- ถึงเวลาหรือยัง ที่ไทยจะ "เปิดประเทศ" ต้อนรับนักท่องเที่ยว ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ
- นายแพทย์สุภัทร ฮาสุวรรณกิจ ประธานชมรมแพทย์ชนบท ร่วมวิเคราะห์สัญญาณ ที่จะบ่งชี้ว่า ไทยพร้อมเปิดประเทศแล้ว
- โมเดล ภูเก็ต แซนด์บ็อกซ์ ความจำเป็นของวัคซีนเข็ม 3 เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันเชื้อ "เดลตา"
จากสถานการณ์โรคโควิดใน “ไทย” ที่ดูเหมือนว่า ตัวเลขผู้ป่วยจะลดลงอย่างต่อเนื่อง แต่ก็ยังอยู่ในหลักหมื่นต้นๆ ต่อวัน ซึ่งเป็นสถานการณ์ที่ยังวางใจไม่ได้ ในขณะที่จังหวัดต่างๆ ก็ระดมฉีดวัคซีนให้กับประชากรในจังหวัด เพื่อเป็นเกราะป้องกัน หากต้อง “เปิดประเทศ” ซึ่งตอนนี้มีเพียง 11 จังหวัด จาก 76 จังหวัดเท่านั้น ที่ฉีดวัคซีนเกิน 50% ของจำนวนประชากร ได้แก่ กรุงเทพฯ, ปทุมธานี, สมุทรสาคร, สมุทรปราการ, พระนครศรีอยุธยา, ฉะเชิงเทรา, ชลบุรี, นครนายก, พังงา, ภูเก็ต และระนอง
ซึ่งแน่นอนว่า หลายคนคงมีคำถามว่า แล้ว “ไทย” จะเปิดประเทศ ต้อนรับนักท่องเที่ยวได้ในเวลาอันใกล้นี้จริงหรือ? ถ้าเปิดได้จริง เราจะต้องเผชิญกับอะไรบ้าง? ระบบสาธารณสุขของไทย พร้อมรับมือกับเรื่องนี้อย่างไร
จากการพูดคุยกับ นายแพทย์สุภัทร ฮาสุวรรณกิจ ผอ.โรงพยาบาลจะนะ จ.สงขลา ในฐานะ ประธานชมรมแพทย์ชนบท ซึ่งประเมินสถานการณ์จากการคลายล็อก ผ่อนคลายมาตรการต่างๆ ของ ศบค. ตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2564 ที่ผ่านมา แล้วตัวเลขผู้ติดเชื้อลดลง โดย นายแพทย์สุภัทร มองว่า ถ้าดูตัวเลขผู้ติดเชื้อจากที่ ศบค.รายงาน ต้องดู 2 ส่วน คือ ตัวเลขตรวจเชื้อยืนยันด้วยวิธี RT-PCR กับ ตัวเลขตรวจเชื้อจาก ATK โดยต้องเอา 2 ตัวเลขมารวมกัน จะเป็นตัวเลขที่แท้จริง แต่ทว่ายังมีตัวเลขจากการตรวจ ATK ซึ่งส่วนใหญ่ไม่ได้รายงานเข้ามา ทำให้ไม่มีใครรู้ตัวเลขผู้ป่วยที่แท้จริง
...
