แม้เทรนด์การรักษ์โลกจะเป็นสิ่งที่อยู่คู่กับสังคมมายาวนาน แต่ไม่เคยมียุคใดที่การเคลื่อนไหวเพื่อหวังจะเปลี่ยนแปลงโลกใบนี้ไปสู่การเป็นสถานที่ที่ดียิ่งขึ้นถูกพูดถึงและลงมือทำอย่างจริงจังเท่ากับยุคปัจจุบัน และหากเรามองลงไปให้ลึกถึงตัวแปรสำคัญของการเคลื่อนไหวนี้ จะพบว่าหนึ่งในแกนหลักก็คือ “คนรุ่นใหม่” ที่เติบโตมาพร้อมกับหัวใจสีเขียว ซึ่งเชื่อมั่นว่าธรรมชาติและมนุษย์สามารถอยู่เคียงข้างกันได้อย่างยั่งยืน
ล่าสุด อีกหนึ่งผลลัพธ์ของการลงมือโดยคนรุ่นใหม่ ก็แสดงให้เราได้เห็นผ่านโครงการค่ายเยาวชนวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อม “เพาเวอร์กรีน” (Power Green Camp) ครั้งที่ 16 กับการระดมไอเดียกอบกู้ธรรมชาติโดยเยาวชน 40 คน จากต่างสถาบันแต่มีหัวใจเดียวกัน คือการมุ่งหวังหยุดยั้งปัญหาสิ่งแวดล้อมที่กำลังลุกลามก่อนที่ทุกอย่างจะสายเกินไป
โครงการค่ายเยาวชนวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อม “เพาเวอร์กรีน” (Power Green Camp) เกิดจากการจับมือกันระหว่างบริษัท บ้านปู จำกัด (มหาชน) ผู้นำด้านพลังงานที่หลากหลายในระดับนานาชาติ และคณะสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล มีเป้าหมายสำคัญคือการบ่มเพาะเมล็ดพันธุ์แห่งการรักและหวงแหนธรรมชาติให้กับเยาวชนคนรุ่นใหม่ ซึ่งโครงการนี้ได้ดำเนินการอย่างต่อเนื่องมาตั้งแต่ ปี 2549 รูปแบบกิจกรรมจะเป็นการบูรณาการแนวทางหลากหลายทั้งภาคทฤษฎี ภาคปฏิบัติ การอบรมจากผู้เชี่ยวชาญ และการประกวดโครงงานวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อมเพื่อชิงทุนการศึกษา โดยในแต่ละปีจะมีหัวข้อที่แตกต่างกันไปตาม เทรนด์ด้านสิ่งแวดล้อมของโลกในเวลานั้น และสำหรับปีล่าสุด ซึ่งโครงการฯ ดำเนินมาสู่ครั้งที่ 16 ก็ได้ถูกจัดขึ้นภายใต้แนวคิด “Eco-living & Learning – เปลี่ยนปรับสู่กรีนไลฟ์สไตล์ตอบรับ New Normal” สอดคล้องกับแนวคิดอนุรักษ์ท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงในยุคปกติใหม่ และยังเป็นครั้งแรกที่โครงการฯ เปิดรับเยาวชนที่ศึกษาอยู่ชั้นมัธยมปลายจากทุกสาขาวิชา ไม่ได้จำกัดเฉพาะสายวิทย์เท่านั้น เพื่อตอบโจทย์การเรียนรู้ที่ไร้ขีดจำกัด ยกระดับการสนับสนุนคนรุ่นใหม่ให้กว้างไกลกว่าที่เคย
แม้ในปีนี้รูปแบบของโครงการจะถูกจัดขึ้นภายใต้มาตรฐาน New Normal แต่อุปสรรคใดๆ ก็ไม่สามารถหยุดยั้งความตั้งใจที่จะเรียนรู้ของเยาวชนที่ได้รับคัดเลือกทั้ง 40 คน จาก 40 สถาบัน ที่ได้ใช้เวลาช่วงสุดสัปดาห์ร่วมกันเรียนรู้แบบออนไลน์ ตั้งแต่ 16 ต.ค. – 21 พ.ย. ซึ่งจะเริ่มตั้งแต่การปูพื้นฐาน การทำความรู้จักเพื่อนๆ ในค่าย และสนุกสนานไปการทดลองวิทยาศาสตร์ ทั้งหมด 3 หัวข้อ ที่ค่ายได้จัดส่งอุปกรณ์การทดลองที่มีมาตรฐาน สามารถนำไปใช้ต่อในครัวเรือนได้จริง ประกอบด้วย ถังดักไขมัน ถังกำจัดเศษอาหารในบ้าน และชุดตรวจสอบคุณสมบัติดิน มูลค่ารวม 10,000 บาท แก่เยาวชนทุกคนให้ฟรีถึงที่บ้าน
