• รู้จัก "เก็งจู" นักสวดมนต์จีน รับหน้าที่หลักสำคัญในเทศกาลกินเจ ต้องมีใจรัก ซ้อมสวดมนต์แต่เด็ก
  • โควิด-19 กระทบเทศกาลกินเจ เงียบเหงา สั่งงดพิธีกรรมสำคัญ
  • เทศกาลกินเจในความทรงจำ พาย้อนอดีต 20 ปี คนแก่เฒ่าหายไป คนหนุ่มสาวเข้ามาแทนที่

เทศกาลกินเจ 2564 ถือเป็นอีกปี ที่การระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ โควิด-19 เข้ามามีผลกระทบ ทำให้โรงเจหลายแห่งมีการปรับพิธีกรรมเพื่อลดการรวมตัว ตามมาตรการควบคุมการแพร่ระบาด ซึ่งตลอด 9 วันที่ผ่านมา จะเห็นได้ว่าบรรยากาศงานโรงเจนั้นไม่คึกคักเหมือนเช่นเคย ทำให้นึกย้อนไปเทศกาลกินเจเมื่อช่วงเวลา 10-20 ปีก่อนในช่วงปลายฝนต้นหนาว ว่ามีความแตกต่างจากปัจจุบันอย่างไร

เทศกาลกินเจ ศรีราชา

จากการสอบถาม นายประมณฑ์ ตั้งตระกูลทรัพย์ เก็งจูโรงเจสว่างประทีปศรีราชา จ.ชลบุรี เปิดเผยว่า โรงเจจะแตกต่างกับวัดไทยโดยสิ้นเชิง โรงเจจะมีพระประจำเหมือนวัดไทย คนที่มาช่วยงานโรงเจจะเป็นอาสาสมัคร ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นลูกหลานชาวไทยเชื้อสายจีนในละแวกนั้น เมื่อถึงเทศกาลกินเจก็จะมี "เก็งจู" มาทำหน้าที่สวดมนต์

...

โดย "เก็งจู" จะทำหน้าที่เหมือน "พระ" ในช่วงเทศกาลกินเจ เก็งจูจะเริ่มหน้าที่ตั้งแต่วันรับเจ้า หรือวันที่ 30 เดือน 8 ของจีน โดยจะเริ่มพิธีกรรมตั้งแต่บ่าย 2 โมง หรือประมาณบ่าย 3 โมง และจะสวดมนต์ตลอดช่วงเวลากินเจ วันละ 4 เวลา ได้แก่ ตี 4 / 10 โมง / 4 โมงเย็น และ 1 ทุ่ม

บรรยากาศไปเชิญเทพเจ้ามายังโรงเจ
บรรยากาศไปเชิญเทพเจ้ามายังโรงเจ

เมื่อถามว่า คนที่จะมาเป็นเก็งจูได้นั้นจะต้องทำอย่างไร อย่างแรกเลยจะต้องมีใจรัก มาซ้อมสวดมนต์ ซึ่งส่วนใหญ่จะมาสวดมนต์กันแต่เด็ก คนในโรงเจจะชวนเด็กตามโรงเรียนว่ามีใครสนใจสวดมนต์ไหม โดยจะเป็นสอนแบบรุ่นต่อรุ่น

พิธีกรรมต่างๆ ในเทศกาลกินเจ

นายประมณฑ์ เล่าว่า โรงเจทางภาคตะวันออก กับโรงเจทางภาคใต้ จะไม่มีเหมือนกัน ทางภาคใต้เทพเจ้าจะมาในนามของเทวราชา หรือมาในปางที่เป็นกษัตริย์ ส่วนทางศรีราชาจะมาในปางพระ สำหรับโรงเจศรีราชาในวันที่ 30 เดือน 8 ของจีน เวลาช่วงบ่ายจะมีการแห่จากโรงเจไปรับเจ้าที่บริเวณเกาะลอย มีความเชื่อว่าเป็นการรับเจ้าทางน้ำ จะมีการสวดมนต์แล้วโยน “ปั่วะปวย” เสี่ยงทาย หากเทพเจ้ามาแล้วจะคว่ำ 1 อัน หงาย 1 อัน จากนั้นจะแห่กลับโรงเจ โดยทุกคืนจะมีการสวดมนต์และเดินธูปภายในโรงเจ ส่วนพิธีกรรมสำคัญหลักๆ จะมีดังนี้

...

