ยอดติดเชื้อโควิด-19 ไทยยังไม่นิ่ง ล่าสุดดีดขึ้นไปกว่า 1.5 หมื่นคน ป่วยอาการหนักกว่า 4.7 พันคน ตายรายวันกว่า 250 ศพต่อเนื่อง กรมควบคุมโรคย้ำแม้ผ่อนคลายให้ทำบางกิจกรรมได้ แต่ยังต้องป้องกันตัวขั้นสูงสุดทุกที่ทุกเวลา เหตุฉีดวัคซีนไม่ว่าชนิดใดก็ยังติดเชื้อได้ ส่วน “ภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์” แม้พบติดเชื้อ 85 คน แต่ยังได้ไปต่อ ด้าน “หมอยง” ยอมรับฉีดวัคซีนเยอะไม่ช่วยทำให้เกิดภูมิคุ้มกันหมู่อย่างที่คาด อนาคตเด็กเกิดใหม่อาจติดเชื้อโดยธรรมชาติ

และยังจำเป็นต้องใช้วัคซีนเพื่อกระตุ้นภูมิคุ้มกันพื้นฐาน ลดป่วยรุนแรงหากติดเชื้อไปจนถึงติดซ้ำก็อาจไม่มีอาการสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา2019 หรือโรคโควิด-19 ในไทยส่อไม่นิ่งเมื่อกลับมาพบผู้ติดเชื้อพุ่งสูงขึ้น หลังทำท่าจะดีขึ้นเมื่อสัปดาห์ก่อน ขณะที่ผู้ป่วยเสียชีวิตรายวันยังยืนกว่า 250 ศพเหมือนเดิม

ติดเชื้อกลับมาพุ่ง-ตายไม่ลด

เมื่อเวลา 11.45 น. วันที่ 4 ก.ย. ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค. เปิดเผยข้อมูลการแพร่ระบาดในประเทศไทยว่า ผู้ติดเชื้อรายใหม่ 15,942 คน เป็นการติดเชื้อในประเทศ 15,659 คน ในจำนวนนี้มาจากระบบเฝ้าระวังและระบบบริการ 13,549 คน มาจากการค้นหาเชิงรุก 2,110 คน และมาจากเรือนจำ 277 คน นอกจากนี้มาจากต่างประเทศ 6 คน โดยมาจากกัมพูชาและมาเลเซียประเทศละ 3 คน หายป่วยเพิ่มขึ้น 20,351 คน เสียชีวิตเพิ่มขึ้น 257 คน เป็นชาย 135 หญิง 122 ในจำนวนผู้เสียชีวิต เป็นผู้มีอายุ 60 ปีขึ้นไป และมีโรคเรื้อรัง รวมกันถึงร้อยละ 89 โดยเป็นผู้เสียชีวิตที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป 181 คน มีโรคเรื้อรัง 50 คน

ป่วยหนักกว่า 4.7 พันคน

...

จากข้อมูลยังระบุว่า ยอดผู้ติดเชื้อสะสมยืนยันตั้งแต่ปี 2563 รวมทั้งสิ้น 1,265,082 คน หายป่วยสะสม 1,097,317 คน อยู่ระหว่างรักษา 155,317 คน อาการหนัก 4,741 คน ใส่ท่อช่วยหายใจ 1,004 คน และมียอดผู้เสียชีวิตสะสมตั้งแต่ปี 2563 รวม 12,631 คน ส่วนยอดผู้ได้รับวัคซีนของประเทศไทย ข้อมูลตั้งแต่วันที่ 28 ก.พ.-3 ก.ย.2564 มีจำนวนรวมทั้งสิ้น 35,218,164 โดส สำหรับ 10 อันดับแรกของผู้ติดเชื้อโควิดในประเทศรายใหม่ วันที่ 4 ก.ย.2564 คือ กทม. 3,835 คน สมุทรปราการ 1,570 คน ชลบุรี 955 คน สมุทรสาคร 895 คน ราชบุรี 502 คน นนทบุรี 468 คน ระยอง 446 คน นราธิวาส 341 คน นครปฐม 340 คน และนครราชสีมา 296 คน สำหรับสถานการณ์โลก ผู้ติดเชื้อสะสมทั่วโลก รวม 220,616,345 คน หายป่วยสะสม 197,109,770 คน เสียชีวิตสะสม 4,566,961 คน ไทยมียอดติดเชื้อสะสมอยู่อันดับที่ 29 ของโลก

