ครม.อนุมัติแล้ว 4.7 พันล้านบาท จัดซื้อไฟเซอร์กว่า 9.9 ล้านโดส แถมใจปํ้าเทงบกลาง 105 ล้านบาท ให้กรมประชาสัมพันธ์ใช้ทำพีอาร์เกี่ยวกับโควิดสายพันธุ์เดลตา อ้างข่าวปลอมเยอะ ทำให้เกิดความสับสน ขณะที่ยอดติดเชื้อรายวันยังเกิน 1.5 หมื่นราย ตายไม่แผ่วทะลุ 256 ศพ พบการระบาดระลอกเมษาฯ 64 ทำเด็กเล็กติดเชื้อหนักมากกว่า 3.1 หมื่นคน ตายแล้ว 9 ศพ ส่วนการกระตุ้นภูมิด้วยวัคซีนเข็ม 3 ให้คนทั่วไปที่ฉีดซิโนแวคครบ 2 โดส อาจเขยิบไปเป็น ต.ค. เมื่อมีวัคซีนเข้ามามากขึ้น พร้อมรอเคาะจะใช้วัคซีนแอสตราฯหรือไฟเซอร์

หมดเดือน 8 ของปี 2564 ไทยยังตรวจเจอผู้ป่วยโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ทะลุกว่า 1.5 หมื่นคน ผู้ป่วยเสียชีวิตยังยืนที่กว่า 200 ศพต่อเนื่อง ขณะที่ผู้ประกอบการก็เริ่มเปิดให้บริการแบบมีเงื่อนไขตามที่ ศบค.กำหนด

จีนน้อมฯถวายซิโนฟาร์ม

เมื่อวันที่ 30 ส.ค. เวลา 09.00 น.สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพ รัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี อุปนายิกา ผู้อำนวยการสภากาชาดไทย เสด็จออก ณ วังสระปทุม พระราชทานพระราชวโรกาสให้นายเตช บุนนาค เลขาธิการสภากาชาดไทย นำนายหยาง ซิน อัครราชทูตที่ปรึกษา สถานเอกอัครราชทูต สาธารณรัฐประชาชนจีนประจำประเทศไทย เป็นผู้แทนสภากาชาดจีน เฝ้าฯ น้อมเกล้าฯ ถวายวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ซิโนฟาร์ม จำนวน 1 แสนโดส ที่มาถึงประเทศไทยเรียบร้อยแล้ว เมื่อวันที่ 28 ส.ค.ที่ผ่านมา เพื่อใช้ในกิจการของสภากาชาดไทย

...

ป่วย 1.5 หมื่นตายยังทะลุ 256

ส่วนสถานการณ์โควิด-19 ในไทย ณ วันที่ 30 ส.ค. นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษก ศบค. แถลงที่ทำเนียบรัฐบาลว่า พบผู้ติดเชื้อรายใหม่ 15,972 คน เป็นการติดเชื้อในประเทศ 15,681 คน (มาจากระบบเฝ้าระวังและระบบบริการ 14,137 คน จากการค้นหาเชิงรุก 1,544 คน) จากเรือนจำ 280 คน และมาจากต่างประเทศ 11 คน หายป่วยเพิ่ม 17,281 คน อยู่ระหว่างรักษา 176,137 คน อาการหนัก 5,058 คน ใส่ท่อช่วยหายใจ 1,062 คน เสียชีวิตเพิ่ม 256 คน เป็นชาย 137 คน หญิง 119 คน ในจำนวนนี้เป็นผู้ที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป 179 คน มีโรคเรื้อรัง 55 คน เป็นหญิงตั้งครรภ์ 1 คน อยู่ที่ จ.สิงห์บุรี เสียชีวิตที่บ้าน 1 คน อยู่ที่ กทม. เสียชีวิตระหว่างนำส่ง 1 คน อยู่ที่ กทม. ทั้งนี้ ผู้เสียชีวิตใน กทม. ยังเยอะสุดถึง 79 คน ทำให้มียอดผู้ติดเชื้อสะสมยืนยันตั้งแต่ปี 2563 จำนวน 1,190,063 คน หายป่วย 1,002,527 คน เสียชีวิตสะสม 11,399 คน และมียอดผู้ฉีดวัคซีนรวมทั้งสิ้น 30,954,477 โดส

