ทุกๆ ปี “PRISM Experts” หรือ “ทีมนักวิเคราะห์สถานการณ์น้ำมันของ กลุ่ม ปตท.” จะจัดงานสัมมนาครั้งใหญ่ขึ้นเพื่อนำเสนอทิศทางและแนวโน้มราคาน้ำมันในตลาดโลก พร้อมการวิเคราะห์เจาะลึกในสถานการณ์ของโลกที่เปลี่ยนไปในแต่ละปี ผ่านการร่วมมือกับ กลุ่มอุตสาหกรรมโรงกลั่นน้ำมันปิโตรเลียม สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย โดยปีนี้เป็นการจัดต่อเนื่องเป็นปีที่ 10 และครั้งนี้มาในรูปแบบงานสัมมนาออนไลน์ “2021 The Annual Petroleum Outlook Forum” ภายใต้หัวข้อ “Global Climate Action for A Better World – ประสานพลัง สร้างโลกที่ดีกว่า” ที่เนื้อหาเข้มข้นและเป็นประโยชน์อย่างมาก โดยเฉพาะสำหรับผู้ที่กำลังจับตามองสถานการณ์โลกอย่างใกล้ชิด รวมถึงผู้ที่อยู่ในธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับพลังงาน ภายใต้ความไม่แน่นอนของการแพร่ระบาดของโควิด–19 และความหวังของการฟื้นตัวขึ้นของเศรษฐกิจโลก คำถามคือ แล้ววันนี้เราอยู่ตรงไหน และโลกกำลังจะก้าวไปอย่างไรในวันพรุ่งนี้

โลกยังคงเปราะบาง แต่ความต้องการใช้น้ำมัน “สูงขึ้น”

เรื่องที่น่าสนใจเรื่องหนึ่งจากการวิเคราะห์สถานการณ์ของ ทีมนักวิเคราะห์ PRISM Experts คือการได้พบว่าปัจจุบันหลายประเทศกำลังฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ หลังจากที่ซบเซาจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด–19 รวมถึงการที่ต้องล็อคดาวน์ในหลายช่วงที่ผ่านมา การเริ่มผ่อนคลายมาตรการ รวมถึงการกลับมาเดินทางอีกครั้งของผู้คน เป็นส่วนหนึ่งที่ส่งผลให้ความต้องการในการใช้น้ำมันปรับตัวสูงขึ้น โดยทีมนักวิเคราะห์คาดการณ์ราคาน้ำมันดิบดูไบเฉลี่ยปี 2565 อยู่ที่ 67–75 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ซึ่งจะปรับตัวสูงขึ้นจากปี 2564 ในขณะเดียวกันอุปทานในตลาดก็มีแนวโน้มปรับเพิ่มขึ้น แต่ทั้งนี้สิ่งที่ต้องจับตามองอย่างต่อเนื่องอีกประการหนึ่ง ก็คือกลยุทธ์ของผู้ผลิตในตลาดโลกที่มีหลายปัจจัยเป็นตัวหนุน รวมถึงแม้เมื่อเศรษฐกิจฟื้นตัว ก็จะยังมีความล่าช้าจากผู้ผลิตอยู่ โดยสถานการณ์แบบนี้ก็ส่วนหนึ่งที่ทำให้ความผันผวนเกิดขึ้นได้เสมอ และมีผลต่อการปรับตัวสูงขึ้นของราคาน้ำมันในตลาดโลก

อีกเรื่องหนึ่งที่โลกยังนิ่งนอนใจไม่ได้ และยังคงอยู่ในสถานการณ์ที่เปราะบาง คือโควิด–19 ยังไม่ได้จากไปไหน การแพร่ระบาดที่รุนแรงขึ้นก็สามารถเกิดขึ้นได้ทุกเมื่อ ถือเป็นหนึ่งในสถานการณ์ที่อยู่เหนือการคาดเดาและต้องจับตามองอย่างใกล้ชิด ทีมนักวิเคราะห์ PRISM Experts ประเมินสถานการณ์ว่า หากมีการแพร่ระบาดของโควิด -19 ที่รุนแรงขึ้นอีกระลอก จนทำให้หลายประเทศต้องกลับมาใช้มาตรการล็อกดาวน์อีกครั้ง สถานการณ์ของโลกก็จะเปลี่ยนไปอีกอย่างแน่นอน ซึ่งส่งผลต่อทั้งเศรษฐกิจโลก การใช้พลังงาน ราคาน้ำมัน รวมถึงรูปแบบการใช้ชีวิตของเราทุกคนอีกครั้ง แน่นอนว่า ณ ปัจจุบัน (27 พฤศจิกายน 2564) ทั่วโลกก็กำลังจับตามอง “โอไมครอน” (Omicron) โควิด–19 สายพันธุ์ใหม่ที่พบทางตอนใต้ของทวีปแอฟริกา ซึ่งล่าสุดองค์การอนามัยโลก (WHO) ประกาศให้เป็นสายพันธุ์ที่น่ากังวล จนหลายประเทศเริ่มประกาศมาตรการจำกัดการเดินทาง รวมถึงมาตรการกักตัวสำหรับผู้ที่เดินทางมาจากพื้นที่เสี่ยง นั่นเท่ากับว่าการเปลี่ยนแปลงที่เกินคาดเดาก็สามารถเกิดขึ้นได้อย่างฉับพลันเสมอ

