รัฐบาลเดินหน้าเต็มสูบ ฉีดวัคซีนไฟเซอร์ให้เด็กนักเรียนอายุ 12-18 ปี ทั่วประเทศ ที่ผู้ปกครองยินยอมให้ฉีดราว 4 ล้าน คาดจบได้ในสิ้น ต.ค. พร้อมรองรับเปิดเทอมสองเดือน พ.ย. ส่วนเด็กอายุ 3-11 ขวบ คาดจะได้ฉีดต้นปีหน้า หลังผ่านการพิจารณาจาก อย. แต่ไม่ระบุเป็นวัคซีนตัวไหน พร้อมเก็บตกคนที่ยังไม่ได้ฉีด ขณะเดียวกันมีข่าวดี สธ.เตรียมนำเข้ายา Molnupiravir รักษาโควิดมาเสริมทัพ หลัง อย.สหรัฐฯขึ้นทะเบียนให้ใช้ได้ ขณะที่ยอดผู้ติดเชื้อโควิดรายวันลดต่ำหมื่น ตายลดต่ำร้อยพร้อมกันเป็นครั้งแรก และเตรียมใช้โมเดลเมืองกรุงไปคุมการระบาดในจังหวัดภาคใต้
แนวโน้มเด็กนักเรียนจะได้กลับไปเรียนในโรงเรียนตามปกติ เริ่มเป็นจริงเมื่อมีการระดมฉีดวัคซีนไฟเซอร์ให้กับนักเรียนทั่วประเทศตลอดเดือน ต.ค.นี้ ขณะที่ยอดผู้ติดเชื้อรายใหม่รายวันลดต่ำหมื่นเป็นครั้งแรกของเดือนนี้ และผู้เสียชีวิตยังต่ำร้อยศพต่อเนื่องอีกวัน
นายกฯคิกออฟฉีดนักเรียน
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อเวลา 08.30 น. วันที่ 4 ต.ค. ที่โรงเรียนพิบูลอุปถัมภ์ เขตห้วยขวาง กทม. พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม เป็นประธานพิธีคิกออฟสร้างเกราะป้องกันด้วยวัคซีน เด็กปลอดภัย เรียนอุ่นใจ ต้อนรับเปิดเทอม ซึ่งเป็นวันแรกของการฉีดวัคซีนไฟเซอร์ให้กับเด็กนักเรียน อายุระหว่าง 12-18 ปี เพื่อสร้างภูมิคุ้มกัน และรองรับการเปิดภาคเรียน เป็นการฉีดวัคซีนนักเรียนเข็มแรกพร้อมกัน 15 จังหวัด ใน 13 เขตสุขภาพ โดยมี น.ส.ตรีนุช เทียนทอง รมว.ศึกษาธิการ คุณหญิงกัลยา โสภณพณิช รมช.ศึกษาธิการ นายสาธิต ปิตุเตชะ รมช.สาธารณสุข ร่วมพิธี จากนั้น พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า วันนี้มั่นใจการบริหารจัดการการศึกษาและส่งเสริมจัดการเรียนการสอนในช่วงโควิด-19 เป็นไปอย่างต่อเนื่อง ตนเห็นภาพผู้ปกครองนั่งเรียนกับลูกที่บ้านเชื่อว่าไม่ใช่ภาระ ถ้ามีเวลาถือเป็นช่วงเวลาได้อยู่กับครอบครัว แต่ต้องขอโทษถ้ามีหลายคนรู้สึกเป็นภาระ วัคซีนไฟเซอร์มีประสิทธิภาพและได้รับการรับรองจากองค์การอนามัยโลก ถ้าเราฉีดให้ครอบคลุมในนักเรียน ครู และบุคลากรจะทำให้การเปิดภาคเรียนที่ 2 ปี 64 เป็นไปได้ ทั้งนี้ การจัดหาวัคซีนมี 2 ประเภทคือวัคซีนหลักที่รัฐบาลจัดหา และวัคซีนทางเลือกเป็นการเจรจาระหว่างผู้จำหน่ายวัคซีน เพื่อให้กับคนทั่วไป ตนยืนยันปีนี้วัคซีนมีเพียงพอ ทั้งปีนี้ไปถึงปีหน้า และคาดฉีดได้ครบตามเป้า
...
