นับเป็นปรากฏการณ์พลิกความคาดหมาย แต่สร้างความดีอกดีใจให้เกษตรกรพี่น้องชาวสวนปาล์มน้ำมันเป็นยิ่งนัก...ปีนี้ ราคาปาล์มน้ำมันในช่วง 3 เดือน (เม.ย.-มิ.ย.) ที่มีผลผลิตออกมามากที่สุดของปี กลับไม่ตกต่ำเหมือนที่แล้วๆมา

ราคาเฉลี่ย 5 เดือนแรก กลับพุ่งขึ้นไปยืนที่ กก.ละเกือบ 6 บาท...ทั้งที่ปกติช่วงนี้ราคาจะไม่ถึง กก.ละ 3 บาท

หลายคนอาจจะมองไปว่า นี่น่าจะเป็นผลงานของนโยบายประกันรายได้ ที่กำหนดถ้าเกษตรกรขายได้ต่ำกว่า 4 บาท รัฐบาลจะจ่ายส่วนต่างให้...แต่เปล่าเลย เพราะนับแต่รัฐบาลได้มีโครงการประกันรายได้มาตั้งแต่ปลายปี 2562 จนถึงปัจจุบัน รัฐบาลได้ควักจ่ายค่าชดเชยแค่ 6 เดือนเท่านั้น

หลังจากนั้นแทบไม่ต้องควักจ่ายค่าชดเชยเลย เพราะราคาปาล์มพุ่งเกินราคาประกันรายได้

เกิดอะไรขึ้นกับวงการปาล์มน้ำมัน ทำไมราคาถึงได้พุ่งสวนทางทฤษฎีอุปสงค์อุปทาน...สินค้าออกมามากแทนที่ราคาจะร่วง ราคากลับพุ่งสวนทาง

นี่ต้องบอกว่า เป็นผลงานในการบริหารจัดการปาล์มน้ำมันในรูปแบบใหม่ของ คณะกรรมการนโยบายปาล์มน้ำมันแห่งชาติ (กนป.) ที่มี พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี นั่งเป็นประธาน ที่ได้ตั้งคนดีมีฝีมือมาทำเป็นมือไม้และมันสมองมาตั้งแต่กลางปี 2562 นั่นคือ พล.ต.อ.ธรรมศักดิ์ วิชชารยะ อดีตมือปราบการค้ามนุษย์ และ ดร.บุรินทร์ สุขพิศาล ผู้เชี่ยวชาญด้านนวัตกรรมแปรรูปปาล์มน้ำมันและโอเลโอเคมี มาเป็นทีมงานเฉพาะกิจในการคิดหาวิธีปฏิรูปการจัดการปาล์มน้ำมันใหม่

...

พบว่า ราคาปาล์มน้ำมันที่เกษตรกรขายได้ตกต่ำ เกิดจากความผันผวนของผลผลิตและความไม่สมดุลของสต๊อก ที่กลุ่มโรงงานหีบปาล์มน้ำมัน กับคลังเก็บน้ำมันปาล์ม อาจมีการฮั้วกักตุนน้ำมันให้ล้นสต๊อกเพื่อจะได้อ้างเหตุผลในการกดราคารับซื้อ หรือหยุดรับซื้อปาล์มน้ำมัน

และนับตั้งแต่ทีมงานใหม่ได้เข้ามารับงานตั้งแต่ครึ่งหลังของปี 2562 เป็นต้นมา ได้มีการกำหนดมาตรการใหม่ๆออกมาเพื่อจัดการกับเรื่องสต๊อกไม่ให้ล้นตลาด

จากเดิมทีในการบริหารจัดการปาล์มน้ำมัน แม้จะมีการกำหนดไว้ว่า สต๊อกน้ำมันปาล์มในประเทศควรจะอยู่ที่ระดับ 2.5 แสนตันก็ตาม แต่ในทางปฏิบัติแทบจะคุมสต๊อกไม่ได้ 5-6 ปีที่ผ่านมา สต๊อกมักอยู่ในระดับสูงกว่าระดับที่เหมาะสมเสมอ

เพราะมีการปล่อยให้เป็นไปตามธรรมชาติ และพอถึงช่วงเวลาที่ผลผลิตปาล์มออกมามาก มันเลยล้นตลาดตามข้ออ้างของกลุ่มพ่อค้า พอเกษตรกรขายปาล์มไม่ได้ โรงงานไม่อยากรับซื้อ หรือหยุดรับซื้อ รัฐบาลจะใช้วิธีแทรกแซงการรับซื้อทุกปีไป

