จากข้าว มันสำปะหลัง ยางพารา ไปจนถึงพืช ผัก ผลไม้ และสมุนไพรหลากหลายชนิด เหล่านี้ล้วนเป็นหนึ่งในกลุ่มพืชผลทางการเกษตรหลักของไทย ที่เป็นรากฐานสำคัญต่อเศรษฐกิจของประเทศมายาวนาน ทั้งที่เป็นผลผลิตทางการเกษตร ไปจนถึงผลิตแปรรูปต่างๆ ซึ่งหากได้รับการสนับสนุนอย่างมีทิศทางจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมากขึ้น ความหวังที่ผู้ประกอบการไทยจะสามารถก้าวขึ้นไปเติบในตลาดโลกได้อย่างยั่งยืน ก็ย่อมเกิดขึ้น อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ ‘กีรติ รัชโน’ กล่าวว่าภารกิจสำคัญของกรมฯ เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้โดยตรง โดยหนึ่งในแนวทางที่ดำเนินอยู่อย่างเป็นรูปธรรมคือ การผลักดันเรื่องการนำนวัตกรรม วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เข้ามาผสานกับผลิตผลทางการเกษตร เพื่อให้เกิดผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ที่โดดเด่นและตอบโจทย์ตลาดโลกมากขึ้น อันเป็นเหตุผลที่นำไปสู่การจัดกิจกรรม ‘Agri - Tech Innovation Connection 2021’ ขึ้นเป็นปีที่ 2 เพื่อให้ภาคการเกษตรได้พบกับภาคนวัตกรรม ก่อนจับมือกันเดินหน้าต่อไปเพื่อสร้างความสำเร็จบนเวทีโลก

‘Agri-Tech Innovation Connection 2021’ เพื่อก้าวที่มั่นคง

อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ เปิดเผยว่า กรมฯ ได้สนับสนุนภาคการเกษตร ด้วยการผลักดันให้เกิดการเพิ่มมูลค่าผลผลิตทางการเกษตร ผ่านนโยบายและมาตรการต่างๆ มาอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้เพื่อให้สินค้าเกษตรกลายเป็นสินค้าที่มีมูลค่าเพิ่ม และมีศักยภาพในการแข่งขันทางการค้าสูงขึ้น โดยส่วนหนึ่งได้เข้ามาสนับสนุนผู้ประกอบการสินค้าเกษตรแปรรูปให้สามารถพัฒนาก้าวสู่การเป็นสินค้าเกษตรนวัตกรรม ด้วยการนำผู้ประกอบการสินค้าเกษตรมาพบกับนักวิจัย เพื่อให้เกิดการระดมความคิดจากนักวิจัย และสร้างโอกาสใหม่ๆ ร่วมกัน

“กิจกรรม Agri-Tech Innovation Connection 2021 ของกรมการค้าต่างประเทศ เป็นการดำเนินการภายใต้ยุทธศาสตร์ ‘เกษตรผลิต พาณิชย์ตลาด’ โดยใช้กลยุทธ์ ‘ตลาดนำการผลิต’ ของท่านจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ โดยการมุ่งเน้นในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ ยกระดับสินค้าไทย โดยเฉพาะสินค้าเกษตรให้เป็นสินค้าที่มีคุณภาพดีมีมาตรฐานสากล ตรงตามความต้องการของตลาดและผู้บริโภค

นอกจากนี้ยังเป็นหนึ่งในกลยุทธ์ที่สำคัญในการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ข้าวไทย ปี 2563-2567 ด้านผลิตภัณฑ์แปรรูปและนวัตกรรมจากข้าว เพื่อส่งเสริมการพัฒนาความร่วมมือระหว่างนักวิจัย และผู้ประกอบการ เพื่อให้การพัฒนาผลิตภัณฑ์แปรรูปและนวัตกรรมจากข้าวตรงตามความต้องการของตลาด และตามยุทธศาสตร์มันสำปะหลังและผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง ปี 2564-2567 ด้านการตลาดต่างประเทศ เพื่อส่งเสริมการตลาดสินค้าแปรรูปและนวัตกรรมมันสำปะหลังจากหิ้งสู่ห้าง โดยการเชื่อมโยงระหว่างนักวิจัยและผู้ประกอบการ เพื่อพัฒนาต่อยอดสินค้าแปรรูปและนวัตกรรมจากมันสำปะหลังให้เกิดมูลค่าเพิ่มอย่างเป็นรูปธรรม”

เกิดอะไรขึ้นกับ ‘Agri-Tech Innovation Connection 2021’

ความสำเร็จของการจัดงานในปีที่ผ่านมา ได้นำมาสู่การจัด ‘Agri-Tech Innovation Connection 2021’ ขึ้นเป็นปีที่ 2 โดยจัดให้กิจกรรมเจรจาจับคู่ธุรกิจงานวิจัยสินค้าเกษตรนวัตกรรม ในโครงการฯ ซึ่งอธิบดีกรมการค้าต่างประเทศกล่าวว่า ความร่วมมือกันของหลายหน่วยงานเพื่อการจัดงานในครั้งนี้ ก็ด้วยมีจุดมุ่งหมายเดียวกัน นั่นคือ การร่วมกันผลักดันให้สินค้าเกษตรไทยให้กลายเป็นสินค้าเกษตรนวัตกรรมที่สามารถสร้างมูลค่าเชิงพาณิชย์ และพร้อมที่จะเป็นอีกหนึ่งกำลังสำคัญในการส่งเสริมและส่งต่อสินค้าเกษตรนวัตกรรมไทยสู่ตลาดการค้าสากลได้อย่างยั่งยืน