โรงเจจะใช้ในการแบกไปรับเทพเจ้า
โรงเจจะใช้ในการแบกไปรับเทพเจ้า
บรรยากาศรับเทพเจ้ากลับโรงเจ
บรรยากาศรับเทพเจ้ากลับโรงเจ

ในวันแรกของกินเจ หรือวันชิวอิก ในปีนี้ตรงกับวันที่ 6 ตุลาคม 2564 จะเริ่มสวดมนต์ 4 เวลา เวียนแบบนี้เหมือนกันทุกวัน

...

วันที่ 7 ในตอนกลางคืน โรงเจศรีราชาจะมีการเลือกกรรมการโรงเจของปีถัดไป ซึ่งจะเลือกจากชื่อคนที่มาทำบุญกับโรงเจมาเขียนม้วนใส่กระดาษวางใส่ถาดไว้ โดยการเสี่ยงทาย เป็นพิธีความเชื่อว่าให้เทพเจ้าเป็นผู้เลือก 

วันที่ 8 จะมีพิธีลอยกระทง เป็นการไปเชิญดวงวิญญาณไร้ญาติและดวงวิญญาณบรรพบุรุษมาไว้ที่โรงเจ

พิธีลอยกระทงเชิญวิญณาณบรรพบุรุษ
พิธีลอยกระทงเชิญวิญณาณบรรพบุรุษ

วันที่ 9 ในตอนเช้าจะไหว้ดวงวิญญาณบรรพบุรุษ จากนั้นช่วงเที่ยงจะไหว้ดวงวิญญาณไร้ญาติ โดยมีความเชื่อว่าของที่เซ่นไหว้ดวงวิญญาณไร้ญาติจะไม่นำกลับบ้าน จึงนำของเหล่านี้ไปแจกคนยากไร้ หรือเรียกกันว่า การเทกระจาด

...

วันที่ 10 ตอนเช้าจะเริ่มพิธีส่งเทพเจ้าตอนประมาณ ตี 4 โดยจะแห่ไปที่เกาะลอย

นอกจากนี้คนนิยมเข้าไปไหว้โรงเจ ในวันที่ 3 วันที่ 6 และวันที่ 9 ซึ่งวันดังกล่าวบางโรงเจจะมีการทำพิธีกรรมที่เพิ่มขึ้นมาจากการสวดมนต์ เช่น การเสกน้ำทิพย์

เป็นที่รู้กันว่า พิธีกรรมแรกของวันจะเริ่มตั้งแต่ตี 4 ดังนั้นเมื่อถึงเทศกาลกินเจ คนที่มีหน้าที่ต่างๆ ในโรงเจจะไปนอนค้างเพื่อเตรียมทำพิธีกรรมในแต่ละวัน เช่น ฝ่ายจัดของไหว้ จะต้องตื่นมาเตรียมอาหาร ล้างผลไม้ ตั้งแต่ตี 2-3 เพื่อให้ทันเวลาสวดมนต์ ซึ่งในปีนี้บางโรงเจได้งดให้นอนค้างที่โรงเจ

โรงเจในความทรงจำ เมื่อ 20 ปีที่แล้ว

"สมัยก่อนกับตอนนี้ต่างกันมาก จะรู้สึกใจหายทุกปี คนแก่ที่เราเจอจะหายไปเรื่อยๆ สมัยก่อนหน้าโรงเจที่นี่จะมีคนเฒ่าคนแก่เต็มไปหมด แต่ละปีก็จะลดลงเรื่อยๆ บางครั้งเราเข้าไปถามว่าอาม่าไปไหน ลูกหลานก็จะบอกว่า อาม่าไม่อยู่แล้ว แต่ขณะเดียวกันคนที่กินเจก็มีมากขึ้น เหมือนเป็นการเปลี่ยนรุ่น คนแก่หายไป คนหนุ่มคนสาวก็เพิ่มขึ้น แต่ส่วนใหญ่คนที่ไปโรงเจจะเป็นวัยกลางคนที่จะมาร่วมทำงานในโรงเจ"

