นับวันต้นทุนการผลิตข้าวไทยต่อไร่ ยิ่งเพิ่มมากขึ้น “ราคาการส่งออกก็สูงกว่าประเทศคู่แข่ง” ทำให้ต้องเสียส่วนแบ่งทางการตลาดโลก ที่มีแนวโน้มการส่งออกลดน้อยถอยลงมาต่อเนื่องหลายปี

ถ้าเปรียบเทียบในช่วงเดือน ม.ค.-พ.ย.2562 ตัวเลขส่งออกกลมๆราว 7 ล้านกว่าตัน ในปี 2563 การส่งออก 5 ล้านกว่าตัน ปี 2564 การส่งออกเดือน ม.ค.-ก.ย. 3 ล้านกว่าตัน ถือเป็นตัวเลขค่อนข้างน้อยจน “สต๊อกข้าวในโรงสีไม่สามารถระบายออกได้หมด” แล้วสวนทางผลผลิตข้าวไทยเพิ่มมากขึ้นทุกปี

กลายเป็นปัจจัย “กดราคาข้าวเปลือกในประเทศต่อไร่ถูกลง” จนชาวนาเดือดร้อนขายไม่ได้ราคาอย่างทุกวันนี้ รศ.ดร.นิพนธ์ พัวพงศกร นักวิชาการเกียรติคุณ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) ให้ข้อมูลว่า แนวโน้มทิศทางการส่งออกข้าวไทยลดน้อยลงมาก อันเกิดจากภาคการผลิตต่อไร่สูงแล้วส่งออกราคาแพง โดยเฉพาะ “ข้าวหอมมะลิ” เมื่อก่อนเคยขาย 1,200 ดอลลาร์/ตัน แล้ว “เวียดนาม” ก็พัฒนาข้าวขาวพื้นนุ่มมาเจาะตลาดจีนขายราคา 600 ดอลลาร์/ตัน นับแต่ปี 2563 ประเทศไทยปรับราคาข้าวหอมมะลิลงเหลือ 700 ดอลลาร์/ตัน สามารถแย่งส่วนแบ่งตลาดเอเชียกลับคืนมาได้ ช่วงนี้ที่ตัวเลขการส่งออกขยับขึ้นเรื่อยๆ

...

อนาคตอันใกล้นี้ “ตลาดข้าวส่อเค้าผันผวนค่อนข้างมาก” ปัญหามีอยู่ว่า “เกษตรกรไทยกลับไม่ยอมปรับตัว” เพราะได้รับเงินอุดหนุน “ขาดทุน” ก็ยังได้รับการช่วยเหลือจากภาครัฐเช่นเดิม

แล้วอย่าคิดว่า “โรงสี” จะสามารถเอาเปรียบเกษตรกรได้ ตามสื่อเสนอข่าว “คนทำนาเดือดร้อน ข้าวราคาตกต่ำจนต้องนำไปขายข้ามจังหวัด” สะท้อนว่า “ชาวนาก็ไม่ยอมเสียเปรียบง่ายๆ” ยกเว้นบางจังหวัดโรงสีน้อยเท่านั้น โดยเฉพาะ “ภาคกลาง” ผู้ประกอบการโรงสีค่อนข้างแข่งขันแย่งชิงซื้อข้าวกันสูงมาก

กระทั่งต้องออกโปรโมชันแจกของแถมเอาใจให้คนมาขายข้าวกัน เรื่องนี้ “ธนาคารโลก” เคยศึกษาระบบซื้อขายในไทย เวียดนาม กัมพูชา ลาว ด้วยแบบเปรียบเทียบสรุปว่า “ราคาปัจจัยผลิตที่เกษตรกรไทยซื้อต่ำสุด และราคาผลผลิตที่เกษตรกรไทยขายสูงสุด” เพราะเป็นระบบการแข่งขันที่มีช่องโหว่การเอาเปรียบได้น้อย...ย้อนกลับมาเรื่อง “การแก้ปัญหาระยะยาว” ต้องปรับโครงสร้างขนานใหญ่ให้ “เกษตรกรปลูกข้าวน้อยลง” แล้วหันไปทำอย่างอื่นโดยมี “หน่วยงานภาครัฐ” คอยสนับสนุนฝึกอบรม

...ให้ “ชาวนาที่ยากจน” สามารถปรับตัวหันไปทำงานในอุตสาหกรรมอื่นใกล้บ้านได้

อธิบายแบบนี้ว่า “เกษตรกร” มีความสามารถแตกต่างกัน “บางคน” ไม่เหมาะกับการทำเกษตรด้วยซ้ำ โดยเฉพาะ “ลูกหลานคนรุ่นใหม่” มักไม่สนใจทำนากันแล้ว แต่ด้วยไม่มีกิจการสร้างรายได้เลยจำเป็นต้อง “ปลูกข้าว” เพราะไม่ต้องดูแลยุ่งยากมาก “น้ำใช้เพื่อการเกษตรฟรี” แถมราคาตกต่ำ

