การผ่อนคลายมาตรการคุมโควิด-19 ระลอกล่าสุด 27 ก.ย. ดูเหมือน ศบค.จะมีความระมัดระวังมากขึ้น ไม่เร่งผ่อนคลายตามเสียงเรียกร้องของเอกชน และ เลื่อนการเปิดพื้นที่ท่องเที่ยวอีก 10 จังหวัดรวมทั้งกรุงเทพฯจาก 1 ต.ค. ออกไปเป็น 1 พ.ย. ถึงแม้ไทยจะฉีดวัคซีนเข็มแรกไปแล้ว 50 ล้านโดส 44.79% ของประชากร 70 ล้านคน แต่การติดเชื้อรายวันยังเพิ่มขึ้นในระดับสูงเกินหมื่นคนทุกวัน โดยเฉพาะ กทม. ฉีดวัคซีนเข็มแรกไปแล้ว 98.9% เข็มสอง 46.9% ยังมีผู้ติดเชื้อเพิ่มวันละ 2 พันคน ถือว่าสูงมาก ทำไมวัคซีนที่ฉีดเพิ่มขึ้น ผู้ติดเชื้อจึงไม่ลดลง สัมพันธ์ตามจำนวนวัคซีนเหมือนในต่างประเทศ?

แผนเปิดประเทศไทยในเวลา 120 วัน ที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ประกาศเมื่อวันที่ 16 มิ.ย. จะเปิดทั้งประเทศ 14 ตุลาคม เป็นอันยกเลิกไปโดยปริยาย

ความเสี่ยงสำคัญที่ทำให้ นักท่องเที่ยวต่างชาติ นักลงทุนต่างชาติ ชะลอการเข้ามาประเทศไทย ที่ผมเห็นว่ามีนัยสำคัญอย่างมาก ก็คือเรื่อง “การฉีดวัคซีน” เช่น ภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์ ที่คาดว่า 3 เดือนจะมีนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามาถึง 1 แสนคน แต่มาจริงเพียง 3 หมื่นกว่าคน การติดเชื้อในภูเก็ตก็ยังสูงมาก นักท่องเที่ยวไทยเองก็ยังผวา พล.อ.ประยุทธ์ และ คุณอนุทิน ชาญวีรกูล รัฐมนตรีสาธารณสุข ต้องแก้ปัญหา “เรื่องวัคซีน” ให้ได้โดยเร็ว เพื่อดึงความเชื่อมั่นของคนไทยและต่างชาติกลับคืนมา

วันที่ 24 กันยายน “วันมหิดล” วันนั้นมีการ ฉีดวัคซีนทั่วประเทศสูงถึง 1.3-1.4 ล้านโดสในวันเดียว แสดงถึงศักยภาพการฉีดวัคซีนของระบบสาธารณสุขไทย แต่วันรุ่งขึ้น 25 ก.ย. กลับฉีดวัคซีนได้เพียง 112,215 โดสเท่านั้น ต่างกัน 10 กว่าเท่า เข็ม 1 ฉีดได้เพียง 40,659 โดส เข็ม 2 ฉีดได้ 67,821 โดส มันเกิดอะไรขึ้น นี่คือความล้มเหลวซ้ำซากของรัฐบาล ซึ่งสร้างความเสียหายต่อเศรษฐกิจของประเทศอย่างมหาศาล ไม่รู้ว่าตั้งใจหรือไม่ตั้งใจ แต่เห็นตัวเลขการฉีดวัคซีนแล้วมันยากที่จะทำใจยอมรับได้

...

ตุลาคมนี้ก็เช่นเดียวกัน นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค ออกมาคุยเกือบทุกวัน มีวัคซีนอยู่ในมือ 30 ล้านโดส ซิโนแวค 6 ล้านโดส แอสตราฯ 10 ล้านโดส ไฟเซอร์ 8 ล้านโดส ซิโนฟาร์ม 6 ล้านโดส เดือน พ.ย.-ธ.ค. มีวัคซีนอีกเดือนละ 23–24 ล้านโดส ในเมื่อมีวัคซีนมากมายขนาดนี้ ทำไมไม่เร่งฉีดวันละ 1 ล้านโดสเหมือน “วันมหิดล” เพื่อให้ คนไทย 70 ล้านคนได้รับวัคซีนเข็มแรกครบทุกคนในเดือนตุลาคมนี้ และ เข็ม 2 อีก 10 กว่าล้านโดส เอาวัคซีนไปเก็บกั๊กไว้ทำไม

การที่ อธิบดีกรมควบคุมโรค แถลงถึงปริมาณวัคซีนที่มีจำนวนมาก สามารถฉีดได้ถึงวันละ 8 แสน-1 ล้านโดส แต่กลับกระจายฉีดวันละแสนกว่าโดสเหมือนอย่างวันที่ 25 ก.ย. ถือว่ารัฐบาลทำให้เศรษฐกิจประเทศเสียหายโดยตั้งใจ มีวัคซีนแล้วไม่เร่งฉีดให้ประชาชน จนเกิดความเสียหายทางเศรษฐกิจ เข้าข่ายมาตรา 157 เลยทีเดียว

ข้อมูลล่าสุดจากผู้ผลิตวัคซีน ไฟเซอร์ และ โมเดอร์นา ทำให้เราพอรู้อนาคตแล้วว่า เราจะต้องอยู่กับไวรัสโควิด-19 จนถึงกลางปีหน้า จึงจะยุติการระบาด และกลายเป็นโรคประจำถิ่นเหมือนไข้หวัดใหญ่ แต่สิ่งสำคัญที่ นายสเตฟาน บันเซล ซีอีโอโมเดอร์นา และ นายอัลเบิร์ต เบอร์ลา ซีอีโอไฟเซอร์ พูดตรงกันก็คือ ทุกคนบนโลกจะต้องได้รับวัคซีน ในไม่ช้าจะมีวัคซีนให้ฉีดกับเด็กทารกด้วย

เมื่อโควิด-19 กลายเป็นโรคประจำถิ่น แต่ทุกคนยังต้องฉีดวัคซีนอยู่ดี จะฉีดวัคซีนเพื่อไม่ให้ป่วย หรือจะไม่ฉีดแล้วเสี่ยงป่วยไปรักษาที่โรงพยาบาล มีแค่สองทางเลือกเท่านั้น

เพื่อให้คนไทยสามารถกลับมาฟื้นฟูเศรษฐกิจได้เร็วขึ้น พล.อ.ประยุทธ์ นายอนุทิน ผู้รับผิดชอบวัคซีน ต้องเร่งนำวัคซีนที่มีอยู่ 78 ล้านโดสมาฉีดให้เร็วที่สุด ฉีดได้วันละ 1 ล้านโดสยิ่งดี สิ้นเดือนตุลาคมก็เปิดประเทศได้เลย จะเก็บวัคซีนไว้หาอะไรไม่ทราบ.

“ลม เปลี่ยนทิศ”