พญ.เปี่ยมลาภ แสงสายัณห์ หัวหน้ากลุ่มงานอายุรศาสตร์ปอด สถาบันโรคทรวงอก เปิดเผยว่า ภาวะ Long Covid หรืออาการหลงเหลือหลังติดเชื้อโควิด-19 เช่น ไม่สบายตัว ครั่นเนื้อครั่นตัว ไอ สับสน เครียด นอนไม่หลับ โดยอาจมีอาการต่อเนื่องอีก 1-2 เดือน บางคนอาจเป็นต่อเนื่องถึง 6 เดือน ซึ่งร่างกายจะค่อยๆกลับมาเป็นปกติ และจะไม่มีผลในระยะยาว อาการนี้สามารถ หายขาดได้ ส่วนมากจะเป็นในกลุ่มผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป เพราะผู้สูงอายุจะฟื้นตัวได้ช้า ซึ่งหากผู้ป่วยรายใดที่มีอาการเหนื่อยมากขึ้น มี ความเครียดที่แก้ไขไม่ได้ ควรไปพบแพทย์ สำหรับประเทศไทยนั้น จากการเก็บข้อมูลการระบาดปี 63 พบว่า ผู้ป่วยโควิดที่หายป่วยแล้วมีอาการ Long Covid มีประมาณร้อยละ 10-20 หลังจากนั้น 2-3 เดือน อาการก็จะหายไปเอง ขึ้นกับสภาพร่างกายของแต่ละบุคคล บางคนก็ใช้เวลา 6 เดือน ดังนั้น เมื่อหายใจโควิดแล้ว ควรค่อยๆออกกำลังกายเพื่อฟื้นฟูร่างกาย และหากิจกรรมอื่นๆทำเพื่อลดความเครียด สำหรับการป่วยในระลอก 3 นี้กรมการแพทย์ กำลังเก็บสถิติข้อมูลอาการหลังโควิดว่ามีจำนวนเท่าไร

พญ.เปี่ยมลาภกล่าวต่อว่า ผู้ป่วยโควิดที่มีอาการปอดอักเสบร่วมด้วย โดยกรณีที่ปอดอักเสบมากและมีการใช้ยากลุ่มสเตียรอยด์ ภายหลังจากที่ไม่พบเชื้อโควิดแล้ว แต่เกิดอาการปอดอักเสบซ้ำ กรณีนี้ไม่ใช่ภาวะของ Long Covid แต่เป็นปฏิกิริยาโต้ตอบของร่างกายจากอาการปอดอักเสบรุนแรง ทำให้เกิดปอดอักเสบขึ้นอีกซึ่งต้องมาพบแพทย์ ส่วนการฉีดวัคซีนจะช่วยลดอาการป่วยรุนแรง ลดปอดบวม ดังนั้น โอกาสการเกิด Long covid ก็น้อยลงเช่นกัน.