ที่ดินทำกิน เปรียบเสมือนหัวใจของคนจน! การมีที่ดินทำกินโดยไม่ต้องหวาดระแวงต่อเจ้าหน้าที่ของรัฐ ถือเป็นความหวังของชาวบ้านที่มีพื้นที่ทำกินอยู่ในพื้นที่ทับซ้อนของหน่วยงานราชการ เช่น ในพื้นที่เขตป่าสงวนแห่งชาติ ที่มักเกิดเป็นปัญหาความขัดแย้งระหว่างกันมาอย่างต่อเนื่องยาวนาน

โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงโควิด–19 การมีที่ดินทำกินที่สามารถกลับไปทำกิน ได้อย่างมั่นคง ย่อมเป็นทางออกหนึ่งที่ช่วยลดปัญหาความเดือดร้อนให้กับประชาชนได้การจัดที่ดินทำกินให้แก่ราษฎรเพื่อแก้ปัญหาความเดือดร้อนจากการอยู่อาศัยและทำกินในพื้นที่ป่าโดยไม่ถูกต้องตามกฎหมาย โดยไม่เป็นพื้นที่ต้นน้ำลำธาร หรือเขตอนุรักษ์ที่มีความอ่อนไหว เป็นนโยบายของ รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เพื่อเร่งแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำของสังคม โดยจัดสรรที่ดินทำกินให้แก่ผู้ยากไร้ที่ไม่มีที่ดินทำกิน โดยไม่ต้องเป็นกรรมสิทธิ์ แต่รับรองสิทธิร่วมในการจัดการที่ดินของชุมชน

แต่การจัดสรรที่ดินทำกินให้กับชุมชนอย่างยั่งยืน เป็นธรรม ต้องอาศัยความร่วมมือจากหลายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไม่ว่าจะเป็น กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) กระทรวงมหาดไทย กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงการคลัง กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กระทรวงกลาโหม เพื่อให้การแก้ไขปัญหา ด้านการบริหารจัดการที่ดินและทรัพยากรดินของประเทศเกิดการแก้ไขปัญหาร่วมกันอย่างเป็นระบบมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันที่ 14 ต.ค.2557 จึงเห็นชอบตามที่ ทส. เสนอให้มีการจัดตั้ง คณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ (คทช.) โดยมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน และมีหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องร่วมเป็นคณะกรรมการ ซึ่งต่อมาได้ออกเป็น พ.ร.บ.คณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ พ.ศ.2562 ทำหน้าที่กำหนดนโยบายและแผนการบริหารจัดการที่ดินและทรัพยากรดินของประเทศไทย

...

การดำเนินงานของ คทช.มุ่งเน้นการจัดที่ดินทำกินให้กับชุมชนเป็นหลักในลักษณะแปลง
รวม โดยมิให้กรรมสิทธิ์ แต่อนุญาตให้เข้าทำประโยชน์ในที่ดินของรัฐเป็นกลุ่ม หรือชุมชน ตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่ คทช.กำหนดในรูปแบบสหกรณ์หรือรูปแบบอื่นที่เหมาะสม โดยราษฎรแต่ละรายสามารถถือครองที่ดินได้ตามความเหมาะสม แต่ต้องไม่เกินรายละ 20 ไร่

“ทส.ในฐานะฝ่ายเลขานุการของ คทช.และเป็นฝ่ายเลขานุการของคณะอนุกรรมการจัดหาที่ดิน ซึ่งมีนายวราวุธ ศิลปอาชา รมว.ทส. เป็นประธาน เป็นกระดุมเม็ดแรกของการจัดที่ดินทำกินให้กับชุมชน ที่ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ได้กำชับให้เร่งรัดดำเนินงาน เพื่อนำไปสู่ความสำเร็จตามเป้าหมายที่กำหนดไว้ การดำเนินการเริ่มตั้งแต่การกำหนดพื้นที่เป้าหมายสำหรับการจัดที่ดินทำกินหรือที่อยู่อาศัยให้กับชุมชน รวมถึงให้ความเห็นชอบการตรวจสอบขอบเขตที่ดินตามที่ คณะอนุกรรมการนโยบายที่ดินจังหวัด หรือ คทช. จังหวัด ได้ดำเนินการตรวจสอบตามพื้นที่เป้าหมายที่กำหนด จากนั้นจึงส่งต่อไปยังคณะอนุกรรมการจัดที่ดิน ซึ่งเป็นหน้าที่ของกระทรวงมหาดไทย ที่จะตรวจสอบรายชื่อของราษฎรที่จะเข้าใช้ประโยชน์และจัดที่ดินทำกินให้กับชุมชนตามหลักเกณฑ์ที่ กำหนด ก่อนที่คณะอนุกรรมการส่งเสริมพัฒนาอาชีพและการตลาด ซึ่งรับผิดชอบโดยกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จะเข้าไปส่งเสริมการ พัฒนาอาชีพและพัฒนาระบบสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานให้กับชุมชนต่อไป” นายจตุพร บุรุษพัฒน์ ปลัด ทส.ในฐานะรองประธานคณะอนุกรรมการจัดหาที่ดิน คทช. กล่าวถึงการดำเนินงานในการแก้ปัญหาที่ดินทำกินให้ประชาชน

