ข้อเท็จจริง...ทำไม? โรงงานบริษัท หมิงตี้ เคมีคอล จำกัด ที่เพิ่งเกิดการระเบิดไฟไหม้จึงไม่จัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมส่งให้สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) และคณะกรรมการฯพิจารณาก่อนออกใบอนุญาต

อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) กล่าวว่า ที่ผ่านมาโรงงานหมิงตี้ฯ ได้ก่อตั้งก่อนที่จะมีกฎหมายเรื่องสิ่งแวดล้อมทำให้ไม่อยู่ในเกณฑ์ทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) และโรงงานนี้ได้มีการขอขยาย โรงงานเมื่อ พ.ศ.2560 ในพื้นที่เดิม แต่ปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิตให้ดีขึ้น

โดยมีกำลังผลิตสูงสุดเป็น 40,000 ตันต่อปี จากปี ’60 อยู่ที่ 36,000 ตันต่อปี...(กำลังการผลิตเกิน 100 ตันต่อวัน)

ถัดมา...ตามประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เรื่องกำหนดโครงการ กิจการหรือการดำเนินการต้องจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมทุกฉบับที่ประกาศออกมาตั้งแต่ พ.ศ.2535 จนถึง 2562 กำหนดให้โครงการที่เข้าข่ายต้องจัดทำรายงานอีไอเอประเภทอุตสาหกรรม คือ...

“อุตสาหกรรมปิโตรเคมีที่มีกระบวนการผลิตทางเคมี ที่มีกําลังการผลิตตั้งแต่ 100 ตันต่อวันขึ้นไป”

...

อาจารย์สนธิ คชวัฒน์ ผู้ทรงคุณวุฒิด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ ชมรมนักวิชาการสิ่งแวดล้อมไทย บอกว่า เนื่องจากโรงงานหมิงตี้ เคมีคอลฯ เป็นโรงงานที่ขออนุญาตผลิตเม็ดพลาสติกและพลาสติกขั้นต้น ถึงแม้จะมีกำลังการผลิตมากกว่า 100 ตันต่อวัน แต่ก็ไม่ได้เข้าข่ายเป็นโรงงานอุตสาหกรรมปิโตรเคมี

เพียงแต่นำผลิตภัณฑ์จากโรงงานปิโตรเคมี เช่น Styrene Monomer มาเป็นวัตถุดิบในการผลิต โฟม หรือ พลาสติก Polystyrene และ EPS หรือ...Expandable Polystyrene เท่านั้น

ซึ่งจัดเป็นโรงงานประเภทเคมีตามทะเบียนโรงงาน จ3-48 (31)–1/40สป ดังนั้นการขออนุญาตก่อสร้างและเปิดดำเนินการจึงเป็นหน้าที่ของกระทรวงอุตสาหกรรมเท่านั้น

“เรื่องนี้ถือว่าเป็นจุดอ่อนที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมควรเร่งให้ สผ.ปรับปรุงประเภทและขนาดของโครงการหรือกิจการที่ต้องจัดทำรายงานอีไอเอ โดยกำหนดให้โรงงานประเภทเคมีที่มีสารเคมีอันตรายขนาดกำลังการผลิต...ตันต่อวัน ต้องจัดทำรายงานอีไอเอในขั้นต้น

หรือขยายโครงการต่อไป เพื่อป้องกันการเกิดอุบัติภัยร้ายแรงต่อไป”

เหตุไม่คาดฝันเกิดขึ้นได้ แต่ป้องกันได้ด้วยมาตรการ ข้อกฎหมาย ระเบียบปฏิบัติที่รัดกุมรอบคอบ...ไม่หมกเม็ด ในเรื่องที่ใหญ่กว่า “เครือข่ายคนรักษ์นครนายกมรดกธรรมชาติ” ชวนย้อนไปยุคแรกเริ่มปี 2504 “ประเทศไทย” ได้มีโอกาสทำความรู้จักกับคำว่า “นิวเคลียร์”...เริ่มตั้งเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์วิจัยของประเทศ โดยมีเป้าหมายหลักของ “เตาปฏิกรณ์ฯ” คือการใช้ประโยชน์จาก “นิวตรอน” ในหลายๆด้าน

...

เช่น ด้านการแพทย์ อุตสาหกรรม การเกษตรและการศึกษาวิจัย

เมื่อมีนิวเคลียร์ ก็ต้องสร้างกฎหมายรองรับ พระราชบัญญัติพลังงานปรมาณูเพื่อสันติ พ.ศ.2504 จึงถูกสร้างขึ้น ซึ่งในครั้งแรกมีเพียง 24 มาตรา โดยมีสำนักพลังงานปรมาณูเพื่อสันติ (ชื่อเดิม) ดูแล

เมื่อเวลาผ่านไปเทคโนโลยีทางนิวเคลียร์พัฒนาขึ้น จึงได้มีการปรับปรุง พระราชบัญญัติพลังงานปรมาณูเพื่อสันติ พ.ศ.2504 และที่แก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ.2508 ผ่านไปราว 50 ปีประเทศไทยก็ขาดช่วงการพัฒนากฎหมายนิวเคลียร์ไประยะใหญ่ๆ

เพื่อให้สอดคล้องกับมาตรฐานสากล ทบวงการพลังงานปรมาณูระหว่างประเทศ (IAEA) หน่วยงานในสหประชาชาติ เราจึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัติพลังงานนิวเคลียร์เพื่อสันติ พ.ศ.2559 ขึ้นมา