เบาใจหลังฉีดเด็กไร้อาการ
นายกฯยังให้สัมภาษณ์เพิ่มเติมว่า เท่าที่ติดตามเด็กทุกคนหลังรับวัคซีนปลอดภัยดีอยู่ ไม่มีอาการอะไรที่ผิดปกติ หวังการฉีดวัคซีนวันนี้จะทำให้สถานการณ์ที่อาจเกิดขึ้นได้ในอนาคตลดลง หรือไม่เกิดขึ้นเลย วันนี้มีวัคซีนเพียงยี่ห้อเดียวที่รัฐบาลนำเข้ามาเพื่อฉีดให้กับกลุ่มเด็กและเยาวชน ผ่านการรับรองขององค์การอนามัยโลก อาจมีความเสี่ยงบ้าง แต่รัฐบาลและนายกฯ ก็ไม่อยากให้ใครเป็นอะไรทั้งสิ้น
กระจายไฟเซอร์ นร. 4 ล้านคน
ด้าน นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรม ควบคุมโรค ให้สัมภาษณ์ว่า ศธ.รวบรวมข้อมูลและแจ้งกระทรวงสาธารณสุขว่า มีเด็กที่เข้าข่ายฉีดไฟเซอร์ประมาณ 5 ล้านคน หลังสำรวจผู้ปกครอง มีประมาณร้อยละ 80 ประสงค์จะฉีดหรือประมาณ 4 ล้านคน วัคซีนไฟเซอร์มาถึงไทย 29 ก.ย.หลังจากตรวจสอบคุณภาพเรียบร้อย วันที่ 30 ก.ย. ก็เริ่มกระจายวัคซีนไปทุกอำเภอ วัคซีนลอตแรกที่ส่งไป 2 ล้านโดส ถึงโรงเรียนแล้ว แต่ยังไม่ครบทุกแห่ง วันพุธที่ 6 ต.ค. จะเข้ามาอีก 1.5 ล้านโดส และสัปดาห์ถัดไปจะเข้ามาอีก 1.5 ล้านโดส เพราะฉะนั้นอีก 2 อาทิตย์ก็สามารถกระจายวัคซีนออกไปได้ครบตามจำนวนนักเรียนที่จะฉีด จากนั้นจะมีการติดตามและสังเกตอาการผลข้างเคียง
ฉีดเด็ก 1.3 แสนคน ป่วยแค่ 4 คน
นพ.โอภาสกล่าวด้วยว่า วัคซีน mRNA ผลข้างเคียงที่คนเป็นห่วงมากที่สุด คือภาวะกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบหรือเยื่อหุ้มหัวใจอักเสบ ส่วนใหญ่มีอาการแน่นหน้าอก เจ็บหน้าอกหรือมีอาการเหนื่อยหอบ อุบัติการณ์เกิดเท่าที่ดูข้อมูลทั่วโลกที่เกิดประมาณ 6 ในแสนคน โดยเฉพาะในเด็กผู้ชายพบมากกว่า ส่วนใหญ่หายเองได้ ส่วนน้อยที่มีอาการหนักและต้องเข้ารักษาใน รพ. ในไทยฉีดในเด็กไป 1.3 แสนคน จากวัคซีนลอตบริจาค 1.5 ล้านโดส พบอาการกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ 4 คน อยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน หากดูประสิทธิภาพและความปลอดภัย ผู้เชี่ยวชาญส่วนใหญ่เชื่อการฉีดวัคซีนจะมีประโยชน์มากกว่า โดยในนักเรียนหญิงแนะนำให้ฉีด 2 เข็ม ส่วน นร.ชายให้ฉีดก่อน 1 เข็มและพอ 2 สัปดาห์จะประเมินข้อมูลอีกครั้งว่าเข็ม 2 จะฉีดต่อหรือไม่ ทั้งนี้การฉีด 2 เข็มประสิทธิภาพดีกว่า แต่ผลข้างเคียงก็มากกว่า อยู่ที่ การชั่งน้ำหนักระหว่างผลดีและผลเสีย
มั่นใจ 1 พ.ย.เปิดเทอมสองได้
ด้าน น.ส.ตรีนุช เทียนทอง รมว.ศึกษาธิการ (ศธ.) กล่าวว่า วันนี้จะดำเนินการฉีดให้กับนักเรียนใน 13 เขตสุขภาพ กระจายไป 15 จังหวัด ภาพรวมผู้ปกครองและนักเรียนแจ้งความประสงค์ยินยอมรับวัคซีน มีมากขึ้นเรื่อยๆ เกือบร้อยละ 80 ของจำนวนนักเรียนทั้งหมด คาดว่าจะมีผู้ปกครองทยอยแจ้งความประสงค์ให้นักเรียนฉีดวัคซีนเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ โดยส่วนที่เพิ่มขึ้นมานั้น ศธ.จะประสานกับ สธ.อีกครั้งเพื่อฉีดวัคซีนรอบเก็บตกให้นักเรียนต่อไป หากนักเรียนได้รับวัคซีนครบหมด ก็จะเปิดเทอม 2 ในวันที่ 1 พ.ย.นี้แน่นอน เพียงแต่ว่าจะเปิดเรียนรูปแบบไหนนั้น ขึ้นอยู่กับการพิจารณาของคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด
...
