เฮฮากันตามประสาอีกครั้ง...กับโครงการ “เราเที่ยวด้วยกัน เฟส 3” ที่รัฐบาลแจกเที่ยวคำรบ 3 ในรอบ 1 ปี 10 เดือน...ใช้เงิน 2,700 ล้านบาทให้คน 2 ล้านสิทธิ์ เป็นค่าโรงแรมที่พักคืนละ 40% แต่ไม่เกิน 3,000 บาท ค่าอาหาร 600 บาท แล้วก็เรือบินอีก 40%

แถมอีกรายการ “ทัวร์เที่ยวไทย” ที่คุณขอมา ให้รัฐบาลจ่าย 5,000 บาทต่อ 1 แพ็กเกจกับบริษัททัวร์เที่ยวอีก 1 ล้านสิทธิ์เป็นเงิน 1,100 ล้านบาท...อ้างเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจ

และ...ไม่มีใครการันตีได้ว่า จะมีเฟส 4, 5, 6 เป็นมหากาพย์ตามมาหรือไม่ เพราะพอบ้านเมืองเกิดปัญหาทีไร เป็นต้องหยิบเอา “ท่องเที่ยว” เป็นโอสถสารพัดนึกให้บริโภคกันร่ำไป

ผู้สันทัดกรณีตลาดท่องเที่ยวในและต่างประเทศประสบการณ์กว่า 20 ปี มองว่าเรื่องท่องเที่ยวนั้น...ไม่ต้องกลัวจะไม่มีคนเที่ยว ให้เขาได้ทำงานเก็บเงินไว้ใส่ครัวเรือน ได้กินได้ใช้ให้ลูกได้เรียน ที่เหลือใส่ในกระเป๋าตังค์เป็นทุนในการท่องเที่ยวเพื่อพักผ่อน แสวงหาประสบการณ์ใหม่ๆกลับมาใช้

เชื่อเถอะ...คนไทยนั้นชอบ “ท่องเที่ยว” เป็นชีวิตจิตใจอยู่แล้ว

...

สำคัญแต่รัฐจะมีความพร้อมหรือไม่? ในการสรรหาแหล่งท่องเที่ยวใหม่ๆมาเป็นสินค้าตามภูมิภาคต่างๆ...ไม่ใช่โหมโรงทีก็เที่ยวบางแสน พัทยา ระยอง ไกลหน่อยก็เกาะช้าง

แล้วยังเห็น ททท.ฝันนักท่องเที่ยวไทยปีนี้ 90 ล้านคนครั้ง รายได้ 4.82 แสนล้านบาท กระทั่งเดือนเมษายนฝันล่มด้วยโควิด-19 จึงเอา “เราเที่ยวด้วยกัน เฟส 3” กับ “ทัวร์เที่ยวไทย” นี่แหละมากู้หน้า

พร้อมปัดฝุ่น “อันซีน ไทยแลนด์” ที่เคยทำเมื่อปี 2547 มาจัดใหม่ 25 แห่ง เมื่อเดือนพฤษภาคม เพื่อกอบกู้ตลาด “ไทยเที่ยวไทย”...แต่อันซีนคือสิ่งที่มองไม่เห็นเหมือนที่คุย 25 แห่งจนบัดนี้?

โหมดนี้...จะทัวร์เที่ยวไทยหรือเราเที่ยวด้วยกัน เฟส 3 ที่ลงทะเบียนเมื่อ 24 กันยายน และเที่ยวประชดความจนตั้งแต่ตุลาคมถึง 31 มกราคมปีหน้า...เงินรัฐก้อนใหญ่จะเข้ากระเป๋าใคร จึงเป็นคำถาม สำคัญตามมา?