สมุทรสาครติดเชื้อลดฮวบ

นพ.ทวีศิลป์กล่าวว่า สำหรับ 10 จังหวัดที่มีผู้ติดเชื้อโควิดรายใหม่สูงสุด วันที่ 30 ส.ค. ได้แก่ กทม. 3,771 คน สมุทรปราการ 1,055 คน สมุทรสาคร 966 คน ราชบุรี 779 คน ชลบุรี 747 คน ระยอง 518 คน นครราชสีมา 406 คน พระนครศรีอยุธยา 405 คน บุรีรัมย์ 389 คน นนทบุรี 365 คน โดยมีการเปรียบเทียบยอดผู้ติดเชื้อระหว่างสัปดาห์ที่สามกับสัปดาห์ที่สี่ของเดือน ส.ค. พบว่า จ.สมุทรปราการ มีผู้ติดเชื้อเพิ่มสูงสุดจำนวน 2,390 คน เนื่องจากมีการปรับปรุงระบบการรายงานผู้ติดเชื้อที่มีความหลากหลายทั้งภาครัฐและเอกชนเพิ่มเข้ามา ขณะที่จังหวัดที่มีผู้ติดเชื้อลดลงมากที่สุดคือ จ.สมุทรสาคร ต้องขอชื่นชมชาวสมุทรสาครที่ดูแลกันอย่างดี นอกจากนี้ กรมอนามัยมีการรายงานจำนวนหญิงตั้งครรภ์ที่มีการติดเชื้อโควิด ระหว่างวันที่ 1 เม.ย.-28 ส.ค. 2,542 คน ทารกติดเชื้อ 134 คน จำนวนนี้มีมารดาเสียชีวิต 68 คน ทารกเสียชีวิต 24 คน

เล่นคำแค่ปรับมาตรการ

นพ.ทวีศิลป์ยังกล่าวถึงที่มีคนตั้งคำถามว่าขณะนี้ตัวเลขผู้ติดเชื้อยังหลักหมื่น ทำไมรีบปลดล็อกดาวน์หรือผ่อนคลายมาตรการว่า ที่ประชุม ศบค.ไม่ใช้คำนี้ แต่ใช้คำว่าปรับมาตรการ วันนี้ทั่วโลกมีการปรับมาตรการทางสังคมเพื่อรับมือโควิด-19 ทั้งสิ้น มีเพียงบางประเทศเท่านั้นที่เข้มข้นมาตรการ และยังรักษาตัวเลขผู้ติดเชื้อให้มีจำนวนน้อยได้อยู่ การที่เราปรับมาตรการเริ่มตั้งแต่วันที่ 1 ก.ย. สิ่งสำคัญต้องขอความร่วมมือประชาชน เพราะการล็อกดาวน์บางพื้นที่ผ่านมาทำให้เกิดตัวเลขที่เห็นในปัจจุบัน เราต้องปรับตัวให้อยู่กับเชื้อโรคดังกล่าวได้ ให้เหมือนกับไข้หวัดใหญ่หรือวัณโรค เดือน ก.ย.นี้จะเป็นเดือนแห่งการทดสอบระบบว่ามาตรการที่ออกมาได้ผลหรือไม่ จะมีการทบทวนมาตรการอีกครั้งใน 14 วันข้างหน้าว่าผลที่ออกมาจะเป็นอย่างไร ทั้งนี้ในข้อกำหนดที่ 32 ให้กระทรวงสาธารณสุขและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเตรียมมาตรการภาครัฐ และแผนจัดหาวัคซีน ยา เครื่องมือแพทย์ เร่งประชาสัมพันธ์ให้ทุกภาคส่วนรับทราบแนวปฏิบัติ เพื่อเตรียมความพร้อมในการปฏิบัติตนตามมาตรการป้องกันการติดเชื้อแบบครอบจักรวาลด้วย

...

