• เสียงจากแรงงานไทย หลังมีคำสั่งปิดแคมป์ก่อสร้าง 30 วัน จากวันนั้นถึงวันนี้ผ่านมาแล้วครึ่งทาง
  • ยอมเจ็บแต่ขอให้จบ ผลกระทบจากมาตรการคุมเข้มโควิด-19 จากรัฐบาล 
  • พิษโควิด-19 กระทบทั่วหน้า แรงงานเมียนมา ไร้งาน ทยอยกลับบ้านเกิดรอวันสถานการณ์ดีขึ้น


หลังจากศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) มีมติให้ปิดแคมป์คนงานก่อสร้าง งดการเดินทางและเคลื่อนย้ายแรงงานในพื้นที่จังหวัดสีแดงเข้ม ได้แก่ กรุงเทพมหานคร ปทุมธานี นนทบุรี สมุทรสาคร สมุทรปราการ นครปฐม เป็นเวลา 1 เดือน ตั้งแต่วันที่ 28 มิถุนายน 2564 เพื่อควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด-19 ในคลัสเตอร์แคมป์คนงาน โดยมอบหมายให้กระทรวงแรงงานดูแลแรงงานที่ได้รับผลกระทบในครั้งนี้ โดยการจ่ายเยียวยาสิทธิประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงานร้อยละ 50 ของค่าจ้าง

และแม้ว่าจะมีการจ่ายเยียวยา แต่ก็ยังมีกระแสข่าวว่า แรงงานจำนวนไม่น้อยต่างหันหน้ากลับบ้านเกิด จนหลายคนหวั่นว่าจะเป็นการนำเชื้อออกไปแพร่รอบนอก ที่สำคัญคือตัวเลขผู้ติดเชื้อโควิด-19 รายวันกลับไม่ลดลง แต่ยังไต่ระดับเพิ่มขึ้นทุกวัน จากตัวเลขผู้ติดเชื้อรายใหม่ช่วงกลางเดือนมิถุนายน 2564 อยู่ที่ประมาณ 3,000 กว่าคน ขณะนี้พุ่งพรวด ล่าสุดทะลุ 1 หมื่นคนในเวลาเกือบ 1 เดือน

...

จากสถานการณ์เช่นนี้ ทำให้รัฐบาลประกาศยกระดับมาตรการพื้นที่สีแดงเข้มใน 13 จังหวัด มี กรุงเทพฯ, ปทุมธานี, นนทบุรี, นครปฐม, สมุทรปราการ, สมุทรสาคร, ฉะเชิงเทรา, ชลบุรี, พระนครศรีอยุธยา,  ปัตตานี, ยะลา, นราธิวาส และ สงขลา 

จึงนำมาสู่คำถามที่ว่า มาตรการดังกล่าวจะสามารถลดจำนวนผู้ติดเชื้อลงได้หรือไม่ และจากคำสั่งปิดแคมป์ก่อสร้างจนมาถึงวันนี้ผ่านมาแล้วหลายวัน แรงงานในแคมป์ก่อสร้างซึ่งเป็นกลุ่มแรกๆ ที่ถูกจำกัดการเคลื่อนย้าย พวกเขาเหล่านี้จะต้องแบกรับภาระอะไรบ้าง

ผ่านมาครึ่งทาง คำสั่งปิดแคมป์ก่อสร้างคุมเข้มโควิด-19

จากการสอบถาม พี่เอ (นามสมมติ) ผู้ควบคุมงานก่อสร้างโครงการใหญ่แห่งหนึ่งย่านตลิ่งชัน เปิดเผยว่า โครงการหลักที่ตนทำงานอยู่จะมีแคมป์ หรือที่พักของคนงานพักอาศัยกันอยู่หลายสิบคน ในช่วงที่มีคำสั่งให้ปิดแคมป์คนงาน ตั้งแต่เมื่อวันที่ 28 มิ.ย.64 ก็มีเจ้าหน้าที่มาดูแลไม่ให้เคลื่อนย้ายแรงงานเพื่อควบคุมการระบาดของโรค

ภายในโครงการหลักจะมีแคมป์คนงานสร้างที่พักเป็นหลังๆ มีทั้งเพิงสังกะสี และเป็นแบบตู้คอนเทนเนอร์ โดยบริษัทจะเป็นผู้ดูแลเรื่องอาหารการกิน 3 มื้อ มีการจัดตั้งโรงครัวทำอาหาร แต่ในส่วนที่ตนเป็นผู้ดูแล จะแยกออกมาจากโครงการหลัก คนงานจะพักอยู่ในห้องเช่าในย่านตลิ่งชัน ซึ่งก่อนหน้านี้ตั้งแต่มีการพบคลัสเตอร์ก่อสร้างแรกๆ ก็ได้มีมาตรการตรวจหาเชื้อโควิด-19 ให้กับคนงานอยู่แล้ว โดยทางผู้บริหารรับผิดชอบค่าตรวจให้กับคนงานทุกคน และไม่พบว่ามีคนติดเชื้อโควิด-19 ในส่วนของการชดเชยรายได้ขณะนี้เป็นไปตามมาตรการของรัฐ

