“Long–Covid”– “MIS–C ในเด็ก” หลายคนคงเริ่มรู้จัก แต่อาจมีคนอีกจำนวนไม่น้อยที่ยังไม่เคยได้ยินและไม่เคยรู้จักว่าคืออะไร ตลอดจนเกี่ยวข้องกับโรคโควิด-19 อย่างไร

แน่นอนว่าช่วงนี้คนส่วนใหญ่คงกำลังดีใจกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในภาพรวมของประเทศไทย ที่ดีขึ้นตามลำดับ

หลังจากที่เราได้ร่วมแรงร่วมใจกันต่อสู้กับไวรัสร้าย เพื่อช่วยกันทำให้ตัวเลขผู้ติดเชื้อรายใหม่ที่เคยพุ่งสูงสุดระดับเกิน 2 หมื่นคน

ต่อวันอย่างต่อเนื่องเกือบ 2 สัปดาห์ ตั้งแต่กลางเดือน ส.ค.64 ทำให้พื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด ต้องมีการประกาศเคอร์ฟิว และจำกัดกิจกรรม กิจการ การเดินทางของผู้คน เพื่อลดการแพร่ระบาด

ซึ่งส่งผลให้ยอดผู้ติดเชื้อใหม่ค่อยๆลดจำนวนลงจนระดับต่ำกว่าหลักหมื่น เป็นครั้งแรกในรอบหลายเดือน คือเมื่อวันที่ 19 ต.ค.64 มียอดผู้ติดเชื้อรายใหม่ 9,122 คน และอยู่ในระดับต่ำกว่าหลักหมื่นต่อเนื่อง 5 วันติดต่อกัน โดยวันที่ 20 ต.ค. จำนวน 8,918 คน วันที่ 21 ต.ค. จำนวน 9,727 คน วันที่ 22 ต.ค.จำนวน 9,810 คน วันที่ 23 ต.ค. จำนวน 9,742 คน วันที่ 24 ต.ค. จำนวน 9,351 คน ขณะที่ยอดผู้ป่วยหนักก็ลดลงเรื่อยๆเช่นกัน โดยวันที่ 24 ต.ค.มีผู้ป่วยอาการหนัก จำนวน 2,432 คน ผู้ป่วยอาการหนักที่ต้องสวมเครื่องช่วยหายใจจำนวน 546 คน ซึ่งทุกฝ่ายคาดหวังว่า จะลดลงเช่นนี้ไปเรื่อยๆ

...

แม้ว่าในบางพื้นที่จะยังพบการแพร่ระบาดพุ่งสูงขึ้น อาทิ 4 จังหวัดชายแดนใต้และบางจังหวัดที่มีผู้ติดเชื้อเป็นกลุ่มก้อน ซึ่งทุกฝ่ายคงต้องส่งกำลังใจให้พี่ๆน้องๆในพื้นที่ที่มีการระบาดจะสามารถควบคุมการระบาดและหายป่วยกลับมาได้โดยเร็ววัน เพื่อพร้อมรับการเปิดประเทศต้อนรับนักท่องเที่ยวนำร่อง 17 จังหวัด ในวันที่ 1 พ.ย. และจะเปิดกว้างมากขึ้นในวันที่ 1 ธ.ค.นี้

จากข้อมูลที่ ศบค.รายงานเมื่อวันที่ 23 ต.ค.64 พบว่ายอดผู้ป่วยโควิด-19 ยืนยันสะสม ตั้งแต่ปี 2563 มีจำนวน 1,841,131 คน ส่วนผู้ป่วยยืนยันสะสม เฉพาะการระบาดระลอกเดือน เม.ย.64 มีจำนวน 1,812,268 คน และมีผู้หายป่วยสะสม ตั้งแต่ปี 2563 จำนวน 1,720,629 คน ส่วนผู้หายป่วยเฉพาะการระบาดระลอกเดือน เม.ย.64 มีจำนวน 1,693,203 คน แต่ก็พบว่า หลังจากผู้ป่วยหายจากอาการของโรคโควิด-19 แล้ว ทั้งตรวจหาไม่พบเชื้อไวรัสในร่างกายแล้วก็ตาม แต่อาจจะยังมีอาการหลงเหลืออยู่ ซึ่งองค์การอนามัยโลกเรียกอาการที่เกิดขึ้นนี้ว่าภาวะลอง โควิด Long Covid หรืออาการหลงเหลือของเชื้อโควิด-19 ระยะยาว ซึ่งพบภาวะนี้ได้ทั่วโลก

นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์
นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์

นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ ได้ให้รายละเอียดว่าผู้ป่วยที่ติดเชื้อโควิด-19 แต่ละคนมีการแสดงอาการที่แตกต่างกันออกไป เช่นเดียวกับเมื่อหายจากการติดเชื้อ ก็จะมีการฟื้นฟูร่างกายที่ต่างกัน บางคนหายจากการติดเชื้อแล้วกลับมาเป็นปกติ หรือมีอาการดีขึ้นในระยะเวลา 6 สัปดาห์ แต่ในผู้ป่วยบางรายเมื่อหายจากการป่วยโควิด-19 แล้ว ยังมีอาการคล้ายเป็นโควิด-19 ต่อเนื่องมากกว่า 2 เดือนขึ้นไป ซึ่งเป็นกลุ่มอาการที่เรียกว่า Long Covid ส่วนใหญ่จะพบในผู้ป่วยที่เชื้อลงปอดและพบในผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย ผู้สูงอายุ ผู้ที่มีภาวะอ้วน น้ำหนักตัวมาก อาจพบได้ถึงร้อยละ 60-70 ส่วนผู้มีอายุน้อยก็พบได้เช่นกัน แต่มีสัดส่วนน้อยเพียงร้อยละ 5-10 ดังนั้น กลุ่มอาการ Long Covid จึงขึ้นกับโรคประจำตัวและอายุของผู้ป่วย