ขณะที่ตัวเลขผู้ป่วยที่ลดลงนั้น อัตราการลดลงยังไม่ถึงขั้นไว้วางใจได้ จากลักษณะการตรวจที่เปลี่ยนไป ทำให้ยอดการรายงานมันไม่บ่งบอกความจริงต่อสาธารณะ ซึ่งต้องคิด 2 ชั้น นำตัวเลขมาบวกกัน ถึงจะเห็นความจริงของผู้ติดเชื้อในแต่ละวัน
ดังนั้น ถ้าหาก ศบค.จะเพิ่มมาตรการผ่อนคลายมากขึ้น ตัวเลขผู้ติดเชื้อต้องเพิ่มขึ้นแน่ๆ ฉะนั้นมันต้องสมดุลระหว่างการผ่อนคลายกับการควบคุมโรค เพราะต้องยอมรับว่า ถ้าล็อกแน่นหนาเกิน ก็ไม่ไหว
เมื่อถามว่า อะไรที่ทำให้ ศบค.มั่นใจกระทั่งออกมาตรการผ่อนคลายมากขึ้น นายแพทย์สุภัทร มองว่า เป็นเรื่องจำเป็นมากกว่า เพราะมีแรงกดดันอย่างมากจากผู้ประกอบการ บวกกับการที่รัฐบาลได้พูดไว้ว่า จะเปิดประเทศภายใน 120 วัน แพทเทิร์นการระบาดใน กทม.ก็ลดลงอย่างชัดเจน เพราะส่วนสำคัญใน กทม.ระบาดไปเยอะแล้วในช่วงก่อนหน้านี้ ทำให้ประชากรส่วนใหญ่มีภูมิตามธรรมชาติ บวกกับการระดมฉีดวัคซีนให้กับคนในพื้นที่ กทม. ก็ทำให้สถานการณ์มีแนวโน้มที่ดีขึ้น ต่างกับต่างจังหวัด โดยเฉพาะปริมณฑลและในภาคใต้ ที่ยังพบการแพร่ระบาดอย่างหนักอยู่
โมเดล ภูเก็ต แซนด์บ็อกซ์ กับอนาคตเปิดประเทศ
นายแพทย์สุภัทร วิเคราะห์จุดบอดของ โมเดล ภูเก็ต แซนด์บ็อกซ์ ที่กลับมาพบผู้ติดเชื้อมากขึ้น ว่า คงเป็นเรื่องของวัคซีน “ซิโนแวค” 2 เข็มที่ฉีดไป ไม่เพียงพอต่อการป้องกันการติดเชื้อสายพันธุ์ “เดลตา” ถ้าจะปกป้องภูเก็ต แซนด์บ็อกซ์ ต้องเร่งฉีดวัคซีนเข็ม 3 ที่เป็นของ “แอสตราเซเนกา” แต่วัคซีนแอสตราเซเนกาตอนนี้มีจำนวนไม่พอที่จะนำมาฉีดให้ได้ หลายคนก็ต้องเลื่อนการรับวัคซีนออกไป
แต่หาก “ไทย” ถึงเวลาที่ต้องเปิดประเทศจริงๆ เรื่องนี้ตนมองว่า ปัญหาไม่ได้อยู่ที่คนต่างชาติ เพราะการที่จะเดินทางเข้าประเทศไทยได้นั้น มีมาตราการที่เข้มงวดมาก ต้องตรวจโควิด ฉีดวัคซีน ตามกำหนดเวลา ซึ่งทำให้ต่างชาติที่เข้ามาค่อนข้างที่จะปลอดภัยสูง ดังนั้นการระบาดส่วนใหญ่จะเป็นการระบาดในประเทศมากกว่า
อย่างไรก็ตาม การเปิดประเทศ คง “จำเป็น” ต้องเปิด ทั้งการเปิดประเทศและเปิดเรียน ซึ่งการระบาดของโรคยังพอรับมือได้ แต่สิ่งสำคัญคือ ต้องทำให้ผู้สูงอายุ ผู้มีโรคประจำตัว ไม่ติดเชื้อ หรือต้องได้รับวัคซีน เพื่อจะได้ปลอดภัยจากการเปิดประเทศ อย่างน้อยก็จะไม่ป่วยหนัก และไม่เสียชีวิต
...
ตอนนี้การฉีดวัคซีนให้ครอบคลุมกลุ่มคนอายุ 50 ปีขึ้นไป ยังไม่มากพอ เราต้องระดมฉีดให้เต็มที่ จัดพื้นที่ฉีดให้ครอบคลุม ที่สำคัญวัคซีนต้องมีเพียงพอ ทั้งนี้ ไฟเซอร์ที่ได้มา ก็ต้องเน้นฉีดให้กับเด็ก ส่วนแอสตราเซเนกาเอง ก็ยังมีไม่มากพอ ดังนั้น “ซิโนแวค” ก็ยังจะคงเป็นวัคซีนหลักต่อไป
ความจำเป็นของ “วัคซีน” บูสเตอร์ เข็ม 3
