ศ.ดร.สม พงษ์ จิตระดับ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการบริหารกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) เปิดเผยว่า การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ส่งผลให้ปัญหาความเหลื่อมล้ำในสังคมไทยรุนแรงมากขึ้น ช่องว่างระหว่างคนรวยและคนจน ห่างกันมากถึง 20 เท่า แรงงานไทย 52% ขาดทักษะ จบการศึกษาแค่ ม. ต้น ต้องทำงานในโรงงานอุตสาหกรรม ที่สำคัญเป็นแรงงานนอกระบบ เข้าไม่ถึงสวัสดิการของรัฐ กลายเป็นคนยากจน เมื่อมีลูกก็ส่งต่อความยากจนให้กับลูกหลาน ขณะที่ระบบการศึกษาไทยเป็นแบบแพ้คัดออก ประกอบกับสถานการณ์โควิด ทำให้คาดว่าปีนี้เด็กหลุดจากระบบการศึกษาไม่น้อยกว่า 65,000 คน ทำให้ปัญหาความเหลื่อมล้ำขยายวงออกไปอีก

ผู้สื่อข่าวถามถึงข้อเสนอในการแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำมีทางออกใดบ้าง ศ.ดร.สมพงษ์ กล่าวว่า ปัญหาความเหลื่อมล้ำ เป็นโจทย์ร่วมกันของทุกภาคส่วนของคนไทย ไม่ใช่ของรัฐบาล ศธ. และ กสศ. ฝ่ายเดียว ตนอยากเห็นเศรษฐีอันดับต้นๆในเมืองไทย บริษัทขนาดใหญ่ ภาคเอกชน เข้ามาช่วยกันเยียวยาคนจน มีการกระจายรายได้ สร้างงาน เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิต ทักษะฝีมือแรงงานและรายได้ของกลุ่มแรงงาน 52% ดังกล่าว ไม่ควรมองแยกส่วน.