วันนี้คงไม่มีใครไม่รู้จักชื่อของ ฟาวิพิราเวียร์ (Favipiravir) ยาสำคัญอีกตัวหนึ่งที่มีบทบาทอย่างมากในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ไม่เพียงช่วยลดความรุนแรงของโรคในผู้ติดเชื้อระดับปานกลางจนถึงระดับรุนแรงได้เท่านั้น แต่ยังลดโอกาสการเสียชีวิต ช่วยต่อลมหายใจของผู้คนมามากมาย จากวันแรกที่ยาฟาวิพิราเวียร์ถูกพัฒนาขึ้น และใช้อย่างแพร่หลายมาจนถึงวันนี้ ฟาวิพิราเวียร์จึงเป็นมากกว่าผลผลิตจากความก้าวหน้าของวิทยาการทางการแพทย์ แต่คือผู้ช่วยสำคัญที่ช่วยต่อชีวิตให้กับผู้คน เปรียบเสมือนการเดินทางที่มีความหมายภายใต้สถานการณ์ที่มีชีวิตของเพื่อนมนุษย์เป็นเดิมพัน

เราทราบอะไรบ้างเกี่ยวกับยาฟาวิพิราเวียร์ (Favipiravir)

ความจริงแล้ว ยาฟาวิพิราเวียร์ (Favipiravir) เป็นชื่อสามัญของยากลุ่ม Avigan ซึ่งคิดค้นโดยบริษัท ฟูจิฟิล์ม โตยามะ เคมิคอล ประเทศญี่ปุ่น จำกัด (Fujifilm Toyama Chemical Co.,Ltd.) ซึ่งเป็นยาที่ได้รับการอนุมัติและขึ้นทะเบียนให้ใช้ในการรักษาโรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ในญี่ปุ่น โดยก่อนหน้าที่จะใช้เป็นยาต้านโควิด-19 อย่างในวันนี้ ยาตัวนี้เคยถูกนำมาใช้กับโรคติดต่อจากไวรัสอื่นๆ เนื่องจากมีฤทธิ์ในการยับยั้งการเพิ่มขึ้นของไวรัส RNA ที่หลากหลายได้ ทั้งไวรัสไข้หวัดใหญ่ ไวรัสชิคุนกุนยา จนมาถึงไวรัสโคโรนา 2019

ผลการวิจัยจำนวนมากในวารสารทางการแพทย์ยืนยันว่า ยาฟาวิพิราเวียร์ให้ผลต่อต้านไวรัสได้ดี เหตุนี้จึงได้รับการพัฒนาเพื่อใช้เป็นยาต้านโควิด-19 โดยจะออกฤทธิ์ใน 2 ลักษณะ คือ ยับยั้งการเพิ่มจำนวนของไวรัส SARS CoV2 ที่ก่อให้เกิดโควิด-19 รวมถึงการออกฤทธิ์ทำให้เชื้อกลายพันธุ์ ข้อมูลจากนิตยสารทางการแพทย์ @Rama คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวถึงการออกฤทธิ์ของยาฟาวิพิราเวียร์ไว้อย่างสนใจว่า ยาจะออกฤทธิ์โดยเข้าไปยับยั้งเอนไซม์ RNA-dependent RNA polymerase, RdRP อันเป็นเอนไซม์ที่มีในไวรัสเท่านั้น และเมื่อยาเข้าสู่ร่างกายจะถูกเปลี่ยนเป็นสาร Active Form = favipiravir – ribofurannosyl-5’-triphosphate (RTP) ซึ่งจะทำให้ไวรัสกลายพันธุ์ ส่งผลให้ภูมิต้านทานในร่างกายมนุษย์สามารถเข้าไปกำจัดไวรัสจนหมดได้ หรืออาจจะเหลือในปริมาณน้อยจนไม่สามารถก่อโรคในร่างกายได้อีกนั่นเอง ฟาวิพิราเวียร์จึงได้กลายมาเป็นรายการยาหลักเพื่อรักษาโควิด-19