ก.ย.เล็งฉีดไฟเซอร์ให้เด็ก

ส่วนที่รัฐสภา พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม กล่าวถึงการบริหารจัดการและการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 ว่า ได้ปรึกษากับหลายฝ่าย ทางคณะแพทย์และสาธารณสุข มีนโยบายว่าเราจะดูแลเด็กที่อายุต่ำกว่า 12 ปีได้บ้าง เราจะได้วัคซีนไฟเซอร์ในเดือน ก.ย.จะพิจารณาในส่วนนี้เพื่อนำไปฉีดให้กับเด็ก กำลังหารือกันอยู่น่าจะดีกับเด็กนักเรียน ส่วนกรณีญี่ปุ่นจะบริจาคให้ไทยอีก เพราะอยากจะช่วยเรา วันข้างหน้าเราจะได้ช่วยประเทศรอบบ้านเราด้วย

เน้นมาตรการป้องกันส่วนตัว

อีกด้านหนึ่งที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค แถลงข่าวสถานการณ์โรคโควิด-19 ว่าแนวโน้มอยู่ในช่วงผู้ติดเชื้อลดลง แต่ยังต้องระวังและติดตามสถานการณ์ควบคุมป้องกันโรคอย่างเคร่งครัด รวมทั้งขอความร่วมมือประชาชนอดทนใช้มาตรการป้องกันต่างๆที่มีคำแนะนำออกไป รวมถึงผู้อยู่ในเกณฑ์รับวัคซีนให้ไปรับตามกำหนด เพื่อควบคุมสถานการณ์ได้ดียิ่งขึ้น ช่วง 1 เดือนที่ผ่านมา จากที่มีผู้ติดเชื้อจำนวนมากเป็นสีแดง ก็เริ่มลดลง โดยแนวโน้มที่ดีในภาคเหนือและตะวันออกเฉียงเหนือ หลักๆยังอยู่ใน กทม. ปริมณฑล ภาคกลาง และบางจังหวัดของภาคใต้ แม้ภาพรวมจะดีขึ้นแต่การจัดระบบเฝ้าระวัง สอบสวนโรค ค้นหาผู้ป่วยยังเป็นมาตรการสำคัญ รวมถึงความร่วมมือของประชาชน แม้จังหวัดจะมีผู้ติดเชื้อน้อยก็ต้องระวังในการทำกิจกรรมเสี่ยงที่อาจติดเชื้อได้ รวมถึงคนในพื้นที่เสี่ยง ถ้าเข้าไปในพื้นที่ต้องมีการตรวจสอบและติดตามอย่างใกล้ชิด ยังต้องคงมาตรการเฝ้าระวัง ควบคุม มาตรการส่วนบุคคล โดยเฉพาะการป้องกันส่วนบุคคลสูงสุดทุกที่ทุกเวลา แม้มีมาตรการผ่อนคลาย เพื่อให้เศรษฐกิจขับเคลื่อนไปได้ เช่น เปิดร้านอาหาร แต่ขอให้เจ้าของร้าน ผู้ไปใช้บริการ แม้ยังไม่บังคับการตรวจ ATK และการฉีดวัคซีน แต่ขอความร่วมมือหากทำได้ จะได้ทำเป็นมาตรฐานการใช้ชีวิตต่อไป