อนุมัติ 4.7 พันล้านซื้อไฟเซอร์

ต่อมา นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงหลังการประชุม ครม.ว่า ที่ประชุมอนุมัติวงเงิน 4,745 ล้านบาท สำหรับการจัดซื้อวัคซีนไฟเซอร์ จำนวน 9,998,820 โดส เพื่อเสริมสร้างภูมิคุ้มกันโรคแก่กลุ่มเป้าหมายหลัก 6 กลุ่ม ได้แก่ เด็กอายุ 12-17 ปี หญิงตั้งครรภ์ที่มีอายุครรภ์ตั้งแต่ 12 สัปดาห์ขึ้นไป บุคลากรทาง การแพทย์และสาธารณสุขด่านหน้า (ฉีดกระตุ้นภูมิเข็มที่หนึ่ง) ผู้สูงอายุและกลุ่ม 7 โรคเสี่ยง ชาวต่างชาติที่อาศัยอยู่ในไทย เน้นผู้สูงอายุและโรคเรื้อรัง และผู้ที่มีความจำเป็นต้องฉีดวัคซีนไฟเซอร์ก่อนเดินทางไปต่างประเทศ เช่น นักเรียน นักศึกษา นักกีฬา นักการทูต ที่ผ่านมา ครม.อนุมัติให้จัดซื้อวัคซีนโควิดแล้วจำนวน 80 ล้านโดส วงเงิน 22,990 ล้านบาท แบ่งเป็นวัคซีนแอสตราเซนเนกา 61 ล้านโดส ซิโนแวค 19 ล้านโดส และไฟเซอร์ 20 ล้านโดส

ทุ่มกว่า 105 ล้านพีอาร์โควิด

ด้าน น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ครม.อนุมัติงบฯ จากงบกลางรายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น จำนวน 105.59 ล้านบาท ให้กรมประชาสัมพันธ์เป็นค่าใช้จ่ายโครงการรณรงค์เอาชนะโควิด ตามมาตรการเร่งด่วนสำหรับผลิตและเผยแพร่สื่อประชาสัมพันธ์ ภายในเดือน ธ.ค.นี้ กรมประชาสัมพันธ์ระบุว่า มีความจำเป็นเร่งด่วนที่ต้องสร้างความรู้ความเข้าใจ โดยเฉพาะสายพันธุ์เดลตาที่ทวีความรุนแรงขึ้น รวมทั้งเกิดข่าวปลอม การบิดเบือนข่าวสารจำนวนมาก ทำให้เกิดความสับสนได้

...

ลงนามซื้อชุดตรวจ ATK แล้ว

วันเดียวกัน ที่องค์การเภสัชกรรม (อภ.) ถนนพระรามที่ 6 กทม.มีพิธีลงนามสัญญาจัดซื้อชุดตรวจ Antigen Test Kit-ATK จำนวน 8.5 ล้านชุดของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) และ รพ.ราชวิถี ระหว่าง อภ.กับบริษัทเวิลด์ เมดิคอล อัลไลแอนซ์ ประเทศไทย นพ.วิฑูรย์ ด่านวิบูลย์ ผอ.อภ.กล่าวว่า ภายใน 14 วันหลังลงนาม บริษัทจะจัดส่งให้หน่วยบริการจำนวน 1,000 แห่ง ตามที่ สปสช.กำหนด คาดว่าจะเริ่มกระจายได้วันที่ 8-9 ก.ย.นี้ และก่อนจัดส่งให้หน่วยบริการ จะมีการตรวจสอบคุณภาพที่คณะแพทยศาสตร์ รพ.รามาธิบดี ม.มหิดล ตามเกณฑ์ที่สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) กำหนด ขณะเดียวกัน องค์การฯ จะสุ่มเก็บตัวอย่างหลังการนำไปใช้งานควบคู่กัน กรณีมีการร้องเรียนทางบริษัทต้องหาสาเหตุ และแจ้งมาที่องค์การฯ หากต้องเรียกคืนสินค้า บริษัทต้องเรียกเก็บและชดใช้ พร้อมทั้งแลกเปลี่ยนผลิตภัณฑ์ให้กับผู้บริโภคด้วย