“Agri-Tech Innovation Connection 2021 ปีนี้ได้รับการตอบรับอย่างดีจากผู้ประกอบการสินค้าเกษตรนวัตกรรมจำนวนมาก นับเป็นสัญญาณที่ดีที่ผู้ประกอบการสินค้าเกษตรไทยจะมาร่วมกันยกระดับคุณภาพสินค้าด้วยนวัตกรรมเพิ่มมากขึ้น โดยกรมฯ ได้รับความร่วมมือและได้บูรณาการทำงานร่วมกับหน่วยงานพันธมิตรด้านวิจัย 3 หน่วยงาน ได้แก่ 1) สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม หรือ สกสว. 2) สำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร (องค์การมหาชน) หรือ สวก. และ 3) สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ หรือ NIA”

โดยการจัดกิจกรรม Agri-Tech Innovation Connection 2021 : นวัตกรรมสินค้าเกษตรไทยแห่งอนาคต ในครั้งนี้ จะจัดขึ้นในวันที่ 20 กันยายน 2564 โดยจัดกิจกรรมออนไลน์เต็มรูปแบบ และเปิดโอกาสให้ผู้สนใจสามารถติดตามรับชมรับฟังผ่านโปรแกรม ZOOM และ Facebook ของกรมการค้าต่างประเทศ ซึ่งกิจกรรมหลักภายในงานประกอบด้วย การลงนามบันทึกความเข้าใจ (Mou) ระหว่างกรมการค้าต่างประเทศกับ 2 หน่วยงาน ได้แก่ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) และ สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (สนช.) รวมถึงกิจกรรมเจรจาจับคู่ธุรกิจงานวิจัยสินค้าเกษตรนวัตกรรม โดยผู้ประกอบการสินค้าเกษตรที่เข้าร่วมกิจกรรมจะได้รับการจับคู่เจรจาพร้อมให้คำปรึกษาเชิงลึกระหว่างผู้ประกอบการและนักวิจัยเพื่อแลกเปลี่ยนความคิดและหาแนวทางสรรค์สร้างพัฒนาคุณภาพสินค้า เพิ่มศักยภาพ สร้างมูลค่าเพิ่มด้วยนวัตกรรม (Innovation Matching) และสร้างโอกาสให้กับสินค้าให้มีความโดดเด่นน่าสนใจด้วยนวัตกรรม ตลอดจนสามารถขอคำปรึกษา (Innovation Clinic) ในการขอรับทุนด้านการวิจัยผ่านทางคลินิก จากนักวิจัยและผู้เชี่ยวชาญทางด้านนวัตกรรมและเทคโนโลยี ของหน่วยงานนวัตกรรมที่เข้าร่วม เช่น NIA เป็นต้น

นอกจากนี้ยังมีการจัดสัมมนาให้แก่ผู้ประกอบการสินค้าเกษตรแปรรูปและสินค้าเกษตรนวัตกรรม โดยนำเสนอหัวข้อที่สามารถนำไปปรับใช้ในการประกอบธุรกิจ และพัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการฯ ให้มีความพร้อมต่อการปรับเปลี่ยนธุรกิจให้สอดคล้องกับการค้าของตลาดโลกและสภาวะปัจจุบันได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยเริ่มด้วยการให้คำแนะนำมาตรการส่งเสริมด้านการลงทุนวิจัยให้กับภาคเอกชน โดยผู้ทรงคุณวุฒิจาก สกสว. และการสัมมนาในหัวข้อ ‘พลิกโฉมสินค้าเกษตรไทยอย่างไร? ให้เพิ่มมูลค่าโดนใจตลาดการค้าสากลด้วยนวัตกรรม’ โดยผู้เชี่ยวชาญด้านการสร้างแบรนด์และการวางแผนกลยุทธ์การตลาด และหัวข้อ “พลิกวิกฤติเป็นโอกาส ช่วยผู้ประกอบการสินค้าเกษตรไทยให้อยู่ได้ ประเทศไทยอยู่รอด’ โดย คุณเปรมณัช สุวรรณานนท์ ดารา-นักแสดง หัวใจสีเขียวกับปลุกปั้น Green Tourism โครงการช่วยเหลือเกษตรกรและผู้ประกอบการสินค้าเกษตรภาคเหนือ ซึ่งจะมาร่วมบอกแนวทางการตั้งรับ ปรับตัว และแสวงหาโอกาสในช่วงเศรษฐกิจยุค New Normal

เชื่อแน่ว่า Agri-Tech Innovation Connection 2021 จะกลายเป็นเวทีสำคัญที่นำไปสู่การค้นพบนวัตกรรมสินค้าเกษตรไทยแห่งอนาคต อันจะนำไปสู่การขับเคลื่อนภาคการเกษตรไทยให้ก้าวต่อไปข้างหน้าได้อย่างมีทิศทางและเป็นรูปธรรม เพื่อการเติบโตที่ยั่งยืนขึ้นบนเวทีโลกด้วย