การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ โควิด-19 ถือเป็นวิกฤติครั้งใหญ่ของมวลมนุษยชาติทั่วโลก

ประเทศไทยเองขณะนี้ก็ตกอยู่ในสถานการณ์ที่ยากลำบาก ตัวเลขผู้ติดเชื้อ และเสียชีวิตยังคงทำสถิตินิวไฮอย่างต่อเนื่อง ท้าทายความสามารถในการรับมือ แก้ไข และฟันฝ่าไปให้ได้

ความเสียหายที่เกิดจากมหันตภัยร้ายโควิด-19 ส่งผลกระทบในทุกแวดวง กลายเป็นโจทย์ใหญ่ที่สำคัญของภาคการศึกษา และถือเป็นบริบทใหม่ในการเป็นผู้นำขับเคลื่อนความช่วยเหลือให้กับทุกภาคส่วนของสังคม

มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล (มทร.) ธัญบุรี สถาบันอุดมศึกษาที่มีวิสัยทัศน์ ในการ “สร้างคุณค่าสู่สังคมและประเทศ” นำโดย ผศ.ดร.สมหมาย ผิวสอาด อธิการบดี มทร.ธัญบุรี จึงไม่ละเลยที่จะเข้าไปมีส่วนร่วมในการสนับสนุน ส่งเสริม และช่วยเหลือนักศึกษาและประชาชนคนในสังคมที่กำลังเดือดร้อนในเวลานี้

“การแก้ปัญหาวิกฤติโควิด-19 ถือเป็นความท้าทาย และก่อให้เกิดองค์ความรู้ใหม่ๆ หลายด้าน ที่สร้างความเข้มแข็ง อย่างยั่งยืนได้ในอนาคต ที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบัน มทร.ธัญบุรี ได้ดำเนินการหลายอย่าง ทั้งที่ทำด้วยตัวเอง และโครงการใหญ่ๆ ที่ต้องอาศัยการบูรณาการความร่วมมือจากหลายภาคส่วน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้านสุขภาพและชีวิตความเป็นอยู่” ผศ.ดร.สมหมาย ฉายภาพถึงโอกาสที่เกิดจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสมรณะ พร้อมทั้งสะท้อนให้เห็นถึงสิ่งที่ได้ขับเคลื่อนช่วยเหลือสังคมต่อไปว่า

...ช่วงแรกที่เกิดการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 มทร.ธัญบุรี ได้ระดมผลิตเจลแอลกอฮอล์ล้างมือ และทำหน้ากากอนามัยป้องกันการติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ให้แก่หน่วยงานทั้งภายใน และชุมชนรอบๆ มหาวิทยาลัย แต่เมื่อสถานการณ์การแพร่ระบาดหนักหน่วงและรุนแรงขึ้นจึงมีการเปิดโรงพยาบาลสนาม มทร.ธัญบุรี รองรับผู้ป่วยโควิด-19 กลุ่มสีเขียว การประกอบห้องระบบความดันบวก (Positive Pressure Swab Room) ควบคู่กับการออกมาตรการให้ผู้บริหาร คณาจารย์ บุคลากร และนักศึกษา ได้ยึดปฏิบัติตามที่กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุขกำหนดอย่างเข้มงวด”

อธิการบดี มทร.ธัญบุรี เล่าต่อว่า “ไม่เพียงแค่นั้น มทร.ธัญบุรี ยังเปิด “ครัวพระราชทาน อุปนายิกาผู้อำนวยการสภากาชาดไทย” โดยมีนายเตช บุนนาค เลขาธิการสภากาชาดไทย เป็นประธานในพิธีเปิด ร่วมกับผู้ว่าราชการจังหวัดปทุมธานี นายกเหล่ากาชาดจังหวัดปทุมธานี รองนายกเหล่ากาชาดจังหวัดปทุมธานี หัวหน้าส่วนราชการ ขึ้นที่ศูนย์คหกรรมศาสตร์ช่อพวงชมพู คณะเทคโนโลยีคหกรรมศาสตร์ มทร.ธัญบุรี เพื่อช่วยเหลือประชาชน และผู้ยากไร้ในพื้นที่จังหวัดปทุมธานี ส่วนการเรียนการสอนที่ต้องปรับเป็นการเรียนแบบออนไลน์ มทร.ธัญบุรี ได้เปิดห้องเรียนออนไลน์ ที่มีบรรยากาศเสมือนการเรียนในห้องเรียน หรือเรียกว่า LMS (Learning Management System) ซึ่งนักศึกษา อาจารย์ หรือบุคลากรของมหาวิทยาลัยยังสามารถเข้าไปใช้งานระบบ RMUTT DLearn ได้ตลอดเวลา นอกจากนี้ทั้งอาจารย์และนักศึกษาสามารถพัฒนาศักยภาพ UpSkill ผ่าน Platform ต่างๆ ของมหาวิทยาลัยด้วย เช่น RMUTT UpSkill RMUTT MOOC  RMUTT U2T และ RMUTT SME

“...มหาวิทยาลัยยังลดค่าเล่าเรียนในภาคฤดูร้อน และภาคเรียนที่ 1/2564 ไปแล้ว 10% คาดว่าจะใช้งบประมาณทั้งสิ้น 44 ล้านบาท และจะปรับลดเพิ่มให้ได้ 50% ตามนโยบายของรัฐบาล ทั้งยังคงจัดสรรทุนการศึกษาแบบให้เปล่ากับนักศึกษาอีกเช่นเดิม จำนวน 30 ล้านบาทแก่นักศึกษาที่ยากจนและขาดแคลน อย่างไรก็ตาม มทร.ธัญบุรี จะมุ่งมั่นในการสร้างและพัฒนาระบบต่างๆ ด้านเทคโนโลยี นวัตกรรม และสิ่งประดิษฐ์ ให้สอดรับกับบริบทใหม่ ภายใต้วิสัยทัศน์ที่เข้มแข็ง Innovative University หรือมหาวิทยาลัยนวัตกรรม ขนานไปกับสถานการณ์วิกฤติที่กำลังเผชิญอยู่ โดยความมุ่งหมายสำคัญ คือ การใช้ทรัพยากรที่มีอยู่ให้เกิดความคุ้มค่า เกิดประโยชน์ต่อสังคมส่วนรวม ภายใต้การขับเคลื่อนและเดินไปข้างหน้าอย่างยั่งยืน ให้เกิดความพร้อมต่อการรับมือปัญหาและวิกฤติใหม่ๆ ในอนาคต” ผศ.ดร.สมหมาย กล่าวทิ้งท้าย

ติดตามความเคลื่อนไหวและการขับเคลื่อน มทร.ธัญบุรี ได้ที่ https://www.rmutt.ac.th