ฉีดวัคซีนแล้ว 30.9 ล้านโดส

ส่วนที่กระทรวงสาธารณสุข นพ.เฉวตสรร นามวาท ผอ.กองควบคุมโรคและภัยสุขภาพในภาวะฉุกเฉิน กรมควบคุมโรค กล่าวถึงประสิทธิผลของการฉีดวัคซีนต่อการป่วยหนักและเสียชีวิตว่า ภาพรวมการฉีดวัคซีนตั้งแต่เดือน ก.พ. ถึงวันที่ 29 ส.ค. มีจำนวน 30.9 ล้านโดส เข็มที่ 1 จำนวน 23 ล้านโดส เข็มที่ 2 จำนวน 7.3 ล้านโดส เข็มที่ 3 จำนวน 5.8 แสนโดส ขณะนี้ประเทศไทยใช้สูตรไขว้เป็นหลัก ระยะห่าง 3 สัปดาห์ จะทำให้เข็มที่ 2 เพิ่มขึ้นใกล้เคียงกับเข็มที่ 1 ในเวลาอันใกล้ โดย กทม. ฉีดเข็มที่ 1 ครอบคลุมผู้สูงอายุแล้ว ร้อยละ 97.1 ขณะที่ภาพรวมการฉีดให้ผู้สูงอายุระดับประเทศ อยู่ที่ร้อยละ 41.4 ส่วนกลุ่มผู้มีโรคประจำตัว และกลุ่มหญิงตั้งครรภ์ยังเป็นกลุ่มเป้าหมายที่ต้องเร่งฉีดวัคซีน

...

คนแก่เสียชีวิต-ป่วยหนักลด

นพ.เฉวตสรรกล่าวต่อว่า สำหรับประสิทธิภาพของวัคซีนโดยเปรียบเทียบในกลุ่มผู้สูงอายุ ภาพรวมประเทศไทย พบว่าในช่วงการแพร่ระบาดสูงสุด ในสัปดาห์ที่ 25 หรือต้นเดือน ก.ค. เป็นช่วงที่ผู้สูงอายุติดเชื้อและเสียชีวิตสูงถึงร้อยละ 20 จากนั้นเมื่อมีการระดมฉีดวัคซีนในกลุ่มผู้สูงอายุ ทำให้จำนวนผู้สูงอายุเสียชีวิตน้อยลง สัปดาห์ที่ 30 หรือต้นเดือน ส.ค.ลดลงอย่างชัดเจน เหลือร้อยละ 9.27 และปลายเดือน ส.ค.ลดลงร้อยละ 0.19 ส่วนผู้ป่วยหนักมีอาการปอดอักเสบ มีทิศทางที่จำนวนผู้ป่วยหนักลดลงเช่นเดียวกัน ส่วนที่หลายคนสงสัยว่า ยอดผู้ติดเชื้อใหม่ลดลงต่อเนื่องหลายวัน แต่จำนวนผู้เสียชีวิตยังสูงอยู่นั้น ขอชี้แจงว่าเนื่องจากระยะเวลาการรักษาตัวของผู้ป่วยสั้นยาวต่างกัน ยอดผู้ป่วยที่เสียชีวิตในวันนี้คือตัวเลขของผู้ป่วยหนักและเสียชีวิตของยอดผู้ป่วยที่มีการระบาดสูงเมื่อ 2 สัปดาห์ก่อน จึงคาดว่าเพดานของผู้เสียชีวิตจะยังอยู่ในระดับสูงอีกระยะ และค่อยๆลดลงในอีก 2 สัปดาห์

รอเคาะกระตุ้นเข็ม 3 ด้วยอะไร

ด้าน นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวถึงการฉีดวัคซีนโควิด-19 เข็มที่ 3 สำหรับประชาชนทั่วไปว่า จากการพิจารณาของคณะอนุกรรมการวิชาการในคณะอนุกรรมการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรค มีมติให้ฉีดวัคซีนเข็ม 3 กระตุ้นแก่ประชาชน กำลังเวียนมติให้กรรมการเห็นชอบ และจะลงนามความเห็นชอบอย่างเป็นทางการในวันที่ 31 ส.ค.จากนั้นจะเสนอที่ประชุมอีโอซี ของกระทรวงสาธารณสุขรับทราบ และเสนอที่ประชุม ศบค.ต่อไป การกระตุ้นเข็ม 3 จะขึ้นกับปริมาณวัคซีนที่เข้ามา คาดว่าเดือน ต.ค.จะมีวัคซีนเข้ามามากประมาณ 20 ล้านโดส จะสามารถฉีดกระตุ้นให้แก่ประชาชนได้ หากวัคซีนไม่เข้ามาตามกำหนด จะขยับตามปริมาณที่ได้รับ หลักการให้เข็มที่ 3 ต้องเป็นคนละชนิด หากใครได้รับซิโนแวคครบ 2 เข็ม เป็น เชื้อตาย จะได้รับการกระตุ้นเป็นแอสตราเซเนกาหรือไฟเซอร์ เพื่อความชัดเจนขอให้รอมติอย่างเป็นทางการ