กทม.จัด 6 จุดฉีดทั่วกรุง
อีกด้านหนึ่ง ที่โรงเรียนประชานิเวศน์ พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าฯ กทม. กล่าวภายหลังตรวจเยี่ยมหน่วยบริการวัคซีนนักเรียนสังกัด กทม.ว่าเด็กนักเรียนในพื้นที่กรุงเทพฯ ทุกสังกัดมีทั้งหมดกว่า 4.5 แสนคน เบื้องต้น กทม.ได้รับการจัดสรรวัคซีน ไฟเซอร์มาทั้งหมด 135,000 โดส ฉีดให้เด็กนักเรียนระดับมัธยมปลายทุกสังกัดใน กทม.ก่อนส่วนระดับมัธยมต้นเมื่อได้รับวัคซีนเพิ่มเติมก็จะจัดฉีดวัคซีนให้ต่อไป คาดว่าภายในเดือน ต.ค.นี้ สามารถฉีดวัคซีนให้เด็กนักเรียนได้ครบทุกคน สำหรับเด็กที่ได้รับวัคซีนเข็มแรกในวันนี้ จะได้รับวัคซีนไฟเซอร์เข็มที่สองในอีก 3 สัปดาห์คือวันที่ 25 ต.ค.ทั้งนี้ การฉีดวัคซีนให้กับนักเรียนระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย สำนักอนามัยและศูนย์บริการสาธารณสุขเป็นผู้ดำเนินการฉีดวัคซีน และสำนักการแพทย์สนับสนุนด้านการแพทย์ฉุกเฉิน โดยจัดรถฉุกเฉินประจำตามโรงเรียน ที่เป็นจุดฉีดวัคซีน จำนวน 6 จุด ได้แก่ จุดที่ 1 โรงเรียน มัธยมวัดสุทธาราม เขตคลองสาน จุดที่ 2 โรงเรียนมัธยมประชานิเวศน์ เขตจตุจักร จุดที่ 3 โรงเรียนมัธยมปุรณาวาส เขตทวีวัฒนา จุดที่ 4 โรงเรียนนาหลวง เขตทุ่งครุ จุดที่ 5 โรงเรียนมัธยมบ้านบางกะปิ เขตบางกะปิ และจุดที่ 6 โรงเรียนมัธยมสุวิทย์เสรีอนุสรณ์ เขตประเวศ
ระดมฉีดให้เด็กตลอด ต.ค.
