“จากเทรนด์การบริโภคของคนรุ่นใหม่ หันมานิยมใช้สมุนไพรเป็นทางเลือกดูแลสุขภาพมากขึ้น ประกอบกับกระแสค่านิยมการบริโภคอาหารปลอดภัย ทั้งตลาดในประเทศและต่างประเทศ ส่งผลตลาดสมุนไพรและผลิตภัณฑ์สมุนไพรไทย มีอัตราการเติบโตเพิ่มขึ้นทุกปี ช่วงปี 2560-2563 โตขึ้นถึงปีละ 10% กระทรวงเกษตรฯ จึงมองว่าน่าจะเป็นโอกาสทองส่งเสริมให้เกษตรกรไทย ปลูกสมุนไพรให้มากขึ้น เพื่อสร้างรายได้และอาชีพที่ยั่งยืน มั่นคงแก่เกษตรกรไทยในภาวะวิกฤติเศรษฐกิจ โดยเฉพาะสถานการณ์โควิด-19”

นายทองเปลว กองจันทร์ ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ บอกถึงนโยบายของกระทรวง เพื่อรองรับความต้องการของตลาดสมุนไพรไทย ที่เติบโตอย่างต่อเนื่อง... กระทรวง เตรียมเร่งเดินหน้าขับเคลื่อนส่งเสริมการปลูกสมุนไพรไทยให้เกษตรกรอย่างต่อเนื่อง โดยจะมอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องบูรณาการร่วมกัน เพื่อผลิตพืชสมุนไพรที่มีคุณภาพได้มาตรฐานสอดคล้องกับความต้องการตลาด ที่มีแนวโน้มเติบโตสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยส่วนหนึ่งเกิดจากนโยบายส่งเสริมให้โรงพยาบาลรัฐ ใช้พืชสมุนไพรรักษาควบคู่กับยาแผนปัจจุบัน

...

เห็นได้จากข้อมูลปี 2562 การบริโภควัตถุดิบสมุนไพรและผลิตภัณฑ์สมุนไพรภายในประเทศ ที่มีมูลค่าสูงถึง 52,100 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 2560 ที่มีมูลค่าเพียง 43,100 ล้านบาท

สำหรับผลการดำเนินงานเกี่ยวกับพืชสมุนไพรของกระทรวงเกษตรฯที่ผ่านมา ปัจจุบันมีพื้นที่ปลูกสมุนไพรที่ได้มาตรฐาน 64,917 ไร่ จำนวน 80 ชนิด แบ่งเป็นพื้นที่มาตรฐาน GAP 54,755 ไร่ พื้นที่มาตรฐาน Organic Thailand 13,162 ไร่ กลุ่มวิสาหกิจชุมชน กลุ่มเกษตรกร สหกรณ์ ได้รับการส่งเสริมการแปรรูปหลังการเก็บเกี่ยว 60 กลุ่ม มีการจัดทำมาตรฐานสินค้า GAP และมาตรฐานพืชสมุนไพร

นอกจากนี้ กรมส่งเสริมการเกษตรยังได้จัดทำฐานข้อมูลพื้นที่ปลูกพืชสมุนไพร เพื่อให้มีฐานข้อมูลพื้นที่ปลูกที่ชัดเจน รวมถึงส่งเสริมเกษตรกรรายย่อยที่ลงทะเบียนเกษตรกรแล้ว 2,866 ครัวเรือน ให้ผลิตในรูปแบบเกษตรแปลงใหญ่ ซึ่งปัจจุบันสามารถจัดตั้งกลุ่มเกษตรแปลงใหญ่สมุนไพรได้แล้ว 34 แปลง ใน 21 จังหวัด มีเกษตรกรสมาชิก 1,531 ราย คิดเป็นพื้นที่ 5,500 ไร่

ส่วนกรมพัฒนาที่ดิน จัดทำแผนที่ความเหมาะสมของที่ดิน สำหรับปลูกพืชสมุนไพร 24 ชนิด ได้แก่ ขมิ้นชัน ไพล บัวบก กระชายดำ ฟ้าทะลายโจร กระชายเหลือง กระวาน ข่า ขิง คำฝอย ตะไคร้ บุก พริกไทย ว่านชักมดลูก กระเจี๊ยบแดง เก๊กฮวย ดีปลี บอระเพ็ด พญายอ เพชรสังฆาต มะระขี้นก มะลิ มะแว้งเครือ และมะแว้งต้น รวมถึงมีแผนพัฒนาบุคลากร เพื่อตรวจสอบคุณภาพวัตถุดิบ ปรับปรุงห้องปฏิบัติการที่ได้รับรองมาตรฐาน

...

ขณะที่แผนรองรับด้านการตลาด ที่ผ่านมาได้จัดทำตลาดกลางโดยทำ MOU ระหว่างกรมส่งเสริมการเกษตร กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กระทรวงสาธารณสุข และบริษัท ไทยแอ็กโกร เอ็กซเชนจ์ จำกัด (ตลาดไท) เป็นโครงการตลาดไท select พืชสมุนไพรสดและเครื่องเทศสดปลอดภัย มีกำหนดการเปิดตลาดในปลายปี 2564 นี้ นอกจากนี้ สำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.) ยังได้จัดทำตลาดอิเล็กทรอนิกส์ภายใต้ชื่อ DGT Farm กลุ่มสินค้าพืชสมุนไพรมาตรฐาน GAP และมาตรฐานเกษตรอินทรีย์อีกด้วย

ปัจจุบันประเทศไทยมีสมุนไพรที่ได้รับการส่งเสริมให้เป็น Product Champion ที่กำลังเป็นที่นิยมของตลาดทั้งในและต่างประเทศ จำนวน 4 ชนิด คือ กระชายดำ ไพล บัวบก และขมิ้นชัน นอกจากนี้ ยังมีสมุนไพรอื่น ที่มีศักยภาพและเป็นที่ต้องการของตลาด เช่น กวาวเครือขาว มะขามป้อม กระชาย พริก ฟ้าทะลายโจร กระเจี๊ยบแดง หญ้าหวาน และว่านหางจระเข้ เป็นต้น.

กรวัฒน์ วีนิล