ปมปัญหาโลกแตก ทุกข์คนทำนา “ราคาข้าวตกต่ำ” ที่เกิดจากความไม่สมดุลกลไกทางการตลาด และผลผลิตที่ออกมาปริมาณมาก “สวนทางกับผู้บริโภค และการส่งออกลดน้อยลง” ทำให้ข้าวระบายออกได้ไม่หมดค้างสต๊อกสะสมกันมานี้

กลายเป็นปัญหาซ้ำเติมความเดือดร้อน “ชีวิตชาวนา” ต้องแบกรับภาระต้นทุนทำนาเพิ่มสูง ทั้งค่าน้ำมัน ค่าปุ๋ย ค่ายาราคาแพงขึ้น รศ.ดร.สมพร อิศวิลานนท์ นักวิชาการอาวุโสสถาบันคลังสมองของชาติ บอกว่า ปีนี้ฤดูกาลเกี่ยวข้าวในหลายพื้นที่ต้องเจอน้ำท่วมค่อนข้างหนัก ทำให้ข้าวมีความชื้นถูกหักราคาลง เช่น ข้าวเจ้าความชื้นไม่เกิน 15% ราคารับซื้อ 8 พันบาท/ตัน ถ้าความชื้นสูง 25% จะเหลือราคาข้าว 6 พันกว่าบาท/ตัน

ยิ่งข้าวแช่น้ำความชื้นอาจสูงกว่า 30% ต้องถูกหักราคาเพิ่มขึ้นอีก ฉะนั้นปีนี้ราคาข้าวตกต่ำมาจากข้าวเปลือกมีความชื้นสูง 25-35% ที่มิใช่ความชื้นตามมาตรฐานกำหนดไว้ 15% ทำให้โรงสีต้องหักราคาความชื้นลงนี้เพราะข้าวรับซื้อมา 1 ตัน จะได้ข้าวจริง 700-800 กิโลกรัมเท่านั้น...ที่เหลือเป็นความชื้นในข้าวเปลือกทั้งสิ้น

...

แล้วถ้า “ข้าวเปลือก 1 ตัน สีเป็นข้าวสาร” ก็จะมีส่วนผสมเป็นเปลือกข้าว รำข้าวแล้วเหลือข้าวสารเพียง 600 กิโลกรัมเท่านั้น แต่ว่า...เกษตรกรกลับไม่คิดถึงเรื่องนี้ที่โรงสีต้องสูญเสียไป

อีกประการ “ปีนี้การส่งออกข้าวลดลง” ขณะที่ข้าวเปลือกใหม่ออกมาเยอะมาก อันเป็นสาเหตุให้ราคาตกลงโดยเฉพาะ “ข้าวเหนียวเปลือก” ในปี 2562 เคยมีราคาสูง 1.5 หมื่นบาท/ตัน จนต้องปลูกเพิ่มขึ้น

แต่ด้วย “ตลาดข้าวเหนียวบาง” การส่งออกได้น้อย 2 แสนตัน/ปี ส่วนผลผลิต 7 ล้านตันข้าวเปลือก/ปี ส่วนใหญ่ใช้บริโภคในภาคเหนือตอนบน และอีสานตอนบน ทำให้ข้าวค่อนข้างถูกลงมาก

ประเด็น “ราคาข้าวเหนียวถูก” มีสาเหตุจาก “การเหมารวมไม่แยกประเภทการประกันรายได้ข้าว” ส่งผลให้คนมักหันมาปลูกข้าวเหนียว

สันป่าตอง 1 เป็นข้าวไม่ไวแสงสามารถปลูกตลอดทั้งปีได้ เพื่อนำมาขายให้ภาครัฐหวังรับเงินประกันรายได้ข้าวกัน ทั้งที่จริงคุณภาพสันป่าตอง 1 สู้ข้าวเหนียวเขี้ยวงูพื้นเมืองดั้งเดิมไม่ได้ด้วยซ้ำ...ข้อดีข้าวเหนียวเขี้ยวงูมักมีความหอม อ่อน นุ่มเหนียว อร่อย นิยมใช้ทำข้าวเหนียวมูลมะม่วง หรือข้าวเหนียวมูลทุเรียนที่มีความอร่อยมากเป็นที่นิยมกันทั่วโลกสามารถส่งออกได้ดี

เช่นเดียวกับ “ข้าวหอมมะลิ” เดิมมีเฉพาะทุ่งกุลาร้องไห้อีสานอันเป็นเกณฑ์พรีเมียม มีผลผลิต 390 กว่า กก./ไร่ แล้วภาครัฐอุดหนุนประกันรายได้ข้าวเปลือกตันละ 1.5 หมื่นบาท ครัวเรือนละไม่เกิน 14 ตัน ต่อมามีการปลูกข้าวหอมมะลินอกเขตปลูกผลผลิตได้ 400 กว่า กก./ไร่ ประกันรายได้ตันละ 14,000 บาท ครัวเรือนละไม่เกิน 16 ตัน...เรื่องนี้เป็น “ปัญหาความไม่เข้าใจบริบทการปลูกข้าวที่ออกประกาศประกันรายได้” กลายเป็นแรงจูงใจให้คนแปรที่ดินมาปลูกสูงขึ้น ผลตามมา “ซัพพลายเพิ่มดีมานด์ส่งออกหดตัว”

