ยุคนิวนอร์มอลเช่นนี้โปรดจับตางานใหญ่ที่กำลังจะเกิดขึ้นในช่วงปลายเดือนพฤษภาคมนี้ นั่นก็คือ “THAIFEX-Virtual Trade Show (VTS)” งานออนไลน์คู่ขนานของงาน THAIFEX-ANUGA ASIA 2021 “The Hybrid Edition” งานแสดงสินค้าอาหารและเครื่องดื่ม ชั้นนำของเอเชีย
งานนี้กำหนดจัดในช่วงปลายเดือนกันยายน ในปีนี้ยังคงแนวทางการจัดงานแบบไฮบริดที่ผสมผสานทั้ง “ออฟไลน์” และ “ออนไลน์” เข้าด้วยกัน...งาน “THAIFEX-Virtual Trade Show (VTS)” วันที่ 25-29 พฤษภาคม 2564 จัดทำขึ้นภายใต้คอนเซปต์การเปิดโอกาสค้นหาสินค้า เจรจาการค้ากับผู้ผลิต...
ผ่านแพลตฟอร์ม Virtual Trade Show (www.thaifex-vts.com) ง่ายๆแค่ปลายนิ้ว โดยจะเริ่มกิจกรรมออนไลน์ตั้งแต่เดือนพฤษภาคม ไล่ยาวไปจนถึงเดือนกันยายน 2564 คู่ขนานกับการจัดงานออฟไลน์ THAIFEX-ANUGA ASIA 2021 “The Hybrid Edition” ที่กำหนดจัดระหว่างวันที่ 29 ก.ย.-3 ต.ค.2564
ลงลึกในรายละเอียดกันสักนิดเพื่อเปิดโลก...THAIFEX-Virtual Trade Show (VTS) มุ่งเน้นการขยายโอกาสให้ผู้ประกอบการไทยได้แสดงสินค้าให้ผู้ซื้อจากทั่วโลก เข้าชมตลอด 24 ชั่วโมง ผ่านเว็บไซต์ www.thaifex-vts.com ที่ให้ความรู้สึกเสมือนได้เดินชมงานจริง สามารถดูรายละเอียดสินค้าได้แบบ 360 องศา
...
ที่สำคัญ...สามารถเจรจาธุรกิจกับผู้ประกอบการไทยผ่าน Virtual Business Matching (VBM) รวมทั้งพูดคุยผ่านการ Chat, Call, VDO Call ตลอด 24 ชั่วโมง
สมเด็จ สุสมบูรณ์ อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (DITP) อธิบายว่า นี่คือความสำคัญที่จะช่วยให้ธุรกิจการค้าสามารถดำเนินต่อไปได้ เปิดช่องทางให้ธุรกิจเชื่อมต่อกัน
งานแสดงสินค้าเสมือนจริงเป็นแพลตฟอร์มออนไลน์ให้ผู้ซื้อ...ผู้นำเข้า คู่ค้า และนักธุรกิจต่างประเทศ ได้พบปะเจรจากับผู้ประกอบการอาหารและเครื่องดื่มของไทย ที่เข้าร่วมงาน THAIFEX–ANUGA ASIA 2021 “The Hybrid Edition” โดยคัดสรรบริษัทชั้นนำหลายร้อยบริษัทมาจัดแสดงนวัตกรรมและสินค้าใหม่ๆ
ที่สามารถตอบสนองไลฟ์สไตล์ของผู้บริโภคยุคนิวนอร์มอล พร้อมเปิดเจรจาการค้าผ่านวิดีโอคอล ซึ่งจะเป็นมาตรฐานใหม่ของงานแสดงสินค้าในอนาคต และแพลตฟอร์มจะเปิดให้ใช้บริการ พร้อมจัดกิจกรรมพิเศษอย่างต่อเนื่องยาวจนถึงวันจัดงานแบบออฟไลน์ในช่วงปลายเดือนกันยายนถึงต้นเดือนตุลาคม 2564
คอมพิวเตอร์ตั้งโต๊ะ คอมพิวเตอร์แบบพกพา แท็บเล็ต โทรศัพท์มือถือ เปิดทุกช่องทางการใช้งานบนอุปกรณ์หลากหลาย เพื่อให้ “THAIFEX-Virtual Trade Show (VTS)” เป็นแพลตฟอร์มแห่งอนาคตของสินค้าอาหารและเครื่องดื่มที่รองรับการเจรจาธุรกิจได้เต็มศักยภาพ อีกทั้งเพิ่มช่องทาง การจับคู่เจรจาการค้า...