เรียกได้ว่า...เป็นฉบับปรับปรุงครั้งใหญ่เพราะในมาตรา 3 สั่งให้ยกเลิกฉบับเดิมทั้ง 2 ฉบับ...วิธีการออกกฎหมายนิวเคลียร์ ก็เหมือนการออกกฎหมายทั่วไปตามรัฐธรรมนูญทั่วไป ซึ่งผู้มีสิทธิเสนอร่างกฎหมายมาจาก 3 กลุ่ม คือ คณะรัฐมนตรี, สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร, ประชาชนร่วมลงชื่อตั้งแต่ 1 หมื่นคนขึ้นไป

หากพิจารณาตามความน่าจะเป็นกลุ่มที่น่าจะยกร่างกฎหมายนิวเคลียร์ก็น่าจะมาจากกลุ่มที่ 1 และ 2 ดังนั้น...กลุ่มนี้จำต้องประสานหน่วยงานที่มีหน้าที่รับผิดชอบในเรื่องนิวเคลียร์โดยเฉพาะ

ในที่นี้หมายถึงสำนักงานพลังงานปรมาณูเพื่อสันติ (ปส.) ผ่านกลไกสายงานการบังคับบัญชาเริ่มจาก...แผนยุทธศาสตร์ด้านพลังงานนิวเคลียร์ในทางสันติ

...

คงไม่ผิดนักถ้าจะบอกว่า กฎหมาย กฎกระทรวง ระเบียบปฏิบัติต่างๆที่เกี่ยวข้องกับ “พลังงานนิวเคลียร์” ทั้งหมด สำนักงานพลังงานปรมาณูเพื่อสันติคือหน่วยงานหลัก ในจุดนี้สำคัญมากเพราะเป็นเพียงส่วนหน่วยงานประสานงานกับสายงานการบังคับบัญชาเท่านั้น ประชาชนทั่วไปแทบจะไม่มีส่วนไปเกี่ยวข้อง

จึงมอบความไว้วางใจกับหน่วยงานหลัก (ปส.) ที่จะยึดมั่นในหลักการ หลักปฏิบัติ ให้สอดกับแนวทางของทบวงการพลังงานปรมาณูระหว่างประเทศ สมกับที่จะได้ชื่อว่า Smart Regulator อย่างแท้จริง

“หน้าที่มาพร้อมความรับผิดชอบเสมอ” คำนี้มักจะใช้ได้เสมอ เพราะดูเหมือนจะเป็นเช่นนั้น เนื่องจาก ปส.เป็นผู้ออกกฎและบังคับใช้ควรมีความเท่าเทียม เสมอภาค ไม่เลือกปฏิบัติ...

เพื่อรักษาผลประโยชน์ของประชาชน

กรณีตัวอย่างการที่ ปส. ออกใบอนุญาตสถานประกอบการนิวเคลียร์ให้กับ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี (ใบอนุญาตเลขที่ 1/2563) แต่ละเลยไม่ออกให้ผู้บริการจัดการกากกัมมันตรังสี แก่สำนักงานเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ ซึ่งกฎหมายระบุชัดในพระราชบัญญัติพลังงานนิวเคลียร์เพื่อสันติ พ.ศ.2559

มาตรา 80 ผู้ให้บริการจัดการกากกัมมันตรังสี ต้องได้รับใบอนุญาตให้ใช้พื้นที่เพื่อตั้งสถานที่ให้บริการจัดการกากกัมมันตรังสี ใบอนุญาตก่อสร้างสถานที่ให้บริการจัดการกากกัมมันตรังสี และใบอนุญาตดำเนินการให้บริการจัดการกากกัมมันตรังสี จากเลขาธิการ โดยความเห็นชอบของคณะกรรมการ ตามลำดับ

...

ให้นำบทบัญญัติในหมวด 5 สถานประกอบการทางนิวเคลียร์ และหมวด 8 ความปลอดภัย ความมั่นคงปลอดภัย และการพิทักษ์ความปลอดภัย รวมทั้งบทกำหนดโทษที่เกี่ยวข้องมาใช้บังคับโดยอนุโลม ซึ่งในปัจจุบัน “สำนักงานเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ” นำกากกัมมันตรังสีไปเก็บไว้ในที่ต่างๆ

เช่น สำนักงานองครักษ์ สำนักงานคลองห้า ซึ่งที่สำนักงานคลองห้านี่เองมีแผนการก่อสร้าง “อาคารเก็บกากฝุ่นเหล็กกัมมันตรังสี” ตอกย้ำ... ความไร้ประสิทธิภาพของหน่วยงานกำกับดูแลอย่างสิ้นเชิง เรื่องนี้เป็นเพียงหนึ่งในหลายประเด็นในเขตพื้นที่สำนักงานคลองห้า จ.ปทุมธานี ซึ่งเคยนำเสนอไปก่อนหน้านี้แล้ว

เช่น กระบวนการแปรแร่โมนาไซต์เป็นทอเรียม ยูเรเนียม ที่มีความผิดปกติในหลายประเด็น เช่นได้รับใบอนุญาตใดดำเนินการ มาตรฐานในการดำเนินการ แม้จะปิดโครงการโดยฝังกลบบ่อบำบัดน้ำเสียทั้ง 7 บ่อดื้อๆและขายทอดตลาดผลผลิตที่เกิดจากการแปรสภาพแร่ในที่สุดไปแล้วก็ตาม

ไม่นับรวมถึงกรณี “บ่อรังสีโคบอลต์” ทรุดใต้ดิน สิ่งต่างๆเหล่านี้ล้วนสร้างความเสี่ยงต่อชุมชน สิ่งแวดล้อม...ที่สุดแล้ว “ชาวบ้าน” ตาดำๆ ก็ต้องทน “รับกรรม” ที่ไม่ได้ก่อ.