คทช.ดำเนินการตั้งแต่ปี 2558-2564 ได้กำหนดพื้นที่เป้าหมายไปแล้วทั้งสิ้น 4,219,699 ไร่ เกือบทั้งหมดเป็นพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ ที่มีราษฎรอยู่อาศัยทำกินมาอย่างต่อเนื่อง และอยู่ในพื้นที่ลุ่มน้ำชั้น 3, 4, 5 ก่อนมติ ครม. วันที่ 30 มิถุนายน 2541 ใน 64 จังหวัด เนื้อที่ 3,932,534 ไร่ นอกนั้นเป็นพื้นที่ป่าตาม พ.ร.บ.ป่าไม้ พ.ศ.2485 พื้นที่ป่าไม้ถาวร พื้นที่ป่าชายเลน พื้นที่ในเขตปฏิรูปที่ดิน พื้นที่สาธารณประโยชน์ รวมเนื้อที่ประมาณ 270,000 ไร่

โดยพื้นที่เป้าหมายที่อยู่ในพื้นที่เขตป่าสงวนแห่งชาติทั้ง 3.9 ล้านไร่ คทช.จังหวัด ได้เสนอเป้าหมายให้คณะอนุกรรมการจัดหาที่ดินพิจารณาให้ความเห็นชอบไปแล้ว 2.3 ล้านไร่ ซึ่งทางจังหวัดจะต้องยื่นขออนุญาตใช้ประโยชน์จากคณะกรรมการพิจารณาการใช้ประโยชน์ในเขตป่าสงวนแห่งชาติ ตามมาตรา 16 ของ พ.ร.บ.ป่าสงวนแห่งชาติ โดยปัจจุบันคณะกรรมการฯ ได้มีการให้ความเห็นชอบไปแล้วกว่า 1.9 ล้านไร่ และอยู่ระหว่างเร่งดำเนินการอีกประมาณ 2 ล้านไร่ เพื่อให้สามารถจัดสรรที่ดินทำกินให้กับราษฎรในลักษณะ แปลงใหญ่ทั้ง 64 จังหวัด ได้ทันภายในปี 2564

...

สำหรับ ในส่วนของพื้นที่ที่ได้มีการเห็นชอบอนุญาตให้ใช้พื้นที่จากคณะอนุกรรมการจัดหาที่ดินเรียบร้อยแล้วในช่วงปี 2558-2564 ได้ออกหนังสืออนุญาตให้ชุมชนเข้าทำประโยชน์หรืออยู่อาศัยไปแล้วกว่า 280 พื้นที่ 66 จังหวัด เนื้อที่กว่า 750,000 ไร่

“การดำเนินงานของ คทช.เพื่อจัดที่ดินทำกินให้กับชุมชนในครั้งนี้ เป็นการประสานความร่วมมือที่มีการทำงานร่วมกันแบบไร้รอยต่อระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้ประชาชนได้ประโยชน์สูงสุด ซึ่งเมื่อประชาชนได้ที่ดิน ได้สิทธิในที่ดิน ถึงแม้ว่าจะ ไม่ได้กรรมสิทธิ์ในที่ดิน แต่จะเป็นการสร้างความมั่นใจในการทำกินให้ กับชุมชน ทั้งยังได้รับการสนับสนุนโครงสร้างพื้นฐานที่จำเป็นจากหน่วยงานรัฐได้อย่างถูกต้อง และเมื่อได้สิทธิในที่ดินไปแล้วชุมชนต้องทำตามเงื่อนไขการใช้ประโยชน์ที่ดิน เช่น ต้องไม่มีการเผา มีการปลูกต้นไม้ในพื้นที่ไม่น้อยกว่าร้อยละ 20 ทั้งนี้ เพื่อสุดท้ายแล้วสามารถตอบกลับไปสู่เป้าหมายของประเทศในการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ ให้ได้ภายในช่วงปี ค.ศ.2065” นายจตุพร กล่าวทิ้งท้าย

...

“ทีมข่าวสิ่งแวดล้อม” มองว่า นโยบายของ คทช.เป็นปัจจัยหลักในการแก้ปัญหาจัดที่ดิน
ทำกินให้ประชาชน ได้อยู่ในพื้นที่ป่าอย่างถูกต้อง โดยเฉพาะการ “ให้สิทธิ” ในที่ดินแต่ “ไม่ให้ กรรมสิทธิ์”

ถือเป็นการจัดที่ดินทำกินที่ยั่งยืนแก่ชุมชน โดยมีมาตรการ แนวทางและการปรับปรุงกฎหมายที่สอดคล้องกับหลักการเพื่อให้คนอยู่กับป่าได้อย่างเกื้อกูลกับธรรมชาติ.

ทีมข่าวสิ่งแวดล้อม