ผู้สูงอายุฉีดร้อยละ 47.5

อธิบดีกรมควบคุมโรคกล่าวด้วยว่า ส่วนการฉีดวัคซีนฉีดสะสมแล้ว 35,218.164 โดส เป็นเข็ม 1 จำนวน 24,918,054 โดส คิดเป็นร้อยละ 34.6 เข็ม 2 จำนวน 9,698,842 โดส คิดเป็นร้อยละ 13.5 กลุ่มเป้าหมายที่ให้ความสำคัญในการฉีดวัคซีน คือผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป ฉีดแล้ว 5,184,819 คนหรือร้อยละ 47.5 จังหวัดที่ฉีดได้มากคือ กทม. ปทุมธานี สมุทรสาคร ฉะเชิงเทรา ชลบุรี สมุทรปราการ เกินร้อยละ 50 บางจังหวัดเกือบถึงร้อยละ 70 ขอให้พาผู้สูงอายุไปฉีดวัคซีน เพราะบางคนอาจไม่กล้าไปฉีด จากข่าวสารที่ทำให้เกิดการกลัววัคซีนด้อยค่าวัคซีน ตอนนี้ฉีดกว่า 35 ล้านโดส ยังไม่มีรายใดเสียชีวิตจากวัคซีนโดยตรง

...

วอนอย่าด้อยค่าซิโนแวค

นพ.โอภาสยังกล่าวถึงสถานทูตจีนออกแถลง การณ์ผ่านเฟซบุ๊ก กรณีวัคซีนซิโนแวค ยืนยันว่าช่วงที่ไทยต้องการวัคซีนมากๆ ช่วง ก.พ.-มี.ค. ที่มีการระบาดใน จ.สมุทรสาคร ขณะนั้นทั่วโลกมีความต้องการวัคซีนจำนวนมากเช่นกัน แต่ก็แบ่งมาช่วยเราควบคุมสถานการณ์การระบาดได้ ข้อมูลวิทยาศาสตร์ยืนยันประสิทธิภาพ ลดป่วยหนักและเสียชีวิต ช่วยชีวิตคนไทยได้จำนวนมาก เมื่อมีสายพันธุ์เดลตาเข้ามา วัคซีนทุกชนิดประสิทธิภาพลดลง แต่ไม่ได้แปลว่าไม่มีประสิทธิภาพ สธ.และเครือข่ายด้านการแพทย์และสาธารณสุขไทยหาวิธี อาศัยการวิจัย ข้อมูลวิทยาศาสตร์จากโรงเรียนแพทย์ นักวิทยาศาสตร์ นักวิจัย มาปรับสูตรวัคซีนไขว้ ทำให้ประสิทธิภาพวัคซีนมีมากขึ้น การฉีดเป็นไปได้ด้วยดีมากขึ้น ทั่วโลกยอมรับสูตรไขว้ หลายประเทศก็ทำ เช่น เยอรมนี สธ.และวงการแพทย์ไม่เคยหยุดนิ่ง หาทางแก้ไขปัญหาให้ประชาชน การส่งวัคซีนของจีนทุกครั้งได้รับความเห็นชอบจากรัฐบาลจีน รัฐบาลจีนให้ความสำคัญเรื่องคอร์รัปชันมาก เช่นเดียวกับไฟเซอร์ แอสตราเซเนกา หากมีเรื่องเงินทอนเขาคงไม่นิ่งเฉย ขอว่าอย่าด้อยค่าวัคซีนที่เรามี และยืนยันความโปร่งใสของ สธ.ในการจัดหาวัคซีนที่มีประสิทธิภาพ ความปลอดภัย ตามมาตรฐานสากล ขอคนไทยอย่าด้อยค่าวัคซีน จนหลายคนกลัวไม่ไปฉีด หลายคนต้องเสียชีวิตก่อนรับวัคซีน

...

ภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์ติด 85 คน

ขณะที่ นพ.โสภณ เอี่ยมศิริถาวร รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า ตัวอย่างพื้นที่ที่ฉีดวัคซีนสูงเทียบหลายจังหวัด คือภูเก็ต ซึ่งรับนักท่องเที่ยวเข้าโครงการภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์ มีนักท่องเที่ยวเข้ามาช่วง 2 เดือน 1 ก.ค.-31 ส.ค. จำนวน 27,216 ราย ใน 333 เที่ยวบิน ผลการตรวจหาเชื้อสะสม 27,130 คน พบติดเชื้อ 85 คน คิดเป็นร้อยละ 0.31 ส่วนใหญ่ร้อยละ 73.32 ไม่มีอาการ ร้อยละ 26 มีอาการน้อย คนกลุ่มนี้อยู่ในการควบคุมดูแล ไม่ก่อให้เกิดปัญหาในการแพร่เชื้อ รักษาหายแล้ว 20 คน