ดังจะเห็นได้ว่าตั้งแต่ปี 2560 เป็นต้นมา โดยเฉพาะในปี 2562-2563 มีน้ำมันปาล์มอยู่ในสต๊อกมากกว่า 5 แสนตัน เกินกว่าระดับที่ กนป.กำหนดไปกว่า 2 เท่าตัว

แต่เมื่อทีมงานใหม่ของ พล.อ.ประวิตร เข้าปฏิรูปการบริหารจัดการ หลายอย่างได้เปลี่ยนไป เริ่มแรกแก้ปัญหาเฉพาะหน้า...ลดสต๊อก 5 แสนกว่าตันให้เข้าสู่ภาวะปกติให้ได้เป็นการเร่งด่วน

มาตรการที่ออกมามีตั้งแต่ เร่งรัดการส่งออกน้ำมันปาล์ม นำน้ำมันปาล์มมาผลิตเป็นไฟฟ้า พร้อมทั้งปรับเปลี่ยนมาตรฐานน้ำมันดีเซลใหม่ จากเดิม B7 เป็นดีเซลมาตรฐาน ดันให้ B10 เป็นดีเซลมาตรฐานแทน พร้อมกระตุ้นให้ขับเคลื่อนการเร่งยอดขายที่อืดเป็นเรือเกลือ...เลยส่งผลให้ราคาปาล์มน้ำมันที่เกษตรกรขายได้มีราคาพุ่งสูงขึ้นมาตามลำดับ

ที่สำคัญก่อนจะถึงฤดูผลผลิตปาล์มจะออกมามากในช่วงไตรมาสสอง (เม.ย.-มิ.ย.) ที่จะมีผลผลิตออกมามากถึง 40% ของผลผลิตรวมทั้งปี และเป็นช่วงที่พ่อค้าจะใช้เป็นโอกาสทองกดราคารับซื้อจากเกษตรกร ทำให้น้ำมันปาล์มล้นสต๊อกเหมือนเดิม

ทีมงานเฉพาะกิจคาดการณ์ไว้แล้วว่าสถานการณ์นี้จะต้องเกิดขึ้นแน่ เพราะมีมาทุกปี เพื่อไม่ให้วงจรอุบาทว์เอาเปรียบเกษตรกรวนกลับมาอีก จึงงัดกลยุทธ์เด็ด เร่งลดสต๊อกน้ำมันปาล์มออกไปก่อนจะถึงฤดูปาล์มน้ำมันล้นตลาดมาตั้งแต่ปลายปี 63 และต้นปี 2564

...

จากกลางปี 2563 สต๊อกน้ำมันปาล์มมีอยู่ที่ 5 แสนตัน...ลดลงมาเหลือ 9.6 หมื่นตัน ในเดือน ก.พ.64 ต่ำสุดในประวัติศาสตร์ของวงการ เพื่อให้สต๊อกน้ำมันปาล์มมีพื้นที่ว่างเหลือรองรับผลผลิตที่จะออกมามากในช่วงพีก พ่อค้าจะได้ไม่มีข้ออ้างหยุดรับซื้อปาล์มจากชาวบ้าน

แต่การจะทำอย่างนี้ได้ ไม่ใช่เรื่องง่ายๆ เพราะมีผลประโยชน์มากมายซ่อนอยู่เบื้องหลัง แถมยังจะมีหมากเล่ห์กลในทางธุรกิจที่คอยขย่มปล่อยข่าวออกมาเป็นระลอกๆตลอดเวลา อ้างว่าลดสต๊อกไปมากๆ จะทำให้น้ำมันปาล์มทอดไข่ ของผู้บริโภคขาดตลาด ราคาน้ำมันปาล์มขวดแพงขึ้นชาวบ้านจะเดือดร้อน ซึ่งพ่อค้าสามารถสร้างสถานการณ์แบบนี้ให้เกิดขึ้นได้อย่างไม่ยากเย็น เพราะระบบราชการของบ้านเราเป็นเช่นไรรู้กันดี

แต่กระนั้นด้วยความใจแข็งของ พล.อ.ประวิตร ที่ไม่ยอมเผลอใจให้ถูกลักหลับปล่อยให้มีการนำเข้าน้ำมันปาล์มจากต่างประเทศ ตามสถานการณ์ที่ถูกพ่อค้าปั้นแต่ง ยังคงแข็งใจทำตามคำแนะนำของทีมงานเฉพาะกิจ...ปีนี้พี่น้องชาวสวนปาล์มจึงยิ้มได้อย่างน่าชื่นตาบานได้อย่างน่าอัศจรรย์.

ชาติชาย ศิริพัฒน์