ช่วงโควิดปีที่แล้ว จะเห็นชัดมากเลยว่าบรรยากาศโรงเจเงียบหงามากๆ ก่อนหน้านี้โรงเจศรีราชาจะมีโรงครัวเปิดเป็นโรงทาน มีคนเข้ามากินอาหารเจไม่ต่ำกว่า 1,000 คนต่อวัน แต่ปีที่แล้วกับปีนี้ไม่มีโรงครัวเนื่องจากสถานการณ์โควิด ทำให้คนคนเข้าออกโรงเจน้อยลง

ประกอบกับปีนี้ไม่มีการจัดเทศกาลกินเจของศรีราชา จึงทำให้บรรยากาศเงียบเหงาลงไปอีก รวมไปถึงการแสดงงิ้ว ซึ่งปกติเชื่อว่าเป็นการแสดงให้เทพเจ้าดูจะสร้างความครึกครื้นให้โรงเจ ในปีนี้ก็งดการแสดงเช่นกัน ก่อนหน้านี้จะเห็นว่ามีเด็กๆ มาร่วมดูงิ้วด้วย เป็นการดูสีสันการแสดง แม้ว่าจะไม่รู้ภาษาจีน ไม่เข้าใจความหมายก็ตาม เช่นเดียวกับบรรยากาศรอบโรงเจ ที่เงียบเหงาไปตามๆ กัน ปกติในซอยจะมีคนมาจอดรถซื้ออาหารเจกัน แต่ปีนี้เงียบมาก

ไม่กินเจเข้าไปไหว้ด้านในโรงเจได้ไหม

นายประมณฑ์ กล่าวว่า ในช่วงสถานการณ์ปกติ โรงเจเป็นสถานที่เปิดอยู่แล้ว คนกินเจหรือไม่กินเจก็สามารถเข้าไปไหว้ได้ แต่ในช่วงกินเจจะมีข้อห้ามเพิ่มขึ้นมาคือ ต้องใส่ชุดขาว จึงจะเข้าไปในส่วนที่ทำพิธีเพื่อไหว้ได้ แม้จะกินเจ หรือกินเจบางมื้อ หรือไม่กินเจเลย หากใส่ชุดขาวก็เข้าไปไหว้ข้างในได้ อย่างเช่น เด็กๆ ไม่ได้กินเจ แต่พ่อแม่พามาด้วยก็สามารถเข้าไปได้ แต่บางโรงเจก็ต้องสอบถามเจ้าหน้าที่ของโรงเจอีกครั้งเพราะอาจจะมีความเคร่งครัด หากไม่ได้กินเจก็เข้าไม่ได้

หลังจากมีการระบาดของโควิด กิจการหลายอย่างมีการปรับตัว โรงเจเองก็เช่นกัน เมื่อปีที่แล้ว โรงเจมีการปรับพิธีกรรมบางส่วน จากมีขบวนแห่ไปรับเจ้าก็ปรับให้คณะกรรมการนั่งรถไปรับเจ้าแทน ซึ่งเราก็มีการพูดคุยกันมาตลอด หากในปีหน้าสถานการณ์โควิดยังไม่ดีขึ้น ก็อาจจะปรับกิจกรรมอีกครั้ง ขึ้นอยู่กับสถานการณ์ ซึ่งปีนี้ตัดสินใจไม่จัดกิจกรรม เพราะจำนวนคนติดเชื้อสูง และไม่รู้ว่าการฉีดวัคซีนจะครอบคลุมหรือไม่.

ผู้เขียน : J. Mashare

กราฟิก : Anon Chantanant