ยังได้รับเงินชดเชยช่วยเหลืออีก...ต้องเริ่มคิดหาทางออกแก้ไขเร่งด่วน เพราะเงินอุดหนุนช่วยเหลือเกษตรกรเพิ่มทุกปี “คนไม่เหมาะทำการเกษตร” ก็ควรออกจากระบบที่เป็นโจทย์ให้ “รัฐบาล” ต้องจัดสรรกระจายเศรษฐกิจสู่ชุมชนให้มีแหล่งสร้างรายได้ “รองรับชาวชนบท” สามารถมีงานทำใกล้บ้านอันเป็นทางเลือกการปรับตัวนอกระบบการเกษตรนี้

มิเช่นนั้น “ประชาชนคนชนบท” อาจต้องอพยพมากระจุกเฉพาะภาคตะวันออก เขตเศรษฐกิจพิเศษอีสเทิร์นซีบอร์ด กรุงเทพฯ ปริมณฑล จนถูกมองว่าไม่เปิดโอกาสให้เกิดการพัฒนาเศรษฐกิจแบบกระจายอำนาจการพัฒนาเศรษฐกิจสู่ท้องถิ่นกลายเป็นข้อครหาต่อ “รัฐบาล” มุ่งเน้นพัฒนาเฉพาะพื้นที่อีสเทิร์นซีบอร์ด?

ฉะนั้น ถ้าจะเริ่มนโยบายกระจายอำนาจทางเศรษฐกิจแล้ว “การคลัง” ต้องให้อำนาจท้องถิ่นในการจัดเก็บรายได้จากภาษีท้องถิ่น...บริหารจัดการของพื้นที่นั้น มิใช่เก็บเงินส่งให้ส่วนกลางตัดสินใจจัดสรรแจกคืน

...

ด้วยเหตุนี้ “การคลัง” จำเป็นต้องปฏิรูปใหม่เพิ่มเติมหรือไม่ ตอนนี้กลายเป็นว่า “ต่างจังหวัดต้องแบมือขอเงินพ่อแม่ที่ไม่สามารถมีรายได้เลี้ยงดูตัวเอง” ดังนั้นแล้ว “ส่วนกลาง” ต้องให้อำนาจทางกฎหมายบางกรณีแก่ “ท้องถิ่น” แต่อาจจำกัดขอบเขตในการออกกฎระเบียบบางอย่างสามารถทำได้ระดับใดเท่านั้น...เพื่อเป็นการกระจายอำนาจทางเศรษฐกิจที่แท้จริง เพราะถ้าทำให้ท้องถิ่นมีเงินสะพัด “คนชนบท ชาวไร่ ชาวนา” ก็คงไม่ต้องเข้ามาหางานในกรุงเทพฯตามมานี้

ทว่าตอนนี้ส่วนกลางไม่ยอมให้อำนาจการคลัง และการบริการตามกฎหมายแก่ท้องถิ่น แต่กลับมอบบทบาทหน้าที่ให้เยอะแยะมากมาย ดังนั้น รัฐบาลต้องกระจายอำนาจให้เกิดการพัฒนาแก่เกษตรกรลดความเหลื่อมล้ำ...รศ.ดร.นิพนธ์ ย้ำว่า “การช่วยเหลือเกษตรกรฝ่ายการเมืองต้องรีบตัดสินใจทำอะไรเพื่ออนาคตให้เกษตรกรไทยเข้มแข็งยั่งยืนนำไปสู่ความสามารถต่อการผลิตข้าวเพื่อการส่งออกอย่างมีคุณภาพ มิใช่ดูแลช่วยเหลือแบบระยะสั้นด้วยการอุ้มอุดหนุนเงินช่วยเหลือจนไม่ยอมปรับตัวเพียงเพราะต้องการหาคะแนนเสียงเท่านั้น”

ตอกย้ำ “แผนนโยบายระยะยาว” ต้องลดจำนวนเกษตรกรทำนาในประเทศ ด้วยสูตรง่ายๆ เหมือนประเทศคู่แข่งที่ประสบความสำเร็จจากการพัฒนาส่งออกข้าว เช่น ภาคการเกษตรทำนามีรายได้ 10% ก็ต้องมีแรงงานทำนา 10% ตามรายได้นั้น เมื่อคนทำนาน้อยลงก็จะกลายเป็นนาแปลงใหญ่มีรายได้ต่อหัวเพิ่มขึ้นเอง

...