ที่ปกติแล้วผลผลิตข้าวหอมมะลิแท้ 9 ล้านตันข้าวเปลือก/ปี และข้าวหอมมะลินอกเขต 1 ล้านตันข้าวเปลือก/ปี แปรเป็นข้าวสารได้ 5 ล้านตัน/ปี... ปี 2563 ส่งออก 2 ล้านตัน ใช้บริโภคในประเทศ 3 ล้านตัน ปีนี้ 9 เดือนส่งออกเพียง 7 แสนกว่าตัน แล้วความต้องการใช้ในประเทศลดลง

ด้วยโรคระบาดส่งผลกระทบการท่องเที่ยวหยุดชะงัก โรงแรมร้านอาหารปิดตัวด้วย

ปัญหามีอีกว่า “ตลาดข้าวไม่อาจแยกประเภทข้าวหอมมะลิเขตทุ่งกุลาร้องไห้ และข้าวหอมมะลินอกเขตปลูกได้อีก” เพราะการประกันรายได้ข้าวไม่แยก 2 ชนิดนี้ชัดเจน

...

กลายเป็นนำข้าวเกณฑ์พรีเมียมมาปะปนกับข้าวเกณฑ์ไม่ดีแล้ว “ความบริสุทธิ์ข้าวหอมมะลิแท้หายไป” ฉุดความนิยมข้าวหอมมะลิแท้เสียหายด้วย

สังเกตได้จาก “ผู้คน” มักชอบพูดกันข้าวหอมมะลิรสชาติเปลี่ยนไม่นุ่มหอมเหมือนเดิมอยู่เสมอ

เปรียบเทียบเหมือน “สาวสวยถูกดึงมาจุดต่ำ” เป็นปัญหาข้าวหอมมะลิคุณภาพตกลง ทั้งในตลาดข้าวก็มีเมล็ดพันธุ์ไม่มาตรฐานขายเกลื่อน เพราะศูนย์วิจัยและพัฒนาข้าวผลิตได้ 7-8 หมื่นตัน/ปี แต่เกษตรกรต้องการ 1.4

ล้านแสนตัน/ปี ซ้ำร้ายภาครัฐกลับไม่ดำเนินการใดๆ...ปล่อยให้เกษตรกรซื้อพันธุ์ข้าวไม่ดีนำไปเพาะปลูกมาตลอด แตกต่างจาก “เวียดนาม” ที่ใช้สูตรนโยบาย 3 ประสาน คือ ภาครัฐพัฒนาพันธุ์ข้าว ส่งมอบให้บริษัทเอกชนขยายเสร็จแล้วก็ให้เกษตรกรนำเมล็ดพันธุ์ข้าวมาแลกนำไปปลูกต่อไป

เช่นนี้ “คนเวียดนาม” จึงมีข้าวพันธุ์พื้นนุ่มแบบเดียวกันทั่วประเทศ ทำให้ปี 2563 พัฒนาการส่งออกข้าวพื้นนุ่ม 2.3 ล้านตัน ราคา 550 ดอลลาร์/ตัน ต่างจากเมื่อ 10 ปีก่อน ส่งออกเพียง 1 แสนตัน ราคา 370 ดอลลาร์/ตัน สามารถสร้างมูลค่าข้าวเพิ่มสูงขึ้นราว 100 กว่าดอลลาร์/ตัน

...

ส่วน “ไทยส่งออกข้าวหอมมะลิและข้าวหอมปทุม 2.1 ล้านตัน” ทั้งที่ภาครัฐจ่ายเงินบำรุงพัฒนาคุณภาพข้าวไม่เกิน 2 หมื่นบาท/ครัวเรือน เป็นเงินงบประมาณ 5.4 หมื่นล้านบาท เสมือนเป็นการจ่ายเงินโดยไม่ช่วยให้เกษตรกรปรับตัวขึ้นเลย อันเกิดจาก “นโยบายรัฐ” ไม่จูงใจให้พัฒนาคงปลูกข้าวอยู่แบบเดิมนี้