ถามว่า “วัคซีน” เข็ม 3 จำเป็นแค่ไหน นายแพทย์สุภัทร บอกว่า จำเป็น โดยเฉพาะผู้ที่ได้รับวัคซีน “ซิโนแวค” ไปแล้ว 2 เข็ม เนื่องจากภูมิคุ้มกันน่าจะหมดแล้ว จากปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นในโรงพยาบาลยิ่งชัด บุคลากรทางการแพทย์ที่ได้รับวัคซีน “ซิโนแวค” 2 เข็มแล้ว พบการติดเชื้อ และยังมีคนที่ได้รับเข็ม 3 ติดเชื้อด้วย ซึ่งถ้าไม่ได้รับเข็ม 3 อาจจะแย่ หรืออาการหนักกว่านี้ ก็ถือว่าโชคดีที่แทบไม่มีอาการ
แต่ปัญหาตอนนี้ คือ วัคซีนเข็ม 3 จะไปแย่งวัคซีนเข็ม 1 เพราะก็มีอีกหลายคนที่ยังไม่ได้เริ่มฉีด ดังนั้นรัฐบาลต้องเปลี่ยนยุทธศาสตร์ ฉีดละวัน 1 ล้านโดสในทุกสัปดาห์ แต่จะฉีด “ซิโนแวค” 2 เข็ม ก็ไม่เวิร์ก พอเปลี่ยนมาเป็นวัคซีนสูตรไขว้ ซิโนแวค เข็มที่ 1 แอสตราเซเนกา เข็มที่ 2 คนก็เริ่มสนใจมากขึ้น แต่วัคซีนแอสตราเซเนกากลับไม่เพียงพอ
สัญญาณบ่งบอก ถึงเวลาเหมาะสม “เปิดประเทศ”
นายแพทย์สุภัทร มองว่า เวลานั้นคนอายุ 50 ปีขึ้นไป และคนที่มีโรคประจำตัวควรได้รับการฉีดวัคซีนแล้วอย่างน้อย 90% ของทั้งประเทศ ทำให้โอกาสป่วยหนัก และเสียชีวิตน้อยลง เพราะในมุมมองทางการแพทย์จะซีเรียสเรื่องการป่วยหนักที่ต้องเข้าโรงพยาบาล นอนไอซียู และเสียชีวิต แต่ถ้าป่วยเล็กน้อย ถือเป็นเรื่องธรรมชาติ เพราะเหมือนการป่วยไข้หวัดทั่วไป ฉะนั้นถ้าจะลดจำนวนผู้ป่วยอาการหนัก และผู้เสียชีวิตได้ ต้องฉีดวัคซีนให้กลุ่มผู้สูงอายุเป็นหลักและครอบคลุม ซึ่งปัจจุบันยังไม่ครอบคลุมมากพอ
...
นอกจากนี้ หากได้เปิดประเทศจริงๆ สิ่งที่ต้องระวังคือ “ความไม่ตระหนักของผู้คน” เนื่องจากปัจจุบันเริ่มคลายล็อกเยอะแล้ว แทบจะกลับไปใช้ชีวิตได้ปกติ แต่ในต่างจังหวัด บางแห่ง การใส่หน้ากากอนามัยออกจากบ้านก็ยังไม่เข้มงวด ความระวังตัวของผู้คนลดลงอย่างชัดเจน แต่อีกมุม เหมือนคนก็เริ่มชินกับ “โควิด” คิดว่าติดแล้วก็รักษาหาย ความกลัวน้อยลง ซึ่งเป็นสิ่งที่สุดท้ายแล้ว เราต้องปรับตัว และรับมือกับโควิดให้ได้ เป็นยุทธศาสตร์ที่อย่างไรก็หนีไม่พ้น ทุกเศรษฐกิจก็ต้องขับเคลื่อนต่อไป ชีวิตผู้คน การศึกษา ต้องดำเนินต่อ
ซึ่งตนคิดว่า “คนไทย” ทำได้ เพราะปัจุบันต้องยอมรับว่าตัวเลขผู้ติดเชื้อลดลงอย่างชัดเจน อัตราการเสียชีวิตก็ลดลง ถือว่าดีมาก ซึ่งการที่มันลดลง ส่วนหนึ่งมาจากวัคซีน ถือเป็นสัญญาณที่ดี แม้วัคซีนจะครอบคลุมมากขึ้น แต่ก็ยังครอบคลุมไม่พอ รวมทั้งการทำความเข้าใจกับผู้คนยังน้อยเกินไป เนื่องจากยังมีคนกลัววัคซีนอยู่เยอะ ชาวบ้านที่กลัว ก็จะกลัวมาก เพราะเห็นข่าวเชิงลบ มีผู้เสียชีวิตหลังฉีดวัคซีน แต่ถ้าคำนวณตามอัตราเทียบการเสียชีวิตของผู้ฉีดวัคซีนทั้งหมด ถือว่าไม่เยอะเลย
...
ทั้งนี้ เชื่อว่าสิ่งที่หลายคนกังวลตอนนี้คือ ความไร้ประสิทธิภาพของรัฐบาล ในการจัดการภัยพิบัติ เหมือนหลายคนต้องดูแลตัวเอง อย่างน้ำท่วมโรงพยาบาล ก็ต้องดูแลตัวเอง ประชาชนช่วยกันเอง.