สวัสดีท่านผู้อ่านทุกท่านครับ สัปดาห์นี้มีเรื่องที่น่าสนใจและเป็นภัยใกล้ตัวหลายๆ คน เกี่ยวกับข่าวที่มีผู้โพสต์คลิปฝูงสุนัขพันธุ์ร็อตไวเลอร์หลุดออกมาจากบ้าน และไล่กัดชาวบ้าน ซึ่งก่อนหน้านี้ไม่ถึงเดือนสุนัขฝูงนี้ ก็เคยหลุดออกมาจากบ้านและไปกัดผู้หญิงคนหนึ่งในร้านสะดวกซื้อมาแล้ว โดยผู้หญิงที่ถูกสุนัขกัดไปแจ้งความดำเนินคดี และมีการตกลงว่าจะนำสุนัขออกจากพื้นที่ แต่สุดท้ายก็เกิดเหตุการณ์ซ้ำขึ้นอีก
ข่าวดังกล่าวมีประเด็นที่น่าสนใจว่า การกระทำของเจ้าของสุนัขที่เพิกเฉยกับคำสั่งของเจ้าพนักงาน ตลอดจนการทำดังกล่าวนั้น มีความผิดตามกฎหมายหรือไม่อย่างไร
การเลี้ยงสัตว์เลี้ยงภายในบ้านของตัวเอง จะเลี้ยงกี่ตัวก็ได้ ไม่มีกฎหมายบังคับ แต่ทั้งนี้ จะต้องดูแล เลี้ยงดู เอาใจใส่ ไม่ปล่อยให้สัตว์เลี้ยงของตนไปสร้างความรำคาญให้กับเพื่อนบ้าน ไม่ว่าจะเป็นการสร้างความรำคาญทางด้านกลิ่น เสียง มูลสัตว์ หรือความปลอดภัยด้านอื่นๆ โดยเฉพาะสัตว์ที่มีนิสัยดุร้าย เนื่องจากสัตว์ได้รับความคุ้มครองสวัสดิภาพตามพระราชบัญญัติป้องกันการทารุณกรรมและการจัดสวัสดิภาพสัตว์ พ.ศ. 2557 หากเจ้าของสัตว์ ปล่อยปละละเลยไม่ดูแลเอาใจใส่ ส่งผลต่อสวัสดิภาพสัตว์จะมีความผิดต้องระวังโทษปรับไม่เกิน 40,000 บาท และ อาจจะถูกยึดสัตว์ เพื่อมอบให้หน่วยงานของรัฐหรือบุคคลที่เห็นสมควรเป็นผู้ครอบครอง หรือดูแลสัตว์นั้นต่อไป
ตามพระราชบัญญัติป้องกันการทารุณกรรมและการจัดสวัสดิภาพสัตว์ พ.ศ. 2557
มาตรา 22 เจ้าของสัตว์ต้องดำเนินการจัดสวัสดิภาพสัตว์ให้แก่สัตว์ของตนให้เหมาะสมตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่รัฐมนตรีประกาศกำหนด
การออกประกาศตามวรรคหนึ่ง ให้คำนึงถึงประเภท ชนิด ลักษณะ สภาพ และอายุของสัตว์
...
มาตรา 32 เจ้าของสัตว์หรือผู้ใดไม่ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่รัฐมนตรีประกาศกำหนดตามมาตรา 22 มาตรา 24 หรือฝ่าฝืนมาตรา 23 ต้องระวางโทษปรับไม่เกินสี่หมื่นบาท
มาตรา 33 ในกรณีที่ศาลได้พิพากษาลงโทษผู้ใดตามมาตรา 31 หรือมาตรา 32 หากศาล เห็นว่าการให้สัตว์นั้นยังอยู่ในความครอบครองของเจ้าของหรือของผู้กระทําความผิดนั้นต่อไป สัตว์นั้น อาจจะถูกทารุณกรรมหรือได้รับการจัดสวัสดิภาพสัตว์ที่ไม่เหมาะสมอีก ศาลอาจส่ังห้ามมิให้เจ้าของหรือ ผู้กระทําความผิดนั้นครอบครองสัตว์ดังกล่าว และมอบให้หน่วยงานของรัฐหรือบุคคลที่เห็นสมควรเป็นผู้ครอบครอง หรือดูแลสัตว์นั้นต่อไป
นอกจากนี้ ตามประมวลกฎหมายอาญาที่บัญญัติให้เจ้าของสัตว์ดุหรือสัตว์ร้ายจะต้องรับโทษหากปล่อยปละละเลยสัตว์ให้เที่ยวไปตามลำพัง ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 377 กำหนดให้ผู้ที่ควบคุมสัตว์ดุหรือสัตว์ร้าย แต่ปล่อยปละละเลยให้สัตว์นั้น “เที่ยวไปโดยลำพัง” ในประการที่ “อาจทำอันตราย” แก่บุคคลหรือทรัพย์ ต้องรับโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งเดือน หรือปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
ตามมาตรา 377 กำหนดให้ผู้ที่ควบคุมสัตว์ดุหรือสัตว์ร้ายมีความผิดตามกฎหมายทันที แม้สัตว์ดุหรือสัตว์ร้ายจะยังไม่ได้ไปทำอันตรายแก่บุคคลหรือทรัพย์สินก็ตาม ในกรณีผู้ที่ควบคุมสัตว์ดุหรือสัตว์ร้าย ประมาทเลินเล่อเป็นเหตุให้สัตว์ดุหรือสัตว์ร้ายไปทำอันตรายแก่บุคคลอื่น ผู้ที่ควบคุมสัตว์ดุหรือสัตว์ร้ายก็จะมีความผิดประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 390 มาตรา 300 หรือมาตรา 291 แล้วแต่กรณี ซึ่งมีอัตราโทษและค่าปรับสูงกว่า มาตรา 377 โดยต้องพิจารณาจากผลเสียหายหรือบาดแผลที่เกิดขึ้นกับผู้ที่ถูกสัตว์ดุหรือสัตว์ร้ายทำอันตราย
ในกรณีที่ผู้เสียหายจะได้รับอันตรายจนต้องเข้าโรงพยาบาล หรือไม่สามารถไปทำกิจการ หรือทำงานได้ เจ้าของสัตว์ก็จะต้องรับผิดชอบในค่าความเสียหายและค่าขาดประโยชน์หรือทางทำมาหาได้ของผู้เสียหายอีกด้วย
ทั้งนี้ หากท่านได้รับผลกระทบจากการที่เพื่อนบ้าน ที่เลี้ยงสัตว์ดุหรือสัตว์ร้าย หรือ พบเห็นสัตว์ถูกทารุณกรรมหรือไม่ได้รับสวัสดิภาพตามความเหมาะสม ท่านสามารถร้องเรียนหน่วยงานทางปกครอง หรือปศุสัตว์ในพื้นที่ เพื่อให้เข้ามาตรวจสอบและช่วยเหลือสัตว์ตามขั้นตอนต่อไป
สำหรับท่านที่มีคำถามข้อสงสัยเกี่ยวกับเรื่องกฎหมายและต้องการความช่วยเหลือ หรือมีเรื่องราวดีๆ อยากแบ่งปันประสบการณ์ เมลมาหาผมได้ที่ “คุยกับคนดัง” talktoceleb@trendvg3.com ได้เลยครับ
Facebook: ทนายเจมส์ LK
Instagram: james.lk