ด้วยระบบ VOOV Meeting สำหรับคู่ค้าในประเทศจีน และรองรับการเจรจาการค้ามากกว่า 4 คน ภายใน 1 ห้อง อาทิ ล่ามแปลภาษา ผู้มีอำนาจตัดสินใจ ตลอดจนมีระบบกระดานสนทนาสำหรับประกาศซื้อ-ขาย ให้ติดต่อกลับได้ และระบบแนะนำสินค้า...บริษัท ให้กับ “ผู้ซื้อ” และ “ผู้นำเข้า” ค้นหากันได้ง่ายขึ้น
ในยุคของการแพร่ระบาดของไวรัส “โควิด-19” ได้สร้างข้อจำกัดมากมาย ในการใช้ชีวิต โดยเฉพาะเรื่องการเดินทางที่ถูกจำกัดด้วยมาตรการป้องกันการติดเชื้อ ไม่ว่าจะเป็นการเดินทางเพื่อการท่องเที่ยว หรือ...เพื่อทำมาค้าขาย ทำธุรกิจ เจรจาการค้า ที่ต่างได้รับผลกระทบถ้วนหน้า
ทำให้ทุกภาคส่วนทั้ง “ภาครัฐ” และ “เอกชน” ต่างคิดค้นหาวิธีการ รวมทั้งปรับกลยุทธ์แนวทางดำเนินงาน เพื่อทลายอุปสรรคนานาประการ ให้แผนงานสามารถเดินหน้าต่อไปได้ไม่สะดุด
ปัจจัยตัวแปรทั้งหมดเหล่านี้เลี่ยงไม่ได้เลยที่ “การค้าขายระหว่างประเทศ” จะหันมาใช้รูปแบบออนไลน์กันมากขึ้น นับรวมไปถึงงานจัดแสดงสินค้านานาชาติ ก็หันมาจัดในรูปแบบ
...
“Virtual” หรือ “เสมือนจริง” ซึ่งปรากฏการณ์ที่ว่านี้เกิดขึ้นตั้งแต่ปี 2563 ต่อเนื่องอย่างเข้มข้นมาถึงปีนี้
ในปี 2564 กระทรวงพาณิชย์มีนโยบายเดินหน้าผลักดันการค้าออนไลน์ในรูปแบบต่างๆ โดยมีโครงการสำคัญต่างๆไม่ว่าจะเป็น...โครงการปั้นเด็ก Gen Z to be CEO ที่ทำต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี 2563...
การผลักดันผู้ผลิตและผู้ส่งออกให้เป็นผู้ค้าออนไลน์...การสร้างยี่ปั๊วออนไลน์ เพื่อให้เป็นฟันเฟืองเชื่อมโยงสินค้าของ SMEs รายเล็กเข้าสู่ช่องทางออนไลน์สู่ตลาดต่างประเทศ ฯลฯ
จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ บอกว่า กระทรวงได้มอบหมายให้กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ จัดทำแผนการขับเคลื่อนการส่งออกในปี 2564 โดยเน้นการทำงานเชิงรุกผ่านรูปแบบ ผสมผสานระหว่าง...“ออนไลน์” และ “ออฟไลน์”
“เราพยายามที่จะรุกหนักตลอดปีนี้ โดยเฉพาะภูมิภาคอาเซียนที่เป็นตลาดสำคัญ เพื่อกระตุ้นความต้องการสินค้าไทย เพื่อให้การทำงานภายใต้สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ยังสามารถดำเนินไปได้อย่างมีประสิทธิภาพ สร้างความต้องการสินค้าไทยให้เกิดขึ้นในตลาดต่างประเทศ”
แน่นอนว่า...จะส่งผลดีต่อการ “ส่งออก” ที่จะ “ขยายตัว” เพิ่มขึ้น
จุรินทร์ ย้ำว่า ปีนี้กรมได้เดินหน้าจัดงานแสดงสินค้าต่างๆในรูปแบบผสมผสาน (Hybrid) ทลายข้อจำกัดในการเดินทาง โดยปรับรูปแบบให้เหมาะสมกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้น ซึ่งเป็นความตั้งใจของท่านนายกรัฐมนตรีกับกระทรวงที่ไม่ยอมแพ้ แต่ยังมุ่งมั่นที่จะส่งเสริมการค้าขาย การส่งออก
...ให้ยังสามารถเดินหน้าต่อไปได้ ในรูปแบบการจัดแสดงสินค้าออนไลน์เสมือนจริง รวมถึงการซื้อขายออนไลน์กับคู่ค้าในต่างประเทศ โดยใช้เทคโนโลยีที่พัฒนาต่อเนื่องมาจากปีก่อน
...