5 เดือนเด็กเล็กป่วยโควิดพุ่ง

ขณะที่ นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัย เปิดเผยว่า กลุ่มเด็กเล็กเป็นกลุ่มสำคัญที่ต้องเฝ้าระวังหลังพบแนวโน้มระบาดมากขึ้น จากรายงานตั้งแต่ 1 เม.ย.-21 ส.ค.2564 พบเด็กปฐมวัย (0-5 ปี) ติดเชื้อสะสม 31,811 คน เป็นคนไทย 27,755 คน ต่างชาติ 4,056 คน เสียชีวิตรวม 9 คน โดย กทม.พบติดเชื้อสูงสุด 5,806 คน รองลงมาคือ สมุทรสาคร 2,324 คน และชลบุรี 1,993 คน สาเหตุที่ติดเชื้อมากที่สุดคือ สัมผัสกับคนใกล้ชิดที่เป็นผู้ป่วย 18,807 คน การติดและแพร่เชื้อในเด็กเล็กที่ผ่านมามักไม่ต่างไปจากการติดเชื้อในผู้ใหญ่ แต่เด็กอาจมีแนวโน้มที่จะเกิดอาการรุนแรงหรือมีภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรงได้ หากผู้ป่วยเด็กมีภาวะอ้วน เป็นโรคพันธุกรรมเมตาบอลิก เบาหวาน หอบหืด หัวใจพิการแต่กำเนิด หรือภาวะผิดปกติทางระบบประสาทในบางรายส่งผลให้อันตรายถึงชีวิตได้ ทั้งนี้ ขอให้ศูนย์พัฒนาเด็กปฐมวัยที่ยังเปิดให้บริการอยู่ประเมินตนเองผ่าน Thai Stop COVID Plus พร้อมยกระดับการคุมเข้มขั้นสูงสุด

บ.ประกันห้ามดองเอกสาร

วันเดียวกัน สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) ออกคำสั่งเรื่องให้แก้ไขเพิ่มเติมคู่มือ ระบบงานและกระบวนการดำเนินการพิจารณาและจ่ายค่าสินไหมทดแทนตามกรมธรรม์ประกันภัย covid-19 ของบริษัทประกันวินาศภัย พ.ศ.2564 มีสาระสำคัญคือให้บริษัทจัดหน่วยงานรับเรื่องการเรียกค่าสินไหมทดแทนและเรื่องร้องเรียนเกี่ยวกับกรมธรรม์โควิด-19 เป็นการเฉพาะ ส่วนเกณฑ์การพิจารณาและจ่ายค่าสินไหมฯ ให้ตรวจเอกสารประกอบการเรียกร้องค่าสินไหมฯให้แล้วเสร็จใน 3 วันนับตั้งแต่วันที่ได้รับเอกสารหลักฐาน จ่ายค่าสินไหม ไม่เกิน 15 วันนับจากยื่นเอกสารหลักฐานครบถ้วน หากยื่นเอกสารไม่ครบ ให้บริษัทรีบแจ้งผู้เอาประกันภัย ผู้รับประโยชน์หรือผู้มีสิทธิเรียกร้องตามกรมธรรม์ประกันภัย ในวันเดียวกับที่ตรวจพบ กรณีมีปัญหาในการตีความหรือโต้แย้งเกี่ยวกับกรมธรรม์ประกันภัยโควิด-19 และยังไม่ได้ข้อยุติ ให้บริษัทเสนอความเห็นต่อสำนักงาน คปภ.โดยเร็วแต่ไม่เกิน 7 วันนับแต่วันที่ได้รับเอกสารหลักฐานครบถ้วน และให้บริษัทรายงานข้อมูลร้องเรียนฯ และผลการพิจารณาต่อสำนักงาน คปภ.ทุก 15 วัน ทางอีเมล ppd@oic.or.th คำสั่งนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 ก.ย.2564 เป็นต้นไป