จากนั้น ตลอดช่วงเช้า ที่โรงเรียนต่างๆและ ศูนย์ฉีดวัคซีนประจำจังหวัด ผู้ว่า-รองผู้ว่าราชการจังหวัดทั่วประเทศเป็นประธานพิธีเปิดปฏิบัติการฉีดวัคซีนไฟเซอร์ให้กับนักเรียน อายุ 12-18 ปี เพื่อต้อนรับเปิดเทอมใหม่อย่างปลอดภัย โดยมีผู้ปกครองพาลูกหลานที่ส่วนใหญ่เป็นเด็กโต เรียนระดับมัธยม เข้ารับการฉีดวัคซีนกันอย่างคึกคัก ซึ่งผู้ปกครองบอกไม่ต่างกันว่าต้องการให้ลูกหลานได้รับวัคซีนเพื่อให้เกิดภูมิคุ้มกัน จะได้ไปโรงเรียนได้ ขณะที่นักเรียนที่มาฉีดบอกเป็นเสียงเดียวกันว่า รู้สึกตื่นเต้น มีกลัวเข็มบ้าง แต่ไม่ค่อยกังวลกับผลข้างเคียง เพราะอยากกลับเข้าห้องเรียนอีกครั้งมากกว่า โดยอาการไม่พึงประสงค์ที่พบหลังฉีดวัคซีน ส่วนใหญ่มีแต่อาการปวดแขนและปวดศีรษะ การฉีดวัคซีนไฟเซอร์ให้เด็กนักเรียนครั้งนี้ ในแต่ละพื้นที่มีนักเรียนที่แจ้ง ความประสงค์เข้ารับวัคซีนไฟเซอร์จำนวนตั้งแต่หลักพันไปจนถึงหลักหมื่นคน และส่วนใหญ่ตั้งเป้าจะดำเนินการฉีดให้เสร็จสิ้นทั่วทั้งจังหวัดภายในเดือน ต.ค.นี้
...
ยอดติดเชื้อ-ตายลดอีก
สำหรับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในไทย ประจำวันที่ 4 ต.ค. พญ.อภิสมัย ศรีรังสรรค์ ผู้ช่วยโฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค. แถลงที่ทำเนียบรัฐบาลว่า พบผู้ติดเชื้อรายใหม่ 9,930 คน แบ่งเป็นการติดเชื้อในประเทศ 9,561 คน มาจากเรือนจำ 362 คน เป็นผู้เดินทางมาจากต่างประเทศ 7 คน หายป่วยเพิ่มขึ้น 12,336 คน อยู่ระหว่างรักษา 109,748 คน อาการหนัก 3,071 คน ใส่ท่อช่วยหายใจ 719 คน เสียชีวิตเพิ่มขึ้น 97 คน เป็นผู้เสียชีวิตที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไปถึง 64 คน พบผู้เสียชีวิตมากสุดอยู่ใน กทม. 27 คน ทำให้มียอดผู้ติดเชื้อสะสมยืนยันตั้งแต่ปี 2563 จำนวน 1,647,362 คน ยอดหายป่วยสะสมตั้งแต่ปี 2563 จำนวน 1,520,503 คน ยอดผู้เสียชีวิตสะสมตั้งแต่ปี 2563 จำนวน 17,111 คน ส่วนผู้ได้รับวัคซีนเมื่อวันที่ 3 ต.ค. มีการฉีดวัคซีนเพิ่มเติม 281,070 โดส รวมยอดฉีดวัคซีนสะสมตั้งแต่วันที่ 28 ก.พ. ทั้งสิ้น 55,150,481 โดส
ใช้โมเดล กทม.คุมระบาดใต้
...
