อธิบดีกรมการแพทย์ เผยสถานการณ์การครองเตียง ในเขต กทม.-ปริมณฑล เริ่มคลายตัว เตรียมทยอยปิดศูนย์ นิมิบุตร-บุษราคัม หลังยอดผู้ป่วยโควิด เริ่มลดลง

วันที่ 6 กันยายน 2564 ที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ แถลงถึงแนวทางการรักษาโรคโควิด-19 และการบริหารจัดการเตียง โดยระบุว่า ผู้ป่วยรายใหม่วันนี้ 14,000 ราย จากการตรวจด้วยวิธีอาร์ที-พีซีอาร์ (RT-PCR) หากรวมกับการตรวจด้วยแอนติเจน เทสต์ คิต (ATK) อีก 2,000 กว่าราย ซึ่งในบางส่วนก็อาจตรวจ RT-PCR ซึ่งเป็นตัวเลขคร่าวๆ

ส่วนสถานการณ์จัดการเตียงทั่วประเทศ พบว่ายังมีความตึงตัวอยู่ที่กรุงเทพฯ และจังหวัดโดยรอบ ภาคอีสานมีผู้ป่วยครองเตียงเพิ่มบางส่วน แต่จุดที่ยังมีปัญหาคือ กรุงเทพฯ และปริมณฑล จากกราฟคนไข้สีเขียว ที่มีอาการน้อยๆ จะอยู่ที่ประมาณ 75% คนไข้สีเหลือง 20% และคนไข้ที่ต้องใช้เครื่องช่วยหายใจ ประมาณ 3% ซึ่งตัวเลขจะอยู่ประมาณนี้ แม้จะมีสายพันธุ์เดลตาเข้ามา รวมคนไข้ที่ครองเตียงอยู่ทั้งหมดตอนนี้ ประมาณ 4.3 หมื่นกว่าราย ทั้งนี้ ผู้ป่วยที่ต้องใส่ท่อช่วยหายใจ และเสียชีวิต ในกรุงเทพฯ และปริมณฑล มีแนวโน้มลดลง จากเดิมที่ระบาดมากๆ ที่มีผู้ป่วยใหม่ 20,000 ราย พบผู้ป่วยเสียชีวิตอยู่ในกรุงเทพฯ และปริมณฑลเกินครึ่ง แต่ตอนนี้น้อยกว่าครึ่งแล้ว อย่างวันนี้เป็น 1 ใน 6 หรือ 7 ยอดรวมของประเทศ

ส่วนผู้ป่วยนอกโรงพยาบาล พบเป็นผู้ป่วยแยกกักที่บ้าน (Home Isolation) ขณะนี้ยอดสะสมกว่า 90,000 ราย หายแล้ว 40,000 ราย และยังอยู่ในระบบ 50,000 ราย โดยผู้ป่วยแยกกักที่บ้าน จากเดิมเคยสูงถึงหลักหลายพัน แต่วันนี้เหลือ 387 ราย ซึ่งช่วงหลังๆ จะไม่เกิน 500 ราย ต้องย้ำว่า โดยผู้ป่วยที่แยกกักที่บ้าน และต้องส่งต่อไปที่ รพ. มีประมาณ 7-8% แต่จะพบมากในช่วงหลังเนื่องจากผู้ติดเชื้อบางรายที่เมื่ออยู่ในมาตรการแยกกักที่บ้านแล้ว มีอาการแย่ลง แต่ไม่อยากไปโรงพยาบาล จะบอกว่า เป็นความสำเร็จของการทำ Home Isolation ก็ได้ แต่ขอย้ำว่าหากผู้ป่วยอาการแย่ลง อยากให้ฟังแพทย์ หรือพยาบาลที่เทเล เมดิคอล ไปคุยวันละ 2 ครั้ง ถ้าแนะนำให้ไปโรงพยาบาล โดยเฉพาะผู้ป่วยที่ออกซิเจนในเลือดลด ตอนนี้เตียงสีเหลืองในโรงพยาบาล หรือ Hospitel ว่าง ก็ขอย้ำอีกครั้งว่า ถ้าเป็นผู้ป่วยสีเหลือง ขอให้กลับเข้าไปรักษาในโรงพยาบาล หรือ Hospitel

...

นพ.สมศักดิ์ กล่าวว่า สำหรับศูนย์พักคอยในชุมชน (Community Isolation) เปิดดำเนินการ 60 แห่ง ประมาณ 7,400 เตียง เตียงว่างมากกว่าครองเตียง โดยว่างเกือบ 6,000 เตียง มีการครองเตียง 1,500 เตียง ผู้ป่วยรายใหม่เฉลี่ยวันละ 100 ราย จะเห็นได้ว่ามาตรการศูนย์แยกคอยเป็นอีกส่วนหนึ่งที่จะบรรเทาความแออัดของเตียง ทั้งนี้ ตั้งแต่ดำเนินการมา สะสมเกือบ 1.6 หมื่นเตียง ยังไม่มีผู้ป่วยเสียชีวิตในศูนย์พักคอยในชุมชนเลย ซึ่งต้องขอบคุณทุกภาคส่วน โดยเฉพาะกรุงเทพฯ ภาคประชาสังคม รพ.ของรัฐ รพ.ทุกสังกัด รพ.เอกชน ภาคประชาชน เป็นต้น

