วิกฤติโควิด-19 เกษตรกรเดือดร้อนกันทั่วหน้า แต่วิสาหกิจชุมชนผู้ปลูกผักปลอดสารพิษ อ.ท่าตะเกียบ จ.ฉะเชิงเทรา แม้ในแง่ของยอดขายจะตกลงไปบ้าง แต่ยังสามารถพยุงตัวอยู่ได้อย่างสบายๆ เพราะสร้างความเข้มแข็งตั้งแต่ระดับครัวเรือน หมู่บ้าน จนถึงระดับอำเภอ ถือเป็นอีกภารกิจที่ประสบความสำเร็จของกรมการปกครอง

“เดิมทีพวกเราทำพืชไร่เชิงเดี่ยวปลูกอ้อย มันสำปะหลัง ต่อมาเริ่มมองว่าน่าจะปรับเปลี่ยนส่วนหนึ่งมาปลูกพืชที่สามารถสร้างรายได้รายวันหรือรายสัปดาห์ เพื่อเป็นเงินหมุนเวียน ปี 2543 จึงรวมกลุ่มกันปลูกพืชผักสวนครัวปลอดสารพิษ ต่อมาลองเอาผักที่ปลูกเข้าประกวดในระดับอำเภอ ได้รับรางวัลชนะเลิศ ทำให้ชื่อเสียงพืชผักของเราเริ่มเป็นที่รู้จัก และได้รับความไว้วางใจจากคนแถบนี้ รวมถึงพ่อค้าแม่ขายที่มารับไปขายต่อ ทำให้กลุ่มสามารถควบคุมกลไกราคาได้เอง กระทั่งปี 2558 จึงได้จดทะเบียนเป็นวิสาหกิจชุมชน”

นางบุญโฮม บุญสนิท ประธานวิสาหกิจชุมชนผู้ปลูกผักปลอดสารพิษอำเภอท่าตะเกียบ จ.ฉะเชิงเทรา เล่าให้ฟังถึงการรวมตัวของเพื่อนเกษตรกร 10 คน มาปลูกผักปลอดสารพิษ ก่อนจะมีสมาชิกเพิ่มเป็น 14 คน ในปัจจุบัน...แม้จะมีพื้นที่ปลูกผักรวมกันแค่ 10 กว่าไร่ แต่จากการขายผักสวนครัวมากว่า 20 ปี ทำให้รู้ว่าผักอะไรได้รับความนิยมในพื้นที่ไหน และผักตัวไหนราคาจะดีช่วงใด

...

กลุ่มจึงเน้นให้สมาชิกแต่ละรายปลูกพืชผักแบบสวนผสมรายละ 3-5 ชนิด เน้นที่ความถนัดของแต่ละคน โดยให้สมาชิกมีการจดบันทึกเพื่อให้รู้ว่าพืชผักพร้อมตัดขายตอนไหน

จากนั้นจะกำหนดวันรับซื้อ โดยพืชผักแต่ละชนิดจะตั้งราคาสูงกว่าราคาตลาด กก.ละ 2-5 บาท แล้วรวบรวมนำไปขายยังศาลากลางจังหวัดฉะเชิงเทราในวันอังคาร ศุกร์ อาทิตย์ และขายบริเวณโรงพยาบาลท่าตะเกียบในวันพุธ รวมถึงขายบริเวณที่ทำการวิสาหกิจชุมชนฯ

ด้วยความที่เน้นของสด ใหม่ สะอาด ปลอดสารพิษ แม้จะราคาสูงกว่าพืชผักทั่วไปที่ขายกันในท้องตลาด รวมถึงอยู่ในสถานการณ์วิกฤติโควิด-19 แต่ยังได้รับการตอบรับที่ดีจากคนในพื้นที่ รวมถึงพ่อค้าแม่ขายที่ซื้อในราคาส่งแล้วนำไปขายต่อ ส่งผลให้สมาชิกมีรายได้เดือนละไม่ต่ำกว่า 10,000 บาท

นางบุญโฮมบอกถึงเบื้องหลังความสำเร็จของกลุ่มน่าจะมาจากความมุ่งมั่นของสมาชิกและการมีกฎระเบียบที่ชัดเจน เช่น มีการระดมทุนจากสมาชิกทุกปีปีละ 1,000 บาทต่อราย จนตอนนี้มีเงินกองทุน 42,000 บาท และนำเงินส่วนนี้มาเป็นทุนหมุนเวียนให้สมาชิกกู้สำหรับทำเกษตรในแปลงของตัวเอง โดยคิดดอกเบี้ยร้อยละ 1 บาทต่อเดือน ทำให้สมาชิกไม่ต้องไปกู้เงินนอกระบบ

นอกจากนั้น กลุ่มยังมีความโปร่งใสในเรื่องของการเงินและบัญชี เช่น มีการปันผลให้สมาชิกทุกปีปีละ 30% มีทุนสวัสดิการให้สมาชิกและครอบครัว 10% เจียดเงินสมทบกองทุนอีก 10% ที่สำคัญยังจัดตั้งกองทุนสาธารณประโยชน์อีก 10% โดยขณะนี้เงินกองทุนนี้ก็ถูกนำมาใช้ในการช่วยเหลือผู้ป่วย บุคลากรทางการแพทย์ และผู้กักตัวในภาวะวิกฤติโควิด-19

รวมทั้งการนำผลผลิตส่วนหนึ่งหลังจากรวบรวม ณ ที่ทำการวิสาหกิจ ไปบริจาคให้กับอำเภอและโรงพยาบาลสนามที่ใช้พื้นที่ของโรงเรียนและวัด โดยอำเภอจะรวบรวมต่อแล้วนำส่งต่อให้กับผู้ใหญ่บ้าน เพื่อนำไปแจกจ่ายให้ลูกบ้านในแต่ละพื้นที่ โดยเฉพาะรายที่กักตัวไม่สามารถออกมาซื้อหาอาหารได้.

...

กรวัฒน์ วีนิล