สภาพอากาศร้อนสลับกับมีฝนตกในระยะนี้ กรมวิชาการเกษตรกร เตือนผู้ปลูกมะลิควรระวังการระบาดของ หนอนเจาะดอกมะลิ ที่มักจะมีการเข้าทำลายในระยะที่ต้นมะลิออกดอก

โดยมีหนอนผีเสื้อตัวเมียขนาดเล็ก ลำตัวมีลายสีน้ำตาล มีปีก 2 คู่ สีน้ำตาลและมีรอยด่าง ปลายปีกไม่เรียบ บินมาวางไข่เป็นฟองเดี่ยวๆตามกลีบดอก ก้านกลีบเลี้ยงใต้ใบหรือยอดอ่อน ไข่มีลักษณะสีเหลืองใสรูปร่างรี มีระยะฟักไข่ 2-4 วัน เมื่อแรกฟักออกจากไข่ตัวหนอนจะมีสีเหลือง แต่เมื่อโตเต็มที่ลำตัวมีสีเขียวเป็นปล้องๆ มีระยะเป็นตัวหนอน 6-9 วัน จากนั้นจะเข้าดักแด้ตามบริเวณกองเศษใบมะลิที่ร่วงหล่นอยู่ตามโคนต้น 4-6 วัน ก่อนจะกลายเป็นผีเสื้อตัวเต็มวัย ผสมพันธุ์แพร่กระจายพันธุ์ตัวหนอนเจาะดอกมะลิไปเป็นวัฏจักร

การเข้าทำลาย เมื่อตัวหนอนฟักออกจากไข่จะเข้าทำลายในระยะดอกตูมที่มีขนาดเล็ก หนอนจะเจาะดอกเข้าไปกัดกินเกสรอยู่ภายในดอก เกษตรกรสามารถสังเกตลักษณะการเข้าทำลายของหนอนได้จากอาการของดอกมะลิเป็นรอยช้ำ จะเห็นมูลของหนอนเป็นขุยๆอยู่ภายใต้ดอก สีของดอกมะลิจะเปลี่ยนเป็นสีม่วง สีน้ำตาลแห้ง เหี่ยวแห้ง และร่วงหล่น

กรณีถ้าต้นมะลิไม่มีดอก หนอนจะเข้าทำลายกัดกินใบอ่อนหรือยอดอ่อน หากระบาดรุนแรงจะทำให้เกษตรกรไม่สามารถเก็บดอกมะลิขายได้

แนวทางในการป้องกันและกำจัด หากพบการเข้าทำลายของ หนอนเจาะดอกมะลิ ให้เกษตรกรพ่นด้วยสารฆ่าแมลง ฟิโพรนิล 5% เอสซี อัตรา 40 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร ฉีดพ่นสารทุก 4 วัน แต่ไม่ควรพ่นสารฆ่าแมลงชนิดเดียวติดต่อกันหลายครั้ง เพราะจะทำให้ หนอนเจาะดอกมะลิ ดื้อต่อสารฆ่าแมลงได้รวดเร็ว

สำหรับในแหล่งที่หนอนเจาะดอกมะลิดื้อต่อสารเคมี ให้ใช้อัตราส่วนของสารเคมีที่สูงขึ้น และให้เกษตรกรเลือกใช้สารเคมีที่มีประสิทธิภาพในการป้องกันกำจัดหนอนเจาะดอกมะลิ ไม่ให้เข้าทำลายผลผลิตให้เกิดความเสียหายได้ตามความเหมาะสม.

...

สะ-เล-เต