ฉีดทุกชนิดก็ยังติดเชื้อ

นพ.โสภณกล่าวอีกว่า คนที่มาจากต่างประเทศเข้าโครงการภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์ต้องรับการฉีดวัคซีนทุกคน ยกเว้นเด็กเล็กอายุตํ่ากว่า 18 ปี ที่มากับผู้ปกครอง ข้อมูลนักท่องเที่ยวใน 77 รายที่ติดเชื้อมีการฉีดวัคซีนทุกยี่ห้อ แยกเป็นอัตราการติดเชื้อตามชนิดวัคซีน โควิชิลด์ร้อยละ 12.90 แอสตราฯ ร้อยละ 1.10 ซิโนแวคร้อยละ 0.81 จอห์นสันแอนด์จอห์นสันร้อยละ 0.56 ซิโนฟาร์มร้อยละ 0.35 ไฟเซอร์ร้อยละ 0.25 และโมเดอร์นาร้อยละ 0.08 ข้อมูลนี้แสดงให้เห็นแม้ฉีดแล้วก็ยังติดได้ แต่ไม่ป่วยหนัก และไม่ก่อปัญหาแพร่เชื้อผู้อื่น ส่วนใหญ่ตรวจพบเชื้อตั้งแต่วันแรกที่มาถึง หรือช่วงวันที่ 5-7 ดังนั้น มาตรการภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์ที่กำหนดมีประสิทธิภาพดี ลดความเสี่ยง ส่งเสริมให้เกิดการฟื้นฟูเศรษฐกิจการท่องเที่ยวได้ เมื่อติดตามการใช้ทรัพยากรสาธารณสุขและการแพทย์ อยู่ในขีดความสามารถที่จะดูแลผู้ติดเชื้อได้อย่างไม่มีปัญหา มีการสร้าง รพ.สนาม ใช้ไปร้อยละ 71.20 ยังมีศักยภาพรองรับการป่วยและการติดเชื้อได้อีกร้อยละ 28.80 ยังสามารถรองรับนักท่องเที่ยวได้ เพราะไม่มีปัญหาต่อระบบบริการทางการแพทย์และสาธารณสุข

ย้ำซิโนแวค 2 เข็มกันตายได้

...

รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวด้วยว่าการที่ภูเก็ตสามารถดำเนินโครงการภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ เนื่องจากมีความพร้อมบริหารจัดการทุกด้าน โดยเฉพาะการให้ประชาชนในพื้นที่ฉีดวัคซีนในเปอร์เซ็นต์ที่สูง ครอบคลุมการฉีดเข็ม 1 มากถึงร้อยละ 86.11 โดยเฉพาะผู้สูงอายุฉีดสูงถึงร้อยละ 93.4 เข็ม 2 ฉีดไป 3 ใน 4 ของประชากรหรือร้อยละ 76.32 แต่ยังพบผู้ติดเชื้อได้ ซึ่งมีรายงานผู้ติดเชื้อตั้งแต่วันที่ 1 ก.ค.-31 ส.ค. พบ 3,754 คน ในจำนวนนี้ได้รับวัคซีนอย่างน้อย 1 เข็ม 2,375 คน คิดเป็นร้อยละ 63.23 มีผู้เสียชีวิตจากโควิด 12 คน โดย 11 คน ไม่ได้ฉีดวัคซีน ส่วนใหญ่เป็นผู้สูงอายุ เกือบทุกคนมีโรคประจำตัว มี 1 คน ได้รับวัคซีนแอสตราฯไป 1 เข็ม ภูเก็ตส่วนใหญ่ฉีดซิโนแวค 2 เข็ม จะเห็นได้ว่าไม่มีรายใดที่ฉีดซิโนแวคแล้วเสียชีวิต พิสูจน์ได้ว่าคนที่ฉีดซิโนแวค 2 เข็มมีความปลอดภัยค่อนข้างสูงเมื่อเทียบคนไม่ได้ฉีด

