future Energy Technology Research Center) และศูนย์ความร่วมมือกับภาคอุตสาหกรรม ซึ่งพร้อมสนับสนุนการวิจัยและพัฒนาร่วมกับหน่วยงานในระบบนิเวศนวัตกรรม EECi อาทิ เออาร์วี ปตท. สถาบันวิทยสิริเมธี (VISTEC) และสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) รวมทั้งองค์กรภาครัฐ เอกชน เอสเอ็มอี และสตาร์ทอัพ ขณะเดียวกันศูนย์ฯ แห่งนี้ก็วางตัวเพื่อส่งเสริมให้พันธมิตรสามารถใช้ประโยชน์อย่างเต็มที่ เพื่อร่วมผลักดันนวัตกรรมแห่งอนาคตไปด้วยกัน

สนามทดสอบอากาศยานไร้คนขับ
สนามทดสอบอากาศยานไร้คนขับ

สำหรับวันนี้หลายเทคโนโลยีได้ถูกพัฒนาและทดลองใช้งานแล้วที่ ศูนย์วิจัยพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม ปตท.สผ. (PTIC) แห่งนี้ อาทิ เทคโนโลยีอุปกรณ์และเมืองอัจฉริยะ เทคโนโลยีพลังงานทางเลือก โดยอาคารและพื้นที่ของศูนย์ฯ ได้เป็นส่วนหนึ่งของสนามทดลองเทคโนโลยีนวัตกรรมพลังงานสะอาด ที่นำพลังงานจากหลังคาโซลาร์เซลล์ (Solar Roof) มาหมุนเวียนใช้ การดำเนินโครงการการผลิตแบตเตอรี่จากพลังงานแสงอาทิตย์ การพัฒนาหอกรองอากาศที่เดินเครื่องด้วยพลังงานแสงอาทิตย์ (Solar Air Purifier Tower) และถนนอัจฉริยะ (Solar Road) ด้วยการสร้างพลังงานไฟฟ้าจากแผงโซลาร์เซลล์ที่ติดตั้งบนผิวถนน เป็นต้น

ศูนย์วิจัยพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม ปตท.สผ. หรือ PTIC กำลังจะกลายเป็นความหวังครั้งใหม่ของภาคอุตสาหกรรม จากการส่งเสริมและต่อยอดงานวิจัยด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีอย่างมีทิศทาง อนาคตอันใกล้เราจะมีโอกาสได้เห็นความก้าวหน้าใหม่ๆ มากขึ้น ในขณะเดียวกันย่างก้าวใหม่เหล่านี้ก็หมายถึงการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศอย่างยั่งยืนด้วยเช่นกัน