เมื่อการระบาดโควิด-19 มีแนวโน้ม คลี่คลายดีขึ้นแล้ว “ประเทศไทย” ก็กลับมาเปิดรับนักท่องเที่ยวในกลุ่มเสี่ยงต่ำ 46 ประเทศโดยไม่กักตัวอีกครั้ง “โดยมี 17 จังหวัดนำร่องไม่มีเคอร์ฟิว” จนเห็นสัญญาณการเดินทางท่องเที่ยวเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ

แล้วก็ทำให้ “บรรยากาศธุรกิจการท่องเที่ยวเริ่มกลับมามีชีวิตชีวาอีกครั้ง”

ศักดิ์ชัย อยู่สุขสวัสดิ์ ผจก.โรงแรมบ้านมณีแดง ในฐานะฝ่ายประชาสัมพันธ์ชมรมผู้ประกอบการโฮมสเตย์ อ.แหลมสิงห์ จ.จันทบุรี บอกว่า พื้นที่แหลมสิงห์มีแหล่งท่องเที่ยวจุดชมวิวที่นิยมหลายแห่ง นักท่องเที่ยวมักพัก โฮมสเตย์เยอะขึ้น ทำให้ผู้ประกอบการปรับขยายเพิ่มห้องพักเป็นธุรกิจประเภทโรงแรมมากกว่า 80%

กระทั่ง “โควิดระลอก 2” มีผู้ติดเชื้อสูง “จ.จันทบุรี” ถูกประกาศเป็นเขตควบคุมสูงสุด ส่งผลกระทบต่อภาพรวมของจังหวัด “เศรษฐกิจการค้าและการท่องเที่ยวชะลอตัว” มาตลอด จนมาถึงวันนี้ “รัฐบาลเปิดประเทศ” จึงเริ่มมีนักท่องเที่ยวสอบถามจองที่พักเยอะขึ้น โดยเฉพาะช่วงศุกร์...เสาร์ ถูกจองมากกว่า 70%

...

ส่วนหนึ่งมาจาก “การเปิดโครงการเราเที่ยวด้วยกันเฟส 3” กลาย เป็นกระแสกระตุ้นตอบรับให้ประชาชนเดินทางท่องเที่ยวครั้งนี้ สังเกตจากช่วงหยุดยาว 21-23 ต.ค. มีผู้คนเดินทางมาพักผ่อนกันมากมาย

ทำให้บรรดาผู้ประกอบการโรงแรมแห่งนี้เริ่มมีความหวังที่จะเห็นนักท่องเที่ยวกลับมาคึกคักอีกครั้งอันจะมี “รายได้หล่อเลี้ยงประคองตัวธุรกิจอยู่ต่อไป” เพราะนับแต่ “โควิดระบาดระลอก 3” ผู้ประกอบการโรงแรม ไม่ได้รับนักท่องเที่ยว 9 เดือน แต่ต้องรับภาระค่าใช้จ่าย ทั้งค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าใช้จ่ายพนักงานเช่นเดิม

บางแห่งกู้หนี้ยืมสินมาใช้จ่ายจน “แบกรับภาระไม่ไหว” ต้องยอมปิดกิจการชั่วคราวก็มีไม่น้อย

ในส่วน “โรงแรมบ้านมณีแดง” ได้รับผลกระทบมาตั้งแต่ระบาดระลอกแรก “ปิดกิจการ 4 เดือน” แล้วสถานการณ์ดีขึ้น “คนไทย” กลับท่องเที่ยวใหม่ “ลูกค้าจองห้องพักแน่นเอี้ยด” ทำให้มีรายได้มาเป็นค่าใช้จ่ายเดือนละ 2 แสนบาท ต่อมา “การระบาดระลอก 3” ค่อนข้างหนักหนาสาหัสถูกประกาศห้ามมีกิจกรรมทั้งสิ้น...ตอกย้ำให้ “ธุรกิจโรงแรมหยุดบริการทันที” ต้องคืนเงินให้ลูกค้าจองล่วงหน้าล้านกว่าบาท แล้วไม่มีรายได้ มา 9 เดือน แต่ต้องจ่ายเงินให้พนักงานค่าใช้จ่ายจิปาถะมากมายจน “นำโฉนดที่ดินของร้านค้ำประกันเงินกู้ 2 ล้านบาท” เพื่อมาเป็นค่าใช้จ่ายพยุงธุรกิจให้อยู่รอดช่วงปิดกิจการนี้เหลือก้อนสุดท้ายราว 2-3 แสนบาท

จนมีข่าวว่า “รัฐบาลประกาศเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ” ก็เลยเข้าร่วมโครงการเราเที่ยวด้วยกันเฟส 3 เพื่อเตรียมพร้อมรับนักท่องเที่ยวตามมานี้