ไขว้กว่า 2.5 ล้านติดเชื้อตาย 1

นพ.โสภณกล่าวด้วยว่า ล่าสุด สธ.เห็นชอบปรับสูตรการฉีดเป็นสูตรไขว้ด้วยซิโนแวคตามด้วยแอสตราฯ ระยะห่าง 3 สัปดาห์ ได้ติดตามตั้งแต่เดือน ก.ค.ถึงขณะนี้ฉีดสูตรไขว้ไปมากกว่า 2.5 ล้านคน มีเสียชีวิตจากโควิดเพียง 1 คน ถือว่าต่ำมาก เพราะในกลุ่มคนที่ไม่ฉีด 1 ล้านคนจะเสียชีวิตได้ถึง 132 คน เมื่อเทียบเคียงการฉีดแอสตราฯ 2 เข็มมีการเสียชีวิตช่วง ก.ค.-ส.ค. 2 คน จากผู้ที่ฉีดไป 2.4 ล้านคน ทำให้เห็นสูตรไขว้มีประโยชน์อย่างมากในระยะนี้ที่มีการระบาดของเดลตา

วัคซีนไม่ทำภูมิคุ้มกันหมู่

ด้าน ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์เฟซบุ๊กระบุถึงภูมิคุ้มกันหมู่ว่าปัจจุบันเห็นได้ชัดแล้วว่า วัคซีนทุกชนิดไม่สามารถป้องกันการติดเชื้อได้ เพียงแต่ลดความรุนแรงของโรค ลดอัตราการตายและผู้ที่ฉีดวัคซีนแล้วกับผู้ที่ไม่ได้ฉีดวัคซีน เมื่อติดเชื้อ ปริมาณไวรัสที่อยู่ในตัว สามารถแพร่กระจายไปสู่ผู้อื่นได้ ดังนั้นวัคซีนที่ใช้ในขณะนี้ไม่สามารถทำให้เกิดภูมิคุ้มกันหมู่ได้ เพราะถึงแม้มีภูมิคุ้มกัน ก็ไม่สามารถป้องกันการติดเชื้อได้ เนื่องจากภูมิคุ้มกันลดลงตลอดเวลา แต่ลดความรุนแรงของโรคได้ พร้อมระบุด้วยว่าการฉีดวัคซีนเพื่อให้เกิดภูมิคุ้มกันหมู่ ไม่สามารถนำมาใช้ได้ในขณะนี้ ทั้งที่แต่เดิมคิดว่าถ้าประชากรได้วัคซีนถึง 70 เปอร์เซ็นต์ แล้วโรคจะทุเลาลง แต่ความจริงประเทศที่ฉีดวัคซีนได้มากแล้วยังพบการระบาดของโรค พร้อมยกตัวอย่างสหรัฐอเมริกาและอิสราเอล

ใช้วัคซีนกระตุ้นภูมิพื้นฐาน

ศ.นพ.ยงระบุอีกว่า ทางออกทุกคนจะต้องได้รับวัคซีนหรือเคยติดเชื้อ และให้มีภูมิพื้นฐานอยู่ และเมื่อติดเชื้ออาการของโรคก็จะน้อยลงหรือไม่มีอาการ แล้วจะกระตุ้นภูมิต้านทานให้สูงขึ้น การติดเชื้อครั้งต่อๆไปอาการจะน้อยลงไปเรื่อยๆ จนไม่มีอาการ หรือกล่าวว่าต่อไปนี้ทุกคนจะต้องสร้างภูมิขึ้นมาเพื่อลดความรุนแรงของโรคที่จะเกิดในกรณีที่เป็นซ้ำ และในอนาคตเด็กเล็กที่เกิดมายังไม่มีภูมิก็จะมีการติดโรคโดยธรรมชาติ ซึ่งโรคนี้ไม่รุนแรงสำหรับเด็ก และจะเกิดภูมิคุ้มกันขึ้นมาหลังจากการติดเชื้อในวัยเด็ก แบบโรคทางเดินหายใจทั่วไปที่เราพบในเด็กมากกว่าผู้ใหญ่ เพราะผู้ใหญ่เคยติดเชื้อในวัยเด็กและมีภูมิอยู่แล้ว โรคนี้จะอยู่กับเราตลอดไป จำนวนวัคซีนที่จะใช้ต้องใช้สำหรับประชากรทุกคนในประเทศไทย ในการสร้างภูมิคุ้มกันพื้นฐาน เพื่อลดความรุนแรงของโรคในกรณีที่มีการติดเชื้อ หรือให้เป็นแบบไม่มีอาการในครั้งต่อไป

