“แรงงานเมียนมา” ยังมีข่าวทะลักเข้า “ประเทศไทย” ต่อเนื่อง เมื่อปลายสัปดาห์ที่ผ่านมาก็มีข่าวจับได้ 116 ราย ลอบเข้ามาทางชายแดนจังหวัดกาญจนบุรี สารภาพว่าเดินเท้ามาจากทวาย โดยมีประเด็นสำคัญว่า...มีการจ่าย “ค่าหัวคิว” คนละ 13,000-20,000 บาท
“สรุป...เมื่อช่วงเช้าที่ผ่านมา คณะเจ้าหน้าที่ในพื้นที่ อ.ทองผาภูมิ จับกุมได้ 77 คน ช่วงเย็นจับได้ที่ชายแดน อ.เมืองกาญจนบุรี อีก 29 คน”
พ.อ.เฉลิมพล สังข์ต้อง รอง ผบ.ฉก.ลาดหญ้า กกล.สุรสีห์ เปิดเผยอีกว่า ฉก.ลาดหญ้าได้รับแจ้งว่าจะมีการนำพาบุคคลต่างด้าวแอบลักลอบหลบหนีเข้ามาในราชอาณาจักรโดยไม่ได้รับอนุญาต จึงจัดชุดลาดตระเวนร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าตรวจสอบ พบผู้ต้องสงสัย 28 คน เป็นคนนำพา 1 คน พร้อมสัมภาระ
เจ้าหน้าที่จึงแสดงตัวและตรวจค้น พบว่า...“ไม่มีเอกสาร” หรือ “หนังสือเดินทาง” จึงทำการจับกุม และนำส่งให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินคดีตามกฎหมายต่อไป
จากการสอบถามเบื้องต้น แรงงานทั้ง 28 คน เดินทางมาจากเมืองทวาย ประเทศเมียนมา ใช้เวลาเดินเท้า 4 วัน โดยเดินลัดเลาะตามเส้นทางธรรมชาติและมาพักอยู่บนสันแดน จากนั้นคนนำพาจะนำทางไปยังจุดรับส่งขึ้นรถอีกที โดยแรงงานทั้งหมดได้จ่ายเงินให้นายหน้าฝั่งพม่าก่อนเดินทางแล้ว
น่าสนใจว่า...แรงงานต่างด้าวเหล่านี้ ระบุยืนยันว่าจะเดินทางไปทำงานที่ “จังหวัดสมุทรปราการ” แต่มาถูกจับเสียก่อน
เหล่านี้คือปัญหา “แรงงานเถื่อน” ที่ต้องยอมรับว่ามีการลักลอบทะลักล้นเข้ามากันแบบรายวัน ที่จับได้ก็ว่ากันไป แต่ที่จับไม่ได้ก็คงมีอยู่ไม่น้อยเช่นกัน
แน่นอนว่าเป็นความกังวลสำคัญยิ่งในช่วงที่ไวรัส “โควิด-19” ระบาดหนักเช่นนี้ แม้ว่า “กระทรวงแรงงาน” ได้ตั้งชุดเฉพาะกิจกวดขัน จับกุมต่างด้าวที่ทำงานผิดกฎหมาย แต่ก็เป็นการแก้ปัญหาที่ปลายทาง ซึ่งก็ยังดีกว่าไม่ทำอะไรเลย
“วันที่ 16 มิถุนายน 2564” ที่จะถึงนี้ เป็นอีกวันดีเดย์ที่ต้องรู้ “กระทรวงแรงงาน” ฝากย้ำเตือนไปถึง “นายจ้าง” และ “แรงงานต่างด้าว” กรณียื่นขอรับใบอนุญาตทำงานออนไลน์
...
นายจ้าง...สถานประกอบการ พาคนต่างด้าว 3 สัญชาติ ตามมติ ครม.วันที่ 29 ธ.ค.63 นัดหมายตรวจหาเชื้อโควิด-19 จัดเก็บอัตลักษณ์บุคคล (Biometrics) และยื่นคำขออนุญาตทำงานแทนคนต่างด้าว (บต.48) ผ่านระบบออนไลน์ภายใน 16 มิ.ย.64
จากมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 7 เมษายน 2564 ให้มีการขยายระยะเวลาการดำเนินการตรวจหาเชื้อโควิด-19 และการจัดเก็บอัตลักษณ์บุคคล จนถึง 16 มิ.ย.64 พร้อมทั้งยื่นขอรับใบอนุญาตทำงานกับกรมการจัดหางานผ่านระบบออนไลน์ สำหรับคนต่างด้าว 3 สัญชาติ...กัมพูชา ลาว เมียนมา ตามกำหนดเดิม
ข้อมูล ณ วันที่ 16 พ.ค.64...พบว่ามีการจัดเก็บอัตลักษณ์บุคคลแล้ว 481,915 คน ผ่านการตรวจหาเชื้อโควิด-19 แล้ว 410,118 คน และได้รับอนุญาตทำงาน (อนุมัติ บต.48) แล้ว 186,696 คน จากคนต่างด้าวที่ลงทะเบียนทั้งสิ้นจำนวน 654,864 คน
จากตัวเลขข้างต้นนี้จะเห็นได้ว่ามี “นายจ้าง” ยื่นคำขออนุญาตทำงานแทนคนต่างด้าว (บต.48) ไม่ถึงร้อยละ 50 ของผู้ที่ผ่านการตรวจโควิด -19 และตรวจอัตลักษณ์แล้ว ซึ่งการดำเนินการดังกล่าวสามารถทำได้ทันทีผ่านระบบออนไลน์ ที่เว็บไซต์ e-workpermit.doe.go.th ผ่านมาถึงวันนี้แล้ว...จึงขอให้ “นายจ้าง...สถานประกอบการ” อย่านิ่งนอนใจ ขอให้เร่งดำเนินการโดยทันที
สุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ย้ำว่า นายกรัฐมนตรี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ห่วงกังวลสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 ที่มีการพบผู้ติดเชื้ออย่างต่อเนื่อง ทั้งในกลุ่ม “แรงงานไทย” และ “แรงงานต่างด้าว” จึงได้กำชับให้กระทรวงแรงงานภายใต้ การกำกับดูแลของ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ดูแลให้คนต่างด้าวที่ได้รับการผ่อนผันตามมติ ครม.เมื่อวันที่ 29 ธันวาคม 2563
“ดำเนินการตามขั้นตอนที่กำหนด เพื่อสามารถอยู่ในราชอาณาจักรและทำงานได้อย่างถูกกฎหมาย ตลอดจนได้รับการคุ้มครองและสิทธิประโยชน์ต่างๆตามสิทธิที่พึงมี”
ไพโรจน์ โชติกเสถียร รองปลัดกระทรวงแรงงาน รักษาราชการแทน อธิบดีกรมการจัดหางาน เสริมว่า ระยะเวลาที่กำหนดให้นายจ้าง...สถานประกอบการ พาคนต่างด้าวไปตรวจหาเชื้อโควิด-19 จัดเก็บอัตลักษณ์ และยื่นคำขออนุญาตทำงาน คือภายใน 16 มิถุนายนนี้
นับจากวันนี้...เหลือเวลาอีกประมาณ 1 เดือนเท่านั้น หากมีการวางแผนที่ดี ติดตามข่าวสารจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อนัดหมายดำเนินการตามขั้นตอนที่กำหนด ก็สามารถดำเนินการแล้วเสร็จได้
...
“นายจ้างย่อมมีความสบายใจในการจ้างแรงงานต่างด้าวทำงานอย่างถูกกฎหมาย ไม่ต้องหลบซ่อน และแรงงานต่างด้าวเองก็จะได้รับการคุ้มครอง การรักษาพยาบาล และสิทธิประโยชน์ต่างๆตามสิทธิ”
กลับกัน...หากไม่ดำเนินการให้เสร็จสิ้นก่อนวันที่ 16 มิ.ย.64 จะไม่สามารถดำเนินการในขั้นตอนถัดไปได้ ส่งผลให้มีสถานะเป็น... “แรงงานผิดกฎหมาย”
ซึ่งกรมการจัดหางาน กระทรวงแรงงาน จะดำเนินการตรวจสอบ ปราบปราม จับกุม ดำเนินคดีกับนายจ้าง...สถานประกอบการที่จ้างคนต่างด้าวที่ไม่มีใบอนุญาตทำงานและคนต่างด้าวที่ลักลอบทำงาน โดยปฏิบัติการร่วมกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ เจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมือง เจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครอง และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
“โทษของนายจ้างที่รับคนต่างด้าวที่ไม่มีใบอนุญาตทำงานมีโทษปรับตั้งแต่ 10,000-100,000 บาทต่อคนต่างด้าวหนึ่งคน หากทำผิดซ้ำมีโทษถึงจำคุกและไม่ให้จ้างคนต่างด้าวทำงานอีก 3 ปี
ส่วนคนต่างด้าวที่ลักลอบทำงานโดยไม่ได้รับอนุญาตมีโทษปรับตั้งแต่ 5,000-50,000 บาท และถูกส่งตัวกลับออกไปนอกราชอาณาจักร และไม่สามารถขอรับใบอนุญาตทำงานได้จนกว่าจะพ้นโทษมาแล้วเป็นระยะเวลา 2 ปี”
...
กรมการจัดหางาน...จะดำเนินการตรวจสอบ ปราบปราม จับกุม และดำเนินคดีแรงงานต่างด้าวที่ทำงานผิดกฎหมาย ปฏิบัติงานเชิงรุก ดำเนินการ...ติดตามสถานการณ์ และบังคับใช้กฎหมายอย่างทันท่วงที
ไพโรจน์ บอกว่า ขอฝากถึงนายจ้าง...สถานประกอบการ หากรับคนต่างด้าวเข้าทำงานโดยที่ไม่มีใบอนุญาตทำงาน หรือให้คนต่างด้าวทำงานนอกเหนือจากที่มีสิทธิที่จะทำได้ จะมีโทษทั้งจำทั้งปรับ
ผู้ใดพบเห็นหรือสงสัยว่ามี “คนต่างด้าว” ลักลอบทำงาน “ผิดกฎหมาย” สามารถแจ้งเบาะแสได้ที่สำนักงานจัดหางานจังหวัดทุกจังหวัด สำนักงานจัดหางานกรุงเทพมหานครพื้นที่ 1-10 หรือสายด่วนกระทรวง แรงงาน โทร. 1506 กด 2 กรมการจัดหางาน สายด่วนกรมการจัดหางาน โทร. 1694
ร่วมด้วยช่วยกันสแกน “แรงงานต่างด้าว” ให้มีสถานะที่ชัดเจน เพื่อเป็นหนึ่งในตัวแปรสำคัญ แนวรับป้องกันการระบาดไวรัส
“โควิด-19” ที่อาจจะเกิดขึ้นได้ทุกเมื่อหากเกิดช่องว่าง...การ์ดตก.