ประเด็นแนวทางการรับมือ “โควิด-19 ระบาดระลอก 3” ที่กำลังมีความรุนแรงอยู่นี้ “การฉีดวัคซีนสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ให้เกิดขึ้นโดยเร็ว” จึงเป็นทางออกในการควบคุมการแพร่กระจายเชื้อโรค และยุติวิกฤติอันยืดเยื้อมาเป็นเวลากว่าปีนี้ได้ดีที่สุด

ทราบกันดีว่า “วัคซีน” สามารถลดการแพร่กระจายโรคได้ดีที่สุดแล้วยังช่วยลดความรุนแรงของโรคด้วย ในภาวะ “ประเทศไทย” เผชิญการระบาดอย่างหนักขณะนี้จำเป็นต้อง “ปูพรมฉีดวัคซีน” กระจายให้ได้มากที่สุด...ปัญหามีอยู่ว่า “ประชาชน” กลับไม่เชื่อมั่นสมัครใจเข้ารับ “ฉีดวัคซีน” จากการขาดข้อมูลครบถ้วนรอบด้าน ทำให้รู้สึกกังวลกลัววัคซีนบางยี่ห้อเกี่ยวกับ “ความปลอดภัย และประสิทธิภาพ” ในการป้องกัน

สังเกตจาก “เฟซบุ๊กหมอพร้อม” เปิดลงทะเบียนฉีดวัคซีนโควิด-19 สำหรับผู้สูงอายุ 11.7 ล้านคน และผู้ป่วย 7 โรคเรื้อรัง 4.3 ล้านคน ผ่านมาแล้วหลายวันยอดจองคิวก็ยังไม่เป็นไปตามเป้า ในวันที่ 18 พ.ค. มียอดจองสะสม 6,949,737 ราย แบ่งเป็นกรุงเทพฯ 750,252 ราย และต่างจังหวัด 6,199,485 ราย

...

แม้ว่า “รัฐบาล” ต่างออกมายืนยัน “วัคซีน” นำเข้าทุกชนิดมีประสิทธิภาพ ที่ได้รับการรับรองจากกระทรวงสาธารณสุข ที่ถูกใช้กันแพร่หลาย “มีผู้ฉีดไปแล้วหลายสิบล้านคน” ทั้งยังมีผู้เชี่ยวชาญทั่วโลก ยืนยันว่า วัคซีนโควิดทุกชนิดป้องกันการป่วยรุนแรงหากติดเชื้อ และป้องกันการเสียชีวิตได้เกือบร้อยเปอร์เซ็นต์

โอกาสการเกิดผลข้างเคียงนั้นมีน้อยมาก หากเปรียบเทียบกันกับโอกาสในการติดเชื้อโควิด-19 แล้วเสียชีวิตจากโรคนี้นั้นมีสูงกว่าการฉีดแล้วเกิดผลข้างเคียงหลายพันเท่า

เหตุนี้จำเป็นต้องเปิดเผย “ข้อเท็จจริงตรงไปตรงมา” ให้ประชาชนพิจารณาความเสี่ยง และคุณประโยชน์จากการฉีดวัคซีนนี้ มิเช่นนั้น “การลงทะเบียนกลุ่มประชาชนอายุ 18-59 ปี” อาจไม่เป็นตามเป้าเช่นกัน ที่เริ่มเปิดจองคิวตามสิทธิ์โรงพยาบาล วอล์กอินตามประกาศจังหวัด และหมอพร้อมในวันที่ 31 พ.ค.นี้

ตามกระแสความกังวลผลข้างเคียงจากการฉีดวัคซีนนี้ “ทีมสกู๊ปหน้า 1” สำรวจความคิดของประชาชนในความมั่นใจรับการฉีดวัคซีนครั้งนี้อย่าง “อิ้ง” พนักงานการตลาด บริษัทเอกชน อายุ 41 ปี บอกว่า

สถานการณ์ระบาดโควิด-19 ค่อนข้างน่ากลัวมาก ส่งผลให้การใช้ชีวิตเผชิญกับความระแวงอยู่ตลอด ต้องหลีกเลี่ยงออกจากบ้านถ้าไม่จำเป็น เพราะในครอบครัวมีผู้สูงอายุอาศัยร่วมอยู่ด้วยหลายคน

จนปลายเดือน เม.ย.ได้พบ “ลูกค้าภายหลังทราบติดเชื้อโควิด-19” ต้องถูกกักตัว 14 วัน นับแต่นั้นต้องป้องกันตัวเองเคร่งครัด เน้นพบเฉพาะ “ลูกค้าสำคัญ” ก่อนเข้าบ้านล้างมือ รีบอาบน้ำเปลี่ยนเสื้อผ้า