คนแห่เที่ยว-พากันเข้าห้าง

ขณะที่ตลอดวันที่ 4 ก.ย.ทั่วประเทศ ยังตะลุยฉีดวัคซีนให้ประชาชนทั่วไป และกลุ่ม 608 คือผู้มีอายุมากกว่า60 ปีขึ้นไป กลุ่มป่วย 7 โรคเรื้อรัง และหญิงตั้งครรภ์ ที่ห้องโคราชฮอลล์ ชั้น 4 ศูนย์การค้าเซ็นทรัลพลาซา โคราช ศูนย์ฉีดวัคซีนนอกโรงพยาบาลมหาราชนครราชสีมา จัดฉีดวัคซีนเข็ม 2 ซึ่งมีทั้งแอสตราเซเนกา ซิโนแวค และซิโนฟาร์ม ให้กับประชาชน ผู้สูงอายุที่ต้องนั่งวีลแชร์ พระสงฆ์จากวัดต่างๆ ในเขต อ.เมือง รวมกว่า 7,500 คน ขณะที่ บรรยากาศหลัง ศบค.คลายมาตรการใน 29 จังหวัดพื้นที่สีแดงเข้ม ในช่วงสุดสัปดาห์ ตามตลาดสด ตลาดนัด ห้างสรรพสินค้า กลับมาคึกคักเต็มไปด้วยประชาชน รวมถึงสวนสัตว์ที่กลับมาเปิดตามปกติ และมีที่ผู้ปกครองพาลูกหลานไปเที่ยวพักผ่อนตลอดวัน ทั้งที่เชียงใหม่ไนท์ซาฟารี ที่เปิดให้บริการวันแรก พร้อมมอบส่วนลดพิเศษค่าเข้าชมร้อยละ 50 แก่นักท่องเที่ยวตลอด ก.ย.นี้ เช่นเดียวกับสวนสัตว์โคราช ลดค่าเข้าชมครึ่งหนึ่ง สำหรับผู้ที่ฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 แล้ว

ตายรายวันต่อเนื่อง

ขณะเดียวกัน หลายจังหวัดยังพบผู้ป่วยโควิด-19 จำนวนมากและยังน่าห่วง อาทิ จ.นราธิวาส ผู้ติดเชื้อรายใหม่พุ่ง 467 คน เสียชีวิต 3 ศพ เสียชีวิตสะสม 168 ศพ ด้าน จ.สระแก้ว พบผู้ติดเชื้อรายใหม่ 121 คน โดยเฉพาะที่อำเภออรัญประเทศ พบผู้ติดเชื้อมากถึง 67 คน เป็นผู้ติดเชื้อจากตลาดโรงเกลือ 28 คน ขณะที่ จ.นครราชสีมา ยังพบผู้ติดเชื้อเกินร้อยที่ 135 คน ผู้ป่วยเสียชีวิต 2 ศพ ยอดผู้เสียชีวิตสะสม 143 ศพ มีหลายคลัสเตอร์ที่ต้องเฝ้าระวัง อาทิ คลัสเตอร์โรงงานหมูหย็องกุนเชียง อ.เมือง คลัสเตอร์ชุมชนทุ่งสว่าง ชุมชนท้าวสุระ ซอย 3 ชุมชนศาลาลอย ชุมชนศาลเจ้าพ่อเสือ และชุมชนวัดทุ่งสว่าง คลัสเตอร์บริษัทใน อ.โชคชัย ส่วน จ.สุพรรณบุรี รายงานว่า พบผู้ป่วยรายใหม่ 91 คน เสียชีวิตเพิ่ม 3 ศพ รวมเสียชีวิตสะสม 164 ศพ ด้าน จ.สมุทรสาคร ยอดผู้ติดเชื้อยังสูงตรวจพบ 895 ราย ผู้เสียชีวิต 15 ศพ เสียชีวิตสะสมอยู่ที่ 638 ศพ ส่วน จ.ระยอง ติดเชื้อพุ่งไปที่ 446 คน เสียชีวิตเพิ่ม 1 ศพ รวมเสียชีวิตสะสม 91 ศพ