ปัจจุบันคนทำนามีราว 25% ต้องค่อยๆลดให้ตรงรายได้ภาคเกษตร 10% ถ้าเป็นเช่นนี้การอุดหนุนเงินจำนวนมากก็จะน้อยลงตามด้วย

ส่วนที่เหลือ 90% ต้องย้ายออกนอกระบบภาคเกษตรทำงานประเภทอื่นด้วย “นโยบายการพัฒนาอุตสาหกรรม การบริการ การกระจายอำนาจสู่หัวเมือง” เป็นแรงจูงใจให้ผู้คนออกนอกระบบการเกษตร สุดท้ายรายได้ต่อหัวของเกษตรกรและรายได้ของคนนอกภาคเกษตรก็จะเท่ากัน ไม่มีความเหลื่อมล้ำต่อไป

ถ้าเทียบกับ “มาเลเซีย” เคยมีสภาพความยากจนเหลื่อมล้ำใกล้เคียงเราแล้วพัฒนามาควบคู่พร้อมกันมาตลอด ก่อนที่ “มาเลเซีย” ปรับสูตรโครงสร้างภาคเกษตรจนประสบความสำเร็จ ทำให้คนทำงานนอกระบบการเกษตรต่อหัวมีรายได้สูงกว่ารายได้ในเกษตรไม่ถึง 1.5 เท่า ส่วนไทยกลับมีความเหลื่อมล้ำกันถึง 4 เท่า

หนำซ้ำ “การพัฒนาพันธุ์ข้าวไทยค่อนข้างแย่” เพราะไม่สนใจความต้องการตลาดแล้วยิ่งช่วงหลังมานี้ “นักวิจัยเก่งในภาครัฐมีน้อยลง” ถ้าเทียบกับสมัยก่อนมักมี “เจ้าพ่อพันธุ์ข้าวไทยเยอะมาก” แม้แต่เวียดนามยังเดินทางมาดูงานในไทยทุกปี “ก๊อบปี้” กลับไปพัฒนาเดินหน้าวางระบบมา 20 ปี แต่เรายังคงยืนอยู่กับที่อยู่ตลอด...ดังนั้นต้อง “ปฏิรูประบบการวิจัยการเกษตรไทยใหม่” ควบคู่กับ “ระบบส่งเสริมภาคการเกษตร” ที่มักมุ่งเน้นการแจกเป็นหลักเช่น “สมัยก่อนแจกพัสดุเพื่อการเกษตร แต่มาถึงปัจจุบันหนักข้อกว่าเดิมด้วยการแจกเครื่องจักร” กลายเป็นว่าภาครัฐ

...

คิดแทนเกษตรกรทุกอย่าง ทำให้นโยบายมักไม่ยั่งยืนตามมา

สาเหตุเพราะ “ส่วนกลางไม่เข้าใจบริบทภาคเกษตร” มักมุ่งเน้นการใช้เงิน หรือสิ่งของล่อให้เกษตรกรเข้ามาร่วมโครงการแล้วเมื่อ “เกษตรกรใช้เงินหมดก็เลิกทำกัน”...เวลาหน่วยงานราชการทำโครงการแล้วมักอ้างผู้เข้าร่วม และพื้นที่ร่วมโครงการเป็นตัวชี้วัดความสำเร็จเสมอ แต่ไม่เคยนับผลลัพธ์ที่เกษตรกรได้รับจริง

จริงๆแล้ว “นักวิชาการและนักส่งเสริมเกษตร” มีความรู้ความเข้าใจในปัญหาเกษตรกรในพื้นที่ดีแต่กลับไม่เคยถูกเหลียวแลแล้ว “ส่วนกลางมักทำนโยบายไม่คำนึงถึงความแตกต่างของการทำเกษตรแต่ละพื้นที่” โดยไม่เคยอาศัยเจ้าหน้าที่ในพื้นที่เป็นหลัก ผลคือ...“แก้ไม่ตรงจุด” แล้วปัญหาก็วกวนแบบนี้ไม่จบสิ้น

ตอนนี้ประเทศไทยติดอยู่กับ “ปัญหาโครงสร้างทางการเมืองและการปกครอง” ทำให้ขาดวิสัยทัศน์ในการพัฒนาปรับเปลี่ยนโครงสร้างนโยบายได้แล้ว “พยายามสร้างกลไกเงื่อนไขในยุทธศาสตร์ชาติ” เข้ามาผูกมัดตราเป็นกฎหมายระยะยาวบังคับอีก ทำให้ “คนหลายกลุ่ม” ไม่เห็นด้วยออกมาคัดค้านกันนี้

ตลาดข้าวโลกค่อนข้างผันผวน...มีโอกาสตกต่ำได้เสมอ เช่นนี้เกษตรกรต้องเริ่มปรับตัวเพื่อความอยู่รอด “ฝืนทำนาต่อ” ก็มีแต่เสี่ยงเจ๊ง ขาดทุน แบกรับภาระเป็นหนี้เพิ่มพูนไม่มีวันสิ้นสุด.