เทรนด์ของโลกกำลังเปลี่ยนไป และภาระใหญ่คือ “โลกร้อน”

งานสัมมนาออนไลน์ “2021 The Annual Petroleum Outlook Forum” ภายใต้หัวข้อ “Global Climate Action for A Better World – ประสานพลัง สร้างโลกที่ดีกว่า” ในปีนี้ ยังถือเป็นอีกส่วนหนึ่งของการเพิ่มความตระหนักรู้ถึงสถานการณ์ของโลกที่กำลังเปลี่ยนไปจากปัญหาสิ่งแวดล้อม หรือที่เรารู้จักในนาม “Climate Change” ซึ่งนับเป็นอีกส่วนหนึ่งที่มีผลต่อทิศทางและรูปแบบการใช้พลังงานทั่วโลกด้วย ความตระหนักถึงเรื่องนี้ส่งผลให้ประเด็นสิ่งแวดล้อมกลายเป็นประเด็นใหญ่ที่สำคัญมาก และเกิดความร่วมมือขึ้นเพื่อจัดการกับวิกฤตินี้อย่างเป็นรูปธรรมมากขึ้น โดยเฉพาะชาติมหาอำนาจ ทั้งสหรัฐอเมริกา สหภาพยุโรป หรือแม้แต่จีน ที่เริ่มกำหนดนโยบายและวางเป้าหมายที่จะจัดการกับปัญหา “Climate Change” อย่างจริงจัง ในทางกลับกันเรื่องนี้มีผลต่อตลาดพลังงานโลกอย่างมากด้วย แม้วันนี้ความต้องการในปริมาณพลังงานจะกลับมา ตามสถานการณ์ของเศรษฐกิจโลกที่เริ่มฟื้นตัวขึ้นมาบ้าง แต่ปัจจัยที่ท้าทายซึ่งส่งผลต่อราคา และทิศทางของอุตสาหกรรมพลังงานอย่างมากด้วย ก็คือ ประเด็นด้านสิ่งแวดล้อม และนโยบายของทั่วโลกที่กำลังขับเคลื่อนในเรื่องนี้เช่นกัน

หม่อมหลวงปีกทอง ทองใหญ่ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่บริหารกลยุทธ์กลุ่มธุรกิจปิโตรเลียมขั้นปลาย บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) กล่าวถึงทิศทางและกลยุทธ์ของ กลุ่ม ปตท. ที่จะต้องรองรับทิศทางการใช้พลังงานในอนาคตว่า กลุ่ม ปตท. ได้มุ่งพัฒนาธุรกิจที่สนับสนุนพลังงานสะอาด ไม่ว่าจะเป็น LNG, Renewable Energy, EV, Energy Storage System, Hydrogen เพื่อสร้างความมั่นคงทางพลังงานให้กับประเทศ ตัวอย่างเช่น บริษัท อรุณ พลัส จำกัด (ARUN PLUS) ที่ทำธุรกิจยานยนต์ไฟฟ้า เพราะกลุ่ม ปตท. เชื่อว่าพลังงานไฟฟ้าจะมีมีบทบาทสำคัญในการใช้พลังงานในอนาคต โดยหน้าที่หลักของ กลุ่ม ปตท. คือการสร้างความมั่นคงทางพลังงานให้กับประเทศ ทุกบริษัทในกลุ่มฯ มุ่งพัฒนาธุรกิจที่จะช่วยให้เกิดการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืน เพื่อร่วมผลักดันให้เกิด Low Carbon Society ตามที่ประเทศไทยได้ประกาศไว้ในที่ประชุม COP26 ว่าจะสร้างความเป็นกลางทางคาร์บอนภายในภายในปี ค.ศ. 2050 และ จะปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ ภายใน ค.ศ. 2065”

ทั้งนี้ ปตท.ได้ปรับทิศทางขององค์กรในปัจจุบันผ่านวิสัยทัศน์ใหม่ “Powering Life with Future Energy and Beyond” หรือ “ขับเคลื่อนทุกชีวิตด้วยพลังแห่งอนาคต” ที่ทำให้กลุ่ม ปตท. ก้าวมาเป็นส่วนหนึ่งในการสนับสนุนนโยบายด้านพลังงานและสิ่งแวดล้อมของภาครัฐ พร้อมจัดหาพลังงานทางเลือกที่หลากหลาย สร้างความความมั่นคงทางด้านพลังงานให้ประเทศไทยต่อไป”

การคาดการณ์สถานการณ์โลกของ ทีมนักวิเคราะห์สถานการณ์น้ำมันของ กลุ่ม ปตท. (PRISM Expert) ก็ทำให้เราพอจะประเมินความเป็นไปที่อาจเกิดขึ้นได้ในอนาคตระดับหนึ่ง เพื่อเตรียมรับมือหรืออาจปรับเปลี่ยนแนวทางในการดำเนินชีวิตและธุรกิจในบางแง่มุม แต่เหนือการคาดการณ์ก็ยังคงเป็นสถานการณ์ที่เกินคาดเดา ไม่เพียงความไม่แน่นอนของโควิด–19 แต่ยังอาจหมายถึงอีกหลายเรื่องที่วันนี้เรายังมองเห็นได้ไม่ชัดเจนเช่นกัน