ตามที่สำนักงานศุลกากรจีนแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน (GACC) แจ้งความประสงค์ขอสุ่มตรวจประเมินสวนและโรงคัดบรรจุผลไม้ทุเรียน ลำไย มังคุด และมะพร้าวของไทยที่ส่งออกไปจีน 3 สวน 3 โรงคัดบรรจุ ต่อ 1 พืช เพื่อสร้างความมั่นใจในการควบคุมดูแลศัตรูพืชในสวนผลไม้และมาตรการควบคุมและป้องกันการปนเปื้อนเชื้อไวรัสโควิด-19 ของไทย

และกรมวิชาการเกษตรได้จัดแผนการตรวจประเมินผลไม้ทั้ง 4 ชนิด มะพร้าว มังคุด ทุเรียน และลำไย โดยมีเจ้าหน้าที่กรมวิชาการเกษตร เจ้าของสวนและโรงคัดบรรจุ เข้าร่วมการตรวจประเมินฝ่ายจีน ผ่านระบบ VDO Conference โดยได้ตรวจประเมินมะพร้าวเป็นพืชแรกเมื่อ 30 มิ.ย.ที่ผ่านมา เป็นสวนมะพร้าวของเกษตรกร จ.ราชบุรี 2 สวน กำแพงเพชร 1 สวน โรงคัดบรรจุ จ.ราชบุรี 3 โรงคัดบรรจุ

2 ก.ค.ตรวจประเมินสวนมังคุด จ.จันทบุรี 3 สวน โรงคัดบรรจุ จ.จันทบุรี 3 โรง... 5 ก.ค.ตรวจประเมินสวนทุเรียน จ.ชุมพร 3 สวน โรงคัดบรรจุ จ.ชุมพร 3 โรง... 7 ก.ค.ตรวจประเมินสวนลำไย จ.ลำพูน 2 สวน จ.เชียงใหม่ 1 สวน โรงคัดบรรจุ จ.ลำพูน 2 โรง และ จ.เชียงใหม่ 1 โรง

ผลการตรวจประเมินทั้งหมดผ่านการพิจารณาจากฝ่ายจีน แต่อย่างไรก็ตาม จีนเน้นย้ำให้ไทยเฝ้าระวังควบคุม และป้องกันศัตรูพืชในแปลงปลูกของเกษตรกรและโรงคัดบรรจุอย่างเข้มงวด เนื่องจากที่ผ่านมาเคยตรวจพบศัตรูพืชในลำไยส่งออกจากไทย

นอกจากนี้ ฝ่ายจีนได้เน้นย้ำการควบคุมและป้องกันการปนเปื้อนเชื้อไวรัสโควิด-19 เพราะเป็นข้อกังวลของฝ่ายจีนที่เพิ่มขึ้นจากเดิม โดยเฉพาะการจัดการภายในสวนและโรงคัดบรรจุ โดยฝ่ายจีนให้ความสำคัญตั้งแต่จุดรับวัตถุดิบที่ต้องมีการคัดกรองคนงาน มีการตรวจวัดอุณหภูมิพนักงานก่อนเข้า-ออกโรงงาน มีการเว้นระยะห่างของพนักงาน รวมถึงมีการฆ่าเชื้อสำหรับวัสดุอุปกรณ์ รถขนย้ายสินค้า ตู้คอนเทนเนอร์ โดยกรมวิชาการเกษตรได้แจ้งให้ผู้ประกอบการได้เฝ้าระวังและถือปฏิบัติอย่างเคร่งครัด

...

นอกจากนี้ จีนยังได้ติดตามข่าวการปราบปรามการสวมสิทธิผลไม้จากประเทศอื่นเพื่อส่งออกไปจีนของไทย โดยได้ชื่นชมการดำเนินการ โดยเฉพาะการสวมสิทธิทุเรียนจากประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งปัจจุบันจีนอนุญาตให้นำเข้าทุเรียนผลสดจากประเทศไทยเพียงประเทศเดียวเท่านั้น โดยขอให้ไทยดำเนินการตามมาตรการป้องกันดังกล่าวอย่างเข้มงวดต่อไป.

สะ–เล–เต