การประมูลใบอนุญาตประกอบธุรกิจดาวเทียมของคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ กสทช. ในวันที่ 24 ก.ค.ที่มี บริษัทไทยคม กับ บริษัท มิวสเปซ แอนด์ แอดวานซ์ เทคโนโลยี ที่ซื้อซองประมูลเพียง 2 รายเท่านั้น ดูทะแม่งอย่างไรชอบกล

เปรียญมวยทั้ง 2 บริษัท สำหรับ ไทยคม ซึ่งเป็นผู้ที่มีประสบการณ์ในการประกอบธุรกิจดาวเทียมโดยตรงอยู่แล้ว คงไม่ต้องไปสาธยายอะไรมาก ทั้งเรื่องของประสบการณ์และความเชี่ยวชาญธุรกิจด้านนี้

แต่ มิวสเปซ เราอาจจะยังงงๆอยู่มาจากไหน อย่างไร การที่ มิวสเปซ ยืนยันว่าเป็นสตาร์ตอัพด้านธุรกิจอวกาศ ตั้งขึ้นเมื่อปี 2560 ซึ่งไม่เคยมีประสบการณ์ในการทำธุรกิจดาวเทียมเลย มีข้อมูลเบื้องต้นว่า เป็นผู้ผลิตชิ้นส่วนและอุปกรณ์ด้านการบิน และอวกาศ มีโรงงานผลิตดาวเทียมขนาดเล็ก 2 โรงในประเทศไทย ที่สามารถผลิตดาวเทียมได้ถึง 10 ดวง และอ้างว่าเป็นโรงงานเดียวที่มีอยู่ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จึงไม่ค่อยจะชัดเจนนัก

ไม่มีรายละเอียดหรือประวัติการทำธุรกิจเป็นที่โดดเด่นหรือเป็นที่รู้จักทั่วไป ยังไม่เห็นผลงานที่เป็นรูปธรรม เมื่อลงลึกไปพบว่า มีแค่ข่าวการเซ็น MOU กับบริษัทต่างประเทศบ้างนานๆครั้ง และมีทุนจดทะเบียนอยู่เพียง 100 ล้านบาททั้งที่เป็นกิจการระดับประเทศ มีรายได้ต่อปีไม่ถึง 1 ล้านบาท เป็นที่น่าตั้งข้อสังเกตว่า การตัดสินใจเข้ามาประมูลธุรกิจดาวเทียมแห่งชาติ จะเป็นเรื่องเป็นราวแค่ไหน

ดูจาก ทีโออาร์การประมูล ครั้งนี้ ที่ กสทช. ระบุว่าผู้เข้าประมูลจะต้อง ผ่านเกณฑ์ประสบการณ์ จึงจะผ่านเข้าไปสู่รอบการแข่งขันการเสนอราคา ทำให้อดคิดไม่ได้ว่าทำไม มิว สเปซ มีความมั่นใจที่จะเข้าร่วมประมูลในครั้งนี้ ด้วยเหตุผลใด ทั้งในด้านปัจจัย ด้านการบริหารดาวเทียมและประสบการณ์

...

บริษัท มิวสเปซ มีผู้ก่อตั้ง ที่เป็นทายาทของนายทหาร เคยให้สัมภาษณ์ว่า บริษัทมิวสเปซได้ใช้เงินส่วนตัวและครอบครัวในการก่อตั้งขึ้นมา จุดนี้อาจทำให้เกิดความหวาดระแวงในสังคม ซึ่งจะซ้ำรอยกับการทำธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับกองทัพที่ผ่านมา

ที่ต้องระมัดระวังเป็นพิเศษ ก็คือโครงการดาวเทียมแห่งชาติ ครั้งแรกของประเทศไทย จะต้องอยู่ภายใต้การบริหารจัดการของคนไทย และไม่ให้มีการถ่ายโอนหรือส่งต่อให้กับต่างชาติ ซึ่งหมายถึงความมั่นคงสูงสุดของประเทศ

การใช้ดุลพินิจของ กสทช. ที่มี พล.อ.สุกิจ ขมะสุนทร เป็นประธาน กสทช. จึงมีความสำคัญอย่างยิ่งยวด ที่จะต้องดำเนินการเรื่องนี้ด้วยความรอบคอบปัญหาที่จะต้องมองต่อไปก็คือ ข้อครหา การใช้อำนาจตามใบสั่ง

ด้วยเหตุที่การสรรหา กสทช.ชุดใหม่ ที่ถูกล้มกระดานไปถึง 2 ครั้ง จะถูกนำมาประกอบดุลพินิจของสังคมว่า มีเหตุผลที่ฟังได้หรือมีประโยชน์อื่นใดแอบแฝงอยู่และทำไมถึง กสทช. ที่ต่ออายุมาโดย คสช. อยู่ได้นานถึง 10 ปี ประธาน กสทช.มีอายุเกิน 70 ปี แล้วซึ่งผิดระเบียบในการดำรงตำแหน่งอยู่แล้ว ตรงนี้จะเป็นหลักฐานสำคัญที่สุด ที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา จะต้องร่วมรับผิดชอบในฐานะที่ออกคำสั่งต่ออายุ กสทช.และในฐานะผู้นำประเทศ

จะมีคำตอบที่ชัดเจนจากการประมูลดาวเทียมในวันที่ 24 ก.ค.นี้.

หมัดเหล็ก
mudlek@thairath.co.th