ผลกระทบหลังปิดแคมป์ กับภาระค่าใช้จ่ายที่ไม่ลดลง

พี่เอ กล่าวต่อว่า ผลกระทบหลักๆ ก็คือต้องขาดรายได้ บางครั้งเราต้องควักกระเป๋าตัวเองจ่ายให้กับลูกน้อง ให้ลูกน้องได้ประคองชีวิตในช่วงนี้ พร้อมกับทำเรื่องขอเงินเยียวยากับทางสำนักประกันสังคม เมื่อสถานการณ์เป็นเช่นนี้ แน่นอนว่าในแง่เชิงธุรกิจได้กระทบแน่นอน เช่น โครงการต่างๆ ที่กำลังไปประมูล เจ้าของก็ชะงัก ไม่กล้าควักกระเป๋ามาลงทุน ส่วนในแง่ของสัญญา ทุกโครงการจะมีสัญญากำหนดระยะเวลาในการก่อสร้าง เมื่อเกิดวิกฤติแบบนี้ ทั้ง 2 ฝ่ายก็ต้องมาคุยเหตุผลกัน ถ้าประเมินแล้วไม่สามารถทำงานเสร็จตามระยะเวลากำหนดก็จะต้องยื่นเรื่องแจ้งสาเหตุว่าเพราะอะไร แล้วเลื่อนระยะเวลาไปออกไป ซึ่งส่วนใหญ่ก็เข้าใจเหตุผล

"คำสั่งปิดแคมป์คนงาน 1 เดือน จะช่วยทำให้สถานการณ์ดีขึ้นไหม ผมคิดว่าเวลา 1 เดือนคนที่ป่วยน่าจะหายป่วย ส่วนคนที่ไม่ป่วยจะได้กักตัว แต่หลังจากกักตัวแล้ว กลับพบว่าตัวเลขผู้ติดเชื้อยังเพิ่มขึ้น ดังนั้นคิดว่าน่าจะช่วยได้ประมาณหนึ่ง หากจะปิดก็ปิดด้วยกันทั้งหมด แต่ในฐานะของคนทำงานอยากก็ให้รัฐบาลปิดไม่นาน และไม่อยากให้ใครติดเชื้ออีก คนจะได้กลับมาทำงาน

แต่หากรัฐบาลยังปิดต่อ คนไม่ได้ทำงาน มีรายได้เพียงครึ่งเดียวหรือรัฐบาลช่วยเยียวยาประมาณหนึ่ง คนงานก็คงไม่ไหว หลายคนคงมีความคิดอยากลาออก เพราะแต่ละคนก็มีภาระต้องดูแลครอบครัว ต้องจ่ายค่ารถ ค่าบ้าน แต่หากถามต่อไปว่า ลาออกแล้วจะไปทำงานที่ไหน ในช่วงวิกฤติแบบนี้ก็คงหางานยาก ยอมรับว่าหลายคนที่มาจากต่างจังหวัด เมื่อเจอเหตุการณ์แบบนี้ก็คิดถึงบ้านเป็นธรรมดา เพราะที่บ้านไม่มีค่าใช้จ่ายก็ยังพอใช้ชีวิตอยู่ได้ หางานเล็กๆ น้อยๆ ทำ ดังนั้นถ้ารัฐบาลปิดต่อ เชื่อว่าหลายคนคงกลับบ้านแน่นอน"

...

สิ่งที่ตนอยากฝากถึงรัฐบาลคือ อยากให้รัฐบาลเข้มแข็ง แม้จะมีการเยียวยาเบื้องต้น แต่สิ่งที่คนอยากได้ก็คือการใช้ชีวิตอย่างปลอดภัย อยากให้เร่งนำวัคซีนที่มีประสิทธิภาพเข้ามาในประเทศไทย ฉีดให้เยอะที่สุด เพื่อให้คนทำงานแล้วรู้สึกปลอดภัย เพราะตอนนี้ไปไหนก็ระแวงไปหมด ที่สำคัญคืออยากให้มีมาตรการพักหนี้ เพราะคนทำงานมีภาระค่ารถ ค่าบ้าน ลำพังค่ากิน แต่ละคนไม่ได้เยอะเท่ากับหนี้สิน

แรงงานเมียนมา ทยอยกลับประเทศบ้านเกิด รอวันกลับมาทำงานที่ไทย


นอกจากกระระบาดของโควิด-19 จะส่งผลกระทบต่อคนไทยแล้ว แรงงานต่างชาติที่เข้ามาทำงานในประเทศไทยก็ได้รับผลกระทบไม่ต่างกัน จากการสอบถาม พี่เล็ก แรงงานชาวเมียนมาที่เดินทางมาทำงานที่กรุงเทพฯ เปิดเผยว่า ตนมาทำงานที่ประเทศไทย ตั้งแต่อายุ 14 จนตอนนี้อายุ 48 ปีแล้ว และช่วงนั้นงานในไทยสบาย ไม่ลำบากเหมือนตอนที่อยู่เมียนมา มากับลูกพี่ลูกน้อง 2 คน เริ่มจากทำงานเลี้ยงเด็กเล็ก ตอนนั้นข้าวของก็ยังไม่แพง มีเงินเก็บส่งกลับไปที่บ้าน ตอนนี้ได้ทำงานอยู่ร้านอาหาร ร้านนี้ทำได้ประมาณ 10 กว่าปีแล้ว

...

