กรมวิชาการเกษตร เตือนพี่น้องชาวสวนปาล์มน้ำมันให้เฝ้าระวัง หนอนหน้าแมว เพราะมักจะระบาดในช่วง ต.ค.-เม.ย. เป็นหนอนที่เกิดจากผีเสื้อกลางคืนขนาดเล็ก บินมาวางไข่สีใสคล้ายหยดน้ำค้าง เป็นฟองเดี่ยวๆ กระจายใต้ใบปาล์มน้ำมัน แรกฟักออกจากไข่ หนอนจะมีสีขาวใส มีสีน้ำตาลอยู่กลางลำตัว แทะกินผิวใบ โตขึ้นมาหน่อยลำตัวจะมีสีน้ำตาลเข้มถึงดำ ท้ายลำตัวมีสีเหลือง กลางหลังของลำตัวมีเส้นประสีเหลืองและจุดสีดำขนานไปกับขนสีดำ 2 แถว เป็นหนอนวัยกัดกินจนใบขาด
ระบาดรุนแรง ใบจะถูกกัดกินจนเหลือแต่ก้านใบ ทำให้ผลผลิตลดลง ปาล์มน้ำมันชะงักการเจริญเติบโต และจะใช้เวลาในการฟื้นตัวนาน
เพราะการระบาดในแต่ละครั้งจะใช้เวลาในการกำจัดนาน เนื่องจากหนอนหน้าแมวมีหลายระยะในเวลาเดียวกัน ตั้งแต่ระยะหนอนไปจนถึงระยะดักแด้ ทำให้ไม่สามารถกำจัดให้หมดในเวลาเดียวกันได้
หากพบการเข้าทำลาย เกษตรกรควรใช้วิธีป้องกันกำจัดแบบผสมผสาน คือ การใช้วิธีกล ชีววิธี และสารเคมี
วิธีกล...ให้ตัดทางใบปาล์มน้ำมันที่มีหนอนหรือจับผีเสื้อที่เกาะนิ่งในเวลากลางวันตามใต้ทางใบ เก็บดักแด้ตามซอกโคนทางใบรอบต้นมาทำลายทิ้งนอกแปลงปลูก จากนั้นใช้กับดักแสงไฟ black light หรือหลอดนีออนธรรมดา วางบนกะละมังบรรจุน้ำผสมผงซักฟอก โดยให้หลอดไฟอยู่เหนือน้ำ 5-10 เซนติเมตร วาง ล่อผีเสื้อช่วงเวลา 18.00-19.00 น. สามารถช่วยกำจัดการขยายพันธุ์ใน
รุ่นต่อไปได้
ชีววิธี...ให้ฉีดพ่นด้วยเชื้อแบคทีเรีย บาซิลลัส ทูริงเยนซิส (Bacillus thuringiensis) เช่น แบคโทสปิน ดับบลิวพี อัตรา 30 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร ควรพ่นเมื่อพบหนอนเข้าทำลายบริเวณผิวใบ (หนอนวัยที่ 1-4) จะได้ผลดียิ่งขึ้น โดยเชื้อแบคทีเรียนี้นอกจากจะทำลายกลุ่มหนอนผีเสื้อได้แล้ว ยังไม่เป็นอันตรายต่อแมลงที่มีประโยชน์
...
สารเคมี...ให้ใช้ในกรณีพบ หนอนหน้าแมว ทำลายผิวใบเฉลี่ย 20 ตัวต่อทางใบ ให้ฉีดพ่นด้วยสารฆ่าแมลง คาร์บาริล 85% ดับเบิลยูพี อัตรา 10 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร หรือ แลมบ์ดา–ไซฮาโลทริน 2.5% อีซี อัตรา 10 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร.
สะ–เล–เต