ครม.ไฟเขียวรถยนต์ส่วนบุคคลไม่เกิน 7 คน จดทะเบียนให้บริการขนส่งผู้โดยสารรับจ้าง ผ่านแอปพลิเคชันถูกต้องตาม ก.ม. หลัง "ศักดิ์สยาม" ผลักดันนโยบายเร่งด่วนตลอด 1 ปี 10 เดือน ด้าน "ขนส่ง" เร่งออกประกาศกำหนดหลักเกณฑ์แล้ว เสร็จภายใน 30 วัน หลังจากกฎกระทรวงฯ มีผลบังคับใช้

เมื่อวันที่ 25 พ.ค.64 นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันนี้ (25 พ.ค.) มีมติอนุมัติร่างกฎกระทรวงว่าด้วยรถรับจ้างบรรทุกผู้โดยสารไม่เกินเจ็ดคน ผ่านระบบอิเล็กทรอนิสก์ พ.ศ. .... โดยเป็นการอนุญาตให้รถยนต์ส่วนบุคคลมาจดทะเบียนเปลี่ยนประเภทเป็นรถยนต์รับจ้าง โดยการรับจ้างผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ เพื่อให้เป็นทางเลือกสำหรับประชาชนในการให้บริการ และส่งเสริมให้ผู้ขับรถยนต์ดังกล่าว สามารถประกอบอาชีพได้ถูกต้องตามกฎหมายต่อไป 

ทั้งนี้ เหตุผลและความจำเป็นในการออกร่างกฎกระทรวงดังกล่าวนั้น เนื่องจากปัจจุบันการให้บริการการเดินทางโดยการเรียกใช้บริการผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ เป็นที่นิยมของประชาชน ซึ่งรถยนต์ที่นำมาให้บริการบางส่วน ยังไม่สามารถนำมาจดทะเบียนได้ตามประเภทที่กฎหมายกำหนด ดังนั้นจึงเห็นสมควรกำหนดให้มีรถยนต์รับจ้างบรรทุกคนโดยสารไม่เกินเจ็ดคน ผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ขึ้นอีกแบบหนึ่งของรถยนต์รับจ้าง

...

นายศักดิ์สยาม กล่าวต่อว่า สำหรับขั้นตอนหลังจากนี้ กรมการขนส่งทางบก (ขบ.) จะต้องออกประกาศกําหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ เงื่อนไข การรับรองผู้ให้บริการ และแอปพลิเคชัน ที่จะนํามาให้บริการตามฐานอํานาจที่กําหนดในร่างกฎกระทรวงฉบับดังกล่าว โดยจะรับฟังความคิดเห็นผู้เกี่ยวข้องและออกประกาศ โดยใช้เวลาประมาณ 1 เดือน (30 วัน) หลังจากที่กฎกระทรวงมีผลใช้บังคับ ซึ่งกฎกระทรวงมีผลใช้บังคับนั้น จะต้องรอประกาศในราชกิจจานุเบกษา 

จากนั้นเมื่อผ่านขั้นตอน ขบ. ออกประกาศฯ แล้ว ผู้ให้บริการแอปพลิเคชัน จะต้องยื่นเอกสารการทำงานของแอปพลิเคชัน ก่อนที่คณะกรรมการ ขบ. จะพิจารณาคุณสมบัติผู้ให้บริการ และรายละเอียดทางเทคนิคของแอปพลิเคชัน เมื่อผ่านการพิจารณาแล้ว จะออกหนังสือรับรอง หลังจากนั้นจะเปิดลงทะเบียนของทั้งผู้ขับรถ และผู้โดยสาร ก่อนจะเริ่มเปิดให้บริการต่อไป ส่วนจะสามารถเปิดให้บริการได้เมื่อไหร่นั้น จะขึ้นอยู่กับความพร้อมของผู้ประกอบการ