ตอนนี้ “การใช้ชีวิตมีต้นทุนสูงขึ้น” ต้องซื้อสิ่งป้องกันเชื้อโรค เช่น หน้ากากอนามัยเปลี่ยนทิ้งทุก 6 ชม. เจลแอลกอฮอล์ 2 ชนิด คือ แบบล้างมือ และแบบทำความสะอาดวัสดุ แต่ไม่นานมานี้ไปตลาดแห่งหนึ่ง กทม. ปรากฏพบ “คนตั้งวงดื่มสุราอย่างสบายใจ” ซึ่งเป็นพฤติกรรมไม่เหมาะสม ทำให้เสียความรู้สึกอย่างมาก

ประเด็น “การฉีดวัคซีน” อันเป็นความหวัง “คนไทย” กลับมีข้อกังวลต่อผลข้างเคียง เพราะไม่มีใครการันตีเกี่ยวกับประสิทธิภาพ และอันตรายที่อาจเกิดขึ้นชัดเจน ทำให้รู้สึกมีโอกาสเสี่ยงแพ้วัคซีนได้เสมอ

สาเหตุจาก “ข้อมูลวัคซีน” ออกมาหลายทิศทาง จนรู้สึก “สับสนหวั่นไหว” แต่ว่า “ส่วนตัวยินดีฉีดวัคซีนอยู่แล้ว” ไม่ว่าจะเป็น “วัคซีนซิโนแวค หรือแอสตราเซเนกา” เพราะไม่มีทางเลือกอื่นใดในสถานการณ์เช่นนี้ และก็เชื่อว่าวัคซีนทุกชนิดมีประสิทธิภาพลดความรุนแรงของโรคได้ดี

...

แต่อยากให้รัฐบาลการันตีความปลอดภัยด้วย มิใช่ลงชื่อฉีดเกิดผิดพลาดก็ไม่รับผิดชอบใดๆ

เช่นเดียวกับ แม่ประสพ อายุ 75 ปี ชาว จ.ศรีสะเกษ ลงทะเบียนรับฉีดวีคซีนเดือน มิ.ย. ยอมรับว่า ก่อนลงทะเบียนจองคิวฉีดวัคซีนก็ “นอนคิดทบทวนหลายคืน” เพราะกังวลเกี่ยวกับผลข้างเคียง มักปรากฏตามข่าวมี “ผู้เข้ารับการฉีดวัคซีน” เกิดผลข้างเคียงตั้งแต่อาการเล็กน้อยจนถึงระดับอาการรุนแรง

กลายเป็นการตอกย้ำให้ “ขาดความมั่นใจในประสิทธิภาพ” ไม่กล้าฉีดวัคซีนครั้งนี้ แต่ด้วยการระบาดระลอก 3 ค่อนข้างรุนแรงจาก “ยอดผู้ติดเชื้อ และเสียชีวิต” เพิ่มสูงต่อเนื่อง และไม่นานนี้ “ลูกหลานที่รับราชการ” ก็เพิ่งเข้ารับฉีดวัคซีนกันมาหลายคน แต่ก็ไม่มีอาการผลข้างเคียงใดๆ ทำให้เริ่มอุ่นใจขึ้นตามมา

อีกทั้งเท่าที่ติดตามข่าวสาร “ผู้มีผลข้างเคียงมักเป็นอาการเล็กน้อย” หากเทียบกับผลประโยชน์โดยรวมที่ได้รับจากวัคซีนถือว่า “คุ้มค่าต่อรักษาชีวิต” เพราะตัวเองอายุ 75 ปีแล้วหากต้องติดเชื้อโควิด-19 โอกาสมีชีวิตรอดก็น้อยเช่นกัน ทำให้ไม่มีทางเลือกอื่นแล้วจึงตัดสินใจลงทะเบียนฉีดวัคซีนในวันที่ 7 มิ.ย.นี้

ขณะที่ “นิติวัฒน์” อายุ 35 ปี โฟร์แมนบริษัทเอกชนควบคุมไซต์งานก่อสร้าง จ.ชลบุรี บอกว่า การระบาดครั้งนี้รุนแรงน่ากลัวมากเสมือน “เชื้อไวรัสกำลังคืบคลานเข้ามาใกล้ตัวทุกที” ทั้งยังคุมไซต์งานอยู่พื้นที่สีแดง และต้องสัมผัสคนงานต่างชาติตลอด ทำให้รู้สึกกังวลการติดเชื้อมากกว่าผลข้างเคียงจากการฉีดวัคซีน

เพราะเชื่อมั่นว่า “การฉีดวัคซีนย่อมมีประโยชน์ดีที่สุดในการป้องกันโรคระบาด” แม้มีกระแสข่าวเกี่ยวกับผลข้างเคียงอยู่บ้างก็เป็นเพียงกลุ่มน้อย ที่ไม่อาจทำให้หวั่นไหวในความตั้งเป้าฉีดวัคซีนป้องกัน

...

