ด้วยทุนสนับสนุนการวิจัยจากสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย (มทร.ศรีวิชัย) คิดค้นนวัตกรรมเครื่องสกัดน้ำมันหอมระเหย โดยใช้น้ำและไอน้ำ ที่ข้อดี สามารถใช้กับวัตถุดิบได้หลากหลายกว่าวิธีอื่น ใช้เทคนิคที่ไม่ซับซ้อน เกษตรกรหรือชุมชนสามารถใช้งานได้เอง พร้อมมอบให้ กอ.รมน. นำไปต่อยอดให้ศูนย์การเรียนรู้ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ต.บ้านลำ อ.วิหารแดง จ.สระบุรี สกัดพืชสมุนไพรที่มีอยู่แล้วในชุมชน อาทิ ใบมะกรูด ผลมะกรูด และตะไคร้หอม ช่วยให้ชุมชนมีความ ต้องการที่จะพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์อย่างต่อเนื่อง สร้างความตระหนักด้านสมุนไพรไทยให้เป็นที่นิยม
ผศ.จีระศักดิ์ เพียรเจริญ สาขาวิศวกรรมเครื่องกล คณะวิศวกรรมศาสตร์ มทร.ศรีวิชัย เผยถึงกลไกการทำงานของเครื่องสกัดน้ำมันหอมระเหยที่ประดิษฐ์ขึ้นมาว่า ภายในถังต้มหรือหม้อกลั่น จะมีตะแกรงสำหรับใส่วัตถุดิบสมุนไพรปริมาณครั้งละ 5 กก. เมื่อปิดฝาและล็อกให้สนิท เติมน้ำสะอาด 20-25 ลิตรเข้าไปในถัง ให้อยู่เหนือระดับฮีตเตอร์เล็กน้อย เพื่อประหยัดพลังงาน เมื่อให้ความร้อนด้วยกำลังไฟ 3,500 วัตต์ น้ำจะเดือดจนกลายเป็นไอน้ำที่อิ่มตัวใช้เวลา 40 นาที ไอน้ำจะลอยไปสัมผัสกับวัตถุดิบ ที่อยู่เหนือระดับน้ำร้อน
...
จากนั้นไอน้ำจะไปละลายสารเคมี และน้ำมันที่วัตถุดิบ จนลอยไปปะปนกับไอน้ำ และเข้าไปยังถังคอนเดนเสต ไอน้ำภายในท่อจะสัมผัสกับน้ำหล่อเย็น ที่มีการควบคุมอุณหภูมิน้ำให้อยู่ที่ 15-25 องศาเซลเซียส และเมื่ออุณหภูมิปกติ จะทำให้ไอน้ำเปลี่ยนสภาพกลายเป็นของเหลว ที่มีน้ำและน้ำมันปะปนกัน การกลั่นใช้เวลาประมาณ 4 ชม. จนได้เป็นน้ำกลั่น ที่มีการแยกเป็น 2 ส่วน คือ น้ำมันจากสมุนไพรที่ลอยอยู่ด้านบน และน้ำจากการกลั่นที่อยู่ด้านใต้ ได้ปริมาณน้ำมัน 30-50 cc โดยสามารถนำน้ำทั้ง 2 ส่วนมาแยกออกจากกันโดยค่อยๆเทออกมา
ผศ.จีระศักดิ์ บอกว่า ปริมาณน้ำมันจากการสกัดจากพืชแต่ละชนิดจะแตกต่างกัน ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับชนิดสมุนไพร และอุณหภูมิน้ำที่มีการควบคุมไว้ การกลั่นโดยวิธีนี้ พืชที่กลั่นจะไม่สัมผัสกับความร้อนโดยตรง ทำให้น้ำมันหอมระเหยมีคุณภาพสูง
และปัจจุบันทีมนักวิจัย และนักศึกษา อยู่ระหว่างการพัฒนาด้านมาตรฐานน้ำมันหอมระเหย และเรียนรู้การสร้างผลิตภัณฑ์สมุนไพรจากแพทย์แผนไทย เพื่อให้เกิดเป็นผลิตภัณฑ์ที่หลากหลาย เช่น สเปรย์ฉีดกันยุง สเปรย์ปรับอากาศ ผลิตภัณฑ์ลดกลิ่นอับ หรือแม้แต่สเปรย์ที่สามารถหยดลงไปในอาหารได้ เพื่อเตรียมนำไปถ่ายทอดให้กับชุมชน หวังจะพัฒนาเป็นสินค้า OTOP สร้างอาชีพและรายได้ให้กับชุมชนต่อไป.