ในส่วนของรายละเอียดในการดำเนินการของรถยนต์ส่วนบุคคลมาจดทะเบียนเปลี่ยนประเภทเป็นรถยนต์รับจ้างนั้น จะใช้แผ่นป้ายทะเบียนรถยนต์ส่วนบุคคลเดิม โดยให้นายทะเบียนเปลี่ยนประเภทการจดทะเบียน เป็นรถยนต์รับจ้างผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ในใบคู่มือจดทะเบียนรถ ขณะที่ ตัวรถ จะต้องมีอายุใช้งานได้ไม่เกิน 9 ปี แบ่งออกเป็น 3 ประเภท ได้แก่ 1.ขนาดเล็ก (เครื่องยนต์ 50-90 kW) 2.ขนาดกลาง (เครื่องยนต์ 90-120 kW) และ 3.ขนาดใหญ่ (เครื่องยนต์มากกว่า 120 kW) โดยจะมีลักษณะเป็นรถเก๋ง, แวน สองตอน หรือสามตอนก็ได้ ต้องมีการทำประกันภัยเพิ่มเติมคุ้มครองสวัสดิภาพของผู้โดยสาร และติดเครื่องหมายแสดงการใช้แอปพลิเคชันด้วย

ขณะที่ คนขับรถนั้น กำหนดให้จะต้องมีใบขับขี่สาธารณะ และผ่านการตรวจสอบประวัติอาชญากรรม จากสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) และใช้แอปพลิเคชันของผู้ให้บริการแอปพลิเคชันที่ผ่านการรับรองจาก ขบ. ขณะที่ อัตราค่าโดยสาร จะแบ่งเป็น รถขนาดเล็ก, กลาง มีค่าโดยสารไม่เกินอัตราของรถแท็กซี่ในปัจจุบัน ด้านรถขนาดใหญ่ มีค่าโดยสารไม่เกินอัตราของรถแท็กซี่ VIP ในปัจจุบัน โดยสามารถมีค่าบริการเพิ่มเติมกรณีอื่นได้ แต่ต้องไม่เกิน 200 บาท ทั้งนี้ รัฐมนตรีฯ จะเป็นผู้ประกาศกำหนดอัตราค่าโดยสาร

สำหรับรายละเอียดของแอปพลิเคชัน จะต้องเป็นแอปพลิเคชันสําหรับเรียกใช้บริการรถยนต์รับจ้างฯ ในส่วนของผู้ขับรถ จะต้องมีระบบยืนยันตัวตน เช่น Pin Code, Fingerprint, Face Scan เป็นต้น อีกทั้งมีระบบคํานวณเส้นทาง ระยะเวลา และค่าโดยสารโดยประมาณ มีระบบรับส่งข้อความ/โทรศัพท์กับผู้โดยสาร ในส่วนของผู้โดยสาร จะมีระบบลงทะเบียนผู้โดยสาร ระบบเรียกใช้งานรถยนต์รับจ้างแบบทันทีและแบบจองล่วงหน้า รวมถึงมีระบบคํานวณเส้นทาง ระยะเวลา และค่าโดยสารโดยประมาณ ระบบประเมินความพึงพอใจต่อผู้ขับรถ และระบบแจ้งเหตุฉุกเฉิน

...

ขณะที่ คุณสมบัติของผู้ให้บริการแอปพลิเคชันนั้น จะต้องเป็นนิติบุคคลที่จดทะเบียนในประเทศไทย มีทุนจดทะเบียนตามที่กำหนดในประกาศ (ไม่ต่ำกว่า 5 ล้านบาท) และต้องมีสถานที่ประกอบการในประเทศไทย รวมถึงมีความพร้อมในการให้บริการตลอด 24 ชั่วโมง และต้องไม่เคยถูกเพิกถอนในการได้รับอนุญาตเป็นผู้ให้บริการระบบ GPS ตามกฎหมายของ ขบ.

รายงานข่าวจากพรรคภูมิใจไทย ระบุว่า สำหรับการดำเนินการเรื่องดังกล่าวนั้น นับเป็นนโยบายเร่งด่วนตั้งแต่ที่ นายศักดิ์สยาม เข้ารับตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม อย่างเป็นทางการ เมื่อวันที่ 30 ก.ค.62 หรือผลักดันมาโดยตลอดกว่า 1 ปี 10 เดือนที่ผ่านมา พร้อมทั้งเป็นนโยบายของพรรคภูมิใจไทย ที่ระบุไว้ว่า การส่งเสริมนโยบายดังกล่าว จะเป็นการเพิ่มทางเลือกด้านการบริการให้กับประชาชนมากขึ้น โดยที่ราคาค่าบริการจะต้องเกิดความเป็นธรรม ทั้งผู้บริโภค และผู้ขับขี่แท็กซี่ด้วย.