จากนั้น ที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวถึงกรณีชายแดนภาคใต้ ที่มีผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้น นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.สาธารณสุข และ นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัด สธ. ได้สั่งการนพ.สุเทพ เพชรมาก ผู้ตรวจราชการฯ ไปประจำพื้นที่ภาคใต้เพื่อบูรณาการกำกับควบคุมโรคในพื้นที่นำ CCRT หน่วยเคลื่อนที่เร็วลงไปชุมชน เร่งฉีดวัคซีนในกลุ่ม 608 จะใช้โมเดลกรุงเทพฯ ซึ่งทำแล้วได้ผลไปจัดการที่ภาคใต้ คงใช้เวลาสักระยะ เพราะการติดเชื้อในภาคใต้ส่วนใหญ่เป็นการติดเชื้อในชุมชน คงให้ผู้ว่าราชการจังหวัดประเมินอีกครั้ง รวมถึงการดูแลโรงงานป้องกันไม่ให้มีผู้ลักลอบเข้ามา ยังเป็นมาตรการสำคัญที่จะลดผู้ติดเชื้อ
ปีหน้าคาดฉีดเด็ก 3-11 ปี
นพ.โอภาสยังกล่าวถึงการฉีดวัคซีนขณะนี้ฉีดไปแล้ว 55,150,481 โดส เป็นเข็ม 1 จำนวน 32,987,918 โดส คิดเป็นร้อยละ 46 ของประชากร เข็ม 2 จำนวน 20,696,791 โดส คิดเป็นร้อยละ 28.7 และเข็ม 3 จำนวน 1,465,772 โดส คิดเป็นร้อยละ 2 ปี 2564 ตามเป้าหมายจะฉีดให้ได้ 119 ล้านโดส แยกเป็นเข็ม 1 จำนวน 60 ล้านโดส เข็ม 2 จำนวน 52 ล้านโดส เข็ม 3 จำนวน 7 ล้านโดส ส่วนปี 2565 จะฉีดเข็มหนึ่งให้กับเด็กที่ตกค้างยังไม่ได้ฉีด โดยเฉพาะอายุ 3-11 ปี จำนวน 6 ล้านคน ปัจจุบันยังไม่มีวัคซีนตัวใดผ่านการรับรองจาก อย.รวมถึงจัดหาวัคซีนรองรับผู้ที่ยังไม่ได้ฉีดอีก 8 ล้านโดส และเป็นบูสเตอร์โดสอีก 66 ล้านโดส รวมวัคซีนปี 2565 คาดจะใช้ 86 ล้านโดส ส่วนกรณีนักเรียนอายุเกิน 18 ปี ตามสูตรฉีดทั่วไปเป็นซิโนแวคตามด้วยแอสตราเซเนกา แต่ในโรงเรียนนักเรียนฉีดไฟเซอร์กันหมด ก็จะอนุโลมให้ยืดหยุ่นฉีดไฟเซอร์ได้
เตรียมนำเข้ายา Molnupiravir
ขณะที่ นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยถึงยา Molnu piravir ที่รักษาโรคโควิด-19 ได้ผลดี เบื้องต้นจากการเจรจาก่อนหน้านี้ผู้ผลิตจะจัดยานี้สำหรับการรักษาผู้ป่วยจำนวน 2 แสนคนให้กับไทย ขณะนี้กรมการแพทย์อยู่ระหว่างร่างสัญญาซื้อขาย คาดจะแล้วเสร็จสัปดาห์นี้ นอกจากนี้ บริษัทจะขึ้นทะเบียนนำเข้ายาดังกล่าวกับ อย.ไทย อาจจะเป็นปลายเดือนนี้ หรือต้นเดือนหน้า คาดการณ์ว่ายา Molnupiravir น่าจะมาปลายเดือน พ.ย.หรือต้นเดือน ธ.ค.2564 ส่วนเรื่องราคายังไม่สามารถเปิดเผยได้เนื่องจากมีการเซ็นสัญญาไม่เปิดเผยข้อมูลกันเอาไว้ อย่างไรก็ตามสัญญานี้จะมีผลต่อเมื่อ อย.สหรัฐฯขึ้นทะเบียน หากไม่ขึ้นทะเบียนให้ใช้ฉุกเฉินก็ถือว่าสัญญานี้เป็นโมฆะ ส่วนการใช้ยานี้ ผู้เชี่ยวชาญจะหาข้อสรุปกัน เพราะผลการศึกษาของยานี้เพิ่งออกมา ต้องนำข้อมูลไปให้ผู้เชี่ยวชาญดู และทบทวนข้อมูลทั้งหมด โดยหลักการใช้ยาดังกล่าวจะใช้ในผู้ป่วยอาการน้อย อาการปานกลาง ผู้ป่วย 1 คน ใช้ยา 40 เม็ด นาน 5 วัน