สำหรับงานจัดแสดงสินค้านานาชาติต่างๆที่จัดขึ้นตลอดปีนี้ ผ่านช่องทางออนไลน์ จะมีความเข้มข้นเป็นพิเศษ ทั้งการจัดกิจกรรมเจรจาการค้าผ่านช่องทางออนไลน์ (Online Business Matching : OBM) ในกลุ่มสินค้าที่เป็นความต้องการของตลาดโลก “ทุกกลุ่มสินค้า” และ “ทุกตลาด”...
ตลอดจนความร่วมมือกับแพลตฟอร์มออนไลน์ชื่อดังส่งเสริมการขายสินค้าไทย เช่น Tmall Global ประเทศจีน, Amazon ของสหรัฐฯ, BIG Basket ของอินเดีย, Klangthai กัมพูชา และ Coupang เกาหลีใต้
พร้อมๆกับเดินหน้าจัดกิจกรรมช่องทางใหม่ๆที่ได้ริเริ่มไว้ในปี 2563 อย่างต่อเนื่อง อาทิ การจัดงานแสดงสินค้าในรูปแบบ Mirror-Mirror (M&M) ที่นำสินค้าไทยไปจัดแสดงในประเทศเป้าหมาย ให้ทูตพาณิชย์เป็นผู้ขาย...เปิดให้มีการเจรจาซื้อขายผ่านออนไลน์และการจัดงานแสดงสินค้าในรูปแบบไฮบริดทั้งออฟไลน์...ออนไลน์
ส่วนของงานแสดงสินค้าสำคัญอื่นๆ ปีนี้จะใช้การจัดแสดงการค้าในรูปแบบ Virtual Trade Show (VTS) ต่อเนื่องจากปีที่แล้ว ซึ่งได้รับการตอบรับอย่างดีจากมูลค่าการซื้อขายที่เกิดขึ้น โดยใช้ประโยชน์จากแพลตฟอร์มออนไลน์ เป็นช่องทางถ่ายทอดคอนเทนต์ภายในงานผ่านการไลฟ์สตรีมมิงกิจกรรมต่างๆในงาน
...
รวมถึงเปิดให้คู่ค้าทำการตกลงเจรจา หรือสั่งซื้อสินค้าผ่านช่องทางออนไลน์ได้ทันทีนำมาสู่การสร้าง...“ยอดขาย” และ “โอกาส” ทางธุรกิจใหม่ๆ ได้ไม่แพ้กับการจัดแสดงสินค้าแบบ...“ออฟไลน์”
วิกฤติโควิด-19...ท่ามกลางวิถีนิวนอร์มอล ทุกชีวิตยังต้องเดินหน้าต่อไป...“กระทรวงพาณิชย์” หยุดไม่ได้ที่จะต้องผลักดันมูลค่าการค้า การส่งออกของไทย ให้เติบโตสวนกระแส
หากสามารถปรับตัวได้เร็ว...ตรงจุด ก็สามารถพลิกวิกฤติให้เป็นโอกาสได้ไม่ยาก...นี่คือบทพิสูจน์ใหญ่ที่สำคัญยิ่ง.