“อาการ Long Covid ที่พบบ่อยคือรู้สึกเหมือนมีไข้ตลอดเวลา เหนื่อยง่าย อ่อนแรง อ่อนเพลียเรื้อรัง ใจสั่น หายใจไม่อิ่ม รู้สึกแน่นๆ หน้าอก ไอและปวดศีรษะ ท้องร่วง ท้องอืด มีปัญหาเกี่ยวกับการนอนหลับ ปวดเมื่อยตามตัว มีภาวะวิตกกังวล ซึมเศร้า การรับรสและได้กลิ่นผิดปกติ แต่จะไม่ส่งผลในระยะยาวต่อร่างกายหากดูแลรักษาร่างกายตนเองให้กลับมาแข็งแรง ก็สามารถกลับมาเป็นปกติได้เกือบเต็มร้อย สำหรับวิธีการ
ดูแลคือหมั่นสังเกตอาการตนเอง หากมีความผิดปกติดังกล่าวข้างต้นให้ไปปรึกษาแพทย์ โดยหลักการคือขอให้ผู้ป่วยกลับไปปรึกษาแพทย์ในสถานพยาบาลเดิมที่รักษาอาการโควิด แต่กรณีผู้ป่วยที่กักตัวอยู่ที่บ้าน หรือ Home Isolation และศูนย์พักคอย หรือ Community Isolation ก็สามารถมาขอรับบริการได้ที่โรงพยาบาลใกล้บ้าน หรือโรงพยาบาลสังกัดกรมการแพทย์ เช่น รพ.เลิดสิน รพ.ราชวิถี รพ.นพรัตน์ เป็นต้น

...

นอกจากนี้ผู้ป่วยควรออกกำลังกายเบาๆ และทำอย่างสม่ำเสมอ นอนหลับให้เพียงพอ รับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ หลีกเลี่ยงความวิตกกังวลจะสามารถช่วยให้กลุ่มอาการของ Long Covid ค่อยๆดีขึ้นได้” นพ.สมศักดิ์ ระบุถึงอาการของ Long Covid

ขณะที่ในกลุ่มผู้ป่วยของประเทศไทย กว่า 1.8 ล้านคนนี้ มีจำนวนไม่น้อยที่เป็นผู้ป่วยเด็ก โดยเฉพาะการแพร่ระบาดระลอกเดือน เม.ย.64 จะพบว่ามีผู้ป่วยอายุต่ำกว่า 18 ปี ติดเชื้อโควิดจำนวนนับแสนๆคน และแม้ว่าเด็กจะมีอาการโควิดไม่มาก แต่จากการติดตามอาการของกรมการแพทย์พบว่ามีเด็กจำนวนหนึ่งป่วยด้วยอาการลองโควิด เช่นกัน แต่สำหรับเด็กแล้วจะเรียกว่า กลุ่มอาการ MIS-C หรือ Multisystem Inflammatory Syndrome in Children

นพ.อดิศัย ภัตตาตั้ง
นพ.อดิศัย ภัตตาตั้ง

...

เรื่องนี้ นพ.อดิศัย ภัตตาตั้ง ผอ.สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี ขยายความว่า “กลุ่มอาการ MIS-C หรือมิสซี เป็นกลุ่มอาการอุบัติใหม่ที่พบในเด็ก ซึ่งร่างกายมีการอักเสบหลายระบบหลังจากมีการติดเชื้อโควิด-19 สาเหตุเชื่อว่าเกิดจากการตอบสนองของภูมิคุ้มกันในร่างกายต่อเชื้อไวรัสที่มากเกินไป ทำให้เกิดความผิดปกติของร่างกายหลายระบบตามมา ภาวะนี้พบได้ในเด็กทุกกลุ่มอายุอุบัติการณ์ประมาณร้อยละ 0.02 ของผู้ป่วยเด็กที่เป็นโควิด-19 โดยจะมีอาการไข้ ผื่น ตาแดง อาเจียน ปวดท้อง ถ่ายเหลว อาจมีภาวะช็อกที่เกิดจากการอักเสบที่หัวใจ หรือหลอดเลือดหัวใจโป่งพองซึ่งเป็นอันตรายถึงเสียชีวิตได้ในประเทศไทยพบผู้ป่วย MIS-C แล้วประมาณ 30-40 ราย ทั่วประเทศ สำหรับที่สถาบันสุขภาพเด็กฯ พบ 8 คน อายุตั้งแต่ 9 เดือนถึง 11 ปี อายุเฉลี่ย 6 ปี ในสถาบันสุขภาพเด็กฯยังไม่พบการเสียชีวิตจากภาวะนี้ การวินิจฉัยและการรักษาที่ทันท่วงทีจะช่วยชีวิตผู้ป่วยโรคนี้ได้”

นั่นหมายถึงอาการลองโควิดในผู้หายป่วยทั้งผู้ใหญ่และเด็ก เป็นสิ่งที่ไม่อาจมองข้าม “ทีมข่าวสาธารณสุข” เชื่อว่าหากคนที่เคยติดเชื้อโควิด-19 และหายแล้ว ยืนอยู่บนความไม่ประมาท หมั่นสังเกตอาการตนเอง เพื่อไปพบแพทย์และรักษาอาการลองโควิด-MIS-C แม้คนที่เคยติดเชื้อโควิด-19 มาแล้ว ก็จะสามารถกลับมาใช้ชีวิตได้ตามปกติอย่างแน่นอน.

...

ทีมข่าวสาธารณสุข