เยอรมนีมอบวัคซีน-ยาโควิด
วันเดียวกัน ที่ทำเนียบรัฐบาล ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายเก-ออร์ค ชมิท เอกอัครราชทูตสหพันธ์ สาธารณรัฐเยอรมนีประจำประเทศไทย เข้าเยี่ยมคารวะ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯและ รมว.กลาโหม หลังทำพิธีรับมอบยารักษาโควิด-19 ยี่ห้อ Casirivimab/Imdevimab จำนวน 2,000 ยูนิต ที่รัฐบาลสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี บริจาคให้ไทย เพื่อนำไปใช้รักษาผู้ป่วยกลุ่มอาการน้อยถึงปานกลาง ป้องกันไม่ให้อาการทรุดหนักลง นอกจากนี้รัฐบาลเยอรมนีได้บริจาควัคซีนแอสตราเซเนกาให้ไทย 346,100 โดส อยู่ระหว่างเตรียมการขนส่งจะถึงไทยในช่วงกลางเดือน ต.ค.นี้ด้วย
อ้างโมเดอร์นาเลื่อนส่งแค่ 10 วัน
ส่วน นพ.เฉลิม หาญพาณิชย์ นายกสมาคมโรงพยาบาลเอกชน กล่าวถึงกรณีการส่งมอบวัคซีนโมเดอร์นาจากบริษัทซิลลิค ฟาร์มา ที่แจ้งว่าจะมาถึงในไตรมาส 4 และจะทยอยเข้ามารวม 2 ล้านโดส ทั้งนี้วัคซีนที่มีการสั่งซื้อและนำเข้ามานี้ ทาง บ.ซิลลิคฯ เลื่อนไปแค่ 10 กว่าวันเท่านั้น และยังอยู่ในกรอบเวลาเดิมคือไตรมาส 4 สำหรับคนที่มีคิวนัดฉีดวัคซีนเข็ม 3 ในระหว่างนี้ หากได้รับการนัดฉีดช่วงต้น ต.ค. สามารถรับวัคซีนได้ก่อน ไม่ต้องรอวัคซีนโมเดอร์นา เนื่องจากวัคซีนที่จองไว้สามารถเลื่อนไปฉีดในอีก 3 เดือนข้างหน้า ซึ่งสอดคล้องกับอายุของวัคซีนโมเดอร์นาที่มีอายุ 7 เดือน วัคซีนโมเดอร์นา เจเนอเรชัน 1 ที่ใช้กันอยู่นี้ มีประสิทธิภาพป้องกันเชื้อเดลตาได้ และปลายปีการผลิตวัคซีนในเจเนอเรชัน 2 ที่จะออกมาก็สามารถป้องกันเชื้อเบตาได้
หญิง 76 ปีดับหลังฉีดเข็ม 2
นอกจากนี้ วันเดียวกัน ที่วัดธรรมเกษตร หมู่ที่ 7 ต.บ้านกร่าง อ.เมือง จ.พิษณุโลก ผู้สื่อข่าวได้รับการเปิดเผยจากนายเลิศ แสงอ่วม อายุ 73 ปี สามีนางเฮียง แสงอ่วม อายุ 76 ปี และนางกมลวรรณ แสงอ่วม อายุ 49 ปี บุตรสาว ระบุว่านางเฮียงไปฉีดวัคซีนแอสตราเซเนกา เข็มที่ 2 เมื่อวันที่ 15 ก.ย.ที่ผ่านมา ที่ อบต.บ้านกร่าง อ.เมืองพิษณุโลก วันรุ่งขึ้นก็มีอาการปวดหัว อาเจียน กินยาแก้ปวด อาการไม่ทุเลา รับประทานอาหารไม่ได้ ถ่ายไม่ออก พาไปรักษาทั้งที่ รพ.สต.บ้านกร่างและคลินิก จากนั้นวันที่ 29 ก.ย.อาการของนางเฮียงทรุดหนักพูดคุยแทบไม่ได้ ตัดสินใจนำตัวส่ง รพ.