โครงการบ้านล้านหลัง เฟส 2 ของธนาคารอาคารสงเคราะห์แห่งประเทศไทย (ธอส.) ปล่อยกู้ดอกเบี้ยถูกให้ผู้มีรายได้น้อยได้ซื้อที่อยู่อาศัยราคาไม่เกิน 1.2 ล้านบาท ได้รับความนิยมอย่างมาก แค่ 3 วันแรกก็มีผู้ลงทะเบียน 3 หมื่นกว่าราย เงื่อนไขดี 4 ปีแรกคิดอัตราดอกเบี้ยคงที่ 1.99% ปีที่ 5–7 คิดอัตราดอกเบี้ย MRR–2% ถือเป็นหนึ่งในมาตรการช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อยในช่วงโควิด

มีอีกหนึ่งโครงการที่ช่วยให้ผู้มีรายได้น้อยและกลุ่มเปราะบางได้มีที่อยู่อาศัยพร้อมพื้นที่ทำกิน ซึ่งผมเคยเขียนถึงไปก่อนหน้านี้คือ “โครงการบ้านเคหะสุขประชา” การเคหะแห่งชาติ (กคช.) จัดทำ โครงการนำร่อง ไปแล้วที่ฉลองกรุง 302 ยูนิต และร่มเกล้า 270 ยูนิต ผมชอบที่สุดก็ตรงที่มีเงื่อนไขพิเศษถ้าผู้เช่าต้องการซื้อบ้านใหม่ในโครงการอื่นของการเคหะฯเป็นกรรมสิทธิ์ของตัวเอง ก็สามารถทำสัญญาซื้อโดยแปลงเงินค่าเช่าบ้านสุขประชาที่เคยจ่ายไปทั้งหมดให้เป็นเงินต้นของบ้านใหม่ที่จะซื้อได้

ทั้ง 2 โครงการนำร่องจับสลากสิทธิได้ผู้เช่าเต็มแล้ว การก่อสร้างตัวบ้านใกล้เสร็จสมบูรณ์ แต่ยังล่าช้าที่การก่อสร้างระบบสาธารณูปโภค เนื่องจากมีการปิดแคมป์คนงานช่วงโควิด

ล่าสุดที่ประชุม คณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (คนร.) วันที่ 13 ก.ย. ได้ ให้ความเห็นชอบในหลักการ โครงการบ้านเช่าสำหรับผู้มีรายได้น้อย “บ้านเคหะสุขประชา” ภายใต้แนวคิด “บ้านเคหะสุขประชา=บ้านพร้อมอาชีพ” ดำเนินโครงการตามแนวทางการร่วมทุนระหว่างรัฐและเอกชน

ตอนนี้การเคหะฯกำลังศึกษาและเตรียมเสนอบ้านเคหะสุขประชาอีก 13 โครงการ เพื่อให้สภาพัฒน์พิจารณาก่อนเสนอ ครม.ให้ความเห็นชอบ มีที่ เชียงใหม่ ปทุมธานี สมุทรปราการ อยุธยา จังหวัดละ 2 โครงการ และ ฉะเชิงเทรา นครปฐม ชลบุรี สระบุรี ระยอง จังหวัดละ 1 โครงการ

...

จุดแข็งอีกข้อของบ้านเคหะสุขประชาคือ จะไม่มีปัญหาบ้านทรุดตัว เพราะการเคหะฯได้ว่าจ้าง บริษัทจัดการทรัพย์สินและชุมชน จำกัด (CEMCO) บริษัทลูกของการเคหะฯ เข้าถมดินปรับสภาพไว้ก่อน รอให้ดินเซตตัวแล้วค่อยเริ่มก่อสร้าง เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาบ้านทรุดเหมือนบางโครงการในอดีตที่ปลูกบ้านไปถมดินไป โดยสภาพัฒน์ได้ให้ความเห็นชอบเพิ่มวงเงินดำเนินการ 821 ล้านบาทสำหรับการถมดินโครงการดังกล่าว

บ้านเคหะสุขประชาไม่เพียงแค่ช่วยผู้มีรายได้น้อยและกลุ่มเปราะบางได้มีที่อยู่อาศัย ทั้งยังเกิดประโยชน์ต่อการเคหะฯในการจัดการปัญหาขาดทุนของ CEMCO ด้วย

CEMCO มีทุนจดทะเบียน 20 ล้านบาท ตั้งมาเกือบ 30 ปี เรียกได้ว่าขาดทุนตลอดทาง เคยขาดทุนสะสมกว่า 10 ล้านบาท แต่พอการเคหะฯปรับแนวทางใหม่จ้าง CEMCO มาดำเนินงานมากขึ้น ทั้งงานถมดิน งานซ่อมบำรุง งานบริหารนิติบุคคล ก็ทำให้ CEMCO มีผลประกอบการดีขึ้น ปีที่แล้วเริ่มมีกำไร 3 ล้านบาท และปีนี้กำไรไม่น่าจะต่ำกว่า 30 ล้านบาท

อันที่จริงงานบริหารนิติบุคคลและงานซ่อมบำรุงเป็นงานหลักของ CEMCO อยู่แล้ว แต่ถูกผู้บริหารการเคหะฯในอดีตเล่นแร่แปรธาตุเอางานไปให้บริษัทเอกชนรายอื่นทำแทน กลายเป็นขุมทรัพย์ต่อท่อน้ำเลี้ยงไปถึงฝ่ายการเมืองฝังรากมายาวนาน

การเคหะฯกำลังเร่งปัดกวาดขยะใต้พรม สัญญาเช่าเหมาที่หมดอายุก็ไม่ต่อสัญญา หรือที่มีหนี้ค้างก็ขอคืนพื้นที่ เอามาบริหารเอง และให้ CEMCO รับบริหาร (ช่วงนี้การเคหะฯมีมาตรการช่วยเหลือช่วงโควิดอยู่พอดี ลดค่าเช่าเหลือ 999 บาทต่อเดือน กับลดค่าเช่า 50%ก็ยิ่งช่วยลดภาระแก่ผู้เช่า)

เมื่อ CEMCO มีงานมากขึ้น ผลประกอบการดีมีกำไร ก็ไม่เป็นภาระของการเคหะฯอีกต่อไป แถมสิ้นปีมีเงินปันผลให้ด้วย

ทั้งการเคหะฯและ CEMCO จะได้มีแรงกายแรงใจสร้างบ้านให้ผู้มีรายได้น้อยได้อยู่ดีมีสุขมากขึ้น.

ลมกรด