“ตอนนั้นนึกว่าเป็นอาชญากรรมธรรมดา มีการพูดกันไปหลายเรื่อง บ้างก็ว่าปล้นปืนเอาปืนไปส่งอาเจะบ้าง พูดกันไปหลายๆเรื่อง แต่สรุป สุดท้ายพอลงมาทำงานจริงๆก็เริ่มศึกษามองเห็นปัญหา จนยอมรับกันว่าเรื่องแบ่งแยกดินแดนมีอยู่จริงๆ มาใหม่ๆ เหตุเกิดรายวันวันละ 20–30 เหตุและองค์กรที่อยู่เบื้องหลังเป็นองค์กรลับ การจัดตั้งของเขามีการปกปิดการทำงาน รู้กันเป็นส่วนๆ แยกกันชัดเจน ต่อมาเมื่อจับทางถูก เราจึงเน้นการปฏิบัติการเชิงรุก ทำลายจังหวะการก่อเหตุของเขา มีการปิดล้อม ตรวจค้นทุกที่ที่สงสัยเน้นในเรื่องสร้างความเข้มแข็งให้กับตำรวจ พาครูฝึกไปตระเวนฝึกให้กับตำรวจ หาเครื่องไม้เครื่องมือให้ใช้ในการที่จะทำให้ตัวเองปลอดภัย ถ้าตัวเองยังไม่ปลอดภัย แล้วจะไปดูแลชาวบ้านเขาได้อย่างไร”

คำพูด พล.ต.ท.รณศิลป์ ภู่สาระ ผบช.ภ.9 และรอง ผอ.กอ.รมน.ภ.4 ผู้ที่สมัครใจปฏิบัติงานในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ตั้งแต่ปี 2547 หลังเกิดเหตุโจรใต้บุกปล้นปืนค่ายทหารปิเหล็ง เมื่อวันที่ 4 ม.ค.2547

พล.ต.ท.รณศิลป์ ลงไปทำหน้าที่ในสนามรบที่แท้จริง เข้าไปสัมผัสชาวบ้าน สัมผัสสถานการณ์คลุกคลีลูกน้องในทุกๆที่ ทำให้มองเห็นภาพได้ชัดเจนว่าสาเหตุของปัญหาที่แท้จริงคืออะไร จะต้องมีการปรับและ พัฒนากันอย่างไร ทั้งในเรื่องกำลังพล วัสดุอุปกรณ์ เครื่องมือ เครื่องใช้ที่เหมาะสมกับพื้นที่และสถานการณ์

...

การจำกัดเสรีของฝ่ายตรงข้าม การดึงคนก่อเหตุออกจากเหตุการณ์ การไม่ให้มีการสร้างคนก่อเหตุใหม่เข้าสู่ขบวนการจะต้องทำอย่างไร ที่สำคัญสร้างความเข้มแข็งและความยั่งยืนให้กับองค์กรตำรวจ ทหาร ปกครอง

เหล่านี้คือโจทย์ที่ต้องมีการแก้ไข ปรับปรุง เพื่อให้การแก้ไขปัญหาในพื้นที่มีประสิทธิภาพ

จนได้รับการวางตัวจากรัฐบาลและ ผบ.ตร.ให้เป็น ผบช.ภ.9 ทำหน้าที่หัวหน้ากองกำลังตำรวจจังหวัดชายแดนภาคใต้ ทำงานร่วมกับทหาร ฝ่ายปกครองและประชาชน เป็นผู้นำคลี่คลายเหตุรุนแรง

พล.ต.ท.รณศิลป์ วางแผนทำงานเป็นขั้นเป็นตอน ปีแรกๆ เน้นในเรื่องการจำกัดเสรีของฝ่ายตรงข้าม ทำประกาศสืบจับติดตามสถานที่ เพราะคนร้ายอาศัยการก่อเหตุไม่มีใครรู้ แม้จะมีหมายจับแต่ไม่มีใครรู้ จำเป็นต้องติดป้ายประกาศสืบจับให้ชาวบ้านรับรู้ไม่ให้การช่วยเหลือหรือให้ที่พักพิง จนกลับมาก่อเหตุซ้ำได้ง่ายๆ