กลายเป็นปัญหาหมักหมมจนเรียกว่า “นโยบายแช่แข็งเกษตรกร” เพราะมุ่งเน้นแจกเงินอุดหนุนทั้งโครงการประกันรายได้และเงินพัฒนาคุณภาพข้าว ทำให้เกษตรกรไม่ยอมปรับตัวปลูกข้าว เพื่อเอาเงินจากรัฐบาลเท่านั้น เรื่องนี้มองว่า “นโยบายของรัฐ” เป็นตัวหนุนเกษตรกรตกอยู่ในกับดักความจนที่ไม่อาจหลุดออกได้ด้วยซ้ำ...ย้ำว่า “ภาครัฐต้องมีนโยบายทางเลือกให้กับเกษตรกร” เพื่อจะสามารถดึงคนเหล่านี้ออกจากความยากจนได้ แน่นอนว่า “การแก้ไขความเดือดร้อนระยะสั้น” จำเป็นเร่งด่วนที่ต้องให้ความช่วยเหลืออุดหนุนเงินอยู่แล้ว แต่ถ้าเข้าสู่ปีที่ 2 ปีที่ 3 “นโยบายภาครัฐ” ต้องมีลูกเล่นที่ไม่ใช่จ่ายเงินแบบตรงๆง่ายๆแบบนี้อีกต่อไป

ตัวอย่างกรณีไม่นานนี้มีโอกาสได้ลงพื้นที่คุยกับชาวนาหลายคนต่างพูดเสียงเดียวว่า “รอเงินอุดหนุนจากภาครัฐ” สะท้อนให้เห็นว่าการพัฒนาสู่การปลูกพืชชนิดทางเลือกอื่นเป็นไปได้ยาก ทั้งที่จริงในพื้นที่สามารถขยายปรับเปลี่ยนการเพาะปลูกพืชแบบผสมผสานได้เหมาะสม และมีโอกาสสร้างเงินสร้างรายได้ดีด้วยซ้ำ

ตอกย้ำด้วย “รัฐบาล” อาจจะต้องกำหนดนโยบายส่งเสริม และจัดหาตลาดรองรับให้ดีเท่านั้น ด้วยการพัฒนาโครงสร้างการตลาดให้ตรงตามยุคสมัยใหม่ เพื่อจูงใจให้ชาวนาหันทำงานภาคเกษตรประเภทอื่น แต่สิ่งเหล่านี้กลับยังไม่เคยมีหน่วยงานใดที่สร้างโอกาสหาตลาดรองรับให้เกษตรกรปรับตัวกัน

...

ต้องยอมรับว่า “ตลาดข้าวบาง” ในปีนี้ “อินเดีย” ส่งออกราคา 350 ดอลลาร์/ตัน ยอดส่งออก 9 เดือน 14 ล้านตัน อีก 3 เดือน คาดว่าส่งออกได้ราว 3 ล้านตัน ส่วนประเทศไทย 9 เดือน ส่งออกไป 3.83 ล้านตัน อีก 3 เดือน คิดว่าส่งออกเฉลี่ยเดือนละ 5 แสนตัน น่าจะส่งออกได้ 5.3 ล้านตัน ถือว่าน้อยกว่าปีที่แล้ว 5.75 ล้านตัน

หนำซ้ำผลผลิตข้าวเปลือกโดยรวม 30 ล้านตัน แปรเป็นข้าวสาร 18-19 ล้านตัน การส่งออกหดตัวลงเรื่อยๆ ถ้าภาครัฐคิดว่า “บ้านเราส่งออกสู้อินเดียได้ก็ส่งเสริมกันต่อ” แต่วันนี้ “เวียดนาม” มองเห็นอนาคตพัฒนาคุณภาพข้าวพื้นนุ่มให้เกษตรกรปลูกแล้วส่งเสริมการปลูกพืชผสมผสานเป็นพืชทางเลือกสร้างรายได้อื่นด้วย

ประการต่อมา “ทางออกชาวนาหลุดพ้นความจน” ต้องปรับโครงสร้างให้เกษตรกรหันปลูกพืชสวนหรือพืชผักที่จะช่วยให้อยู่รอดได้ “แต่คนทำ

พืชสวนต้องขยันทุ่มเท” เพื่อผลผลิตออกมาคุ้มค่า รายได้ดีมากตามข้อมูล 4 ปีก่อน...ส่งออกผลไม้ 3-4 หมื่นล้านบาท ปีที่แล้ว 1.4 แสนล้านบาท เฉพาะส่งออกทุเรียน 1 แสนล้านบาท

ฉะนั้น “โครงสร้างการเกษตรไทย” ต้องปรับเปลี่ยนหันมามุ่งเน้น “ทำพืชสวน หรือพืชผัก” อันเป็นสิ่งเฉพาะสามารถปลูกได้ในประเทศ เพราะในอนาคตราคาข้าวกำลังเดินเข้าสู่ทางตันอย่างช้าๆด้วยต้นทุนที่สูง การส่งออกแพงกว่าคู่แข่งแล้ว “งบวิจัยข้าวก็หดตัว” การปรับตัวมาสู่ปลูกพืชผสมผสานจะทำให้มีรายได้ดีขึ้น

ความเดือดร้อนของอาชีพเกษตรกรก็น่าเห็นใจ แต่ว่า “รัฐบาล” ก็ช่วยเหลือเท่าที่ทำได้ ไม่อาจจ่ายเงินทุกปี “การจะหลุดพ้นจากความยากจน” จำเป็นต้องปรับตัวพึ่งพาตัวเองด้วยเช่นกัน.