การเดินทางของฟาวิพิราเวียร์เพื่อคนไทย

ยาฟาวิพิราเวียร์ อยู่ภายใต้การกำกับของรัฐบาลญี่ปุ่น โดยประเทศที่สามารถนำไปใช้งานได้จะต้องเกิดจากความร่วมมือกันระหว่างรัฐ ในส่วนของประเทศไทยนั้น มีองค์การเภสัชกรรม (อภ.) เป็นผู้ดำเนินการนำเข้ายาฟาวิพิราเวียร์ ทั้งจาก บริษัท ฟูจิฟิล์ม โตยามะ เคมิคอล ประเทศญี่ปุ่น (Fujifilm Toyama Chemical Co.,Ltd.) และบริษัท เจ้อเจียง ไฮซัน ฟาร์มาซูติคัล ประเทศจีน (Zhejiang Hisun Pharmaceutical Co.,Ltd.) เพื่อกระจายแก่โรงพยาบาล และหน่วยงานทางการแพทย์ต่างๆ สำหรับใช้ในการรักษาผู้ป่วยติดเชื้อมาอย่างต่อเนื่อง จนปัจจุบันองค์การเภสัชกรรม (อภ.) ได้สิทธิบัตรในการวิจัยพัฒนา และผลิตเองได้ กระทั่งขึ้นทะเบียนกับองค์การอาหารและยา (อย.) เมื่อเดือนกรกฎาคม 2564 ที่ผ่านมา ภายใต้ชื่อ ฟาเวียร์ (Favir) ถึงแม้จะสามารถผลิตยาฟาวิพิราเวียร์ได้เองในประเทศ ควบคู่กับการนำเข้าจากต่างประเทศ แต่การสำรองยาให้เพียงพอต่อความต้องการ และให้พร้อมรับกับสถานการณ์ที่คาดไม่ถึง ก็ยังมีความจำเป็นอยู่เสมอ

องค์การเภสัชกรรม (อภ.) เปิดเผยข้อมูลว่า ด้วยความที่ยาฟาวิพิราเวียร์ เป็นรายการยาหลักที่ใช้ในการรักษาโควิด-19 ที่มีประสิทธิภาพตามแนวทางการรักษาของประเทศ ความต้องการในการใช้ยานี้จึงมีสูงขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสถานการณ์การแพร่ระบาดที่ยังคงเกิดขึ้น องค์การเภสัชกรรม (อภ.) ประมาณการเอาไว้ว่าความจำเป็นในการใช้งานยาฟาวิพิราเวียร์มีสูงถึงวันละ 3 แสนเม็ด หรือประมาณ 9 ล้านเม็ดต่อเดือนทีเดียว ซึ่งนั่นหมายความว่าการสำรองยาฟาวิพิราเวียร์ในโรงพยาบาล รวมถึงหน่วยงานบริการสาธารณสุขต่างๆ เพื่อให้เพียงพอในทุกสถานการณ์ จึงยังเป็นเรื่องสำคัญอย่างมาก เพราะยาแม้เพียงหนึ่งเม็ด ก็มีคุณค่าต่อการต่อลมหายใจของใครสักคนให้ยืนยาวออกไปได้

วันนี้นอกจากหน่วยภาครัฐที่ทำหน้าที่อย่างเต็มกำลัง เพื่อพาเราข้ามผ่านวิกฤติครั้งนี้ไปด้วยกันแล้ว ภาคเอกชนเองก็เข้ามามีบทบาทอย่างมากเพื่อหนุนการทำงานของภาครัฐในหลากหลายด้านเช่นกัน กลุ่ม ปตท. โดยบริษัท อินโนบิก (เอเซีย) จำกัด ซึ่งบริษัทลูกที่ขับเคลื่อนธุรกิจใหม่ด้าน Life Science ตามวิสัยทัศน์ Powering Life with Future Energy and Beyond ของ ปตท. ได้เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของการส่งพลังหนุน โดยจัดหาและส่งมอบยาฟาวิพิราเวียร์ (Favipiravir) จำนวน 1,240,000 เม็ด ให้แก่สภากาชาดไทย ด้วยเล็งเห็นความสำคัญของยาฟาวิพิราเวียร์ในฐานะตัวช่วยสำคัญเพื่อยับยั้งอัตราการเสียชีวิตของผู้ป่วยในประเทศ พร้อมกันนี้ยังได้ส่งมอบยาเรมเดซิเวียร์ (Remdesivir) ลอตที่สอง อีกจำนวน 10,000 ขวด จากเดิมที่กลุ่มปตท. ได้มอบยาเรมเดซิเวียร์ลอตแรกให้แก่ กระทรวงสาธารณสุขแล้วจำนวน 2,000 ขวด ทั้งนี้เพื่อเพิ่มปริมาณการสำรองยาคงคลังในประเทศ ซึ่งปัจจุบันมีอยู่อย่างจำกัด ให้เพิ่มขึ้นอีกด้วย

ไม่ว่าวันนี้เราจะได้เห็นอะไรบ้างจากการเดินทางของยา โดยเฉพาะยาฟาวิพิราเวียร์ ในฐานะหนึ่งในรายการยาหลักในการรักษาโควิด-19 แต่เรื่องของยาก็เป็นมากกว่าผลผลิตจากความก้าวหน้าของวิทยาการทางการแพทย์เสมอ เพราะท้ายที่สุด ยาเกี่ยวข้องกับชีวิตของผู้คน เป็นตัวแทนของพลังเพื่อการต่อลมหายใจของหลายชีวิตให้ยืนยาว