ประสิทธิภาพงานสอบสวนที่เดิมคดีที่พนักงานสอบสวนตามสถานีตำรวจต่างๆ ทำให้ไม่มีประสิทธิภาพมากจนเป็นเหตุให้อัยการสั่งไม่ฟ้อง ศาลพิพากษายกฟ้องเป็นจำนวนมาก เป็นการฟอกตัวให้กับกลุ่มคนร้ายและถูกตอบโต้กลับว่าเป็นการกลั่นแกล้ง พล.ต.ท.รณศิลป์แก้ไขโดยตั้งคณะพนักงานสอบสวนคดีความมั่นคงเป็นการเฉพาะ เสนอ ตร.ขออนุมัติเปิดตำแหน่งพนักงานสอบสวนคดีความมั่นคงมาทำหน้าที่โดยเฉพาะรวม 117 อัตรา

ทำให้การทำงานของพนักงานสอบสวนมีประสิทธิภาพมากขึ้น อัตราการฟ้องคดี อัตราคดีที่ศาลพิพากษาลงโทษ มีมากขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ และเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ

ปรับการทำงานเชิงรุกให้ออกปิดล้อมตรวจค้น จำกัดเสรีของฝ่ายตรงข้ามไม่ให้มีโอกาสออกมาก่อเหตุได้ง่ายๆ มีการเสริมการทำงานในเรื่องของทีมเทคนิค อุปกรณ์เครื่องมือเครื่องใช้ นำโดรนมาเสริมการทำงาน เสริมการฝึกทางยุทธวิธีและเพิ่มเครื่องมือพิเศษที่ทันสมัยให้กับทุกหน่วย โดยเฉพาะศูนย์พิสูจน์หลักฐาน 10 เข้ามาเก็บรวบรวมหลักฐานมาสนับสนุนการทำงานของฝ่ายสืบสวนสอบสวนได้อย่างมีประสิทธิภาพ

มีการ “ต่อตา” ให้ทีมทำงาน ติดตั้งกล้องวงจรปิดให้เต็มพื้นที่ในเส้นทางหลักเส้นทางรองนำไปสู่การจับกุมได้ในอีกหลายคดี การสืบสวนติดตามรถยนต์รถจักรยานยนต์หายได้คืนมาจำนวนมาก เพื่อป้องกันไม่ให้คนร้ายนำรถยนต์ รถจักรยานยนต์ไปใส่ระเบิดกลับมาทำร้ายเจ้าหน้าที่สร้างความเสียหายให้กับพี่น้องประชาชนได้

จากข่าวสารคนร้ายนำวัตถุระเบิด อุปกรณ์ประกอบระเบิด เมื่อก่อเหตุแล้วมักจะหลบหนีข้ามไปอยู่ประเทศมาเลเซีย จัดชุดตรวจการณ์ทางน้ำ เสริมอุปกรณ์เรือท้องแข็งตรวจ การณ์จนควบคุมพื้นที่ข้ามแดนทางน้ำได้

...

ผลการปรับเปลี่ยนรูปแบบการทำงานตั้งแต่ปี 2560 ต่อเนื่องถึงปัจจุบัน มีผลทำให้การเกิดเหตุความมั่นคงรวม 608 เหตุ เปรียบเทียบปี 2555-2559 เกิดเหตุความมั่นคง 2,270 เหตุ ลดลง 1,662 เหตุ คิดเป็นร้อยละ 73.21 ตำรวจเสียชีวิต 23 คน ลดลงจากปี 2555-2559 จำนวน 83 คน คิดเป็นร้อยละ 77.57

คดีศาลพิพากษาลงโทษเพิ่มขึ้น 22 คดี ยกฟ้องลดลง 115 คดี ตั้งแต่ปี 2560 ถึงปัจจุบัน ออกหมายจับได้แล้ว 1,212 หมาย จับกุมตัวได้ 1,067 คน ยึดอาวุธปืนได้ 144 กระบอก วิสามัญคนร้ายไปรวม 79 คน