หญิงสูงวัยดับหลังฉีดไขว้

ส่วนที่ฌาปนสถานวัดสามัคคี ต.ในเมือง อ.เมืองนครราชสีมา เมื่อช่วงเย็น มีพิธีประชุมเพลิงนางอำไพ วัดน้อย อายุ 69 ปี ชาว อ.เมือง จ.นครราชสีมา ท่ามกลางความโศกเศร้าของครอบครัว โดยนายชูโชค เนรา อายุ 44 ปี ลูกชายคนโต พร้อมน้องชายและน้องสาวร่วมเปิดเผยว่า แม่ไปฉีดวัคซีนเมื่อวันที่ 2 ส.ค. เข็มแรกเป็นซิโนแวคที่ศูนย์การค้าเซ็นทรัลพลาซา นครราชสีมา และวันที่ 30 ส.ค.ได้คิวฉีดวัคซีนแบบไขว้แอสตราเซเนกา หลังฉีดกลับมาพักผ่อนอยู่ที่บ้าน ช่วงหัวค่ำมีอาการไข้ หนาวสั่น ปวดแขนซ้ายข้างที่ฉีดวัคซีน กินยาแก้ปวดตามคำแนะนำของแพทย์ เวลา 02.00 น. มีอาการแน่นหน้าอก ตัวชา ท้องเสีย อาเจียนอย่างหนัก อาการทรุดหนักขึ้นเรื่อยๆ จนเวลา 06.00 น. จึงเรียกรถพยาบาลมารับตัวไปรักษาที่ รพ.มหาราชนครราชสีมา แต่หัวใจหยุดเต้น แพทย์พยาบาลช่วยทำซีพีอาร์ แต่ไม่อาจยื้อชีวิตไว้ได้ แพทย์ระบุสาเหตุการตายมาจากโรคหลอดเลือดหัวใจอุดตัน แต่ลูกหลานและญาติได้พูดคุยกันทุกคนระบุตรงกันแม่เสียชีวิตเพราะวัคซีนสูตรไขว้อย่างแน่นอน แต่แพทย์กลับแจ้งสาเหตุการเสียชีวิตไม่ตรงกับข้อเท็จจริง และอ้างหลักวิชาการว่าแม่ไม่ได้เสียชีวิตจากการฉีดวัคซีน ทำให้ไม่มีหน่วยงานใดมารับผิดชอบเลย

ฉีดวัคซีน 4 เข็มยังติดโควิด

ส่วนที่ จ.นนทบุรี ผู้สื่อข่าวรายงานว่า พ.ต.ท.ทัศน์พงษ์ คงทัพ รอง ผกก.ป.รรท.ผกก.สภ.บางแม่นาง อ.บางใหญ่ ทำหนังสือรายงานเมื่อวันที่ 3 ก.ย.ไปยัง พล.ต.ต.ไพศาล วงศ์วัชรมงคล ผบก.ภ.จ.นนทบุรี ว่า พ.ต.อ.ศักดิ์ชัย เกษโกมล ผกก.ส.ภ.บางแม่นาง มีอาการไข้ไม่สบาย ไปตรวจหาเชื้อโควิด-19 ผลตรวจยืนยันติดเชื้อ เข้ารักษาตัวที่ รพ.ตร.แล้ว พ.ต.อ.ศักดิ์ชัยฉีดวัคซีนซิโนแวค ครบ 2 เข็ม และฉีดซิโนฟาร์ม เป็นเข็ม 3 และ 4 ตามโควตาบุตรสาวที่ทำงานที่ ปตท. มีเจ้าหน้าที่ตำรวจ 2 นายใกล้ชิดคือ ด.ต.สุพจน์ ภาสำราญ ตำรวจธุรการ และ ส.ต.อ.ถวัลย์ จันทกล พลขับ ฉีดวัคซีนครบ 2 เข็มแล้วทั้งคู่ ไปตรวจหาเชื้อ รพ.บางใหญ่ ไม่พบเชื้อ แต่ให้กักตัวอยู่ที่แฟลตเพื่อดูอาการ

