ผมได้รับเอกสารจากผู้ใหญ่ท่านหนึ่งขอให้ช่วยเผยแพร่ต่อในคอลัมน์นี้ด้วย เพื่อให้ท่านผู้อ่านเข้าใจความหมายของ อักษรย่อภาษาอังกฤษ OEM ที่มีการใช้อย่างกว้างขวางในอุตสาหกรรมการผลิตยุคนี้

ท่านเจาะจงยกตัวอย่างของบริษัท สยามไบโอไซเอนซ์ ซึ่งเป็น OEM ของวัคซีน แอสตราเซเนกา มาประกอบคำอธิบายด้วย

อ่านแล้วก็ได้ความรู้ว่า OEM คืออะไรและได้ทราบข้อเท็จจริงด้วยว่า บทบาทและภารกิจของบริษัทสยามไบโอไซเอนซ์กับวัคซีนดังของอังกฤษยี่ห้อนี้มีอยู่อย่างไรบ้าง? ขออนุญาตนำมาเผยแพร่ต่อเลยนะครับ

OEM คืออะไร

คำว่า OEM นั้น ย่อมาจากคำว่า Original Equipment Manufacturer หรือโรงงานที่รับผลิตสินค้า โดยโรงงานดังกล่าวมีเครื่องจักรที่ใช้ในการผลิตอยู่แล้ว และรับผลิตสินค้าให้กับลูกค้า เพื่อนำไปติดแบรนด์ที่มีอยู่แล้วของลูกค้า เพื่อจำหน่ายต่อไป

ลูกค้าที่มีแบรนด์ที่แข็งแรงแล้วในตลาด ไม่ว่าจะเป็นผลิตภัณฑ์อะไร หรือแม้แต่อะไหล่รถยี่ห้อดัง สมาร์ทโฟน ก็อาจจะพึ่งโรงงานประเภทนี้ได้และโรงงานประเภทนี้ก็มักมีมาตรฐานการผลิตในระดับสากล มีเครื่องหมายรับรอง เชื่อถือได้ในเรื่องของคุณภาพที่แบรนด์ดังต่างๆไว้วางใจ และยอมรับ

ในอุตสาหกรรมยานั้น OEM ก็เป็นเรื่องที่มีการใช้อย่างแพร่หลายเช่นกัน บริษัทยายักษ์ใหญ่มักจะมีเครือข่ายของโรงงานที่เป็น OEM ในกระบวนการผลิตยาโดยเฉพาะยาที่ผลิตจากเทคโนโลยีชีวภาพมีขั้นตอนที่สลับซับซ้อนและใช้เทคโนโลยีขั้นสูง

ตัวอย่างเช่น การที่ บริษัทสยามไบโอไซเอนซ์ เป็น OEM ให้กับ AstraZeneca สำหรับตลาดประเทศในกลุ่มอาเซียน หรือการที่บริษัท Samsung Biologics เป็น OEM ให้กับ Moderna สำหรับตลาดในกลุ่มภูมิภาคเอเชีย เป็นต้น

...

ดังนั้น บทบาทของ OEM จึงได้แก่การผลิต การบรรจุและการส่งมอบสินค้าให้กับบริษัทยา โดยทั้งนี้ส่วนมากแล้วบริษัทยาจะเป็นผู้ที่ถ่ายทอดเทคโนโลยีในเรื่องต่างๆ ที่เกี่ยวข้องให้ทั้งหมด

สำหรับการผลิตวัคซีนโดยเฉพาะอย่างยิ่งวัคซีนสำหรับ Covid-19 เป็นกระบวนการผลิตที่ซับซ้อน เป็นวัคซีนใหม่ที่ไม่เคยมีการผลิตมาก่อน การควบคุมทั้งคุณภาพ ความสม่ำเสมอ และความปลอดภัยจึงเป็นเรื่องที่สำคัญอย่างยิ่ง โดยทั่วไปใช้เวลาในการถ่ายทอดเทคโนโลยีกว่าหนึ่งปี ยิ่งถ้าเป็นโรงงานใหม่ที่ไม่เคยผลิตวัคซีนมาก่อนยิ่งมีความท้าทายสูง

การที่บริษัทสยามไบโอไซเอนซ์ สามารถผลิตวัคซีนของ AstraZeneca ได้โดยมีคุณภาพตามมาตรฐานสากลจึงเป็นเรื่องที่แสดงถึงศักยภาพของคนไทย และในระยะยาวต่อไปจะสามารถพัฒนาเป็นฐานการผลิตที่มีความหลากหลายต่อไปได้

เนื่องจากบทบาทของ OEM คือการเป็นผู้ผลิต และขายสินค้าที่ผลิตทั้งหมดให้กับ บริษัทยา ที่เป็นเจ้าของเทคโนโลยีเท่านั้น ดังนั้น บริษัทยา จึงเป็นผู้จำหน่ายและกำหนดสัดส่วนในแต่ละตลาดตามที่ได้ตกลงกันไว้ในแต่ละตลาด

จากตัวอย่างข้างต้นจะเห็นว่า บริษัทสยามไบโอไซเอนซ์ จึงเป็นผู้รับเทคโนโลยีการผลิตและผลิตวัคซีนโดยส่งมอบให้กับ AstraZeneca แต่เพียงผู้เดียว จากนั้น AstraZeneca จะเป็นผู้ขายและทำสัญญากับรัฐบาลต่างๆในกลุ่มอาเซียนหรือภายนอกทั้งหมดต่อไป

กรณีของไทยเองก็เป็นเช่นเดียวกัน สัญญาสั่งจองและซื้อวัคซีนจึงเป็นสัญญาระหว่างรัฐบาลไทยกับ AstraZeneca โดยตรง ส่วนสยามไบโอไซเอนซ์ก็เป็น OEM ให้กับ AstraZeneca ดังที่กล่าวไว้ข้างต้นและรัฐบาลก็มิได้มีสิทธิพิเศษเหนือสยามไบโอไซเอนซ์แต่อย่างใด

ที่สำคัญการเป็น OEM ก็ย่อมไม่มีสิทธิในการจัดสรรวัคซีนใดๆ ทั้งสิ้น แต่ประโยชน์สำคัญอย่างยิ่งของการเป็น OEM ก็คือการรับถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตที่จะทำให้เราพัฒนาวัคซีนได้เองต่อไปในอนาคต

อันจะเป็นพื้นฐานของการผลิตยาหรือวัคซีนสำคัญๆ ได้เอง ตามวัตถุประสงค์ของประเทศไทยเราที่มุ่งจะพัฒนาให้เป็นศูนย์ทางด้านการแพทย์หรือ medical hub ในภูมิภาคนี้.

“ซูม”