ขณะที่ ศูนย์พักคอยที่กรุงเทพมหานคร (กทม.) ยกระดับขึ้นมาเหมือนกับ รพ.สนาม ประจำกลุ่มเขต หรือ CI Plus อีก 8 แห่ง เพื่อดูแลผู้ป่วยกลุ่มสีเหลืองได้ ซึ่งเตียงที่ว่าง มีมากกว่าผู้ป่วย ดังนั้น ยืนยันได้ว่าสถานการณ์ของกรุงเทพฯ และปริมณฑล ค่อนข้างดีขึ้นเมื่อเปรียบเทียบกับ 1 เดือนที่ผ่านมา


นพ.สมศักดิ์ กล่าวถึง อีกหนึ่งตัวชี้วัดคือ ที่ศูนย์แรกรับและส่งต่อ อาคารนิมิบุตร สธ. ซึ่งเปิดดำเนินการมาตั้งแต่วันที่ 30 เมษายน 2564 พบว่ากราฟขึ้นสูงในช่วงเดือนกรกฎาคม 2564 พอปลายสิงหาคม กราฟเริ่มลดลงแล้ว จนวานนี้ (5 ก.ย. 64) มีผู้เดินทางไปคัดกรองที่ศูนย์ฯ ประมาณ 30-40 ราย และมีการส่งต่อออกไป เหลือยอดคงค้างอยู่ที่ 9 ราย

ซึ่งเรามีการวางแผนเผื่อเอาไว้ว่า ศูนย์นิมิบุตร จะปิดตัวในวันที่ 30 กันยายนนี้ และย้ายการให้บริการไปที่ รพ.สนามที่ รพ.เลิดสิน ซึ่งรองรับผู้ป่วยกลุ่มเหลืองและแดง ประมาณ 200 เตียง บวกกับการเป็นศูนย์แรกรับและส่งต่อ เนื่องจากหากมีหลายที่ การบริหารจัดการจะค่อนข้างยาก นี่เป็นการเตรียมการว่าวันที่ 30 กันยายนนี้ รพ.เลิดสิน จะเปิดทำการแรกรับส่งต่อแทนที่นิมิบุตร ซึ่งทำการมาตั้งแต่ปลายเมษายน ก็ค่อนข้างตึงตัว จึงจะมีการเปลี่ยนกะ ให้ไปพักบ้าง


นพ.สมศักดิ์ กล่าวต่อไปว่า ถัดมาคือที่ รพ.บุษราคัม ซึ่งเคยขยายเตียงสูงสุด 3,000 กว่าเตียง ขณะนี้ปิดไปฮอลล์หนึ่ง เหลือ 2,200 เตียง โดยยังมีเตียงว่าง 1,376 เตียง มีผู้ป่วยครองเตียง 800 กว่าราย โดยสัญญากับอิมแพ็คเมืองทองธานี จะหมดสิ้นเดือนตุลาคม 2564 ทั้งนี้ เราจะมีการประเมินสถานการณ์ปลายเดือนกันยายนนี้อีกครั้ง เพื่อดูว่าหลังการคลายล็อกบางส่วน จำนวนผู้ป่วยกลับพุ่งขึ้นอีกหรือไม่ และจะมีการประเมินเป็นระยะ

แต่ในส่วนของ กทม. มีการพูดคุยกันทุกสัปดาห์ ร่วมกับ รพ.กรมการแพทย์ รพ.โรงเรียนแพทย์ รพ.เอกชน รพ.ทหาร และตำรวจ ร่วมกับภาคประชาสังคม เพื่อที่จะปรับเปลี่ยนสถานการณ์ให้เร็ว และมีการเตรียมการตลอดเวลา ทั้งนี้ยืนยันว่า ตอนนี้การบริหารจัดการเตียงรวมสีแดงแล้ว ค่อนข้างจะสบายขึ้น ผู้ป่วยที่ต้องการเข้า รพ. แม้แต่สีแดง ภายใน 24 ชั่วโมง ก็หาเตียงได้แล้ว

นพ.สมศักดิ์ กล่าวว่า สำหรับการเตรียมความพร้อม เรายังเตรียมความพร้อมขั้นสูงสุด โดยเฉพาะในกรุงเทพฯ และปริมณฑล และโดยเฉพาะผู้ป่วยสีเหลืองและสีแดง เพราะสีเขียว มาตรการแยกกักที่บ้าน (HI) และศูนย์พักคอยในชุมชน (CI) เป็นคำตอบได้แล้ว ดังนั้น ถ้ามีการระบาดรอบใหม่ เราจะเฝ้าดูประมาณสิ้นเดือนกันยายน ต่อ เดือนตุลาคมนี้ นอกจากนั้น ได้พูดคุยเตรียมการกับทุกภาคีเครือข่ายว่า เตียงสีเหลืองและแดง ใน รพ.ทุกสังกัด จะยังคงไว้ก่อน เพื่อเตรียมรับสถานการณ์ ถ้ามีการระบาดระลอกใหม่เกิดขึ้น.