อีกหนึ่งกิจกรรมไฮไลต์ของค่าย คือ การรวมทีมกับเพื่อนนำเสนอโครงงานวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อม เพื่อนำความรู้ที่ได้เรียนมาทั้งหมดไปต่อยอดสร้างแนวคิดหรือไอเดียในการใช้ชีวิตอยู่ร่วมกับสิ่งแวดล้อมอย่างสมดุล ชิงทุนการศึกษารวม 100,000 บาท โดยเยาวชนทั้ง 40 คน ได้แบ่งกลุ่มในจำนวนเท่าๆ ทั้งหมด 10 กลุ่ม แต่ละกลุ่มมีโอกาสได้ร่วมงานกับอาจารย์ที่คอยเป็นที่ปรึกษาและให้คำแนะนำแก่เยาวชนตั้งแต่เริ่มต้นจนจบกระบวนการทำโครงงานฯ ทั้งนี้ อาจารย์ที่ปรึกษาทั้ง 10 ท่านมีความเชี่ยวชาญที่หลากหลาย เช่น ด้านวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อม ด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ และด้านมนุษยศาสตร์ ซึ่งเยาวชนมีโอกาสได้เป็นผู้เลือกอาจารย์ด้วยตนเอง โดยพิจารณาจากความเชี่ยวชาญที่สอดคล้องกับหัวข้อที่กลุ่มตนเองสนใจ ถือเป็นการเปิดกว้างสำหรับหัวข้อโครงงานฯ ที่หลากหลายมากขึ้น
โครงงานฯ ที่ได้รับรางวัล ได้แก่
- ชนะเลิศอันดับ 1 รับทุนการศึกษามูลค่า 50,000 บาท ได้แก่ ทีม EVIF กับโครงงานฯ “Can’t wait” ที่มาพร้อมกับแนวคิดการสร้างผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางจาก “ชานอ้อย” เช่น น้ำยาย้อมสีผม มาส์กบำรุงผิวหน้า ลิปบาล์ม ซึ่งนอกจากจะยกระดับผลผลิตทางการเกษตร ลดปัญหาการเผาทำลายใบอ้อยที่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมแล้ว ยังสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่ผลิตภัณฑ์ด้วยส่วนผสมจากธรรมชาติที่ปลอดภัยต่อผู้บริโภคอีกทางหนึ่ง
- รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 รับทุนการศึกษามูลค่า 30,000 บาท ได้แก่ ทีม Miracle Rhizome กับโครงงานฯ “เหง้ามัน HPL” ที่มีแนวคิดในการนำเหง้ามันสำปะหลัง มาใช้เป็นวัสดุทดแทนไม้ เพื่อลดปริมาณการตัดไม้ทำลายป่า
- รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2 รับทุนการศึกษามูลค่า 20,000 บาท ได้แก่ ทีม BEVA กับโครงงานฯ “Adiós plástico - บ๊ายบายนะ น้อนพลาสติก” ที่มีแนวคิดในการนำเหง้ามันสำปะหลัง มาผลิตเป็นกล่องสำหรับขนส่งต้นไม้ มุ่งลดปริมาณการใช้พลาสติกที่ต้องใช้ระยะเวลาในการย่อยสลายยาวนาน
- “ทีมขวัญใจมหาชน (Popular Vote)” จำนวน 1 รางวัล รางวัลละ 10,000 บาท ได้แก่ ทีม SETZERO กับโครงงาน “SETZERO-33” ที่มีแนวคิดในการนำซิลิกาจากแกลบมาปรับปรุงคุณภาพน้ำ
- รางวัลชมเชย จำนวน 7 รางวัล รางวัลละ 6,000 บาท