จริงๆแล้ว... “นอนนับวันรอลงทะเบียนฉีดด้วยซ้ำ” เพราะต้องออกทำงานมีโอกาสเสี่ยงติดโควิด-19 “นำเชื้อไปสู่ครอบครัว” ดังนั้น “ขอฉีดวัคซีนป้องกันก่อนดีกว่าแก้กันทีหลัง” ที่ไม่คุ้มค่าเกิดขึ้นก็ได้

ผศ.ดร.สิงห์ สิงห์ขจร ประธานหลักสูตรดุษฎีบัณฑิตสาขาวิชานวัตกรรมการจัดการการสื่อสาร มรภ.บ้านสมเด็จเจ้าพระยา บอกว่า คนไทยขาดความเชื่อมั่นในการฉีดวัคซีนนี้ ส่วนหนึ่งมาจาก “ความเชื่อถือต่อภาครัฐ” เพราะประชาชนเข้าถึงข่าวสารหลากหลายกว่าอดีต มีทั้งข้อมูลลึกรู้จริงที่มีความน่าเชื่อถือเต็มไปหมด

ตอกย้ำการนำ “ข้อมูลวัคซีนในไทย” มาเปรียบเทียบ “วัคซีนชนิดอื่น” ถูกผลิตในหลายประเทศ โดยเฉพาะวัคซีนในกลุ่มประเทศตะวันตก ต่างมีกระแสยอมรับด้านประสิทธิภาพ และความปลอดภัยสูง กลายเป็นทางเลือกให้คนเกิดการตั้งคำถามขึ้นมามากมาย อันมีจุดประสงค์ต้องการวัคซีนที่ดีกว่าที่มีอยู่ขณะนี้

ดังนั้น “การสื่อสารจะมีความสำคัญ” ที่ช่วยสร้างความน่าเชื่อถือให้ “คนไทย” กล้าตัดสินใจเข้าถึงวัคซีนได้มากยิ่งขึ้นก็ได้

...

เรื่องนี้ก็มีความเห็นส่วนตัวเชื่อมั่นว่า “วัคซีนถูกผลิตขึ้นในเอเชีย” น่าจะถูกพิสูจน์ทดสอบกับกลุ่มตัวอย่าง “คนเอเชีย” ทำให้มีความเหมาะสมกับคนแถบนี้เป็นหลักสำคัญ ในส่วน “วัคซีนชาติตะวันตก” แม้มีประสิทธิภาพดี แต่ผลทดสอบจาก “คนยุโรป หรือสหรัฐอเมริกา” ที่พันธุกรรมแตกต่าง “คนเอเชีย” ค่อนข้างมาก

แต่ด้วย “ประเทศไทย” มีวัคซีนจำกัด และไม่มีให้เลือกเองได้หลากหลาย ดังนั้น “การจัดสรรวัคซีน” ให้เหมาะสมกับ “บุคคล” ควรเป็นหน้าที่ของบุคลากรทางการแพทย์ เพื่อให้เกิดภูมิคุ้มกันหมู่ในการหยุดการระบาดของโรค ถ้ามีการนำเข้า “วัคซีนชนิดอื่น” อันมีทางเลือกมากกว่านี้ก็ค่อยไปฉีดกันภายหลังก็ยังไม่สาย

เพราะเชื่อว่า “วัคซีนทุกชนิด” ทั้งผลิตในเอเชีย หรือชาติตะวันตกย่อมมีประโยชน์มากในสถานการณ์ระบาดโควิด-19 มีแนวโน้มรุนแรงสูงขึ้นเช่นนี้จึงอยากให้ประชาชนฉีดวัคซีนป้องกันก่อน

ยืนยันว่า “ส่วนตัววินาทีนี้พร้อมฉีดวัคซีนเกินร้อยเปอร์เซ็นต์” ไม่ว่าจะเป็นชนิดใดก็ตาม เพราะครอบครัวมีผู้สูงอายุอาศัยอยู่หลายคน โดยเฉพาะ “คุณพ่อ อายุ 80 ปี” ทำให้รู้สึกเป็นห่วงหากเราติดโควิด-19 อาจนำเชื้อเข้าสู่ครอบครัวก็ได้ ทั้งยังให้ “คุณพ่อ” ลงทะเบียนจองคิวฉีดในวันที่ 7 มิ.ย.นี้แล้วด้วยซ้ำ

วิกฤติโรคระบาดโควิด-19 จะสงบลงควบคุมได้นั้น “คนไทย” ต้องร่วมสมัครใจเข้ารับ “การฉีดวัคซีนป้องกัน” เพื่อเกิดภูมิคุ้มกันทำให้ “ทุกชีวิต” มีความปลอดภัยได้กลับมาสู่ภาวะปกติดังเดิมโดยเร็ว.