สาวเครียดโควิดดิ่งตึกดับ

ส่วนสถานการณ์โควิด-19 ใน กทม. ผู้สื่อข่าวรายงานว่าเมื่อเวลา 01.00 น. วันที่ 30 ส.ค. ร.ต.ท.กษิดิศ เหมาะสม รอง สว. (สอบสวน) สน.มักกะสัน ไปสอบสวนเหตุคนตกจากอาคารลุมพินี พาร์ค พระราม 9-รัชดาภิเษก ถนนจตุรทิศ แขวงบางกะปิ เขตห้วยขวาง กทม. ที่เกิดเหตุสูง 24 ชั้น บริเวณชั้น 6 ทางเดินริมสระว่ายน้ำพบศพ น.ส.จิราวรรณ ใจเอื้อ อายุ 34 ปี ชาวนครราชสีมา นอนคว่ำจมกองเลือด มีนายโจ (นามสมมติ) อายุ 30 ปี เพื่อนผู้ตาย ยืนร่ำไห้และให้การว่า น.ส.จิราวรรณ พักห้องชั้น 24 ตึก B ช่วงค่ำผู้ตายชวนมาดื่มเบียร์ผสมโซจูเป็นเพื่อน สักพัก น.ส.จิราวรรณเล่าให้ฟังว่าเครียดเพราะทำงานกลางคืน ช่วงโควิด-19 ระบาดทำให้สถานบันเทิงปิดไม่มีเงินส่งค่าห้องพัก ต้องคืนห้อง ต.ค.นี้ แถมพี่ชาย 2 คนติดเชื้อโควิด-19 ด้วย ก่อนเกิดเหตุ น.ส.จิราวรรณสั่งซื้อชุดตรวจ ATK ทางออนไลน์มาตรวจเอง ผลเป็นลบ พอดื่มปรับทุกข์สักพัก น.ส.จิราวรรณพูดว่า “กูไปแล้วนะ” ก่อนเปิดประตูหลังห้องกระโดดลงมาเสียชีวิต

3 ผู้สูงวัยตายคาบ้านพัก

จากนั้นเมื่อเวลา 11.00 น. ร.ต.ท.หญิง พลอยไพลิน บุปผะโพธิ์ รอง สว. (สอบสวน) สน.ลำผักชี ได้รับแจ้งเหตุผู้เสียชีวิตไม่ทราบสาเหตุ 3 ศพ เหตุเกิดที่บ้านพักดูแลผู้สูงอายุแห่งหนึ่งภายในหมู่บ้านภัสสร 13 ซอยสุวินทวงศ์ 86 ถนนสุวินทวงศ์ แขวงลำผักชี เขตหนองจอก กทม. ประสานเจ้าหน้าที่มูลนิธิร่วมกตัญญูนำชุดปฏิบัติการพิเศษ โควิด-19 เข้าตรวจสอบที่เกิดเหตุ พบผู้เสียชีวิต 3 คนทราบชื่อต่อมานายไว จรัญพงษ์ อายุ 79 ปี นายมิตร สายนอนเวช อายุ 81 ปี และนายสุเทพ แสงพิพัฒน์ อายุ 74 ปี เจ้าหน้าที่นำถุงพลาสติกห่อศพอย่างแน่นหนาเพื่อความปลอดภัยตามมาตรการป้องกันการแพร่ระบาด ก่อนนำศพทั้ง 3 ส่งชันสูตรที่สถาบันนิติเวช รพ.ตร. เพื่อหาสาเหตุการตายที่แท้จริงต่อไป