หนุ่มติดโควิดดับคาถนน

ส่วนเมื่อเวลา 16.00 น. วันเดียวกัน ร.ต.อ.จำรัส เนื้อไม้ รอง สว. (สอบสวน) สน.บางขุนเทียน รับแจ้งเหตุมีผู้เสียชีวิตริมถนน กลางซอยเอกชัย 8 แขวงบางขุนเทียน เขตจอมทอง กทม. จึงรุดไปตรวจสอบ พร้อมแพทย์นิติเวชฯ รพ.ศิริราช อาสาสมัครมูลนิธิร่วมกตัญญู ที่เกิดเหตุพบศพนายปิยวัฒน์ นวลนุกูล อายุ 40 ปี สภาพนอนหงาย สวมเฉพาะกางเกงบ็อกเซอร์สีน้ำเงิน ไม่มีร่องรอยบาดแผล เจ้าหน้าที่อาสาสมัครสวมชุดพีพีอีมาสวอบ เบื้องต้นพบผลเป็น บวก จึงคลุมศพส่งนิติเวชฯ ชันสูตรพลิกศพหาสาเหตุการตายที่แท้จริงต่อไป ด้าน ร.ต.อ.จำรัสกล่าวว่าจากการสอบถามเพื่อนผู้ตายทราบว่า ผู้ตายทำงานเกี่ยวกับบ่อกุ้ง ย่านบางกระดี่ พักอาศัยอยู่กับมารดาย่านบางน้ำจืด วันนี้ผู้ตายมาดื่มสุราด้วยที่บ้านภายในซอยดังกล่าว จู่ๆก็เดินออกมาโวยวายอยู่ริมถนนไม่นานก็ล้มลงกับพื้นไม่ทราบเหตุ ขณะนี้ต้องรอผล การตรวจโควิดของเพื่อนผู้ตายอย่างเป็นทางการ หากผลเป็นลบจะเรียกมาสอบสวนอย่างละเอียดภายหลัง ส่วนมารดาผู้ตายขณะนี้ยังติดต่อไม่ได้ จึงนำ ศพไป รพ. แล้วรอญาติมาดำเนินการต่อไป

ปินส์ปลดล็อกไทยเข้า ปท.ได้

สำหรับสถานการณ์การแพร่ระบาดในต่างประเทศ ที่นิวซีแลนด์มีรายงานผู้เสียชีวิตจากโควิด-19 ครั้งแรกในรอบ 6 เดือน เป็นหญิงสูงอายุ วัย 90 ปี ซึ่งมีปัญหาทางสุขภาพและไม่สามารถใช้เครื่องช่วยหายใจได้ ซึ่งเสียชีวิตในโรงพยาบาลในโอ๊คแลนด์เมื่อคืนวันที่ 3 ก.ย.นับเป็นผู้เสียชีวิตด้วยโควิด-19 รายที่ 27 ของนิวซีแลนด์และเป็นการเสียชีวิตครั้งแรกนับแต่วันที่ 16 ก.พ. นิวซีแลนด์พบผู้ป่วยรายแรกในประเทศในรอบ 6 เดือนในช่วงกลางเดือน ส.ค.ที่ผ่านมา ส่งผลให้ต้องใช้มาตรการล็อกดาวน์ ตั้งแต่นั้นมามีผู้ติดเชื้อ 782 คน ซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในโอ๊คแลนด์ ส่วนที่ฟิลิปปินส์ ได้ประกาศยกเลิกมาตรการระงับการเข้าประเทศจากผู้เดินทางจากอินเดีย ปากีสถาน บังกลาเทศศรีลังกา เนปาล สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ โอมาน ไทย มาเลเซีย และอินโดนีเซีย โดยให้มีผลตั้งแต่วันที่ 6 ก.ย. อย่างไรก็ตาม ผู้เดินทางมาจากทั้ง 10 ประเทศดังกล่าวยังต้องปฏิบัติตามมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดของฟิลิปปินส์อย่างเคร่งครัดและยังจะต้องกักตัว 14 วันเมื่อเดินทางมาถึง