ทว่าการที่ “ผู้ประกอบการโรงแรมเข้าร่วมโครงการเราเที่ยวด้วยกันเฟส 3” ก็ไม่ใช่เรื่องง่ายอันมีเงื่อนไขหลักเกณฑ์ต้องปฏิบัติตามมาตรการความปลอดภัยด้านสาธารณสุข ตามมาตรฐาน “ภาครัฐ” กำหนดไว้อย่าง เคร่งครัดเข้มงวด ทำให้จำเป็นต้องลงทุนควักเงิน 5 แสนบาท ในการปรับปรุงโรงแรมใหม่หลายประการ

ตั้งแต่ขยายห้องสัมมนา เพิ่มห้องรับประทานอาหารไม่ให้เกิน 50 คนต่อห้อง ฉีดพ่นน้ำยาฆ่าเชื้อรอบโรงแรมทุกวันหลังลูกค้าเช็กเอาต์แล้ว ตั้งจุดตรวจโควิดด้วยชุดตรวจ ATK จัดทำห้องพยาบาลกรณีฉุกเฉิน เน้นนักท่องเที่ยวฉีดวัคซีนครบโดสแล้ว และต้องเป็นผู้อยู่ในพื้นที่เสี่ยงต่ำ หรือ ไม่ได้อาศัยในพื้นที่สีแดงเข้ม

“ดังนั้นการเปิดประเทศครั้งนี้ “ผู้ประกอบการโรงแรมขนาดเล็ก” ต่างคาดหวังเห็นการท่องเที่ยวคึกคักเพิ่มขึ้น แม้จะไม่เฟื่องฟูอย่างที่เคยเป็นมาอย่างน้อยก็น่าจะดีกว่า 9 เดือนก่อนหน้านี้ที่ “การท่องเที่ยวจันทบุรี” ถูกมาตรการล็อกดาวน์ปิดตายไม่มีรายได้มาช่วยประคับประคองธุรกิจให้เดินได้มาแล้ว”

...

เคราะห์ซ้ำกรรมซัดนับแต่ “ประกาศเปิดประเทศ 1 พ.ย.” ก็มีนักท่องเที่ยวคนไทยจองห้องพักเยอะขึ้น โดยเฉพาะศุกร์...เสาร์ห้องพักถูกจองเต็มยาวถึงเดือน ธ.ค. แต่ไม่นานนัก “โควิดกลับมาระบาดอีก” จนต้องประกาศให้ จ.จันทบุรี เป็นพื้นที่สีแดงแล้วเพิ่มมาตรการป้องกันเข้มขึ้น

“ลูกค้า” ไม่มั่นใจทยอยขอเลื่อน และยกเลิกกันบ้างก็มี...กลายเป็นความกังวลให้ “ผู้ประกอบการโรงแรม อ.แหลมสิงห์” เพราะบางคนทุ่ม เงินลงทุนหมดหน้าตักแล้วหาก “การเปิดประเทศเกิดระบาดระลอกใหม่” จนมีมาตรการเคอร์ฟิวเพิ่มการควบคุมสถานการณ์อันจะส่งผลให้ “คนตัดสินใจมาท่องเที่ยวหยุดชะลอก่อน” เช่นนี้...ก็น่าจะมีโรงแรมหลายแห่งเจ๊งหมดตัวหยุดถาวรแน่นอน

ก่อนนี้ก็มี “โรงแรม” ประกาศขายกิจการแล้ว 4-5 แห่ง ดังนั้นผู้ประกอบการโรงแรมอยากให้ภาครัฐเร่งฉีดวัคซีนครอบคลุมคนไทยโดยเร็ว สิ่งนี้เป็นหนทางเดียวให้ “ธุรกิจการท่องเที่ยว” ขับเคลื่อนต่อได้ มิใช่เป็นการผลักภาระให้ “ผู้ประกอบการ” ดำเนินการจัดซื้อชุดตรวจ ATK กันเอง อันมีต้นทุนไม่ต่ำกว่า 200 บาทต่อชุด

...