ไอเดียในการอยู่ร่วมกับสิ่งแวดล้อมจากเยาวชนในค่ายทั้งหมด สะท้อนให้เห็นว่าคนรุ่นใหม่พร้อมแล้วที่จะช่วยกันพลิกฟื้นโลกของเราให้น่าอยู่ยิ่งขึ้นได้ ซึ่งค่ายเพาเวอร์กรีน โดยบริษัท บ้านปู จำกัด (มหาชน) และคณะสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ก็พร้อมเป็นพลังสำคัญในการสนับสนุนคนรุ่นใหม่หัวใจสีเขียวอย่างต่อเนื่อง โดยรองศาสตราจารย์ ดร.กิติกร จามรดุสิต รองอธิการบดีฝ่ายสิ่งแวดล้อมและการพัฒนาอย่างยั่งยืน มหาวิทยาลัยมหิดล หนึ่งในคณะกรรมการตัดสินโครงงานฯ ได้กล่าวสรุปเอาไว้ว่า “การที่เยาวชนทั้ง 40 คนเข้าร่วมกิจกรรมในครั้งนี้ แสดงให้เห็นถึงศักยภาพของเยาวชนที่จะก้าวเข้ามาเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาประเทศชาติต่อไป โดยโครงงานฯ ที่เยาวชนทุกกลุ่มได้รังสรรค์ออกมา แม้เป็นเพียงแนวคิดแต่ก็ตั้งอยู่พื้นฐานของหลักการทางวิทยาศาสตร์ ที่มีการผสมผสานความคิดสร้างสรรค์ และนวัตกรรมในแบบคนรุ่นใหม่เข้าไป บางไอเดียมีความน่าสนใจที่น่าจะนำไปต่อยอดได้จริง ซึ่งถือว่าได้บรรลุเป้าหมายของค่ายแล้วที่ต้องการให้เยาวชนได้ฝึกคิดและลงมือทำ เพื่อใช้แนวคิดทางวิทยาศาสตร์ในการแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน รวมถึงเห็นความสำคัญในการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติ”
นายรัฐพล สุคันธี ผู้อำนวยการสาย - สื่อสารองค์กร บริษัท บ้านปู จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า “การสานต่อค่ายเพาเวอร์กรีนในปีนี้ด้วยรูปแบบออนไลน์ เพื่อเติมพลังความรู้ให้กับเยาวชนทั่วประเทศที่ไม่จำกัดเฉพาะสายวิทย์ฯ และมีความสนใจในประเด็นด้านวิทยาศาสตร์และสิ่งแวดล้อม พร้อมกับปลูกฝังแนวทางการใช้ชีวิตประจำวันอย่างเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม สอดคล้องกับหลักการดำเนินธุรกิจเพื่อความยั่งยืนตามหลัก ESG ของบ้านปู เน้นให้เยาวชนได้ฝึกทักษะผ่านการเรียนรู้หลากหลายรูปแบบ ด้วยมุ่งหวังว่าเยาวชนเหล่านี้จะมีบทบาทในฐานะผู้นำและตัวกลางในการเชื่อมโยงองค์ความรู้ที่ได้รับไปต่อยอด รวมถึงส่งต่อความรู้ไปยังครอบครัว คนใกล้ชิด โรงเรียน ชุมชน และสังคม ให้ตระหนักถึงความสำคัญของการอนุรักษ์และการปรับตัวเพื่ออยู่อาศัยร่วมกันกับสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน”
สำหรับผู้ปกครองและเยาวชนที่สนใจเข้าร่วม โครงการค่ายเยาวชนวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อม “เพาเวอร์กรีน” (Power Green Camp) สามารถติดตามข่าวสารการรับสมัครของโครงการครั้งที่ 17 ได้ในปี 2565 แต่ในระหว่างนี้สามารถติดตามข่าวสารและข้อมูลต่างๆ เกี่ยวกับวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อม เพื่อให้ไม่พลาดทุกเรื่องราวดีๆ ได้ที่
เฟซบุ๊ก: www.facebook.com/powergreencamp
เว็บไซต์: www.powergreencamp.com