ดร.ทองเปลว กองจันทร์ ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เผยถึงการลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ ระหว่างกระทรวงเกษตรและสหกรณ์และกระทรวงกลาโหม เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรในช่วงวิกฤติโควิด-19 เมื่อเร็วๆนี้ว่า เป็นความร่วมมือเพื่อรับซื้อผลผลิตทางการเกษตรจากเกษตรกรตามความต้องการของหน่วยงานในสังกัดกระทรวงกลาโหม และสนับสนุนพื้นที่จำหน่ายและกระจายผลผลิตทางการเกษตร ให้ข้าราชการทหารและครอบครัวรวมถึงประชาชนในพื้นที่จังหวัดต่างๆ มีโอกาสเข้าถึงผลผลิตทางการเกษตร และอาหารที่มีคุณภาพในราคาที่เป็นธรรม อีกทั้งเป็นการช่วยเหลือให้เกษตรกรมีจุดจำหน่าย และกระจายผลผลิตทางการเกษตร เพื่อบรรเทาผลกระทบ จากกรณีผลผลิตทางการเกษตรล้นตลาด และมีราคาตกต่ำในขณะนี้

“ภายใต้ข้อตกลงความร่วมมือนี้ ได้มอบหมายให้หน่วยงานในสังกัดระดับพื้นที่ ร่วมกันสำรวจความต้องการรับซื้อ และความพร้อม รวมถึงศักยภาพพื้นที่ของหน่วยงานในสังกัดกระทรวงกลาโหม โดยเบื้องต้นจะมีการนำร่องจำนวน 42 แห่ง ครอบคลุมพื้นที่ 25 จังหวัด โดยกระทรวงเกษตรฯจะพิจารณาคัดเลือกพื้นที่ที่มีศักยภาพร่วมกับกระทรวงกลาโหม”

...

ปลัดกระทรวงเกษตรฯกล่าวอีกว่า สำหรับผลผลิตทางการเกษตรที่คาดว่าจะมีผลผลิตออกมาเป็นจำนวนมาก ระหว่างกรกฎาคม-ธันวาคมนี้ ได้แก่ ผลไม้-ลำไยสด มะม่วงมหาชนก มะม่วงเขียวมรกต แก้วมังกร พืชผัก-พริก กระเทียม กะหล่ำปลี สินค้าปศุสัตว์-ไข่ไก่ ไข่เป็ด และสินค้าประมง-กุ้งขาวแวนนาไม กุ้งก้ามกราม ปลากะพง เป็นต้น ได้มอบหมายกรมการข้าว กรมปศุสัตว์ กรมหม่อนไหม กรมวิชาการเกษตร กรมส่งเสริมการเกษตร และสำนักงานเกษตรและสหกรณ์จังหวัด จัดทำข้อมูลผลผลิตทางการเกษตร ที่ประสงค์ให้กระทรวงกลาโหมรับซื้อ และจัดจุดจำหน่าย พร้อมกับมอบหมายให้กรมส่งเสริมการเกษตรเป็นหน่วยงานหลัก จัดทำข้อมูลและแผนปฏิบัติการที่จะดำเนินงานร่วมกับกระทรวงกลาโหม

ทั้งนี้ ที่ผ่านมากระทรวงเกษตรฯได้เตรียมมาตรการในการบริหารจัดการตลาดสินค้าเกษตร ทั้งในภาวะปกติและช่วงภาวะวิกฤติโควิด-19 ตั้งแต่ก่อนถึงฤดูกาลผลผลิตออกสู่ตลาด อาทิ การจัดทำแผนบริหารจัดการผลไม้ภาคตะวันออก (ทุเรียน มังคุด เงาะ ลองกอง) แผนบริหารจัดการผลไม้ภาคเหนือ (ลิ้นจี่) การจัดทำแผนบริหารจัดการผลไม้ภาคใต้ การจัดทำโครงการพัฒนา Ecosystem เพื่อจำหน่ายผลไม้ไทยครบวงจรบนแพลตฟอร์มออนไลน์

นอกจากนี้ยังมีการจัดหาช่องทางจำหน่าย และกระจายสินค้าด้านการเกษตรต่างๆ ให้กับเกษตรกร ได้แก่ ตลาดโมเดิร์นเทรด เช่น เทสโก้ โลตัส, บิ๊กซี และแมคโคร ตลาดกลางค้าส่งขนาดใหญ่ เช่น ตลาดไท ตลาดเฉพาะกิจ เช่น จำหน่ายสินค้าในรูปแบบค้าส่งร่วมกับบริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด การส่งเสริมการจำหน่ายสินค้าผ่านระบบออนไลน์ และช่องทางตลาดอื่นๆ รวมทั้งมอบหมายให้กรมส่งเสริมการเกษตรและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เฝ้าระวังสถานการณ์การผลิตการตลาดสินค้าเกษตรอย่างใกล้ชิด.