ถ้ามีนักท่องเที่ยวเข้าพักวันละ 170 คน ตรวจทุกคนก็ 3.4 หมื่นบาทต่อวัน ทำให้ต้องมีค่าใช้จ่ายเพิ่มสูงขึ้น เพราะลำพังหาลูกค้าก็ลำบากหนักหนาอยู่แล้ว ฉะนั้นเมื่อ “ภาครัฐ” สร้างกติกามาตรการป้องกันโควิดในการเปิดประเทศออกมาแล้ว ก็ควรสนับสนุนเครื่องมืออุปกรณ์ตรวจคัดกรองให้โรงแรมทุกแห่งน่าจะดีกว่า

สิ่งสำคัญ “การสื่อสารเปิดประเทศ” ค่อนข้างสับสน “ฝ่ายรัฐบาล” ให้ข้อมูลระดมฉีดวัคซีนประชาชนครอบคลุมมีความพร้อมปลอดภัยแล้ว แต่ในทางกลับกัน “ด้านสาธารณสุข” กลับระบุทำนองการเปิดประเทศนี้ ยังมีความเสี่ยงสูง ทั้งมีรายงานผู้ติดเชื้อลดลงไม่มาก ที่คงมีมาตรการควบคุมหลายจังหวัดอยู่ด้วยซ้ำ

เรื่องนี้เป็นความสับสนให้ “ประชาชน หรือนักท่องเที่ยว” ไม่มั่นใจในการออกมาท่องเที่ยวกัน หากเป็นเช่นนี้ “ผู้ประกอบการโรงแรมรายย่อย” ต้องกู้หนี้เงินประคองให้อยู่รอดถ้าไม่ไหวคงประกาศขายธุรกิจ

เช่นเดียวกับ “จ.เชียงราย” ก็เตรียมพร้อมรับนักท่องเที่ยวฤดูหนาวปี 2564 มีแผนเปิดวันที่ 1 ธ.ค.นี้ กำหนด Blue Zone อ.เมือง แม่จัน แม่สาย เทิง พาน เวียงป่าเป้า แม่สรวย แม่ฟ้าหลวง เชียงแสน เวียงแก่น เชียงของนี้ เศรษฐศักดิ์ พรหมมา ประธานเครือข่ายการท่องเที่ยวโดยชุมชน จ.เชียงราย บอกว่า

...

ช่วงนี้นักท่องเที่ยวเข้ามาสัมผัสธรรมชาติที่ “สถานีพัฒนาการเกษตรที่สูงตามพระราชดำริ บ้านธารทอง” เยอะมาก...อากาศด้านบนปกคลุม ไปด้วยหมอก มองเห็นประเทศ สปป.ลาว อันเป็นแหล่งท่องเที่ยวแหล่งใหม่ “โรงแรม และที่พักถูกจองแน่นทุกปี” ด้วยโควิดระบาดทำให้ต้องสะดุดชะงักไปยาวๆเกือบ 2 ปี

เมื่อ “รัฐบาลประกาศเปิดประเทศ 1 พ.ย.” สถานที่พักโรงแรม โฮมสเตย์ต่างเตรียมความพร้อมต้อนรับนักท่องเที่ยวเข้ามารับลมหนาวแล้ว “รับการฉีดวัคซีนครบทุกคน” แต่กลายเป็นว่า “หน่วยงานราชการ” ยัง ไม่พร้อมต้องเร่งฉีดวัคซีนให้ครอบคลุมประชาชนทั่วไปร้อยละ 70

ทำให้คาดว่า...น่าจะเปิดจังหวัดได้วันที่ 1 ธ.ค.นี้ ดังนั้น “กลุ่มโฮมสเตย์” ก็พยายามเร่งเปิดจังหวัดเร็วๆ เพราะเป็นช่วงไฮซีซันมีผู้คนมาเที่ยวกันแค่ 3-4 เดือนนี้ ที่เริ่มติดต่อจองที่พักกันแล้ว แต่ “ผู้ประกอบการ” ก็ยังไม่กล้าตอบรับนักท่องเที่ยว ต้องสูญเสียรายได้ตรงนี้ไป

อยากฝากว่า “ภาครัฐ” ควรเห็นใจผู้ประกอบการธุรกิจขนาดเล็กถูกปิดกิจการมานานแล้วต้องการเปิดรับนักท่องเที่ยวให้กลับมามีรายได้อีกครั้ง เพราะการที่แจกเงินชดเชยเยียวยาเป็นเพียงการแก้ปัญหาปลายเหตุเสมือนกำลังใจคนเดือดร้อน “ไม่สามารถแก้ได้ระยะยาว” แต่ควรสนับสนุนสร้างอาชีพให้เกิดรายได้ยั่งยืน

ฉะนั้นแล้วเมื่อ “ประกาศเป็นนโยบายพร้อมเปิดประเทศกระตุ้นฟื้นฟูเศรษฐกิจแล้ว” ก็อย่าลืมหันมาสนใจสนับสนุนผู้ประกอบการขนาดเล็กเหล่านี้ให้มีโอกาสได้ลืมตาอ้าปากเหมือนกับธุรกิจอื่นด้วย เพราะเดี๋ยวจะกลายเป็นฝนตกไม่ทั่วฟ้ากันนะจ๊ะ...