กว่า 12 ปีที่อยู่ทำงานในพื้นที่ พล.ต.ท.รณศิลป์ ทุ่มเท เสียสละ มีการพัฒนาหน่วยอย่างต่อเนื่องเป็นระบบ พัฒนาคน พัฒนาอุปกรณ์เครื่องมือเครื่องใช้ ปรับเปลี่ยนวิธีคิดวิธีทำงานให้กับลูกน้อง

มีการศึกษาและปรับเปลี่ยนแนวทางให้ทันต่อการปรับเปลี่ยนของฝ่ายตรงข้ามที่เฝ้าติดตามการทำงานของฝ่ายเจ้าหน้าที่และพัฒนารูปแบบการกระทำความผิดตลอดเวลา

ที่สำคัญคือ พล.ต.ท.รณศิลป์ ไม่ได้เป็นเพียงผู้สั่งการเท่านั้น ยังได้ทำหน้าที่ผู้นำออกไปร่วมรบเคียงบ่าเคียงไหล่กับลูกน้อง เข้าถึงที่เกิดเหตุในทุกสถานการณ์ที่สำคัญๆ ไม่ว่าพื้นที่นั้นจะเป็นพื้นที่สีแดงหรือมีเหตุรุนแรงเพียงใดก็ตาม ทำให้ลูกน้องมีขวัญกำลังใจในการทำงานอยู่ในพื้นที่ชายแดนภาคใต้

พล.ต.ท.รณศิลป์ เป็นผู้ที่ทุกหน่วยในพื้นที่ทั้งทหาร ตำรวจ พลเรือน ฝ่ายปกครอง ยอมรับและเป็นแบบอย่างให้ทุกฝ่ายในการทำงาน มีภาวะผู้นำสูงและเป็นผู้ที่เสียสละอย่างแท้จริง เป็น “ผู้ปิด ทองหลังพระ” ไม่ชอบออกสื่อ เหมาะสมอย่างยิ่งกับคำที่ว่า “วีรบุรุษปลายด้ามขวาน” ผู้พิทักษ์ปลายด้ามขวานให้ประเทศไทยอย่างแท้จริง

...

วันอำลาหน่วยของ พล.ต.ท.รณศิลป์ ถูกจัดขึ้นอย่างสมเกียรติด้วยลูกน้องที่รัก และศรัทธาร่วมกันส่งนายหลังต้องเกษียณราชการพ้นตำแหน่งที่ร่วมทุกข์ร่วมสุขกันมา ลูกน้องหลั่งน้ำตาด้วยความรัก ความอาลัยและความผูกพันต่อกันอย่างที่ไม่ค่อยมีใครทำได้มากนักในวงการตำรวจ

ที่สำคัญที่สุดในวันที่เกษียณอายุราชการ มีเพื่อนร่วมรุ่น นรต.36 และรุ่นน้องที่เคารพนับถือหลายที่มารับ พล.ต.ท.รณศิลป์ กลับบ้าน ตามสัญญาใจที่เคยให้ไว้ต่อกันว่า “เกษียณเมื่อใด พวกเราจะมารับเพื่อนกลับบ้าน” หนึ่งในเพื่อนที่มารับกลับบ้านคือ พล.ต.อ.สุวัฒน์ แจ้งยอดสุข ผบ.ตร. ซึ่งเป็นทั้งเพื่อนและนายที่วางตัวมาคลี่คลายเหตุรุนแรงภาคใต้

สิ่งที่ทุกคนเห็นและประทับใจที่สุดคือ ภาพสวมกอด จับมือกันแน่นระหว่างเพื่อนกับเพื่อน

ไม่มีคำว่ายศถาบรรดาศักดิ์มาขวางกั้น มีเพียงคำว่า “เพื่อน” เท่านั้น เป็นภาพที่ตำรวจในยุคหลังจะต้องจดจำไว้ เป็นภาพประทับใจ และเป็นภาพแห่งตำนานอีกบทให้กับ พล.ต.ท.รณศิลป์ ภู่สาระ หรือ “บิ๊กแหมว”

...ผู้พิทักษ์ปลายด้ามขวานและนักรบสีกากี.

ทีมข่าวอาชญากรรม