ช่วงที่เกิดการระบาดของโควิด-19 รอบแรก ตนเองกับคนอื่นๆ ยังไม่ได้รับผลกระทบเท่าไร เพราะอย่างน้อยก็ยังมีงานทำ มีข้าวกิน จนมาถึงโควิดรอบนี้ ตั้งแต่ช่วงเดือนเมษายน 2564 เป็นต้นมา ลูกพี่ลูกน้อง คนรู้จักที่เป็นชาวเมียนมาตกงานกันหลายคน โดยเฉพาะคนที่ทำงานโรงงาน

ยอมรับว่าสถานการณ์ในเมียนมาตอนนี้ไม่ค่อยสงบ คนที่กลับไปเมียนมาก็ไปทำไร่ทำนา หากสถานการณ์ที่ไทยดีขึ้นก็จะกลับมาหางานทำที่ไทยเหมือนเดิม เพราะค่าแรงที่ได้ต่างกันมาก ค่าแรงที่ไทยได้มากกว่า

แม้ว่าตนจะยังมีงานทำได้ค่าจ้าง แต่ก็แย่เหมือนกัน เพราะต้องรับภาระค่าใช่จ่ายทั้งค่ากินรายวัน ค่าเช่าห้อง และมีลูก 1 คน สามีที่เป็นคนไทยรายได้ก็ลดลง บางวันขับแท็กซี่ได้ 200 บาท บางวันแทบไม่ได้เลย

พี่เล็ก กล่าวว่า การที่ตนเป็นคนเมียนมา จึงไม่ได้รับมาตรการช่วยเหลือหรือเยียวยาจากรัฐบาลไทย ในส่วนนั้นทราบดีว่าไม่มีสิทธิ์อยู่แล้ว เพราะไม่มีบัตรประชาชนไทย จะมีก็เถ้าแก่ที่เป็นเจ้านายช่วยเหลือลูกน้องอย่างเราๆ ยิ่งคนที่เข้ามาทำงานผิดกฎหมาย ส่วนตัวมองว่าพวกเขายอมไปตายเอาดาบหน้าดีกว่า เพราะตอนนี้ที่เมียนมาก็ไม่มีอะไรแน่นอน อยู่ไปก็ตาย คนในเมียนมาเขาไม่ค่อยกลัวโควิดกันเท่าไรนะตอนนี้ สิ่งสำคัญที่กลัวมากกว่า คือ กลัวตายจากเหตุไม่สงบ

เมื่อถามถึงความสนใจของคนรุ่นใหม่ในเมียนมายังอยากมาทำงานที่ไทยอีกหรือไม่ พี่เล็ก เปิดเผยว่า เท่าที่ตนทราบมา เด็กรุ่นใหม่ๆ ยังอยากมาทำงานที่ไทยอยู่ ถ้ามีโอกาสก็จะมาแน่นอน เพราะที่เมียนมาตอนนี้ยิ่งแย่ เพียงแต่ช่วงนี้ยังมากันไม่ได้ หลายคนรอให้ผ่านปีนี้ไปก่อน

"สำหรับเรื่องสิทธิที่อยากได้ ถ้าเรามีสิทธิที่จะพูด ส่วนตัวก็อยากให้คนที่แต่งงานกับคนไทยเมื่อมีลูกแล้ว อยากได้สัญชาติไทยและสามารถอยู่ประเทศไทยกับลูกได้โดยไม่ต้องทำวีซ่า หรือใบขออนุญาตทำงาน เพราะว่าตัวเราเองมีแฟนเป็นคนไทยและมีลูกด้วยกันหนึ่งคน อยากให้รัฐออกกฎหมายเรื่องพวกนี้ใหม่

...

ที่สำคัญคือ วีซ่าของตนจะหมดอายุเดือนกรกฎาคมนี้ และไม่สามารถต่อได้เพราะไม่มีทะเบียนบ้าน บ้านที่เมียนมาไม่มีใครอยู่แล้ว หากต่อวีซ่าตอนนี้ก็คือต่อไม่ได้ ยังไม่รู้เหมือนกันว่าต้องทำอย่างไร"

ผู้เขียน : J. Mashare

กราฟฟิก : Sathit Chuephanngam