หากยังพอจะจำกันได้ครั้งที่แล้ว...คนของรัฐเบิกทางให้บริษัทบุ๊กกิ้งที่พักและตั๋วเครื่องบินรายใหญ่จับมืออวดสื่อฯจะเป็นเฟืองสำคัญดึงคนออกท่องเที่ยว โดยหาห้องพักค่าเครื่องบินที่รัฐอุปถัมภ์บางส่วน... และรู้ต่อมาว่าเม็ดเงินเหล่านั้นไหลออกนอกอย่างน่าเสียดาย

ครั้งนี้...ก็คงเข้าอีหรอบเดิม ใช้ยักษ์ตัวเก่าหยิบเค้กก้อนใหญ่ไปกิน ปล่อยรายย่อยหากินกันไป...ยักษ์ที่ว่าได้แก่ธุรกิจ 1 ใน 6 ของบริษัทแม่ที่อยู่ในตลาดหลักทรัพย์ใหญ่อเมริกา

ทำธุรกิจท่องเที่ยวครบวงจร เช่น เสนอขายทางออนไลน์ในอเมริกาเหนือ รับบุ๊กกิ้งห้องพักทั่วโลก สำรวจหาข้อมูลแหล่งท่องเที่ยว บริการ รถเช่า และบริการรับจัดเลี้ยง...ส่วนยักษ์เล็กตัวที่ป้วนเปี้ยนอยู่บ้านเรามีจ๊อบรับบุ๊กห้องพักและตั๋วเครื่องบิน พร้อมทัวร์ทางแถบตลาดเอเชีย

มีศูนย์กลางอยู่สิงคโปร์...ส่วนบริษัทแม่นั้นไม่ธรรมดา เป็นเบอร์ 2 ในวงการท่องเที่ยวออนไลน์ระดับโลก ที่เรียกว่า “โอทีเอ” กระจายอยู่ทั่วโลกเพื่อคอยรันผลประโยชน์ 220 แห่งรวมถึง “ประเทศ ไทย” ที่ส่งผ่านสิงคโปร์ถึงอเมริกา

ข้อสำคัญที่ต้องพึงสังวรณ์มีว่า “ธุรกิจ” ดังกล่าวที่ว่านี้เป็นของต่างชาติ ซึ่งได้รับการยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่ม 7% ตามเงื่อนไขของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ.) ดังนั้น...เงินทุกบาททุกสตางค์ที่ได้จากทั้ง 2 โครงการ...ไม่อยู่ในข่ายต้อง “เสียภาษี” ให้ “รัฐ”

และที่สำคัญอีกอย่าง...โรงแรมส่วนใหญ่ยินดีที่จะจ่ายให้กับธุรกิจนี้ โดยมีสัดส่วนที่ต้องแบ่งจ่ายให้จากการขายอยู่ที่ 10-25% ต่อราคาห้องพัก 1 คืน 1 ห้อง และขึ้นอยู่กับมาตรฐานโรงแรมแต่ละแห่ง

ต้องย้ำว่า...ปัจจุบันธุรกิจประเภทนี้มีอำนาจในการต่อรองสูงจากอิทธิพลทางด้านตลาดและประชาสัมพันธ์ ที่มีเครื่องมือและเครือข่ายอยู่พร้อมทั้งในและต่างประเทศทั่วโลก แม้ว่าโรงแรมไทย 25,000 แห่ง ต่างรู้ดีแต่ก็ยอมขายร่วม...เพราะดีกว่าปล่อยห้องให้ยุงวางไข่

...

ถึงตรงนี้...ให้รู้อีกว่าการขาย “เราเที่ยวด้วยกัน” กับ “ทัวร์เที่ยวไทย” เที่ยวนี้...เขาตั้งวิธีการทำงานลูกค้าเลือกวันพักกับห้องที่ต้องการ และส่งรายละเอียดบุ๊กกิ้งทางอีเมล ธุรกิจจะตัดห้องจากระบบของตนเอง ธนาคารขาประจำเป็นผู้ตรวจสอบคำขอบุ๊กกิ้ง และลูกค้าชำระเงินผ่าน “แอปเป๋าตัง” เป็นอันเรียบร้อย

นั่นหมายถึงว่า “เงินไทย” จากการขาย 10–25% โดยยกเว้นภาษี จะไหลออกสู่ปลายทางคืออเมริกาทันที