พุทธชินราช และ รพ.ห้ามเยี่ยม กระทั่งวันที่ 3 ต.ค. เวลา 10.30 น. ได้รับแจ้งจาก รพ.ว่านางเฮียงเสียชีวิตแล้วและเขียนระบุสาเหตุการเสียชีวิตในใบมรณบัตรว่า ติดเชื้อในกระแสเลือด พวกตนรู้สึกเสียใจและคาใจมาก เพราะก่อนที่จะฉีดวัคซีนเข็ม 2 นางเฮียงไม่มีอาการอะไร ปกติดีทุกอย่าง แม้ว่าจะมีโรคประจำตัวเบาหวาน และไขมันในเส้นเลือด แต่ทานยาสม่ำเสมอ และในวันที่ 4 ต.ค.ไปยื่นหนังสือขอรับการช่วยเหลือที่สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เขต 2 พิษณุโลก คาดว่าจะใช้เวลาประมาณ 1 สัปดาห์ถึงจะรู้ว่าได้รับการช่วยเหลือหรือไม่
ส.ส.ภท.ติดโควิดพร้อมหลาน
ขณะที่นายลออ มะลิสิน สาธารณสุขอำเภอ (สสอ.) ด่านขุนทด จ.นครราชสีมา เปิดเผยว่า สถาน การณ์โควิด-19 ใน อ.ด่านขุนทด เริ่มน่าเป็นห่วงเนื่องจากพบผู้ติดเชื้อรายใหม่ระหว่างวันที่ 24 ก.ย.- 4 ต.ค.64 พุ่งขึ้นถึง 112 คน จากการสอบสวนโรคพบว่า ส่วนใหญ่ติดมาจากการที่ไปร่วมงานศพที่วัดบ้านหินดาด หมู่ 1 ต.หินดาด อ.ด่านขุนทด ระหว่าง วันที่ 15-19 ก.ย.ที่ผ่านมา กลุ่มเสี่ยงสูงถึง 107 คน โดยในจำนวนผู้ติดเชื้อโควิดทั้ง 112 คนนี้ มีนายวิสิทธิ์ พิทยาภรณ์ ส.ส.นครราชสีมา เขต 13 พรรคภูมิใจไทย และหลาน รวมอยู่ด้วย ต่อมานายวิสิทธิ์ เปิดเผยกับผู้สื่อข่าวทางโทรศัพท์ว่าติดเชื้อโควิดจริง รู้ผลเมื่อเย็นวันที่ 24 ก.ย. กำลังนอนรักษาตัวที่ รพ.ด่านขุนทด และเชื้อลงปอด นอนรวมห้องเดียวกับหลาน โดยแพทย์ให้ยาฆ่าเชื้อ จนอาการเริ่มดีขึ้น ส่วนติดจากที่ไหนนั้น ไม่แน่ใจระหว่างงานศพกับรัฐสภา เพราะว่าไทม์ไลน์ของตนมีกิจกรรมหลายพื้นที่มาก และยืนยันไม่ได้ปกปิดข้อมูลใดๆ โดยพอรู้ว่า มี ส.ส.พรรคเดียวกันติดเชื้อโควิดในวันที่ 20 ก.ย. วันที่ 21 ไปตรวจ ผลเป็นลบ ตรวจซ้ำวันที่ 23 ผลก็เป็นลบ พอวันที่ 24 รู้สึกเจ็บคอ มีอาการไอ มีไข้รุมๆ จึงไปตรวจที่ รพ.เอกชน ในตัวเมืองนครราชสีมา ผลออกมาเป็นบวก
บูสต์เข็ม 3 ยังไม่รอด
ผู้สื่อข่าวรายงานอีกว่า นอกจากนี้ ยังมีผู้ติดเชื้ออีก 3 คน ได้แก่ นายทวัฒน์ชัย แสนประสิทธิ์ ประธานชมรมกำนันผู้ใหญ่บ้าน อ.ด่านขุนทด และกรรมการวัดบ้านไร่ ติดทั้งที่ฉีดวัคซีนซิโนแวค 2 เข็ม และบูสต์เข็ม 3 ด้วยแอสตราเซเนกาอีก 1 เข็ม เช่นเดียวกับ ร.ต.อ.สุธี ยั่งยืน รอง สว.สส.สภ.ด่านขุนทด ติดโควิดในห้วงเวลาเดียวกัน หลังออกตรวจหลายพื้นที่ แต่คาดว่าอาจมาจากงานเลี้ยงเกษียณอายุราชการของผู้ใหญ่รายหนึ่งจากต่างอำเภอ ส่วนอีกรายเป็นพิธีกร (ขอสงวนนาม) ที่ได้รับการติดต่อไปเป็นพิธีกรงานศพหลายแห่ง ไม่ทราบว่าติดจากงานไหน และไม่มีอาการใดๆ