หนุ่มอรัญฯกล้ามเนื้อหัวใจโต

สำหรับความคืบหน้าหนุ่ม วัย 26 ปี ชาว อ.อรัญประเทศ จ.สระแก้ว เสียชีวิตหลังฉีดวัคซีนสูตรไขว้ โดยเข้ารับวัคซีนเข็ม 2 เป็นแอสตราเซเนกา เมื่อวันที่ 27 ส.ค.และเสียชีวิตเมื่อเช้าวันที่ 28 ส.ค.ซึ่งบิดาและตาของผู้ตายยืนยันจะยังไม่เผาศพจนกว่าจะรู้สาเหตุการตายที่แท้จริง ต่อมาเมื่อวันที่ 29 ส.ค.นพ.ประภาส ผูกดวง นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดสระแก้ว เปิดเผยว่า เบื้องต้นจากการรายงานคร่าวๆเข้ามาที่สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดสระแก้ว พบว่าผู้ตายมีภาวะกล้ามเนื้อหัวใจห้องล่างซ้ายโต ที่อาจเป็นสาเหตุทำให้เสียชีวิตลงได้ โรคในลักษณะแบบนี้ ผู้ตายเองอาจจะไม่รู้ตัวมาก่อนว่าตัวเองมีภาวะดังกล่าว แต่ถึงอย่างไร ยังไม่มีการยืนยันว่าสาเหตุการเสียชีวิตเกิดจากการฉีดวัคซีนเข็มที่ 2 ต้องรอผู้เชี่ยวชาญสอบสวนโรคอย่างละเอียดอีกครั้ง คาดว่าจะใช้เวลาไม่เกิน 2 สัปดาห์ น่าจะได้ข้อสรุปถึงเรื่องจ่ายเงินช่วยเหลือจาก สปสช.จำนวน 4 แสนบาท

คลัสเตอร์ นสต.มาจากแม่ครัว

ส่วนการติดเชื้อเป็นคลัสเตอร์ใหญ่ นักเรียนนายสิบตำรวจในศูนย์ฝึกรบพิเศษค่ายฤทธิฤาชัย ค่ายนเรศวร ที่หมู่ 3 บ้านป่าละอู ต.ห้วยสัตว์ใหญ่ จ.ประจวบคีรีขันธ์ แบ่งเป็นกำลังพล 324 คน ครูฝึก 5 คน เจ้าหน้าที่ 3 คน แม่ครัว 2 คน รวมทั้งหมด 334 คน ต่อมา พล.ต.ต.ปิยะวัฒน์ เฉลิมศรี รองผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 9 เปิดเผยว่า การฝึกอบรมนักเรียนนายสิบจำนวน 426 คน เป็นระบบปิด และก่อนที่จะเดินทาง ศูนย์ฝึกอบรมตำรวจภูธรภาค 9 ได้ตรวจคัดกรองโควิด-19 ทั้งหมด ไม่พบการติดเชื้อ เริ่มฝึกตั้งแต่วันที่ 1 ส.ค. ที่ศูนย์ฝึกป่าละอู มีมาตรการของสาธารณสุขอย่างเข้มข้น เบื้องต้นพบเป็นการติดเชื้อจากแม่ครัว

หญิงกีวีตายจากผลข้างเคียง

สำหรับสถานการณ์โควิด-19 ทั่วโลก ยอดติดเชื้อสะสมเพิ่มเป็น 217,287,091 คน เสียชีวิตรวม 4,516,267 คน เป็นการติดเชื้อในวันเดียว 455,229 คน เสียชีวิตในวันเดียว 8,763 คน ขณะที่สำนักข่าวต่างประเทศรายงานว่า ทิศทางการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก เริ่มดีขึ้นเมื่อ 2-3 เดือนที่ผ่านมา ได้กลับมาชะลอตัวอีกครั้ง จากสถานการณ์แพร่ระบาดในภูมิภาคเอเชียที่ส่งผลให้การส่งออกสินค้าอิเล็กทรอนิกส์จากไต้หวันชะงัก ไปจนถึงการที่ออสเตรเลีย จีน และญี่ปุ่น ล็อกดาวน์หรือปิดท่าเรือชั่วคราว ส่วนที่นิวซีแลนด์ คณะกรรมการตรวจสอบด้านความปลอดภัยของกระทรวงสาธารณสุข ยืนว่ากรณีหญิงวัยประมาณ 50 ปี เสียชีวิตหลังฉีดวัคซีนต้านไวรัสโควิด-19 ยี่ห้อไฟเซอร์ เป็นอาการจากผลข้างเคียงของวัคซีนที่ทำให้กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ ถือเป็นเคสแรกของประเทศ และจนถึงวันที่ 7 ส.ค. มีการเสียชีวิตหลังฉีดวัคซีน 5 ราย ที่กำลังรอผลการสอบสวน