ที่นี้ลองเหลียวกลับมามองสถานการณ์ทั่วไปที่เป็นอยู่ทุกวันนี้ “โรงแรมไทย” ทุกระดับชั้นซึ่งมีอยู่ 25,000 แห่ง และบางแห่งยอมเป็นสถานพักฟื้นของรัฐบาล (เอคิว) กับเป็นทางเลือกเข้ารับการกักตัว (เอเอสคิว) เพราะไม่มีทางเลือกอื่นท่ามกลางยุคโควิด-19 ระบาดหนัก

ขณะที่บางแห่งเลือกที่จะกัดฟันทนเปิดดำเนินการด้วยคีย์คำตอบแล้วไม่คุ้มกับการปิดชั่วคราว ด้วยเมื่อถึงวันเปิดใหม่จะต้องทุ่มทุนบูรณะซ่อมแซมกับสิ่งที่ปล่อยวางไปเกือบสองปี

สุพจน์ ประกิจจานุรักษ์ ผู้จัดการทั่วไป อมารี พัทยา และผู้จัดการทั่วไป พื้นที่ภาคตะวันออก บอกว่า อัตราการเข้าพักของโรงแรมระดับดีลักซ์ทั่วไปในกรุงเทพฯและภูมิภาคต่างๆทั่วประเทศ มีค่าเฉียด “ศูนย์” จวนเจียนจะครบ 2 ปีอยู่แล้ว

“จะมีอยู่บ้างก็คนต่างชาติที่พำนัก ราคานั้นลดเหลือคืนละ 3,000 กว่าบาทนิดๆ จะเห็นว่าต้นทุนสูงไม่คุ้มการขายถึงปิดตัวดีกว่า หวังพึ่งรัฐก็ไม่จริงใจต่อการพยุงค่าจ้างแรงงาน การขอกู้อัตราดอกเบี้ยต่ำ หรือแม้แต่พักหนี้ก็ไม่สำเร็จ จึงคิดว่า...ขายดีกว่ารอพักหนี้”

...

ทุกวันนี้...มีต่างชาติจากยุโรป จีน ฮ่องกง สนใจอยากจะซื้อโรงแรมในไทยเอาไว้ขายเมื่อปกติ ที่เขาเล็งๆกันอยู่ก็ที่กรุงเทพฯ ภูเก็ต แล้วก็สมุย น่าสนใจว่า...มีที่ขายไปแล้วที่ภูเก็ตกับเขาหลัก พังงา และสมุย

นอกจากนี้ยังมีโรงแรมใหม่เพิ่งสร้างเสร็จปีที่แล้ว 4 แห่ง 786 ห้อง กับกำลังก่อสร้างอีก 600 ห้อง...ปีนี้ 2 โครงการ 423 ห้อง ต้องเลื่อนเปิดไปอีกโดยไม่มีกำหนด

เพราะโรงแรมระดับนี้ฟื้นตัวได้ก็จาก “นักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ” เท่านั้น

“แล้วเชื่อมั้ย?” สุพจน์ ว่า “รายได้ท่องเที่ยวปีละ 3 ล้านล้านบาท เมื่อปี 2562 ส่วนหนึ่งได้จากภาคธุรกิจบริการโรงแรม ได้แก่ ค่าอาหารและเครื่องดื่ม ซึ่งมากถึง 1 ล้านล้านบาท กระจายไปสู่ภาค เกษตรกรรมและอุตสาหกรรมในประเทศมากมาย”

อย่าเพิ่งร้องอ๋อกันระงม นั่นสิ... “รายได้” ที่สูญไปกับ “ต่างชาติ” จาก “เราเที่ยวด้วยกัน เฟสที่ 3” กับ “ทัวร์เที่ยวไทย” กับรายได้โรงแรมที่ได้รับจากต่างชาติ...อย่างไหนจะ “จุก จุก” (ดีเริ่ด) มากกว่ากัน?

ความวัวไม่ทันหาย ความควายเข้ามาแทรก...วัวหายล้อมคอก สุกเอาเผากิน วัวใครเข้าคอกคนนั้น...ระวัง!กรรมใดใครก่อกรรมนั้นคืนสนอง สุภาษิตไทยๆ...อย่าหาทำ.